
สิงหโมรา
สิงหโมรา สรรพคุณและประโยชน์ของว่านสิงหโมรา
สิงหโมรา ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyrtosperma johnstonii (N.E.Br.) N.E.Br. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Alocasia johnstonii N.E.Br.) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)
สมุนไพรสิงหโมรา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านสิงหโมรา ผักหนามฝรั่ง (กรุงเทพฯ) เป็นต้น
ลักษณะของสิงหโมรา
- ต้นสิงหโมรา จัดเป็นไม้ล้มลุก ที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นสั้นพ้นผิวดินขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ลำต้นเป็นสีชมพูอ่อน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการแยกหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี มีความชื้นสูง และชอบแสงแดดรำไร เวลาปลูกให้กลบดินแต่พอมิดหัวเท่านั้น ควรนำมาเพาะในกระถางให้ต้นโตพอสมควรก่อน แล้วค่อยย้ายไปปลูกในที่ซึ่งเป็นดินโคลนหรือดินเลนหรือจะปลูกในดินร่วน ๆ คลุกด้วยใบพืชผุพังก็ได้ รดน้ำแต่อย่าให้น้ำท่วมขัง มักพบขึ้นตามบริเวณลำธารที่พื้นเป็นดินโคลนเลนตามป่าดิบชื้นทั่วไปที่มีแสงแดดแบบรำไร
ใบสิงหโมรา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกใกล้ราก แทงออกมาจากหัวใต้ดิน ลักษณะของใบเป็นรูปเงี่ยงใบหอกถึงรูปหัวลูกศร ยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปเงี่ยงลูกศร ส่วนขอบใบเรียบ ท้องใบและหลังใบเรียบ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีจุดประสีขาว สีเขียว สีน้ำตาล และชมพู ส่วนขอบก้านใบมีหนามทู่ เส้นใบเป็นสีชมพูสดเมื่อยังเป็นใบอ่อน แผ่นใบมีแต้มสีน้ำตาลแดง เส้นใบเป็นสีเขียวถึงสีน้ำตาล โคนใบเป็นพูยาว กาบใบเป็นรูปเรือ สีม่วงเข้มด้านนอก สีเขียวแกมเหลืองด้านใน
ดอกสิงหโมรา ออกดอกเป็นช่อเป็นแท่งกลมยาว แทงออกมาจากกาบใบ ดอกย่อยส่วนใหญ่จะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีใบประดับขนาดใหญ่คล้ายกาบสีน้ำตาลหุ้มอยู่ด้านหนึ่ง
ผลสิงหโมรา ผลเป็นผลสดมีขนาดเล็ก ผลจะมีเนื้อนุ่มหุ้มอยู่ข้างนอก ส่วนภายในจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดที่แข็งมาก
- ก้านใบนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ดองกับเหล้า ใช้กินเป็นยาช่วยเจริญอาหาร ช่วยฟอกเลือดบำรุงโลหิต ซึ่งเหมาะสำหรับสตรี โดยให้ดื่มกินก่อนอาหารครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ (ก้านใบ)[1],[2],[3] หรือจะใช้ส่วนของเหง้า กาบต้น หรือทั้งต้นนำมาดิงกับเหล้ากินก็มีสรรพคุณบำรุงโลหิตเช่นกัน (เหง้า,กาบต้น,ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง (ก้านใบ,ต้นและใบ)
- ต้นและใบมีรสร้อน ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ต้นและใบ)
- ทั้งต้นนำมาดองกับเหล้ากินเป็นยาช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ทั้งต้น)
- ช่วยบำรุงกำลัง (ก้านใบ)
- ใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียนบ่อย ๆ หน้ามืด ซูบซีด ด้วยการนำต้นและใบมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ผสมกับมะตูมอ่อนและกล้วยน้ำว้าห่าม นำมาดองกับเหล้า 15 วัน หรือบดให้เป็นผงละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน ใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น (ต้นและใบ)
- ช่วยในการย่อยอาหาร (เหง้า,ก้านใบ,กาบต้น)
- ทั้งต้นมีรสร้อน ใช้ดิงกับเหล้าดื่มกินเป็นยาช่วยขับน้ำคาวปลาของสตรี (เหง้า,ก้านใบ,กาบต้น,ทั้งต้น)
- ดอกมีสรรพคุณช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ด้วยการนำดอกมาปิ้งกับไฟให้เหลืองแล้วดองกับเหล้า ใช้กินเป็นยาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติของสตรี (ดอก)
- ต้นและใบมีรสร้อน มีสรรพคุณช่วยรักษามดลูกสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตรใหม่ (ต้นและใบ)
- ก้านใบนำมาดองกับเหล้ากินเป็นยาแก้โรคอยู่ไฟไม่ได้ หรือโดนเลือดลมกระทำ อันเป็นเหตุให้ผอมแห้งแรงถอย โดยท่านให้ดื่มกินก่อนอาหารครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ (ก้านใบ, ทั้งต้น)
- ช่อดอกนำมาปิ้งไฟแล้วดองกับเหล้า ใช้กินเป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ช่อดอก)
- ใบมีรสร้อน นำมาตำพอกผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกฝีที่ไม่เป็นหนองให้แห้งหายไป (ใบ)
- เหง้ามีรสร้อน นำมาฝนกับน้ำหรือฝนกับเหล้าแล้วนำไปปิดปากแผลที่ถูกแมงป่องหรือตะขาบกัดต่อย จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ (เหง้า)
- ก้านใบใช้ปรุงเป็นยาดูดพิษ และกำจัดสารพิษต่าง ๆ ภายในร่างกายได้ (ก้านใบ)
- ช่วยบำรุงกล้ามเนื้อและบำรุงเส้นเอ็น (ก้านใบ)
- นอกจากนี้บางข้อมูลยังระบุด้วยว่าว่านสิงหโมรามีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิต โดยวิธีการปรุงเป็นยาให้ใช้ต้นนำมาหั่นให้ละเอียด (รวมใบ ลำต้น และเหง้าด้วย) นำมาล้างให้สะอาดแล้วนำไปตากแดดให้แห้งประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นนำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้มาดื่มกินเป็นประจำทุกวัน หรืออาจใช้ดื่มแทนน้ำเปล่าเลยก็ได้ (แต่ข้อมูลตรงส่วนนี้ยังไม่มีรายงานทางเภสัชวิทยามายืนยันนะครับว่ามีฤทธิ์ดังกล่าวจริงหรือไม่)
-
ประโยชน์ของสิงหโมรา
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม ยามเจ็บไข้ ก็จับนำมาใช้ทำเป็นยาได้
- ในด้านความเป็นมงคล มีความเชื่อว่าว่านสิงหโมรามีอานุภาพทางด้านป้องกันภูตผีปีศาจ และยังเชื่อว่าเป็นว่านคุ้มครองป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาใกล้ โดยจะนิยมนำมาปลูกไว้ตามริมคลองหรือหน้าบ้านที่พักอาศัย เมื่อว่านออกดอกให้หาผ้าขาวบริสุทธิ์มาผูกรอบกระถาง ถ้าจะให้ดีควรปลูกในวันอังคารหรือวันพฤหัสบดีข้างขึ้น และให้รดน้ำที่เสกด้วยคาถา “อิติปิโสฯ” หรือ “นะโมพุทธายะ” 3 จบเสมอ ผู้ที่เป็นเจ้าของจะสมใจปองในสิ่งที่พึงประสงค์ไว้ (หนามของว่านจะใช้เป็นเครื่องกันภูตผีปีศาจได้)
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม ยามเจ็บไข้ ก็จับนำมาใช้ทำเป็นยาได้