ลำโพง
ลําโพง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลำโพงขาว
ลำโพง ชื่อสามัญ Thorn Apple, Apple of Peru, Green Thorn Apple, Hindu Datura, Metel,
ลำโพง ชื่อวิทยาศาสตร์ Datura metel L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Datura alba Rumph. ex Nees) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
สมุนไพรลำโพง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเขือบ้า (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), ลำโพงขาว ลำโพงดอกขาว (ภาคกลาง), ละอังกะ (ส่วย-สุรินทร์), เลี้ยก (เขมร-สุรินทร์), มั่วโต๊ะโละ เล่าเอี้ยงฮวย (จีน), หยางจินฮัว ม่านทัวหลัว (จีนกลาง) เป็นต้น
ต้นลำโพงหลัก ๆ ที่นำมาใช้เป็นยาในบ้านเราจะมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน (จริง ๆ แล้วมีมากกว่านั้น) คือ ลำโพงขาว (ต้นเขียว ดอกสีขาว), และลำโพงกาสลัก(ต้นสีแดงเกือบดำ ดอกสีม่วงเป็นชั้น ๆ)
ลักษณะของลำโพง
- ต้นลำโพง จัดเป็นไม้ล้มลุก ที่มีอายุประมาณ 1-2 ปี ลำต้นมีขนาดเล็กเท่าต้นมะเขือพวง มีความสูงของลำต้นประมาณ 2 เมตร ลำต้นกลมตั้งตรง แตกกิ่งก้านออกไปรอบ ๆ ต้น ลำโพงขาวต้นจะเป็นสีเขียว ลำต้นเปราะแต่เปลือกต้นเหนียว ทั้งต้นไม่มีขนปกคลุม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่อุดมสมบูรณ์หรือดินที่มีปุ๋ยมาก ๆ ชอบความชื้นแฉะ เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบภูเขาทางภาคตะวันตกของประเทศปากีสถานและประเทศอัฟกานิสถาน ต่อมาได้แพร่กระจายออกไปในเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งจะพบขึ้นได้ตามธรรมชาติทั่วทุกภาค
ใบลำโพง ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกเรียงสลับ แต่ใบบริเวณปลายกิ่งเกือบจะเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบคล้ายกับใบมะเขือพวงเชนกัน แผ่นใบเป็นรูปไข่หรือค่อนข้างกลมเล็กน้อย ปลายใบแหลม โคนใบเฉียงและเว้าเข้าหากันแต่มีขนาดไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเป็นคลื่นและหยักเป็นซี่ฟันหยาบ ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวอ่อน ก้านใบยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร
ดอกลำโพง ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบหรือส่วนยอดของต้น ลักษณะของดอกเป็นรูปแตรหรือลำโพงขนาดใหญ่ ดอกจะมีความยาวประมาณ 3.5-5.5 นิ้ว โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายบานออกเป็นรูปแตรชั้นเดียว ดอกเป็นสีขาวและมีขนปกคลุม (แต่ถ้าเป็นลำโพงกาสลัก ดอกจะเป็นสีม่วงและปลายกลีบซ้อนกันประมาณ 2-3 ชั้น) โคนดอกมีกลีบเลี้ยงสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวหุ้มอยู่ และยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวดอก กลีบดอกยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร แตกออกเป็น 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน
- ผลลำโพง เมื่อดอกร่วงโรยไปจะติดผล ลักษณะของผลเป็นลูกกลมขนาดเท่ากับผลมะเขือเปราะ แต่ปกคลุมไปด้วยหนามแหลมยาวทั้งผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาลอ่อน ผลมีขนาดโตประมาณ 1-1.5 นิ้ว เมื่อแก่จัดผลจะแตกภายในแบ่งเป็น 4 ซีก ภายในมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำและมีลักษณะแบน เป็นรูปสามเหลี่ยม
สรรพคุณของลำโพง
- เมล็ดนำมาคั่วพอหมดน้ำมัน ใช้ปรุงเป็นยากินบำรุงประสาท (เมล็ด)
- บางตำราระบุว่าใช้รากเป็นยาแก้วิกลจริต บ้างว่าน้ำต้มจากใบ ราก และเมล็ด ใช้กินเป็นยาแก้อาการคุ้มคลั่งและเป็นยาลดไข้ (ราก)
- เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้กษัย (เปลือกผล)
- ใช้ต้นรากลำโพงผสมกับยามหานิลเทียนทอง เป็นยาแก้โรคซางเด็ก (ต้นและราก)
- ใบมีสรรพคุณช่วยทำให้ผู้ที่เป็นหืดหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น (ใบ)
- น้ำคั้นจากต้นเมื่อนำมาใช้หยอดตาจะทำให้ม่านตาขยาย เช่นเดียวกับการหยอดตา (ต้น)
- ดอกนำมาหั่นตากแห้งผสมกับยาฉุนสูบแก้อาการหอบหืด แก้การตีบตัวของหลอดลม โดยให้ใช้สูบตอนที่มีอาการหอบหืดกำเริบ ให้สูบจนกว่าอาการจะหายไป วิธีนี้เด็กไม่ควรใช้ และไม่ควรสูบมากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ได้รับพิษได้ (ดอก)ส่วนใบก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้หอบหืดเช่นกัน เพราะช่วยขยายหลอดลม (ใบ) บ้างก็ว่าใช้ต้นลำโพงทั้งต้นนำมาตากแห้งหั่นสูบแก้โรคหืด (ทั้งต้น)
- ดอกนำมาหั่นตากแดดให้แห้ง ใช้มวนสูบแก้ริดสีดวงจมูก (ดอก)
- เมล็ดไปคั่วให้น้ำมันในเมล็ดออก ใช้เป็นยาถอนพิษไข้ แก้ไข้พิษ แก้ไข้กระสับกระส่าย (เมล็ด) ส่วนผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษไข้ แก้ไข้ที่ทำให้กระสับกระส่าย (ผล)
- ถ่านจากรากมีรสเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พิษ เซื่องซึม และแก้ไข้กาฬ (ถ่านจากราก)
- ช่วยแก้อาการสะอึกในไข้กาฬ (ใบ)
- รากใช้ฝนทาแก้พิษร้อน ดับพิษร้อน (ราก)
- เมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดฟัน (เมล็ด)
- น้ำจากใบสดใช้หยอดหู แก้อาการปวดหู (ใบ)
- เมล็ดลำโพงนำมาตำให้เป็นผงผสมกับน้ำมันงา ใช้หยอดหูน้ำหนวก (เมล็ด)
- ใบมีฤทธิ์กดสมอง มีสรรพคุณแก้อาเจียนจากการเมารถเมาเรือ (ใบ)
- ใบใช้เป็นยาทาเต้านมของสตรีลูกอ่อนที่ให้นมบุตร เพื่อช่วยแก้อาการอักเสบของเต้านม (ใบ)
- ช่วยขับลมชื้น ให้ใช้ดอกลำโพงมาดองกับเหล้า 500 ซีซี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ถ้วยชาจีน วันละ 2 ครั้ง (ดอก)
- ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ (เมล็ด)
- ช่วยแก้อาการปวดเกร็งท้อง (ใบ)
- ช่วยแก้ริดสีดวง (เปลือกผล)
- ใบใช้เป็นยาพอกแก้แผลเรื้อรัง แผลฝี แผลไหม้ (ใบ)
- เปลือกผลมีรสเมาเบื่อ สรรพคุณช่วยแก้มะเร็ง คุดทะราด (เปลือกผล)
- ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)
- เมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคผิวหนัง (เมล็ด)
- น้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคที่ตัว แก้กลากเกลื้อน หิด เหา (น้ำมันจากเมล็ด) ส่วนเมล็ดนำมาหุงทำน้ำมันใส่แผล แก้กลากเกลื้อนผื่นคันได้ (เมล็ด)
- ใบมีรสเบื่อเมา ใช้เป็นยาตำพอกรักษากลากเกลื้อน และฝี ทำให้ฝียุบ (ใบ)
- รากมีรสเมาหวานเล็กน้อย มีสรรพคุณแก้ฝีกาฬทั้งปวง (ราก)
- ใบใช้ตำพอกแก้ปวดบวมอักเสบ แก้ปวดบวมที่แผล (ใบ) ส่วนรากก็มีสรรพคุณแก้ปวดบวมอักเสบเช่นกัน (ราก)ช่วยรักษาไขข้ออักเสบ และมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ (ใบ)
- ใช้เมล็ดประมาณ 30 กรัม นำมาทุบให้พอกแหลก แล้วแช่กับน้ำมันพืชไว้ประมาณ 7 วัน (เช่น น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันงา ฯลฯ หรือนำมาดองกับเหล้าก็ได้) ใช้ทาบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยหรือขัดยอก จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ แต่ถ้านำมาใช้ใส่ฟันที่เป็นรูจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ (เมล็ด)ส่วนอีกวิธีให้ใช้ดอกลำโพงมาดองกับเหล้า 500 ซีซี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ถ้วยชาจีน วันละ 2 ครั้ง จะช่วยแก้อาการปวดเมื่อยได้ (ดอก)
- เมล็ดใช้เป็นยาชา (เมล็ด)
