
สาคลู
ต้นสาคู
ต้นสาคู หรือ สาคู เป็นชื่อเรียกของพืชหลายชนิด โดยนำแป้งจากส่วนหัวหรือลำต้นมาใช้ประโยชน์สำหรับทำขนม ปัจจุบัน แป้งจากต้นสาคูไม่ค่อยนิยมแล้ว เพราะมีการนำแป้งจากแหล่งอื่นมาทดแทน ซึ่งหาง่าย และราคาถูก อาทิ แป้งมันสำปะหลัง และแป้งข้าวเจ้า
ส่วนคำว่า สาคู อีกชื่อ เป็นชื่อเรียกขนม หรือ ขนมสาคู ซึ่งแต่ก่อนใช้แป้งจากต้นสาคู ตัวขนมมีลักษณะเป็นทรงกลม เนื้อค่อนข้างใส ด้านในยัดด้วยไส้ขนม หรือ อีกชนิดเป็นเม็ดแป้งขนาดเล็ก แล้วนำมาต้มสุก ก่อนเติมน้ำกะทิ และน้ำเชื่อมรับประทาน ปัจจุบัน ขนมสาคู ไม่นิยมใช้แป้งจากต้นสาคูแล้ว เพราะกระบวนการผลิตแป้งยุ่งยาก และหายาก จึงนิยมใช้แป้งมันสำปะหลังแทน
ชนิดต้นสาคู
ต้นสาคู แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่
1. สาคูไทย หรือ ว่านสาคู (Marantaarundinaceae L.)
2. พุทธรักษาสาคู (Canna edulis Ker.)
3. ปาล์มสาคู (Metroxylon sagu)
. สาคูไทย หรือ ว่านสาคู
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maranta arundinaceae L.
• ชื่อสามัญ :
– arrowroot, West Indian arrowroot (อังกฤษ)
– Arrurruz (ฝรั่งเศส)
– Garut, Angkrik, Larut (อินโดนีเชีย)
– Aroru, Ubi garue, Berolu (มาเลเซีย)
– Aroru, Sagu (ฟิลิปปินส์)
– Zulu (อเมริกาใต้)
– Hore kiki (บราซิล)
– Viuxita (เม็กซิโก)
– Kuzu ukon (ญี่ปุ่น)
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– สาคู
– สาคูไทย
– สาคูขาว
– ว่านสาคู
– สาคูวิลาส
– สังคู
– มันสาคู
– มันอาโรรุต
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
สาคูไทย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง ตะวันตกของเอกวาดอร์ ตอนกลางของทุ่งหญ้าของกิอานา และแถบทะเลคาริบเบียน [4] อ้างถึงในสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (2544) ปัจจุบันพบแพร่กระจายทั่วในแถบประเทศเขตร้อนชื้น ส่วนประเทศไทยพบในทุกภาค แต่พบปริมาณน้อยลง เพราะไม่นิยมปลูก และรับประทานกันมากนัก เนื่องจาก หัวมีกาก และเส้นใยมาก ทำให้เคี้ยวลำบาก แต่ยังพบได้ตามป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ตามริมลำห้วยหรือที่ชื้นใกล้แหล่งน้ำ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น และใบ
1. ลำต้นใต้ดิน
ลำต้นใต้ดินสาคูไทย เรียกว่า หัว หรือ เหง้า มีลักษณะคล้ายหัวลูกศร ขนาดหัวกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-40 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น 2 ชนิดได้แก่
– เครโอล (creole) หัวมีขนาดเล็ก เรียว และยาว แทงลึกลงดินได้หลายเซนติเมตร
– บานานา (banana) หัวมีขนาดใหญ่ และอวบสั้น ปริมาณหัวต่อต้นน้อย หัวแทงลงดินตื้นกว่าชนิด creole
หัวหรือเหง้าหลักจะติดกับโคนต้น และแตกหัวย่อยแทงลึกลงดิน โคนหัวแตกรากแขนงจำนวนมาก หัวย่อยอาจมีหัวเดียวหรือหลายหัว มีลักษณะทรงกระบอก เรียวยาว มีลักษณะแบ่งเป็นข้อๆ และมีตาชัดเจน และมีเกล็ดสีขาวหรือสีน้ำตาลหุ้ม เนื้อหัวด้านในมีสีขาว มีเส้นใยตามแนวยาวของหัว
. ลำต้นเหนือดิน และใบ
