รางจืด
รางจืด สรรพคุณและประโยชน์ของว่านรางจืด
รางจืด หรือ ว่านรางจืด ชื่อสามัญ Laurel clockvine, Blue trumphet vine
รางจืด ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia laurifolia Lindl. จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
สมุนไพรรางจืด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า รางเย็น คาย (ยะลา), ดุเหว่า (ปัตตานี), ทิดพุด (นครศรีธรรมราช), ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์), น้ำนอง (สระบุรี), จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กำลังช้างเผือก ยาเขียว เครือเขาเขียว ขอบชะนาง (ภาคกลาง), ว่านรางจืดเป็นต้น
ลักษณะของรางจืด
- ต้นรางจืด เป็นไม้เลื้อยหรือไม้เถาที่มีเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถานั้นจะกลมเป็นปล้อง มีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ลำต้นไม่มีขนและไม่มีมือจับเหมือนกับตำลึง และมะระ แต่อาศัยลำต้นในการพันรัดขึ้นไป รางจืดเป็นพืชในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย จึงสามารถขึ้นได้ทั่วไปตามป่าดิบชื้นของประเทศไทยทั่วทุกภาค เจริญเติบโตได้เร็วมาก และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เถาในการปักชำ
- ใบรางจืด เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจหรือรูปใบขอบขนานหรือเป็นรูปไข่ โคนใบมนเว้า ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร มีเส้นอยู่ 3 เส้นออกจากโคนใบ
- ดอกรางจืด ลักษณะของดอกออกเป็นช่อห้อยลงมาตามซอกใบ ช่อละ 3-4 ดอก ดอกมีสีม่วงอมฟ้า มีใบประดับสีเขียวประแดง มีกลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกเป็นรูปแตรสั้น โคนกลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน โคนดอกเป็นหลอดกรวยยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เชื่อมติดกันเป็นหลอด และมักมีน้ำหวานบรรจุอยู่ภายในหลอด กลีบดอกมีปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 4 อัน
- ผลรางจืด ลักษณะเป็นฝักกลม ปลายเป็นจะงอย เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก
สมุนไพรรางจืด "ราชาแห่งการถอนพิษ" เป็นสมุนไพรที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปเลือกใช้เพื่อใช้แก้พิษต่าง ๆ เช่น พิษจากยาฆ่าแมลง ยาเบื่อ สารตะกั่ว ฯลฯ ยิ่งเมื่ออยู่ในสถานที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล การจะนำส่งแพทย์เพื่อรับการรักษาอาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน จนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แต่ถ้ามีต้นรางจืดปลูกอยู่แถวบ้าน เราก็สามารถใช้ใบรางจืดที่ไม่แก่หรืออ่อนมากเกินไป หรือใช้รากที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป ในขนาดปริมาณเท่านิ้วชี้มาใช้เพื่อรักษาบรรเทาอาการของพิษเฉพาะหน้าไปก่อน ก่อนที่จะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยานั้นก็ได้แก่ ใบ ราก และเถาสด
ในปัจจุบันผู้คนได้รับสารพิษตกค้างอยู่ในร่างกายเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 45% โดยสารพิษเหล่านี้ร่างกายต่างก็ไม่ต้องการ เพราะเมื่อเกิดการสะสมเข้าไปในร่างกายในปริมาณมากและต่อเนื่อง ก็อาจจะทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ขึ้นมาได้ในอนาคต อย่างเช่น โรคมะเร็ง ซึ่งแน่นอนว่าอัตราการเกิดโรคของคนในยุคปัจจุบันนี้ก็ได้เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ วัน โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองด้วยแล้วยิ่งน่าเป็นห่วง ซึ่งสมุนไพรรางจืดนี้อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณในการช่วยขับสารพิษต่าง ๆ ออกจากร่างกาย เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ในอนาคตนั่นเอง
สรรพคุณของรางจืด
- รากและเถาของรางจืดสามารถใช้รับประทานเป็นยาแก้ร้อนใน (ราก, เถา)
- รางจืดมีสรรพคุณช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ราก, เถา)
- ใบและรากของรางจืดมีสรรพคุณใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ได้ (ใบ, ราก)
- ใบรางจืดมีสรรพคุณใช้เป็นยาพอกบาดแผล (ใบ, ราก)
- ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ใบ, ราก)
- ว่านรางจืดมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการผื่นแพ้ต่าง ๆ (ใบ, ราก)
- ช่วยทำลายพิษจากยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ซึ่งจัดเป็นสารพิษที่ร้ายกาจที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะในปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ก็สามารถทำให้คนเสียชีวิตได้เลย เพราะสารพิษชนิดนี้จะไปทำให้เกิดการสร้างออกซิเจนที่ไม่เสถียรขึ้นมา ซึ่งออกซิเจนเหล่านี้จะไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์และทำให้เซลล์ตาย โดยสารพิษพาราควอตนั้นจะอันตรายที่สุด เพราะจะไปทำให้เนื้อเยื่อในปอดถูกทำลายจนไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งจากรายงานของโรงพยาบาลศิริราชพบว่าผู้ที่ได้รับสารพิษพาราควอตจะเสียชีวิตทุกราย (อันตราการเสียชีวิตประมาณ 80%) ซึ่งแน่นอนว่ารางจืดสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ แต่ต้องรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย ส่วนงานศึกษาวิจัยของอาจารย์พาณี เตชะเสน และคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าการใช้น้ำคั้นจากใบรางจืดป้อนให้หนูทดลองที่กินยาฆ่าแมลง "โฟลิดอล" พบว่ามันสามารถช่วยแก้พิษได้ โดยช่วยลดอัตราการตายลงเยอะมากจาก 56% เหลือเพียง 5% เท่านั้น และจากงานวิจัยของคุณสุชาสินี คงกระพันธ์ ที่ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดแห้งจากใบรางจืดป้อนให้หนูทดลองที่รับยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟตที่มีชื่อว่า "มาลาไธออน" พบว่ามันสามารถช่วยชีวิตหนูทดลองได้มากถึง 30% (ใบ, ราก)
- ช่วยแก้พิษจากสัตว์ที่เป็นพิษและพืชที่เป็นพิษ เช่น แก้พิษจากแมงดาทะเล ปลาปักเป้า ซึ่งเป็นพิษที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้โดยง่ายหากได้รับในปริมาณมาก ๆ โดยสารพิษที่ว่านี้คือ เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสารแก้พิษนี้โดยเฉพาะ การรักษาต้องรักษาแบบประคับประคองอาการ แต่การใช้รางจืดเพื่อรักษาพบว่าเมื่อผ่านไปประมาณ 40 นาทีผู้ป่วยกลับมีอาการดีขึ้นจนน่าประหลาดใจ (ใบ, ราก)
- รางจืดช่วยต่อต้านพิษจากสารตะกั่วต่อสมอง ซึ่งสารตะกั่วนี้ก็มาจากมลพิษจากเครื่องยนต์ และแน่นอนว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีโอกาสได้รับสารตะกั่วสูงกว่าคนทั่วไป โดยพิษจากสารตะกั่วนี้ก็มีผลต่อระบบภายในร่างกายหลายระบบด้วยกัน แต่ที่สำคัญเลยก็คือระบบสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้ มีงานวิจัยระบุออกมาว่า แม้รางจืดจะไม่ได้ช่วยลดระดับของสารตะกั่วในเลือดของหนูทดลอง แต่มันก็สามารถช่วยลดพิษของสารตะกั่วต่อระบบความจำและการเรียนรู้ในหนูทดลองได้ สรุปก็คือมันทำให้เซลล์ประสาทตายน้อยลงนั่นเอง (ใบ, ราก)
- ช่วยถอนพิษจากยาเบื่อชนิดต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม (เช่น พิษจากผลไม้ที่ติดอยู่ในฝักที่รับประทาน เป็นต้น) รวมไปถึงพิษจากสตริกนินให้เป็นกลาง ซึ่งจากการทดลองของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าถ้าหากใช้ผงจากรากรางจืดผสมกับน้ำยาสตริกนินก่อนป้อนให้หนูทดลอง ปรากฏว่าหนูทดลองไม่เป็นอะไร แสดงให้เห็นว่าผงจากรากรางจืดสามารถช่วยดูดซับสารพิษชนิดนี้ไว้ได้ (ใบ, ราก)
- ช่วยในการลดเลิกยาบ้า ซึ่งงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพบว่ารางจืดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทคล้าย ๆกับฤทธิ์ของสารเสพติดอย่างแอมเฟตามีนและโคเคน ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่หลั่งออกมามากในขณะที่ผู้ป่วยใช้สารแอมเฟตามีน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากรางจืดนั้นเกิดความพึงพอใจ เช่นเดียวกับการใช้สารเสพติด และหากนำไปใช้ในการรักษากับผู้ป่วยก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุรนทุรายมากนัก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยลดและเลิกการใช้เสพติดได้ (ใบ,ราก)
