
หนานเฉาเหว่ย
หนานเฉาเหว่ย
"หนานเฉาเหว่ย" หรือ "หนานเฝยเฉ่า" (Nan fui chao) ,หนานเฟยซู่,ป่าเฮ่อหมอง(ป่าช้าเหงา),บิสมิลลาฮ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vernonia amygdalina
Family name ชื่อวงศ์ ASTERACEAE
English (vernonia tree,bitter leaf)
ในปัจจุบัน การแพทย์แผนโบราณที่ใช้พืชสมุนไพรในการรักษาโรค กำลังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เนื่องจากหลายๆ คนคิดว่าการใช้ธรรมชาติบำบัดจะช่วยบำรุงสุขภาพ ส่งเสริมฤทธิ์ของยา และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การรักษาโรคได้ แต่อย่างไรก็ตาม สมุนไพรหลายชนิดก็ยังไม่มีการวิจัยที่รับรองสรรพคุณอย่างแน่ชัด รวมถึงการทานสุ่มสี่สุ่มห้า ก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นสมุนไพร หนานเฉาเหว่ย หรือที่แปลเป็นไทยว่า ป่าช้าเหงา, ป่าช้าหมอง ซึ่งว่ากันว่ามีสรรพคุณสารพัด แต่หากทานอย่างไม่ระวัง ก็อาจเป็นโทษต่อสุขภาพได้
รู้จักกับสมุนไพร หนานเฉาเหว่ย
หนานเฉาเหว่ย (ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnanthemum extensum) หรือชื่ออื่นๆ คือ ป่าช้าเหงา ป่าช้าหมอง ป่าเฮ่วหมองเป็นสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน พบได้ตามป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ และปัจจุบันปลูกกันแพร่หลายมากขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทย พืชหนานเฉาเหว่ยเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 6 – 8 เมตร มีใบรูปรี ปลายแหลม โคนป้านมน ใบอ่อนและแก่มีรสขมจัด ออกดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อนตามซอกใบและปลายยอดในช่วงต้นฤดูฝน ดอกมีกลิ่นหอม ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเกลี้ยง แบ่งเป็นพู 3 พู ในแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา ได้แก่ ใบ ซึ่งสามารถทานสด หรือต้มกับน้ำดื่มก็ได้
สรรพคุณของหนานเฉาเหว่ย
งานวิจัยที่รับรองสรรพคุณของหนานเฉาเหว่ย ยังอยู่ในระดับเซลล์เพาะเลี้ยงและสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่มีการวิจัยสรรพคุณในคนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่าสมุนไพรหนานเฉาเหว่ย น่าจะมีฤทธิ์เป็นยาและมีสรรพคุณต่อร่างกาย ดังนี้
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด มีงานวิจัยที่พบว่าใบหนานเฉาเหว่ย หรือป่าช้าเหงา สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลองได้ ซึ่งน่าจะออกฤทธิ์ในคนแบบเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดสูง แต่ใบหนานเฉาเหว่ยนั้นมีฤทธิ์แรงมาก การทานมากเกินไปจึงอาจทำให้น้ำตาลตก จนหน้ามืด หมดแรง หมดสติ และช็อกได้
- ช่วยลดความดันโลหิต หนานเฉาเหว่ยมีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดเลือด และทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี จึงช่วยลดความดันโลหิต โดยเฉพาะในคนที่มีความดันโลหิตสูง และมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคที่ตามมา เช่น โรคหลอดหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรังได้อีกด้วย แต่การทานมากเกินก็อาจทำให้ความดันตกจนเป็นอันตรายได้
- ช่วยลดระดับไขมันในเลือด การทดลองในสัตว์ พบว่าหนานเฉาเหว่ยสามารถลดระดับไขมันในเลือดได้ จึงน่าจะมีส่วนช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
- มีฤทธิ์ต่อต้านเซลล์มะเร็ง การทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยง พบว่าสารสกัดจากสมุนไพรหนานเฉาเหว่ย สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านม และมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ โดยผ่านการกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ว่าการทานหนานเฉาเหว่ยจะเป็นผลดีต่อการรักษามะเร็งในคนหรือไม่
ข้อควรระวังในการบริโภคหนานเฉาเหว่ย
แม้หนานเฉาเหว่ยจะเป็นสมุนไพรมากสรรพคุณ แต่ก็อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน และการทานอย่างไม่ระมัดระวังก็อาจก่อให้เกิดโทษได้ จึงมีข้อแนะนำและข้อควรระวังสำหรับการทานหนานเฉาเหว่ย ดังนี้
- คนที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานหนานเฉาเหว่ย
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ไม่ควรรับประทานหนานเฉาเหว่ยแทนยา หรือหยุดยาแผนปัจจุบันแล้วมาทานหนานเฉาเหว่ยอย่างเดียว โดยเฉพาะคนที่ควบคุมโรคได้ดีอยู่แล้ว เพราะจะทำให้น้ำตาลและความดันตกจนเป็นอันตรายได้ แต่สามารถทานหนานเฉาเหว่ยเพื่อบำรุงร่างกายเป็นครั้งคราวได้
- หากทานหนานเฉาเหว่ยแล้วมีอาการหน้ามืด ใจสั่น เหงื่อออกมาก หมดแรง ให้หยุดทานแล้วไปพบแพทย์
- หนานเฉาเหว่ยอาจมีพิษต่ออัณฑะ ชายวัยเจริญพันธุ์จึงไม่ควรรับประทานหนานเฉาเหว่ยติดต่อกันเป็นเวลานาน
วิธีบริโภคหนานเฉาเหว่ยให้ปลอดภัย
- ทานใบสด โดยให้เลือกใบขนาดไม่ใหญ่นัก ทานไม่เกินวันละ 1 – 3 ใบ และไม่ควรทานทุกวัน ให้เว้น 2 – 3 วันจึงทานครั้งหนึ่ง
- นำใบมาต้มกับน้ำดื่ม โดยเลือกใบขนาดเท่าฝ่ามือ 3 ใบ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ให้พอเดือด (ไม่ควรต้มนานเกิน 5 นาที) และดื่มเพียงวันละ 1 แก้ว หลังตื่นนอน ไม่ควรดื่มทุกวัน และไม่ควรดื่มแทนน้ำ
- ไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น อาจทานติดต่อกัน 1 เดือน แล้วเว้น 1 เดือน และจึงเริ่มทานใหม่
อย่างไรก็ตาม ถ้าทานหนานเฉาเหว่ยแล้วมีอาการผิดปกติ ให้หยุดทานทันที และหากใครมีโรคประจำตัวซึ่งไม่แน่ใจว่าทานสมุนไพรได้หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