ลำต้นสาคูไทยเหนือดินเป็นส่วนที่แทงขึ้นมาจากเหง้า ประกอบด้วยแกนลำต้น และกาบใบ คล้ายกับพืชในกลุ่มว่านทั่วไป ส่วนด้านในเป็นแกนกลางที่ถูกหุ้มด้วยกาบใบ ส่วนด้านนอกเป็นกาบใบตั้งตรง มีลักษณะเกือบทรงกลม ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ถัดมาเป็นก้านใบ มีขนาดสั้น จากนั้น เป็นแผ่นใบ มีรูปหอก กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มองเห็นเส้นกลางใบสีเขียวชัดเจน ใบด้านล่างสุดมีขนาดใหญ่กว่าใบด้านบน แผ่นใบแบ่งออกเป็นสองข้างไม่เท่ากัน ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่มีสีเขียวเข้ม และค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อถึงหน้าแล้ง
ดอก
ดอกสาคูไทย แทงขึ้นกลางลำต้น มีดอกออกเป็นช่อแขนง ตั้งแต่ 2 ช่อ ขึ้นไป ช่อแขนงมีใบประดับรองรับ ปลายกิ่งแยกออกเป็นก้านดอก 1 คู่ และหันหน้าเข้าหากัน ก้านช่อดอกแต่ละคู่มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร มีก้านดอกย่อย ยาวประมาณ 5-15 มิลลิเมตร
บนช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยสีขาว ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร แต่ละดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงบางๆ 3 กลีบ กลีบเลี้ยงมีรูปหอก สีเขียว แยกออกจากกัน และมีขนาดไม่เท่ากัน ยาวประมาณ 12-16 มิลลิเมตร ถัดมาเป็นวงกลีบดอกที่เป็นรูปหลอดสั้นๆ สีขาว มีลักษณะเป็น 3 พู ถัดมาติดกับกลีบดอกจะเป็นเกสรตัวผู้ แบ่งเป็นชั้นๆ จำนวน 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นเกสรที่เป็นหมัน ส่วนตรงกลางเป็นเกสรตัวเมีย มียอดเกสรแยกเป็น 3 พู และรังไข่ 1 อัน ซึ่งอยู่ด้านล่างตรงกลาง ทังนี้ ต้นสามารถออกดอกได้หลังปลูกแล้ว 5-6 เดือน
ผล และเมล็ด
สาคูไทยถึงแม้จะออกดอก แต่ติดผล และเมล็ดยาก เพราะธรรมชาติของสาคูไทยจะแพร่กระจาย และเติบโตด้วยการแตกหน่อใหม่แทน แต่หากติดผลจะมีผลลักษณะกลม เปลือกผลแข็ง มีสีน้ำตาลอมแดง ขนาดผลประมาณ 7 มิลลิเมตร ส่วนเมล็ดมีขนาดเล็ก มีผิวหยาบ แบ่งออกเป็น 3 พู
ประโยชน์สาคูไทย
1. หัวสาคูไทยนำมาต้มหรือเผารับประทาน เนื้อหัวมีรสหวาน แต่ค่อนข้างมีเส้นใยมาก โดยเฉพาะพันธุ์หัวเล็ก
2. แป้งสาคูไทยมีขนาดเม็ดเล็ก และละเอียด เป็นแป้งที่ย่อยง่าย จึงนิยมใช้ทำเป็นอาหารทารก และผู้ป่วย
3. แป้งสาคูไทยใช้ประกอบอาหารหรือเติมในอาหารเพื่อเพิ่มความหนืดเหนียว
4. แป้งสาคูไทยแปรรูปเป็นขนมหวาน ทำขนมสาคู ทำเค้ก คุกกี้ ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ และขนมจีน เป็นต้น
5. หน่ออ่อนหรือแกนลำต้นอ่อนใช้ประกอบอาหาร อาทิ ผัด แกงเลียง หรือนำมารับประทานเป็นผักสดหรือลวกรับประทานคู่น้ำพริก
6. หัวหรือแป้งใช้หมักผลิตแอลกอฮอล์หรือน้ำส้มสายชู
7. เมล็ดนำมาคั่วไฟรับประทาน มีรสมันคล้ายถั่วทั่วไป
8. หัวหรือหน่ออ่อนนำมาต้มหรือให้สดเป็นอาหารเลี้ยงหมู
9. ใบใช้ห่อข้าว ห่ออาหาร ใช้ทำห่อหมก
10. เมล็ดนำมาร้อยเป็นลูกปัดหรือลูกประคำ
11. ลำต้น และใบสดนำมาเผารมควัน ช่วยไล่เหลือบ และยุง
12. บางพื้นที่นอกจากปลูกเพื่อรับประทานหัวแล้ว ยังปลูกเป็นไม้มงคล และไม้ประดับ