
หางนกยูง
หางนกยูง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหางนกยูงไทย
หางนกยูงไทย ชื่อสามัญ Barbados Pride, Dwarf poinciana, Flower fence, Paradise Flower, Peacock's crest, Pride of Barbados
หางนกยูงไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia pulcherrima (L.) Sw. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
สุมนไพรหางนกยูงไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จำพอ ซำพอ (แม่ฮ่องสอน), ขวางยอย (นครราชสีมา), ชมพอ ส้มพอ ส้มผ่อ พญาไม้ผุ (ภาคเหนือ), นกยูงไทย (ภาคกลาง), หนวดแมว (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน, ฉานแม่ฮ่องสอน), หางนกยูง เป็นต้น
ลักษณะของหางนกยูงไทย
- ต้นหางนกยูงไทย จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 1-2.5 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 3-4 เมตร ลำต้นแตกกิ่งกานสาขามาก เรือนยอดโปร่งเป็นทรงพุ่มกลม ลำต้นมีขนาดเล็ก กิ่งก้านสาขาที่ยังอ่อนอยู่จะเป็นสีเขียว ส่วนกิ่งที่แก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนเปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ตามกิ่งก้านมีหนาม (บางพันธุ์ก็ไม่มีหนาม) ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งและวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินทั่วไป จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ต้นหางนกยูงไทยมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ หมู่เกาะเวสต์อินดีส ในบ้านเราพบได้มากตามบ้านทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท หรือตามสวนสาธารณะริมทางก็มีให้เห็นบ่อย ๆ
- ใบหางนกยูงไทย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ลักษณะเป็นแผง ๆ ออกเรียงสลับ ใบย่อยมีประมาณ 6-12 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ผิวด้านหลังใบมีสีเข้มกว่าด้านท้องใบ
- ดอกหางนกยูงไทย ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกบริเวณซอกใบ ปลายกิ่ง หรือตามส่วนปลายยอดของต้น ดอกย่อยจะมีจำนวนมาก ดอกมีหลายสีแยกไปตามสายพันธุ์ ได้แก่ สีส้ม สีแดงสีแดงประขาว สีชมพู สีชมพูแก่ สีเหลือง กลีบดอกมี 5 กลีบ ขอบกลีบดอกไม่เท่ากันหรือยับย่นเป็นเส้นเส้นลอนสีเหลือง ขอบกลีบดอกเป็นสีเหลือง มีเกสรอยู่กลางดอกเป็นเส้นงอนยาวโผล่พ้นเหนือดอกออกมา ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นยาวมี 10 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน มีรังไข่เหนือฐานรองดอก ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นสีแดงสดเหมือนก้านชูอับเรณู ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
- ผลหางนกยูงไทย ออกผลเป็นฝักแบน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่แล้วจะแตกออก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 8-10 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างกลม


สรรพคุณของหางนกยูงไทย
- ดอกหางนกยูงสีเหลืองสามารถนำมาต้มกับน้ำ แล้วใช้อมเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันได้ (ดอกของต้นดอกเหลือง)
- รากมีรสเฝื่อน นำมาต้มหรือฝนกินเป็นยาแก้วัณโรคในระยะที่สาม (การนำมาใช้เป็นยาโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ต้นที่มีดอกสีแดง) (รากของต้นดอกแดง)
- เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)
- รากใช้ปรุงเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (รากของต้นดอกแดง)
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้บวม (ราก)
ประโยชน์ของหางนกยูงไทย
- เมล็ดในฝักสามารถนำมารับประทานได้ โดยแกะเอาเปลือกกับเมล็ดซึ่งมีรสฝาดทิ้งไป โดยเนื้อในเมล็ดจะมีรสหวานมันเล็กน้อย (เมล็ด)
- ดอกสามารถนำมาใช้บูชาพระได้
- นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะดอกมีความสวยงาม ปลูกได้ในดินทุกชนิดและยังมีความทนทาน ปลูกง่ายและขึ้นง่าย และยังเหมาะที่จะปลูกเป็นรั้ว เพราะหางนกยูงไทยบางสายพันธุ์จะมีหนามและกิ่งก้านเยอะ สามารถปลูกเกาะกลุ่มเป็นแนวได้ดี
- ในด้านความสำคัญทางเศรษฐกิจ สามารถปลูกเพื่อจำหน่ายต้นกล้าเพื่อเป็นไม้ประดับและจำหน่ายดอกเพื่อหารายได้เสริมให้ครอบครัวได้
- นอกจากนี้ยังใช้ใบนำมาวางตามห้องหรือใกล้ตัวเพื่อป้องกันแมลงหวี่ หรือใช้ใบแห้งนำมาจุดไฟให้มีควันเพื่อไล่แมลงหวี่ได้