เปล้าใหญ่
เปล้าใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton persimilis Müll.Arg.
ชื่อวงศ์ (EUPHORBIACEAE) จัดอยู่ในวงษ์ยางพารา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูงประมาณ 8 เมตร
เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลเทา มีรอยแตกบ้างเล็กน้อย กิ่งก้านค่อนข้างใหญ่ ยอดอ่อน ใบอ่อน และช่อดอก มีเกล็ดสีเทาเป็นแผ่นเล็กๆปกคลุมทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน รูปไข่หรือรูปใบหอก ใบลู่ลง ใบรียาว กว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 9-30 เซนติเมตร ใบอ่อนสีน้ำตาล โคนใบและปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบจักเป็นซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ใบแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ก้านใบยาว 1.3-6 เซนติเมตร ฐานใบมีต่อม 2 ต่อม หลังใบเรียบสีเขียวเข้ม ท้องใบมีขนไม่มาก ใบแก่สีเปลี่ยนเป็นสีส้มก่อนร่วงหล่น
ดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง หลายช่อ ช่อดอกยาว 12-22 เซนติเมตร ตั้งตรง ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน หรือแยกต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลาย ดอกตัวผู้สีขาวใส กลีบดอกสั้นมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกติดกัน มีกลีบเลี้ยงรูปขอบขนานกว้างๆ 5 กลีบ หลังกลีบเลี้ยงมีเกล็ดสีน้ำตาล กลีบดอกยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง มีขนหนาแน่น ที่ฐานดอกมีต่อมกลมๆ 5 ต่อม เกสรตัวผู้มี 12 อัน เกลี้ยง ดอกตัวเมียวสีเหลืองแกมเขียว กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเล็กรูปยาวแคบ ขอบกลีบมีขน โคนกลีบดอกติดกัน ปลายกลีบดอกแหลม กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน รังไข่รูปขอบขนาน มีเกล็ด
ผลแห้งแตก รูปทรงกลมแบน มี 3 พู ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวเรียบ ด้านบนแบน มีเกล็ดเล็กๆห่างกัน ผลอ่อนสีเขียว ผลอ่อนใช้ย้อมผ้า ผลแก่รับประทานได้ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง
ประโยชน์ของเปล้าใหญ่
- ผลแก่ใช้รับประทานได้
- ผลอ่อนใช้ย้อมผ้า
- ไม้เปล้าใหญ่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนต้นใช้เลี้ยงครั่ง
- น้ำยางจากใบใช้ทาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ริมฝีปากในช่วงฤดูหนาว
- ใช้เข้ายาอบสมุนไพร ซึ่งเป็นตำรับยาอบสมุนไพรสูตรบำรุงผิวพรรณให้มีน้ำมีนวล ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลาย แก้อาการปวดเมื่อย แก้ผดผื่นคัน ขับพิษออกทางผิวหนัง โดยมีใบเปล้าใหญ่เป็นส่วนประกอบ และมีสมุนไพรอื่น ๆ อีก คือ กระชาย ขมิ้นชัน ตะไคร้ ไพล ใบมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย ใบหนาด และว่านน้ำ แต่ไม่ควรใช้ตำรับยานี้กับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง สตรีตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ผู้ที่ไม่สบาย ร่างกายอ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร เป็นไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และผู้ที่เป็นโรคไต