ตะขบยักษ์
ตะขบยักษ์
ชื่อวิทยาศาสตร์ FLACOURTIA INDICA (BURMF) MERR PLACHNELLA SIAMENSIS
ชื่อวงศ์ FLACOURTIACEAE
ชื่อท้องถิ่นอื่น หมักเบ็น (นครราชสีมา), เบนโคก (อุบลราชธานี), ตานเสี้ยน มะแกว๋นนก มะแกว๋นป่า (ภาคเหนือ), มะเกว๋น (เมี่ยน, คนเมือง), ตะเพซะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), บีหล่อเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ตุ๊ดตึ๊น (ขมุ), ลำเกว๋น (ลั้วะ), มะขบ เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-15 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง ปลายกิ่งโค้งลง ตามลำต้นและกิ่งใหญ่จะมีหนามแหลม กิ่งอ่อนจะมีหนามแหลมตามซอกใบ หนามยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนกิ่งแก่ ๆ มักจะไม่มีหนาม เปลือกต้นเป็นสีเหลืองอมเทาแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศรูปรีกระจายแบบห่าง ๆ พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ และตามป่าชายหาด ตลอดจนตามริมแม่น้ำ ชอบพื้นที่กลางแจ้ง ทนแล้งและน้ำท่วมขังได้ดี
ดอก ออกเป็นช่อกระจะที่ซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยไม่มากนัก เป็นดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ไม่มีกลีบดอก มีเกสรสีเหลืองปนขาวจำนวนมาก
ผล เป็นรูปทรงกลม ผลโตเต็มที่เกือบเท่าผลมะนาว หรือลูกปิงปอง ผลดิบสีเขียว สุกเป็นสีแดงคล้ำ หรือ สีม่วงดำ เนื้อรสหวานหอม มีเมล็ด 5-8 เมล็ด
กาขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง