ชะเอมเทศ
ชะเอมเทศ สรรพคุณและประโยชน์ของชะเอมเทศ
ชะเอมเทศ ชื่อสามัญ Licorice, Chinese licorice, Russian licorice, Spanish licorice
ชะเอมเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Glycyrrhiza glabra L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
สมุนไพรชะเอมเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กำเช่า กำเช้า (จีน-แต้จิ๋ว), กันเฉ่า (จีนกลาง), ชะเอมจีน เป็นต้น และชะเอมเทศนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน
ลักษณะของชะเอมเทศ
- ต้นชะเอมเทศ จัดเป็นไม้พุ่มที่มีอายุนาน มีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร
ใบชะเอมเทศ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 9-17 ใบ มีสีเขียวอมเหลือง ส่วนก้านใบย่อยจะสั้นมาก
ดอกชะเอมเทศ ออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกเป็นสีม่วงอ่อน ๆ ส่วนก้านดอกสั้นมาก
ผลชะเอมเทศ หรือ ฝักชะเอมเทศ ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ผิวภายนอกมีลักษณะเรียบ
ชะเอมเทศสมุนไพรที่ได้รับการขนานนามในประเทศจีนว่าเป็นยอดสมุนไพรที่ช่วยขจัดพิษ ซึ่งการรับประทานเป็นประจำในปริมาณน้อย ๆ จะช่วยกำจัดพิษที่สะสมในร่างกายให้ลดลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิษที่สะสมในเลือดและตับ และเมื่อเทียบกับสมุนไพรชนิดอื่นแล้วชะเอมเทศนั้นจะมีรสชาติที่อ่อนนุ่มและไม่มีผลข้างเคียง จึงเป็นที่นิยมนำมาช่วยขจัดสารพิษมากกว่าสมุนไพรชนิดอื่น และชะเอมเทศยังมีชื่อเสียงในด้านเป็นยาขับเสมหะ นำมาทำเป็นน้ำชาแก้อาการไอและอาการเจ็บระคายคอ และนิยมนำมาใช้เพื่อช่วยลดอาการอักเสบต่าง ๆ
สรรพคุณของชะเอมเทศ
- รากช่วยบำรุงร่างกาย (ราก)
- ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายและช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากรากชะเอมเทศมีสารสำคัญอย่าง กลีเซอไรซิน (Glycyrrhizin) และสารเคมีอื่น ๆ อีกหลายร้อยชนิด เช่น ไฟโตเอสโตรเจนและฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ราก)
- เปลือกต้นและผลมีรสหวานใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (เปลือกต้น, ผล)
- ช่วยแก้อาการอ่อนเพลียจากการตรากตรำทำงานหนัก (ราก) บรรเทาอาการอ่อนเพลียเรื้อรังและอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นราก)
- ช่วยสงบประสาท มีฤทธิ์กล่อมประสาท กดระบบประสาทส่วนกลาง (ราก)
- ช่วยเจริญซึ่งหทัยวาตให้สดชื่น (ราก)
- ช่วยกระจายลมเบื้องบนและลมเบื้องล่าง (ต้น)
- ช่วยแก้อาการไอเป็นไข้ ลดไข้ ต้านมาลาเรีย (ราก) ลดไข้ (ราก)
- สำหรับผู้ที่มีอาการไอไม่หยุด เนื่องจากเป็นภูมิแพ้และมีอาการกระหายน้ำอย่างรุนแรง ให้ใช้ชะเอมเทศแห้ง 4 กรัม (ไม่ระบุว่าเป็นส่วนไหน แต่เข้าใจว่าเป็นราก), โสมคนแห้ง 3 กรัม, ขิงแห้ง 5 กรัม, และพุทราแดงจีนแห้ง 5 กรัม (หาซื้อได้ตามร้านขายยาจีน) นำมาห่อให้ผ้าขาวบางแล้วมัดไว้ให้แน่นต้มน้ำจนเดือดหรือแช่ในน้ำร้อนจนเนื้อยาออก แล้วนำมาดื่มเมื่อมีอาการไอหรือใช้ดื่มต่างน้ำแบบจิบบ่อย ๆ จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้
- ช่วยระบายความร้อนและช่วยขับพิษ (ราก)
- ทำให้มีอาการคลื่นเหียนอาเจียน (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาอาการเบื่อเมา (ราก)
- ช่วยรักษากำเดาให้เป็นปกติ (ราก)
