
ตีนเป็ดน้ำ
ตีนเป็ดน้ำ
ชื่อสามัญ Pong pong
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cerbera odollam Gaertn. (คาร์เบอรา โอดอลลาม)
ชื่อวงศ์ ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)
ชื่อเรียกอื่นฯ ตุม (กาญจนบุรี), พะเนียงน้ำ หรือ สั่งลา (กระบี่), มะตะกอ (มลายู-นราธิวาส) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กชนิดหนึ่ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ มีลักษณะเป็นทรงพุ่มกลม ใบแน่น เป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีน้ำยางสีขาว กลีบดอกมีความสวยงาม มีสีขาว เป็นไม้ที่ปลูกได้ง่าย ขึ้นได้ดี ต้องการแดดและความชื้นสูง สูงเต็มที่ประมาณ 12 เมตร มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนใต้ของจีน พบจนถึงนิวแคลิโดเนีย มักขึ้นในป่าชายเลนหรือบริเวณที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณชายทะเล
ตีนเป็ดน้ำมีผลทรงกลม คล้ายผลส้ม มีสีเขียว แต่ทว่ามีพิษ รับประทานมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งยางก็มีพิษ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการทำเป็นสารเคมีฆ่าเหาได้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ ใบรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง 2.4-8 เซนติเมตร ยาว 8.9-30 เซนติเมตร ปลายใบติ่งแหลม โคนใบรูปลิ่ม ใบเกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมัน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย |
ดอก สีขาว กลางดอกมีสีเหลือง (ถ้าเป็นตีนเป็ดทรายกลางดอกมีสีชมพูหรือแดง) ออกเป็นช่อ แบบช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดปากแตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกบานเต็มที่กว้าง 6-7 เซนติเมตร |
ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมหรือค่อนข้างกลมเป็นสองพูตื้นๆ สีเขียวอมม่วงถึงม่วงเข้ม กว้างประมาณ 6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7 เซนติเมตร (ผลขนาดใหญ่กว่าตีนเป็ดทราย) เมล็ดแข็งและเบา ลอยน้ำได้