- รางจืด แก้เมา สรรพคุณช่วยแก้อาการเมาค้าง แก้พิษจากแอลกอฮอล์ พิษจากการดื่มเหล้าในปริมาณมากเกินไป โดยคณะเภสัชศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ของรางจืดในการต่อต้านพิษจากแอลกอฮอล์ต่อตับ และพบว่าสารสกัดด้วยน้ำของรางจืดนั้นสามารถช่วยป้องกันการตายของเซลล์ตับซึ่งเกิดจากพิษของแอลกอฮอล์และช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้ และมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้มีการศึกษาฤทธิ์ของรางจืดต่ออาการขาดเหล้า และพบว่าสารสกัดจากรางจืดช่วยทำให้ลดภาวะซึมเศร้า ทำให้พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในหนูทดลองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และยังช่วยลดการถูกทำลายเซลล์ประสาทของหนูเนื่องจากการขาดเหล้าได้ แต่ไม่มีผลต่อการช่วยลดความวิตกกังวล (ใบ, ราก)
- รางจืด เบาหวาน รางจืดช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมเบาหวานและความดันได้ จากงานศึกษาวิจัยของหมอชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ได้ทำการทดลองในหนูเบาหวานที่ได้รับน้ำต้มจากใบรางจืด ได้ผลว่ามันสามารถช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่าการให้สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดมีฤทธิ์ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และยังช่วยทำให้บีต้าเซลล์ของตับอ่อนฟื้นฟูขึ้นบ้างแม้จะไม่สมบูรณ์ และพบว่าสารสกัดจากน้ำของใบรางจืดนั้นมีผลทำให้ความดันโลหิตของหนูลดลง และช่วยทำให้หลอดเลือดแดงคลายตัว (การใช้สมุนไพรรางจืดในการรักษาโรคเบาหวานและความดันนั้น ควรรักษาร่วมไปกับแผนปัจจุบัน รวมทั้งมีการวัดระดับน้ำตาลและระดับความดันอย่างใกล้ชิด เพราะการศึกษาวิจัยดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับสัตว์เท่านั้น รวมไปถึงต้องระวังการเกิดการเสริมฤทธิ์กันเองของตัวยาดังกล่าวด้วย)
- รางจืดมีฤทธิ์ในการต่อต้านมะเร็ง โดยสารใด ๆ ก็ตามที่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ศักยภาพสูงสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ แต่สำหรับข้อดีของรางจืดนั้นมีฤทธิ์ในการต้านไม่ให้สารชนิดดังกล่าวออกฤทธิ์ ซึ่งแตกต่างจากกวาวเครือ ที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการแบ่งตัวและสร้างนิวเคลียสของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ขึ้น
- สารสกัดน้ำจากใบรางจืดมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูงมาก
- ช่วยต่อต้านและแก้อาการอักเสบต่าง ๆ เช่น อาการผดผื่นคัน แมลงสัตว์กัดต่อย เริม งูสวัด อีสุกอีใส โดยจากการศึกษาพบว่ารางจืดนั้นมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบสูงกว่ามังคุด ถึง 2 เท่า ! และยังมีความปลอดภัยสูงกว่าอีกด้วย นอกจากนี้สารสกัดจากรางจืดในรูปแบบครีมก็สามารถช่วยลดอาการอักเสบได้ดีเทียบเท่ากับครีมสเตียรอยด์ (ใบ, ราก)
ประโยชน์ของรางจืด
- สมุนไพรรางจืด สมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงมากชนิดหนึ่ง ซึ่งเราสามารถกินยอดอ่อน ดอกอ่อนเป็นผักได้ โดยจะใช้ลวกกิน แกงกิน ก็ทำได้เหมือนกับผักพื้นบ้านทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้ยังนิยมกินน้ำหวานจากดอกรางจืดที่บ้านได้อีกด้วย โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การกินรางจืดในปริมาณติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลหิตวิทยาหรือเคมีคลินิกที่อาจเกิดขึ้นต่อไปด้วย
- ชารางจืด ใบรางจืดสามารถนำมาหั่นเป็นฝอย ตากลมให้แห้งแล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มแทนชาได้ ส่วนรสชาติที่ได้ก็ดีไม่แพ้กับใบชาเลยที่เดียว แถมยังมีกลิ่นหอมอีก และยังช่วยล้างพิษในร่างกายได้อีกด้วย
- ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรรางจืดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ แคปซูลรางจืดหรือรางจืดแคปซูล เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการใช้ประโยชน์
- การปลูกรางจืดนอกจากจะใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรแล้ว ก็ยังนิยมปลูกไว้เพื่อชมดอก แล้วก็ยังสามารถช่วยบังแสงแดดทำให้เกิดร่มเงาได้อีกด้วย (แต่อย่าลืมว่ารางจืดเป็นไม้เลื้อย เลื้อยแหลก เลื้อยจนรก เลื้อยแบบไร้การควบคุม)
คำแนะนำ
- รางจืด วิธีใช้ประโยชน์จากใบสดรางจืดในการรักษาพิษ หากใช้สำหรับคนให้ใช้ประมาณ 10-12 ใบ (แต่ถ้าใช้สำหรับวัวควายให้ใช้ 20-30 ใบ) เมื่อได้ใบสดให้นำมาตำจนละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวประมาณครึ่งแก้ว ว่านรางจืดวิธีรับประทานก็ง่าย ๆ เพียงนำมาคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ และอาจจะต้องดื่มซ้ำอีกภายในครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงถัดมา
- การใช้ประโยชน์จากรากรางจืดในการรักษาพิษ หากใช้สำหรับคนให้ใช้ประมาณ 1-2 องคุลี (แต่ถ้าหากใช้กับวัวควายให้ใช้ประมาณ 2-4 องคุลี) เมื่อได้รากมาแล้วให้นำมาฝนหรือนำมาตำเข้ากับน้ำซาวข้าว แล้วนำมาดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ และอาจจะต้องใช้ซ้ำอีกภายในครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงเช่นเดียวกับการใช้ใบรางจืด
- สำหรับการใช้รางจืดเพื่อถอนพิษยาฆ่าแมลง สำหรับผู้ป่วยที่ดื่มยาฆ่าแมลง ใช้ถอนยาพิษ ยาเบื่อ และพิษจากสตริกนินนั้น ต้องใช้ยารางจืดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้จึงจะได้ผลดี เพราะถ้ายาซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากหรือทิ้งไว้ข้ามคืน รางจืดก็จะได้ผลน้อยลงนั่นเอง
- รากของรางจืดนั้นจะมีสรรพคุณทางยามากกว่าที่ใบถึง 4-7 เท่า ! หากเป็นไปได้การเลือกใช้รากถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
- รางจืดที่จะมีประสิทธิภาพดีที่สุดก็คือรางจืดชนิดเถาดอกสีม่วง
- ที่สำคัญดินที่นำมาใช้ในการปลูกรางจืด หากผสมด้วยขี้เถ้าแกลบหรือผงถ่านป่น ก็จะช่วยทำให้ต้นรางจืดนั้นมีสรรพคุณทางยาที่มากขึ้นไปอีก
- ข้อควรระวังในการใช้รางจืดก็คือ การใช้รางจืดร่วมกับตัวยาชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาในการรักษาอย่างต่อเนื่องก็ควรจะระวังไว้ด้วย เพราะรางจืดอาจจะไปขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกายได้นั่นเอง
- แม้ว่ารางจืดจะสามารถช่วยล้างสารพิษได้จริง แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อมูลในการวิจัยหรือเอกสารใดที่บ่งชี้ได้ว่า หากเราใช้ไปนาน ๆ ติดต่อกัน หรือใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะเกิดผลอย่างไรบ้าง ซึ่งจุดนี้นักวิชาการทางด้านนี้จึงไม่แนะนำที่จะให้รับประทานอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นคุณควรใช้เป็นครั้งคราวในยามที่จำเป็นหรือเมื่อต้องการที่จะรักษาโรค เมื่อได้ผลหรือหายดีแล้วก็ควรจะหยุดใช้ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่เรายังไม่รู้และอาจจะเกิดขึ้นได้ และไม่เฉพาะแต่สมุนไพรรางจืดเท่านั้น สมุนไพรชนิดอื่นก็ด้วย เพราะเมื่อรับประทานเข้าไปในร่างกายแล้วยังไงก็ต้องผ่านกระบวนการทำงานของตับและไต ดังนั้นหากคุณใช้สมุนไพรติดต่อกันเป็นเวลานานก็ควรจะตรวจสุขภาพของตับและไตด้วย
- สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การใช้ก็ควรจะระมัดระวังด้วยเพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
- รางจืดผลข้างเคียง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด เมื่อเกิดอาการแพ้รางจืดก็อาจจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่ามีระดับอาการแพ้มากน้อยแค่ไหน ถ้าหากมีอาการแพ้ไม่มากก็อาจจะเป็นแค่ผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง
- แม้ว่ารางจืดจะมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายในการช่วยขับล้างสารพิษ แต่การนำมาใช้หรือนำมารับประทานก็ควรใช้อย่างพอดีและสมเหตุสมผล หากพิจารณาดูตัวเองหรือได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญว่าร่างกายมีสารพิษมากเกินไป คุณก็สามารถรับประทานได้ แต่ก็ต้องรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ถูกต้อง และถูกเวลา