
แป๊ะตำปึง
แป๊ะตำปึง
แป๊ะตำปึง
ชื่อสมุนไพร แป๊ะตำปึง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จักรนารายณ์ (ไทย, ภาคกลาง), ว่านกอบ, ใบเบก, ผักพันปี (ภาคเหนือ), แปะตำปึง (ไทยลื้อ), ชั่วจ่อ (ม้ง), เอียเตาะเอี้ย, อูปุยไฉ่, จิยฉีเหมาเยี่ย (จีน), ไป๋ตงเฟิง, ไป๋เป้ยซันชิ (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura Divaricata (L.) DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynura sarmer tosa DC., Gynura auriculata Cass., Gynura glabrata Hook.f., Gynura hemsleyana H.Lev., Gynura incana Druce, Gynura procumbens (Lour.) Merr. Senecio divaricatus Cacalia hieraciodes Wild., Cacalia ovalis Ker Gawl.
ชื่อสามัญ Purple passionvine, Purple velvel plant
วงศ์ Compositae-Asteraceae
ถิ่นกำเนิดแป๊ะตำ
แป๊ะตำปึงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศจีน โดยมักจะพบในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2800 เมตร ขึ้นไป จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคต่างๆ สำหรับในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือที่มีความสูง และมีอากาศเย็น ในปัจจุบันก็มีการนิยมนำมาปลูกกันมากเพื่อใช้เป็นไม้ประดับ และใช้เป็นสมุนไพร
ประโยชน์และสรรพคุณแป๊ะตำ
- ใช้พอกปิดฝี
- แก้ปวดทำให้เย็น
- ช่วยดับพิษไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- แก้ฟกบวม
- แก้พิษอักเสบทุกชนิด
- แก้ปวดหัวสำมะลอก
- แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
- ช่วยดูดถอนพิษ เป็นยาถอนพิษทุกชนิด
- ช่วยฟอกโลหิต ฟอกน้ำเหลือง
- ช่วยลดความดันโลหิต
- แก้ร้อนใน
- แก้ปวดฟัน ปวดเหงือก
- รักษาปากเป็นแผล
- แก้ไอ
- แก้คออักเสบ
- ช่วยขับลม
- รักษาโรคกระเพาะ
- แก้เริม
- รักษางูสวัด
- แก้เบาหวาน
- แก้อาการตกเลือด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้ฟอกโลหิต แก้เบาหวาน แก้ความดันโลหิต แก้ร้อนใน ขับลม รักษาโรคกระเพาะ ให้นำใบมารับประทานสด หรือ นำมาประกอบอาหารรับประทานก็ได้ ใช้แก้ปวดเหงือก ปวดฟัน แก้ปากเป็นแผล คออักเสบ โดยใช้ใบสดนำมารับประทานกลางคืนหลังแปรงฟันโดยค่อยๆ เคี้ยวแล้วอมทิ้งไว้สักระยะหนึ่งแล้วค่อยกลืนลงไป แก้งูสวัดและเริม โดยนำใบมาตำกับน้ำตาลทรายแดง แล้วนำมาพอก หรือ ประกบตรงรอยแผลทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที หรือ จะนำใบมาคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาสดๆ หรือ ใช้ตำพอกก็ได้ ใช้แก้ไอ คออักเสบ โดยใช้ใบ และก้านประมาณ 10 กรัม ใส่ไข่น้ำตาลเล็กน้อย รับประทาน ใช้แก้ปวดอักเสบ ใช้แก้ปวดหัวลำมะลอก แก้ฝี แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้ฟกช้ำบวม แก้พิษอักเสบทกชนิด แก้พิษตะขาบ พิษจากแมลงป่อง พิษจากแมงสัตว์กัดต่อย โดยนำใบสดนำมาตำให้แตกผสมกับสุราขาว ใช้สำลีชุบให้เปียกแล้วนำไปปิด หรือ พอกบริเวณที่มีอาการ ประมาณวันละ 2-3 ครั้ง ใช้รักษาโรคเบาหวานโดยรับประทานใบสดก่อนอาหารประมาณ 2-5 ใบ ในช่วงตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า และให้รับประทานอีกครั้งในช่วงหลังอาหารเย็นประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือ ใช้กินก่อนนอนทุกวัน โดยให้ทำเช่นนี้ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ แล้วหยุดดูอาการอีก 2-3 วัน แล้วจึงรับประทานต่อ
ลักษณะทั่วไปแป๊ะตำ
แป๊ะตำปึงจัดเป็นไม้ล้มลุก ทรงเป็นพุ่มเตี้ยเลื้อยสูง 30-60 เซนติเมตร มีอายุหลายพันปี ต้นฉ่ำน้ำตั้งตรง หรือ โค้งตั้งแต่โคนต้นแล้วค่อยตั้งตรงเป็นส่วนยอด ลำต้นเรียบหรือมีขนนุ่มสั้นๆ ลำต้นมีสีเขียว หรือ สีเขียวมีลายสีม่วง
ใบ เป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ความยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร และกว้าง 8 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือ รูปหอกกลับ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก รูปคลื่น แผ่นใบหนา ฉ่ำน้ำ และนุ่มคล้ายกำมะหยี่ หลังใบเป็นสีเขียว ท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน หรือ สีม่วงแดงหรือสีขาวออกหม่นๆ มีก้านใบยาว 0.5-4 เซนติเมตร
ดอก ออกเป็นช่อแบบกระจุก โดยจะออกบริเวณปลายยอดลำต้น ใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยหลายดอกลักษณะคล้ายดอกดาวเรือง แต่เล็กกว่า มีสีเหลือง เป็นเส้นฝอยมีเส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1.5-2 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นและใบประดับเล็กๆ รูปแถบ หรือ เป็นเส้นรูปกรอบเกลี้ยหลายอัน มีวงใบประดับรองรับช่อดอกรูปคล้ายระฆังขนาด 8-10x6-8 มิลลิเมตร มีก้านช่อดอกยาว 1-15 เซนติเมตร
ผล เป็นแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอกสีน้ำตาล ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร มีขนประปราย มี pappus สีขาว ลักษณะเป็นขนอ่อนนุ่มคล้ายเส้นไหม ขนาด 10-12 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์แป๊ะตำ
แป๊ะตำปึงสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดแบะการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำ เพราะทำได้ง่ายประหยัดเวลา ได้ต้นกล้าเร็ว และสามารถมีอัตราการรอดสูง โดยมีวิธีการ คือ ใช้มีดตัดบริเวณใต้ข้อกิ่งที่จะใช้ปักชำเล็กน้อย ซึ่งจะหั่นเป็นท่อนยาวท่อนละประมาณ 5-6 นิ้ว จากนั้น นำไปชำในถุง หรือ กระถางที่ผสมวัสดุปักชำที่เตรียมไว้ แล้ววางไว้ในที่ร่ม รดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนของรากก็จะงอกกิ่งชำ ก็จะแตกใบอ่อน แล้วจึงนำไปลงดิน หรือ แยกลงกระถางได้เลย