
หว้ายักษ์
หว้ายักษ์
คนส่วนใหญ่ จะคุ้นเคยและรู้จักเฉพาะ หว้าพื้นบ้าน ที่มีต้นขึ้นตามธรรมชาติในป่าทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า SYZYGIUM CUMINI (LINN.) SKEETS อยู่ในวงศ์ MYR-TACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร มีผลรูปกลมรี ผลโตเต็มที่ประมาณปลายนิ้วก้อยมือผู้ใหญ่ ผลสุกเป็นสีม่วงคล้ำเกือบดำ รสชาติหวานปนฝาด ติดผลสุกในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคมปีถัดไป ในช่วงดังกล่าวชาวบ้านที่มีภูมิลำเนาตามชนบทที่ชอบขึ้นเขาเข้าป่าหาของป่าจะเก็บเอาผลสุกของ หว้าพื้นบ้าน เข้าไปวางขายในตลาดตัวเมือง ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อไปรับประทานอย่างแพร่หลาย
หว้าพื้นบ้าน นอกจากจะมีผลรับประทานอร่อยแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย โดยในตำรายาแผนไทยโบราณระบุว่า เปลือกต้น นำไปต้มน้ำจนเดือดแล้วดื่มขณะอุ่นเป็นยาแก้บิดได้ดีมาก เปลือกสด ทุบอมแก้ปากเปื่อย ผลดิบ กินแก้ท้องเสีย ผลสุก นำไปแปรรูปทำเป็นเครื่องดื่มหลายชนิด รวมทั้งหมักทำไวน์ขายดิบขายดี มีผู้ซื้อดื่มประจำเยอะ เมล็ดเคี้ยวกินสดๆ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด (เบาหวาน) และแก้ท้องเสียได้ด้วย
ส่วน "หว้ายักษ์" มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินโดนีเซีย ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานมากแล้ว ส่วนใหญ่จะปลูกเฉพาะกลุ่มไม่แพร่หลายทั่วไป เพื่อเก็บผลที่มีขนาดใหญ่วางขายตามตลาดผลไม้ เช่น ตลาด อ.ต.ก. หรือตามห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ราคากิโลกรัมละหลายบาท ได้รับความนิยมจากผู้ซื้ออย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีผลขนาดใหญ่ มีเนื้อเยอะ รสชาติหวานปนฝาดเล็กน้อย สามารถรับประทานสด หรือปั่นทำเป็นน้ำผลไม้รสชาติอร่อยมาก ปัจจุบันมีผู้นำกิ่งตอนของ "หว้ายักษ์" วางขาย พร้อมมีภาพของผลติดโชว์ให้ชมด้วย จึงแนะนำในคอลัมน์อีกตามระเบียบ
หว้ายักษ์ อยู่ในวงศ์ MYRTACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือน กับ หว้าพื้นบ้าน ของไทยทุกอย่าง คือ ต้นสูง 10-20 เมตร ใบออกตรงกันข้าม รูปรี หรือรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนมน ยอดอ่อนเป็นสีแดง ใบดกให้ร่มเงาดีมาก ดอกสีขาว ออกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 4 แฉก เกสรตัวผู้จำนวนมาก เป็นฝอยๆสวยงามมาก "ผล" กลมรี ผลโตเต็มที่ประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ ผลสุกสีม่วงคล้ำเกือบดำ รสชาติหวานปนฝาดอร่อยมาก มีกิ่งตอนขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 19 แผง "นายดาบสมพร" ราคาสอบถามกันเอง
ประโยชน์ของลูกหว้ายักษ์
- ลูกหว้าอุดมไปด้วยธาตุเหล็กซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและฟัน (ผลดิบ)
- ผลดิบช่วยแก้อาการท้องเสียได้ (ผลดิบ)
- ผลสุกรับประทานแก้อาการท้องร่วงและอาการบิด (ผลสุก)
- ใช้รักษาอาการบิด มูกเลือด ท้องเสีย (ใบและเมล็ดหว้า)
- นำมาใช้ทำเป็นยาอม ยากวาดคอ แก้ปากเปื่อย แก้คอเปื่อย เป็นเม็ดตามลิ้นและคอ (เปลือกและใบหว้า)
- แก้อาการน้ำลายเหนียวข้น (เปลือกและใบหว้า)
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ใบและเมล็ดหว้านำมาต้มหรือบดให้ละเอียด แล้วนำมารับประทานเพื่อรักษาอาการของโรคเบาหวานได้ เนื่องจากมีสารชนิดหนึ่งที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (ใบและเมล็ดหว้า)
- ลูกหว้ามีสรรพคุณช่วยชะลอความแก่และความเสื่อมของเซลล์ได้ (ผล)
- ช่วยบรรเทาอาการของวัณโรคและโรคปอดได้ ด้วยการนำผลหว้าไปตากแห้งแล้วนำมาบดให้ละเอียด รับประทานเป็นประจำจะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น (ผล)
- ช่วยรักษาโรคหอบหืดที่เกิดจากการแพ้อากาศ ด้วยการนำผลหว้าสดมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเพื่อบรรเทาอาการ (ผลสด)
- ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมองได้(ผล)
- มีส่วนช่วยต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง (น้ำมันหอมระเหย)
- ช่วยในการย่อยอาหาร ด้วยการเพิ่มการหลั่งน้ำดีและน้ำย่อยต่าง ๆ (น้ำมันหอมระเหย)
- ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (น้ำมันหอมระเหย)
- ช่วยยับยั้งเชื้ออีโคไล (Escherichia coli) ในช่องทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องเสียบ่อย ๆ หรืออุจจาระเหลวเป็นน้ำ
- ช่วยลดการจับตัวของลิ่มเลือด (น้ำมันหอมระเหย)
- มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย (น้ำมันหอมระเหย)
- ใบและเมล็ดหว้านำมาตำให้แหลกแล้วใช้ทารักษาโรคผิวหนังได้ (ใบและเมล็ดหว้า)
- ใบและเมล็ดหว้าเมื่อนำมาต้มกับน้ำตาล แล้วนำน้ำที่ได้มาล้างแผลเน่าเปื่อยได้ (ใบและเมล็ดหว้า)
- น้ำจากลูกหว้าถือเป็น 1 ใน 8 ของน้ำปานะที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาติแก่พระภิกษุ
- ยอดอ่อนของหว้าสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดได้ (ยอดอ่อน)
- ประโยชน์ของลูกหว้า ผลสุกนิยมนำมารับประทานเป็นผลไม้และใช้ทำเป็นเครื่องดื่มหรือไวน์ได้ (ผลสุก)
- เนื้อไม้ของต้นหว้าสามารถนำมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนได้อีกด้วย (ต้นหว้า)