- บางตำรายังระบุว่า รากลำโพงใช้แก้หมาบ้ากัดได้ (ราก)
- เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวด แก้ชัก แก้เหน็บชาเนื่องจากลมชื้น และช่วยขับลม ส่วนเมล็ดที่นำไปคั่วให้น้ำมันในเมล็ดออก ใช้เป็นยาแก้ปวดข้อ ขาบวม ปวดบวม แก้พิษฝี ส่วนมากใช้เป็นยาภายนอก (เมล็ด)
- ทั้งต้นหรือทุกส่วนของลำต้นมีฤทธิ์เป็นยาเสพติด ช่วยระงับความเจ็บปวด และแก้อาการเกร็ง ใช้มากจะทำให้เกิดการเสพติด (ทั้งต้น)
ประโยชน์ของลำโพง
- ใบใช้มวนสูบเป็นบุหรี่ได้ แต่ต้องระมัดระวังในการใช้ อย่าใช้จนเกินขนาด โดยไม่ควรใช้เกินกว่า 1 กรัม มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะในขณะที่สูบ หากมีอาการดังกล่าวควรเลิกใช้ทันที หรือมักจะมีอารมณ์เคลิ้ม เกิดความคิดสับสน และต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะกลับคืนมาได้
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรลำโพง
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้
- ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เป็นโรคตาบอดตาใส เป็นหวัดไอร้อน และเป็นโรคเกี่ยวกับตับและไต ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้เช่นกัน
- แม้แพทย์แผนโบราณของไทยจะใช้ลำโพงเพื่อรักษาโรคได้มากมาย แต่ก็มีคำเตือนว่าควรระวังเป็นอย่างยิ่งถึงการใช้เมล็ด เพราะเชื่อว่ามีพิษทางเมาเบื่ออย่างรุนแรง อาจทำให้เป็นบ้าหรือถึงตายได้ ด้วยเหตุนี้ต้นลำโพงจึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า "มะเขือบ้า" (ส่วนคำว่ามะเขือคงมาจากลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นลำโพงที่คล้ายกับต้นมะเขือพวง) ซึ่งสอดคล้องกับคนไทยในอดีตจะเรียกคนบ้าบางจำพวกว่า "บ้าลำโพง" เพราะเชื่อว่าเกิดจากการสูบหรือกินลำโพงเข้าไปนั่นเอง
- หากได้รับสารพิษเข้าไปจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและหลับไป 4-8 ชั่วโมง ถ้ามีจำนวนมากจะทำให้เกิดอาการเพ้อฝัน ตื่นเต้น ตาแข็ง หายใจไม่สวก พูดไม่ออก เมื่อแก้พิษจนแล้ว อาจมีอาการวิกลจริตตลอดไป รักษาไม่หาย บางท่านบอกว่าเมล็ดดิบ 1-3 เมล็ด กินแล้วจะทำให้ความจำดี แต่ปรากฏว่าเมื่อกินเข้าไปแล้วก็ทำให้เกิดพิษ มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก จึงกินยาแก้พิษ ทำให้อาการเป็นพิษหายไป แต่อาการทางประสาทยังอยู่ รักษาไม่หาย ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยง
พิษของลำโพง
สารออกฤทธิ์หรือสารพิษที่พบมากในเมล็ดและใบ (พบได้ทุกส่วน แต่มีมากในเมล็ด) คือ สารในกลุ่มโทรเพน อัลคาลอยด์ (Tropane alkaloids) ได้แก่ ไฮออสซีน (Hyoscine), ไฮออสไซอะมีน (Hyoscyamine), และสโคโพลามีน (Scopolamine) ซึ่งสารพิษในต้นลำโพงจะไม่สามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน- อาการเป็นพิษที่พบ ถ้ากินเมล็ดและใบลำโพงเข้าไปจะแสดงอาการภายในเวลา 5-10 นาที ซึ่งอาการที่พบก็คือ ปากและคอแห้ง กระหายน้ำอย่างรุนแรง น้ำลายแห้งทำให้กลืนน้ำลายลำบากและทำให้พูดไม่ชัด มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ผู้ป่วยจะรู้สึกสับสน มึนงง ตื่นเต้น มีอาการประสาทหลอนทั้งหูและตา และอาจมีพฤติกรรมคล้ายโรคจิต ทำให้เพ้อฝัน ตาแข็ง ตาพร่า ม่านตาขยาย สู้แสงไม่ได้ ตัวร้อน ผิวหนังร้อนแดงและแห้ง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน หายใจช้าและขัด ผิวหนังเป็นสีคล้ำเพราะขาดออกซิเจน ในเด็กบางคนอาจมีอาการชัก ชีพจรเต้นเร็วและอ่อน นอกจากนี้ยังมีอาการปัสสาวะคั่ง ท้องผูก รายที่รุนแรงจะหมดสติและโคม่า
- แพะเป็นสัตว์ที่มีน้ำย่อยพิเศษ เมื่อกินต้นลำโพงเข้าไปแล้วจึงไม่มีอันตรายใด ๆ
ตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้รับพิษลำโพง
- มีรายงานความเป็นพิษในผู้ใหญ่ที่รับประทานต้นและผลสดของลำโพงขาว
- เด็กอายุประมาณ 10-12 ปี ได้รับประทานดอกลำโพงขาว ทำให้เด็กมีอาการปากแห้ง ม่านตาขยาย มีไข้ และผิวหน้าร้อนแดง
- ชาย 4 คน ได้ดื่มชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของเมล็ดลำโพงขาว พร้อมกับได้สูบดอกแห้งของลำโพงขาว พบว่าทั้ง 4 ราย มีอาการเป็นพิษที่คล้ายกับอาการพิษที่ได้รับจากสารอะโทรปีน (Atropine) ผู้ป่วยมีอาการทางประสาทเป็นหลัก คือ มีอาการกระสับกระส่าย เพ้อ ประสาทหลอน เดินเซ ม่านตาขยาย มีอาการคั่งของปัสสาวะ และยังพบอาการอื่น ๆ อีกเช่น ปากแห้ง กระหายน้ำ มีไข้ และหัวใจเต้นแรง
- ในประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานเกี่ยวกับการได้รับพิษจากลำโพงค่อนข้างบ่อย เพราะพืชชนิดนี้มีการแพร่กระจายอยู่ในหลาย ๆ แห่งของประเทศ เช่น ตามไร่นา พื้นที่ลุ่มทั่วไป เขตใกล้ภูเขา หรือตามที่รกร้าง ข้างกองขยะ ริมถนนหนทาง ซึ่งเด็ก ๆ มักจะได้รับพิษโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น นำดอกมาหยิบใส่ปากและเคี้ยวเล่น หรือดูดเล่นตรงเกสรดอก ส่วนวัยรุ่นจะได้รับจากเมล็ดที่มักนำไปผสมกับน้ำหรือเครื่องดื่ม หรือเพื่อนแนะนำให้ทดลองกิน หรือใช้ผสมในสารเสพติดอื่น ๆ เช่น กัญชาและโคเคน เป็นต้น
- ส่วนในประเทศไทย เคยมีรายงานว่ามีคนชายและหญิงจำนวน 6 คน ได้กินขนมจีนน้ำยาปนด้วยส่วนประกอบของลำโพง และถูกนำส่งโรงพยาบาล ผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการมึนศีรษะ ตาพร่า ปากและคอแห้ง มีอาการกระหายน้ำ ใจสั่น ปวดปัสสาวะแต่ถ่ายไม่ออก หลังจากนำน้ำล้างกระเพาะไปตรวจพบว่ามีสารคล้ายอะโทรปีนจากน้ำแกง ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับสารพิษที่พบในลำโพง
การรักษาพิษลำโพง
- ในกรณีที่รับประทานเข้าไปควรรีบขัดขวางการดูดซึมของสารพิษ ซึ่งอาจจะใช้วิธีกินผงถ่าน เพื่อช่วยลดการดูดซึมของสารพิษ แล้วให้ยาถ่าย และให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้อง[5],[6] บ้างว่าให้รับประทานชะเอมต้มรวมกับถั่วเขียว แล้วจึงรีบพาไปพบแพทย์
- ถ้าจำเป็นให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ และให้ลดไข้โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว
- ให้ยาไฟโซสติกมีน (Physostigmine) (เด็กให้ในขนาด 0.5-1 มิลลิกรัม ส่วนผู้ใหญ่ให้ในขนาด 1-4 มิลลิกรัม) เข้าทางหลอดเลือดอย่างช้า ๆ โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 นาที และขนาดยาอาจเพิ่มขึ้นได้โดยฉีดซ้ำทุก 5 นาที แต่ขนาดยาที่ใช้ทั้งหมดรวมกันแล้วจะต้องใช้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมสำหรับเด็ก และไม่เกิน 6 มิลลิกรัมสำหรับผู้ใหญ่
- ควรมียาอะโทรปีน (Atropine) ขนาด 1 มิลลิกรัม เตรียมไว้ด้วย เพื่อใช้แก้ไขกรณีที่ให้ยาไฟโซสติกมีน (Physostimine) มากเกินไป จนทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นช้า ชัก ปรือ หลอดลมเกร็งตัวอย่างมาก
- และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการตื่นเต้นมากและมีอาการชัก อาจให้ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ได้ แต่ต้องระวังอย่าให้ในขนาดสูง เพราะในระยะหลังพิษของสารในกลุ่มโทรเปนอัลคาลอยด์ (Tropane alkaloids) จะกดการทำงานของสมองส่วนกลางร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้เสริมฤทธิ์กับยาไดอะซีแพม (Diazepam) ได้ และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเพื่อช่วยรักษาสมดุลของน้ำและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย