
เปล้าน้อย
เปล้าน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton fluviatilis Esser, Croton stellatopilosus H.Ohba
ชื่อวงศ์ (EUPHORBIACEAE) จัดอยู่ในวงษ์ยางพารา
ชื่อเรียกอื่นๆ เปล้าท่าโพ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 1-4 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ที่เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลปนเทา ผิวค่อนข้างเรียบ และจะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือรากไหลเนื่องจากจะได้พันธุ์แท้ แต่ถ้าเพาะจากเมล็ดอาจจะกลายพันธุ์ได้ สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน ในพื้นดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี เช่น ในจังหวัดปราจีนบุรี นครพนม กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
ประโยชน์ของเปล้าน้อย
- ใบเปล้าน้อยสามารถใช้รับประทานเป็นอาหารได้ ด้วยการรับประทานร่วมกับน้ำพริก หรือจะใช้ใบสดนำมาชงเป็นชาสมุนไพรดื่มก็ได้เช่นกัน แต่ยังมีข้อจำกัดก็คือ ใบเปล้าน้อยมีรสขมมาก อีกทั้งปริมาณของสารเปลาโนทอลก็มีอยู่ค่อนข้างต่ำ จึงใช้รับประทานครั้งละมาก ๆ ไม่ได้ และไม่เพียงพอต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเฉียบพลันเหมือนกับการใช้ยาเปลาโนทอลแบบสำเร็จรูป แต่ทั้งนี้สามารถใช้รับประทานเพื่อเป็นการรักษาสุขภาพระยะยาวได้ เนื่องจากจะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง ลดอาการกำเริบของโรค ทำให้มีสุขภาพดีขึ้น
- สมุนไพรเปล้าน้อย ใบและรากสามารถนำมาทำเป็นยาปฏิชีวนะได้ โดยใบเปล้าน้อยสามารถนำไปสกัดเป็นยา "เปลาโนทอล" (Plaunotol) หรือยารักษาโรคกระเพาะ โดยจะเริ่มเก็บใบได้เมื่อต้นมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งในหนึ่งปีจะสามารถเก็บผลผลิตจากต้นเดิมได้แค่ 3 ครั้ง ถ้ามีการบำรุงดูแลที่ดี สำหรับวิธีการเก็บก็คือการตัดช่อใบจากส่วนยอดของแต่ละกิ่ง โดยนับจากปลายยอดลงมาไม่เกินใบที่ 10 หรือยาวไม่เกิน 6 นิ้ว เมื่อเก็บใบมาได้ก็นำมาผึ่งในร่มจนแห้ง แล้วนำไปบรรจุในภาชนะส่งโรงงาน เพื่อใช้ผลิตเป็นยาเปลาโนทอลในรูปเม็ดสำเร็จ แบบซอง หรือแบบแคปซูลซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่าย
ในใบมีสารสำคัญคือ “เปลาโนทอล” (plaunotol) ทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะน้อยลง และกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น มีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร