
สวาด
สวาด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสวาด
สวาด ชื่อสามัญ Nuckernut, Grey nickers, Bonduc nut, Gray nicker, Gray nicker bean, Grey nicker bean, Guilandina seed, Fever nut, Molucca nut, Nicker nut, Physic nut, Physic nut, Sea pearl, Wait-a-while, Yellow nicker (ENGLISH)
สวาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia bonduc (L.) Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Caesalpinia bonducella (L.) Fleming, Caesalpinia crista sensu auct., Guilandina bonduc Griseb., Guilandina bonducella L., Guillandina bonduc L., Guillandina bonducella (L.) Fleming) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAEหรือ CAESALPINIACEAE)
สมุนไพรสวาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หวาด บ่าขี้แฮด (เชียงใหม่), หวาด ตามั้ด มะกาเลิง (ภาคใต้), สวาด (ภาคกลาง), มะกาเล็ง (เงี้ยว-เชียงใหม่), ดามั้ด (มลายู-สตูล) เป็นต้น
ลักษณะของต้นสวาด
- ต้นสวาด จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพันกับต้นไม้อื่นโดยใช้หนามช่วยในการประคอง ตามลำต้น กิ่งก้าน และเส้นใบมีหนามโค้งแหลม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด สามารถพบได้ทั่วไปในเขตร้อน มักขึ้นตามริมแม่น้ำลาธารในป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะใกล้ทะเล และป่าโปร่งทั่วไป แต่ในปัจจุบันจะพบได้น้อยมาก
- ใบสวาด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลมเล็กน้อย โคนใบไม่เท่ากัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม มีหูใบประกอบแบบขนนก
- ดอกสวาด ออกดอกเป็นช่อ เป็นช่อยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร โดยจะออกที่กิ่งเหนือซอกใบเล็กน้อย เป็นช่อเดี่ยวหรือบางครั้งอาจจะแตกแขนงได้ ก้านช่อยาวและมีหนาม ดอกย่อยมีขนาดเล็ก คล้ายดอกกล้วยไม้สีเหลือง โดยมีกลีบดอกเป็นสีเหลือง มีใบประดับเป็นเส้นงอ ยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร
- ผลสวาด ออกผลเป็นฝัก ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี มีหนามยาวแหลม หรือขนยาวแหลมแข็งคล้ายหนามตามเปลือก ภายในฝักมีเมล็ด 2 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรีเท่าปลายนิ้วชี้ เปลือกเมล็ดแข็งเป็นสีม่วงเทา (สีสวาด) เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร
สรรพคุณของสวาด
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย (ผล) บ้างว่าใบก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัยได้เช่นกัน (ใบ)
- ยอดนำมาบดกรองเอาแต่น้ำใช้เป็นยาแก้ไข้ (ยอด) ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน (เมล็ด)
- ใบและเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ใบ,เมล็ด)
- บางข้อมูลระบุว่าใช้ใบนำมาต้มกับน้ำอมกลั้วคอ จะช่วยรักษาแผลในลำคอ (ใบ)
- ตำรายาไทยจะใช้ใบสวาดเป็นยาขับลม ขับผายลม แก้อาการจุกเสียดแน่น (ใบ)
- เมล็ดใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ปวดท้อง (เมล็ด)
- รากนำมาดองกับเหล้าขาวใช้เป็นยาแก้พยาธิ (ราก) ยอดมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (ยอด), เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)
- ใบและผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ (ใบ,ผล)
- ใบสวาดจัดเป็นส่วนผสมในตำรับยาอม "ยาอมมะแว้ง" ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านและยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีสรรพคุณเป็นยาช่วยบรรเทาอาการไอ ละลายและขับเสมหะ (ใบ)
ประโยชน์ของสวาด
- ในสมัยก่อนเด็ก ๆ จะนำเมล็ดสวาดมาใช้เล่นหมากเก็บ เพราะมีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสม
- ในวรรณคดีหลายเรื่องจะมีการกล่างถึงต้นสวาดในเชิงเปรียบเทียบกับความรัก ความพิศวาส ระหว่างหญิงชาย เพราะมีความพร้องเสียงกันนั่นเอง นอกจากนี้ตามธรรมเนียมไทยในการจัดขันหมากงานแต่งงานบางท้องที่ จะใช้ใบรักและใบสวาดรองก้นขันหมากโท ซึ่งใส่หมากพลู ส่วนขันหมากเงินทุนและสินสอด จะใส่ใบรักและใบสวาดลงไปรวมกับดอกไม้และสิ่งมลคลอื่น ๆ เช่น ดอกบานไม่รู้โรย ถั่วงา ใบเงิน ใบทอง เป็นต้น