
เหรียง
เหรียง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเหรียง ลูกเหรียง
เหรียง ชื่อสามัญ Nitta tree
เหรียง ชื่อวิทยาศาสตร์ Parkia timoriana (DC.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Parkia javanica auct., Parkia roxburghii G.Don) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)
สมุนไพรเหรียง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเหรี่ยง เรียง สะเหรี่ยง สะตือ (ภาคใต้), นะกิง นะริง (ภาคใต้-มาเลย์), เรียง เหรียง เมล็ดเหรียงเป็นต้น
เหรียง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในหมู่เกาะติมอร์และในแถบเอเชียเขตร้อน ซึ่งไล่ตั้งแต่ประเทศอินเดียไปจนถึงประเทศปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศไทยนั้นจะพบขึ้นได้ทั่วไปทางภาคใต้ ไล่ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยมักขึ้นตามป่าดิบชื้น ในระดับพื้นที่ต่ำไปจนถึงพื้นที่สูงถึง 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่อาจมีบ้างที่เจริญเติบโตในระดับความสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ลักษณะของต้นเหรียง
- ต้นเหรียง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีลำต้นเป็นเปลาตรง มีความสูงได้ถึง 50 เมตร มีพูพอนสูงถึง 6 เมตร ลักษณะโดยทั่วไปจะคล้ายคลึงกับสะตอ แต่จะแตกต่างกันตรงที่พุ่มใบของต้นเหรียงมักจะเป็นพุ่มกลม ไม่แผ่กว้างมากนัก และมีพุ่มใบแน่นเป็นสีเขียวทึบกว่าพุ่มใบของสะตอ เปลือกต้นเรียบ ที่กิ่งก้านมีขนปกคลุมขึ้นอยู่ประปราย และเป็นต้นไม้ที่ชอบแสงสว่างและพื้นที่ค่อนข้างชุ่มชื้น มักจะเริ่มผลัดใบในช่วงที่ออกช่อดอก และใบจะหลุดร่วงจนหมดต้นเมื่อผลเริ่มแก่พร้อม ๆ ไปกับใบอ่อนที่จะเริ่มผลิออกมาใหม่ ส่วนวิธีการปลูกต้นเหรียงจะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดเป็นหลัก นอกจากนี้ยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น ๆ ได้อีก เช่น การตัดกิ่งปักชำและการติดตา แต่ไม่เป็นที่นิยม
- ใบเหรียง มีก้านใบยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร มีต่อมเป็นรูปมนยาว 3.5-5 มิลลิเมตร อยู่เหนือโคน ส่วนก้านแกนช่อใบจะยาวประมาณ 25-40 เซนติเมตร มีช่อใบแขนงด้านข้างประมาณ 18-33 คู่ ใต้รอยต่อของก้านช่อใบแขนงด้านข้างมักมีต่อมเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนช่อแขนงยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ในแต่ละช่อมีใบย่อยประมาณ 40-70 คู่ โดยใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ มีความกว้างประมาณ 5-7 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1.5-1.8 มิลลิเมตร ส่วนปลายใบแหลมโค้งไปทางด้านหน้า ฐานใบมักยื่นเป็นติ่งเล็กน้อย เส้นแขนงของใบด้านข้างไม่ปรากฏชัดเจน
- ดอกเหรียง ออกดอกเป็นช่อกลม มีขนาดของดอกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5 เซนติเมตร มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยมีก้านดอกสั้น ๆ และมีใบประดับยาวประมาณ 4-10 มิลลิเมตรรองรับกลีบรอง กลีบดอกของดอกสมบูรณ์เพศเชื่อมติดกันเป็นหลอด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม


- ผลเหรียง หรือ ฝักเหรียง ผลเป็นฝักกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 22-28 เซนติเมตร ตัวฝักตรงไม่บิดเวียนเหมือนกับสะตอบางพันธุ์ และเมล็ดก็ไม่นูนอย่างชัดเจน ฝักเมื่อแก่เต็มที่เปลือกจะแข็งและมีสีดำ ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดประมาณ 11 x 20 เซนติเมตร หนึ่งฝักมีเมล็ดประมาณ 20 เมล็ด โดยจะออกผลหรือฝักในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และฝักจะแก่ในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์


- เมล็ดเหรียง เปลือกเมล็ดหนามีสีดำหรือสีคล้ำ ส่วนเนื้อในเมล็ดมีสีเขียวเข้มและมีกลิ่นฉุน


- ลูกเหรียง หรือ หน่อเหรียง มีลักษณะคล้ายกับถั่วงอกหัวโตแต่จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าและมีสีเขียว มีรสมันและกลิ่นฉุน เกิดมาจากการนำเมล็ดเหรียงของฝักแก่ไปเพาะในกระบะทรายเพื่อให้เมล็ดงอกรากและมีใบเลี้ยงโผล่ขึ้นมาเหมือนกับถั่วงอก จึงจะสามารถนำมารับประทานได้ (เมล็ดเหรียงนั้นมีเปลือกแข็งจึงไม่สามารถรับประทานได้โดยตรง)


การเพาะลูกเหรียง
วิธีเพาะหน่อเหรียง หรือลูกเหรียง ขั้นตอนแรกให้นำเมล็ดมาตัดเป็นรอยหยักเพื่อช่วยเปิดทางให้แตกหน่อ แล้วนำไปแช่ในน้ำหนึ่งคืน หลังจากนั้นให้นำเมล็ดขึ้นมาล้างเมือกออกแล้วตั้งให้สะเด็ดน้ำ นำไปใส่กระสอบและนำไปล่อนแล้วนำไปใส่ตะกร้า ถัดมาให้นำไปแช่น้ำในตอนเช้า 1 ชั่วโมง แล้วยกขึ้นตั้งไว้และแช่ในน้ำเย็นอีก 1 ชั่วโมง เสร็จแล้วก็ยกขึ้นตั้งไว้ โดยทำแบบนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 4 วัน เมื่อถึงเช้าวันที่ 5 ก็ให้นำเมล็ดมาแกะเอาเปลือกออก ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำไปเพาะในกระบะทราย
สรรพคุณของเหรียง
- เมล็ดเหรียงมีรสมัน ช่วยบำรุงร่างกาย (เมล็ด)
- ช่วยทำให้เจริญอาหารได้ดี (เมล็ด)
- ลูกเหรียงมีวิตามินเอ วิตามินซี และแคลเซียม จึงช่วยบำรุงเหงือกและฟันให้แข็งแรง
- เปลือกและเมล็ดมีคุณค่าทางสมุนไพรที่ดีกว่าสะตอ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เมล็ดเพื่อเป็นยาแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง (เมล็ด)
- ช่วยขับลมในลำไส้ (เมล็ด)
- เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผล ช่วยลดน้ำเหลือง (เปลือกต้น)
ประโยชน์ของต้นเหรียง
- ลูกเหรียง หรือหน่อเหรียง หรือเมล็ดเหรียง เกิดจากการเพาะเมล็ดที่เริ่มงอก สามารถนำมารับประทานเป็นผักสดได้เช่นเดียวกับสะตอ แต่เหรียงจะมีรสที่ขมกว่า โดยใช้รับประทานสดแกล้มกับน้ำพริกหรือแกงใต้ หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น การทำแกง แกงหมูลูกเหรียง ผัด หรือจะนำไปทำเป็นผักดองก็ได้
- ต้นเหรียงมีลำต้นเป็นเปลาตรง มีเนื้อไม้สีขาวนวล ไม่มีแก่น เสี้ยนตรงสม่ำเสมอ มีความอ่อนและเปราะ สามารถเลื่อยผ่าได้ง่าย สามารถนำมาใช้ทำเป็นส่วนประกอบที่มีน้ำหนักเบาหรือเป็นโครงร่างของการผลิตต่าง ๆ เช่น การทำรองเท้าไม้ หีบใส่ของ ไม้หนาประกบพวกเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เครื่องใช้สอยอื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ แพ และเรือที่ขุดจากต้นไม้
- เหรียงจัดเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง จึงมีคุณสมบัติในการช่วยบำรุงดินได้ดี ส่วนของใบเหรียงนั้นมีขนาดเล็กจึงเหมาะแก่การนำมาใช้ปลูกควบคู่ไปกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การปลูกกาแฟ ก็จะช่วยทำให้ผลผลิตของกาแฟสูงขึ้นติดต่อกัน
- เนื่องจากต้นเหรียงสามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในสภาพที่ไม่เหมาะสม จึงนิยมนำต้นเหรียงมาใช้เป็นต้นตอเพื่อใช้ในการติดตาพันธุ์สะตอ