- ชะเอมเทศ ช่วยบรรเทาอาการของโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นราก)[8]
- ช่วยทำให้ชุ่มคอและแก้อาการไอ (ราก)
- ช่วยทำให้ชุ่มชื้น แก้อาการคอแห้ง (ผล, ราก)
- รากสดใช้รักษาอาการเจ็บคอ (ราก) หรือใช้เข้าในตำรายาร่วมกับสมุนไพรอื่น ช่วยแก้อาการคอบวม อักเสบ (ราก)
- ช่วยทำให้เสมหะในคอแห้ง (ใบ)
- ช่วยขับเสมหะ (ราก)
- ช่วยแก้เสมหะเป็นพิษ (ราก)
- รากใช้ปรุงเป็นยาแก้น้ำลายเหนียว (ราก)
- ช่วยบำรุงหัวใจ (ราก)
- ช่วยเสริมชี่ ทำให้การเต้นของชีพจรมีแรงและกลับคืนสภาพปกติ รักษาชี่ของหัวใจพร่อง (กำเช่าผัดน้ำผึ้ง)
- ช่วยแก้อาการใจสั่น (ราก)
- ช่วยแก้เส้นเอ็นและชีพจรตึงแข็ง ทำให้ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอและชีพจรเต้นหยุดอย่างมีจังหวะ (กำเชาผัดน้ำผึ้ง)
- รากชะเอมเทศมีรสชุ่ม ใช้เป็นยาบำรุงปอด (ราก)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ราก, กำเช่าผัดน้ำผึ้ง)
- ช่วยขับลม (ราก)
- ช่วยป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (ราก)
- ช่วยในการย่อยอาหาร แก้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีหรืออาหารเป็นพิษ (ราก)
- ช่วยบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร (กำเช่าผัดน้ำผึ้ง)
- ช่วยขับเลือดที่เน่าเสียในท้อง (ราก)
- ในประเทศญี่ปุ่นมีการใช้สารสกัดดจากรากชะเอมเทศเพื่อใช้รักษาโรคตับอักเสบมานานกว่า 20 ปีแล้ว และยังมีการศึกษาทางคลินิกพบว่ารากชะเอมเทศนั้นสามารถช่วยลดระดับเอนไซม์ตับ (Amino-Transferase) ซึ่งทำให้เซลล์ตับดีขึ้น
- ช่วยทำให้ร่างกายฟื้นตัวจากไวรัสตับอักเสบได้เร็วขึ้น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นราก)
- ใบชะเอมเทศใช้เป็นยารักษาดีพิการ (ใบ)
- ช่วยรักษาพิษของฝีดาษ (ดอก)
- ช่วยรักษาแผลเรื้อรัง (ราก)
- ดอกชะเอมเทศใช้แก้อาการคัน (ดอก, ราก)
- ช่วยรักษาผื่นเอ็กซีมา โดยครีมชะเอมเทศนั้นสามารถนำมาใช้ทาเพื่อรักษาโรคผิวหนังอักเสบจากผื่นเอ็กซีมาได้ (มะบุว่าทำจากส่วนไหน แต่เข้าใจว่าทำจากราก)
- รากชะเอมเทศมีฤทธิ์ช่วยแก้อาการปวด ช่วยลดอาการอักเสบต่าง ๆ (ราก)
- รากมีฤทธิ์ช่วยต้านไมโครแบคทีเรีย อะมีบา เชื้อรา เชื้อไวรัส ไวรัสของพืช ยีสต์ พยาธิไส้เดือน ขับพยาธิตัวตืด ช่วยยับยั้งการสร้างอะฟลาทอกซิน และช่วยลดอาการฟันผุ (ราก)
- ใช้รักษาพิษจากยาหรือพิษจากพืชชนิดต่าง ๆ (ราก)
ข้อมูลทางคลินิกของชะเอมเทศ
- ช่วยรักษาเยื่อตาอักเสบ และเยื่อหุ้มลูกตาชั้นนอกอักเสบ (Scleritis)
- ช่วยรักษาเส้นเลือดดำขอด
- ช่วยรักษาโรคไข้มาลาเรีย
- ช่วยรักษาโรควัณโรคปอด
- ช่วยรักษาอาการหอบหืดเนื่องจากหลอดลมอักเสบ
- ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้เล็ก
- ช่วยรักษาอาการลำไส้บีบตัวผิดปกติ ซ้อนกันเป็นก้อน
- ช่วยรักษาโรคพยาธิใบไม้ในเลือดอย่างเฉียบพลัน
- ช่วยรักษาปากมดลูกอักเสบเน่าเปื่อย
- ช่วยรักษาอาการปัสสาวะออกมามากผิดปกติหรือเป็นเบาจืด
- ช่วยรักษาโรคตับอักเสบชนิดที่ติดต่อได้
- ช่วยรักษาโรคผิวหนังอักเสบเป็นผดผื่นคัน
- ช่วยรักษาผิวหนังบริเวณแขนและขาแตกเป็นขุย
- ช่วยรักษาแผลที่เกิดจากการถูกความเย็นจัด
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชะเอมเทศ
- เมื่อได้รับประทานชะเอมเทศแล้วสารสกัดจะไปเคลือบเยื่อเมือกตามบริเวณที่อักเสบตามลำคอ จึงช่วยลดการระคายเคืองและช่วยบรรเทาอาการไอได้
- ช่วยกำจัดเชื้อไวรัสที่ก่อกวนทางเดินหายใจ จึงช่วยบรรเทาอาการไอและเจ็บคอ ขับเสมหะและทำให้น้ำมูกลดลง
- กลีเซอไรซินไม่มีผลต่อการเผาผลาญไขมันในคนปกติ แต่สำหรับคนไข้ที่มีความดันโลหิตสูง เมื่อได้รับกลีเซอไรซินไปแล้วจะทำให้ระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง และยังช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย
- กรดกลีเซอเรตินิคมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในไขกระดูกชนิด Oberling-Guerin ที่ได้เพาะเลี้ยงในไขกระดูกของหนูใหญ่สีขาว
- กลีเซอไรซินและเกลือแคลเซียมกลีเซอไรวิเนต เมื่อนำมาฉีดเข้าหลอดเลือดดำจะไปเพิ่มฤทธิ์การขับปัสสาวะของธีโอฟิลลีน (Theophylline)
- สารกลีเซอริซินมีฤทธิ์กระตุ้นต่อมอะดรีนาลีนให้ผลิตฮอร์โมนบางชนิด จึงช่วยรักษาอาการอ่อนเพลียแบบเรื้อรังได้ อาการปวดกล้ามเนื้อ และความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดจากฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) จากต่อมหมวกไต และยังช่วยรักษาอาการผิดปกติได้ทุกประเภท
- มีฤทธิ์ในการช่วยรักษาแผลเรื้อรังในระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ต่อการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และมีฤทธิ์ในการคลายกล้ามเนื้อเรียบ
- มีฤทธิ์ต่ออาการดีซ่านที่เกิดจากการทดลอง โดยกลีเซอไรซินและกรดกลีเซอเรตินิค จะทำให้บิลิรูบิน (Bilirubin) ในพลาสมาของหนูใหญ่สีขาวและกระต่ายที่เกิดจากการผูกท่อน้ำดีให้มีปริมาณลดลง และการขับบิลิรูบินออกมาทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น
- ชะเอมเทศมีฤทธิ์อะดรีโนคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Adrenocorticosteroids) มีฤทธิ์คล้ายกับคอร์ติโตสเตียรอยด์ มีสารสกัดเข้มข้น โพแทสเซียมกลีเซอไรซิเนตหรือแอทโมเนียมกลีเซอไรซิเนต และกรดกลีเซอเรตินิค (Glycyrhetinic acid) โดยสารเหล่านี้ล้วนแต่มีฤทธิ์เหมือนกันกับดีออกซีคอร์ติโซน (Deoxycortisone) ซึ่งจะช่วยทำให้การขับถ่ายปริมาณของปัสสาวะและเกลือโซเดียมลดลง และมีฤทธิ์คล้ายกับกลูโคคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Glucocorticosteroids) กรดกลีเซอเรตินิคจะไปช่วยยับยั้งการทำลายกรดอะดรีโนคอร์ติโคสเตียรอยด์ในร่างกาย จึงทำให้ระดับของคอร์ติโคสเตียรอยด์ในเลือดสูงขึ้น
- ชะเอมเทศอาจช่วยรักษาภาวะอาการประจำเดือนผิดปกติและภาวะหมดประจำเดือน โดยสารกลีเซอไรซินนั้นเป็นเอสโตรเจนอย่างอ่อน จึงอาจช่วยในการจับตัวรับเอสโตรเจนในร่างกายได้ เมื่อร่างกายมีเอสโตรเจนมากเกินไป กลีเซอไรซินจะช่วยลดฤทธิ์ของเอสโตรเจนลง แต่ถ้าหากร่างกายมีระดับเอสโตรเจนต่ำ (วัยหมดประจำเดือน) กลีเซอไรซินจะทำหน้าที่แทนเอสโตรเจนอย่างอ่อน
- ช่วยรักษาอาการอักเสบและอาการแพ้ โดยกรดกลีเซอเรตินิคนั้นมีฤทธิ์ช่วยรักษาอาการบวมอักเสบได้ในหนูใหญ่
- สารที่สกัดที่ได้จากชะเอม FM100 มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการชัก
- กลีเซอไรซินและน้ำต้มสกัดจากชะเอมมีฤทธิ์ในการรักษาพิษของสตริกนีน โดยสามารถลดความเป็นพิษและอัตราการต้านจากสตริกนีนได้ ฤทธิ์นี้อาจเนื่องมาจากกรดกลูคูโรนิกซึ่งมีอยู่ในชะเอมเทศ
- ฤทธิ์อื่น ๆ โซเดียมกลีเซอไรซิเนตทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และกลีเซอไรซินยังมีฤทธิ์ช่วยลดไข้ในหนูเล็กขาวและในกระต่ายทดลองที่ทำให้เกิดขึ้นได้


ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรชะเอมเทศ
- การรับประทานผลิตภัณฑ์หรือมีส่วนผสมจากชะเอมเทศติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูง (190 - 200/120 มม.ปรอท) อีกทั้งยังมีอาการปวดหัว อ่อนแรงตามข้อต่อ และส่งผลทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำลง ดังนั้นผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงหรือผู้ที่มีภาวะของโพแทสเซียมต่ำไม่ควรใช้ชะเอมเทศในขนาดที่เกินกว่า 50 กรัมต่อวัน นานเกินกว่า 6 สัปดาห์ เพราะอาจจะส่งผลทำให้เกิดการสะสมน้ำในร่างกาย เกิดอาการบวมที่มือและเท้า และไม่ควรใช้ชะเอมเทศร่วมกับยาขับปัสสาวะ (กลุ่ม Thiazide) หรือยากลุ่ม Cardiac glycosides เนื่องจากชะเอมเทศจะส่งผลทำให้สารโพแทสเซียมถูกขับออกมามากขึ้น และควรหลีกเลี่ยงการใช้ชะเอมเทศร่วมกับยาขับปัสสาวะ Spironolactone หรือ Amiloride เพราะจะทำให้ประสิทธิผลของการรักษาโรคความดันโลหิตลดน้อยลง
- นอกจากจะห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและผู้ที่เลือดมีระดับโพแทสเซียมต่ำแล้ว ยังรวมไปถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตบกพร่องเรื้อรัง รวมไปถึงสตรีมีครรภ์อีกด้วยที่ไม่ควรใช้สมุนไพรชะเอมเทศ
- ชะเอมเทศมีพิษน้อย แต่การรับประทานติดต่ออย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและมีอาการบวมเกิดขึ้นตามมาได้
ประโยชน์ของชะเอมเทศ
- รากชะเอมเทศมีสารสำคัญคือสาร Glycyrrhizin (Glycyrrhizic acid หรือ Glycyrrhizinic acid) และสาร 24-hydroxyglyrrhizin โดยสารเหล่านี้เป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 50-100 เท่า จึงถูกนำมาใช้เพื่อแต่งรสชาติอาหาร ใช้แต่งรสหวานในขนมและลูกอม ใช้ปรุงเป็นยาสมุนไพร ใช้แต่งกลิ่นรสยาให้หวานและช่วยกลบรสยา (เนื่องจากในรากจะมีแป้งและความหวานอยู่มาก ควรเก็บไว้อย่าให้แมลงหรือมอดมากิน เพราะถ้าผุจะทำให้เสื่อมคุณภาพลงได้)[3],[5]
- ชะเอมเทศยังสามารถนำมาใช้เป็นไวต์เทนนิงจากธรรมชาติได้อีกด้วย โดยสารสกัดที่ได้จากรากนั้นมีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยลดความเข้มของเม็ดสี ลดฝ้ากระบนใบหน้า ช่วยทำให้ผิวหน้าสว่างกระจ่างใสขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ และช่วยลดและต้านการอักเสบของผิว จึงสามารถนำมาใช้ทดแทนสารเคมีที่ช่วยทำให้ผิวหน้ากระจ่างใสได้ แถมยังไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผิวหน้าและไม่ก่อให้เกิดเป็นสิวอุดตันอีกด้วย
- เนื่องจากชะเอมเทศมีสรรพคุณช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับลำคอและกล่องเสียง จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มนักร้อง นักพูด หรือผู้ที่ต้องใช้เสียงเป็นประจำ เนื่องจากชะเอมเทศนั้นจะช่วยกระตุ้นการสร้างสารหล่อลื่นในบริเวณลำคอเหนือกล่องเสียงได้เป็นอย่างดี
- ชะเอมเทศเป็นสมุนไพรที่นักกีฬาหรือผู้ใช้แรงงานนิยม โดยมักถูกนำไปเป็นส่วนผสมในตำรับยาสมุนไพรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรับยาบำรุงกำลังไปจนถึงตำรับยาทั่วไป เนื่องจากชะเอมเทศเป็นสมุนไพรที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รวมไปถึงการช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบย่อยอาหาร ช่วยในระบบการเผาผลาญภายในร่างกาย ช่วยในเรื่องการดูดซึมสารอาหาร และยังช่วยในการสร้างเม็ดเลือดอีกด้วย