หญ้างวงช้าง
หญ้างวงช้าง สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้างวงช้าง
หญ้างวงช้าง ชื่อสามัญ Alacransillo, Eye bright, Indian Heliotrope, Indian Turnsole, Turnsole
หญ้างวงช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Heliotropium indicum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Heliophytum indicum (L.) DC., Tiaridium indicum (L.) Lehm.) จัดอยู่ในวงศ์หญ้างวงช้าง (BORAGINACEAE)
สมุนไพรหญ้างวงช้าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักแพวขาว (กาญจนบุรี), หวายงวงช้าง (ศรีราชา), หญ้างวงช้างน้อย (ภาคเหนือ), หญ้างวงช้าง (ไทย), กุนอกาโม (มลายู-ปัตตานี), ชื้อเจาะ(ม้ง), ไต่บ๋วยเอี้ยว เฉี่ยผี่เช่า (จีนแต้จิ๋ว), เงียวบ๋วยเช่า ต้าเหว่ยเอี๋ยว เซี่ยงปี๊่เฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของหญ้างวงช้าง
- ต้นหญ้างวงช้าง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุเพียงฤดูกาลเดียว เกิดในช่วงฤดูฝน ถึงหน้าแล้งก็ตาย มีความสูงของต้นประมาณ 15-60 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก มีขนหยาบปกคลุมตลอดทั้งต้น ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มักได้ทั่วไปในที่ที่มีความชื้น เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท มักพบได้ตามพื้นที่ชื้นแฉะ เช่น ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง ทางน้ำ ท้องนา แหล่งน้ำต่าง ๆ หรือตามที่รกร้างตามวัดวาอารามทั่วไป และมีบ้างที่ปลูกไว้เก็บมาขายเป็นยาสดตามสวนยาจีนต่าง ๆ
- ใบหญ้างวงช้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหรือออกเกือบตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปกลมรี หรือป้อม ปลายใบแหลมสั้น กลางใบกว้างออก โคนใบมนรีหรือเรียวต่อลงมาถึงก้านใบ ส่วนขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบหยาบ มีรอยย่น และขรุขระ หลังใบและท้องใบมีขนเล็กน้อย มีก้านใบยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร
- ดอกหญ้างวงช้าง ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่บริเวณปลายยอด ปลายช่อมักม้วนลงดูเหมือนงวงช้างหรือหางแมงป่อง ช่อดอกยาวประมาณ 3-20 เซนติเมตร ดอกจะออกดอกทางด้านบนด้านเดียวและเรียงกันเป็นแถว ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีฟ้าอ่อนหรือสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแยกออกจากกัน ด้านนอกมีขนนุ่ม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน มีขนสีขาว ภายในหลอดดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน ติดอยู่กับฐานดอก รังไข่เป็นรูปจานแบน ๆ
- ผลหญ้างวงช้าง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลเป็นคู่ มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ผลเกิดจากการที่รังไข่ 2 อันรวมตัวติดกัน เปลือกผลแข็ง ข้างในแบ่งออกเป็นช่อง 2 ช่อง มีเมล็ดอยู่ตามช่อง ช่องละ 1 เมล็ด
สรรพคุณของหญ้างวงช้าง
- น้ำจากใบหญ้างวงช้างมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (น้ำจากใบ)
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้โรคชักในเด็ก (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้เด็กตกใจในเวลากลางคืนบ่อย ๆ (ทั้งต้น)
- ใบสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดหู (ใบ)
- น้ำจากใบใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาฟาง ส่วนทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ตาฟางเช่นกัน (น้ำจากใบ,ทั้งต้น)
- รากสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้หยอดตาแก้ตาอักเสบ ตาเจ็บ ตาฟาง ตามัว (ราก)
- ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยแก้โรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการปากเปื่อย ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้บ้วนปากและกลั้วคอวันละ 4-6 ครั้ง (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกินเป็นยา (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นใช้เป็นยาเย็น ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ดับร้อนใน (น้ำจากใบ,ทั้งต้น)
- ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาแก้อาการไอ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกิน (ทั้งต้น)
- น้ำจากใบใช้ทำเป็นยาอมกลั้วคอจะช่วยแก้อาการเจ็บคอได้ (น้ำจากใบ)
- ช่วยแก้หอบหืด ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกิน (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ปอดอักเสบ แก้ฝีในปอด มีฝีมีหนองในช่องหุ้มปอด ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาต้มผสมกับน้ำผึ้งรับกิน หรือจะใช้ทั้งต้นสดประมาณ 60-120 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งกินก็ได้ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ต้น)
- ใช้แก้อาการปวดท้องอันเกิดจากอาหารเป็นพิษ ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับหญ้าปันยอด (ชั้วจ้างหม่อ) และต้นว่านน้ำ (แป๊ะอะ) (ต้น)
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)
- ในประเทศอินจะใช้หญ้างวงช้างเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) และเฉพาะส่วนของเมล็ดจะใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บปวดของกระเพาะอาหาร (เมล็ด)
- ช่วยขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกินเป็นยา (ทั้งต้น)
- ดอกและรากใช้น้อยมีสรรพคุณเป็นยาขับระดู แต่หากใช้มากอาจทำให้แท้งบุตรได้ ด้วยการใช้ดอกสดนำมาต้มกิน (ราก,ดอก)
- ใช้แก้หนองในช่องคลอด (ทั้งต้น)
- ใบใช้เป็นยาพอกรักษาแผล (ใบ)
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาลดบวม ช่วยแก้แผลบวมมีหนอง ช่วยลดอาการปวดบวมฝีหนอง (ทั้งต้น)
- ใบใช้เป็นยาพอกฝี รักษาโรคผิวหนัง (ใบ) ส่วนในประเทศอินเดียนอกจากจะใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังแล้วยังใช้แก้กลากเกลื้อน ไฟลามทุ่ง และแมลงสัตว์กัดต่อยด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ช่วยแก้แผลฝีเม็ดเล็ก ๆ มีหนอง ด้วยการใช้รากสดประมาณ 60 กรัม ผสมกับเกลือเล็กน้อย นำมาต้มกับน้ำกิน และให้นำใบสดมาตำกับข้าวเย็น (ไม่ได้ระบุว่าข้าวเย็นเหนือหรือข้าวเย็นใต้) ใช้พอกแผลด้วย (ราก,ใบ)
- ใช้รักษาอาการฟกช้ำ (ประเทศอินเดีย-ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ในบางตำราจะใช้ทั้งต้นหญ้างวงช้าง ผสมกับใบและดอกชุมเห็ดไทย และใบและดอกผักเสี้ยนผี ใช้เป็นยาพอกแก้ปวดตามข้อ เช่น ข้อเข่า หัวใหญ่ โดยในขณะที่พอกให้พันด้วยผ้าไว้จนรู้สึกร้อนบริเวณที่พอก จากนั้นให้เปิดผ้าออกและเปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง แล้วจึงทาด้วยน้ำมันมะพร้าวตาม (ทั้งต้น) ส่วนในประเทศอินเดียจะใช้เป็นยารักษาไขข้ออักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุถึงสรรพคุณของหญ้างวงช้างไว้อีกหลายอย่าง เพียงแต่ข้อมูลดังกล่าวนั้นไม่มีแหล่งที่ที่น่าเชื่อถือได้ จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าหญ้างวงช้างมีสรรพคุณตามที่นั้นหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลได้ระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วว่า ต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษตานซาง แก้หนองใน และที่ไม่ระบุส่วนที่ใช้ก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย รักษาเริม งูสวัด ขยุ้มตีนหมา เป็นต้น ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชระบุไว้ว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านเชื้อรา ไล่แมลง คุมกำเนิด เร่งการสมานแผล ฯลฯ เป็นต้น (docs.google.com)
ประโยชน์ของหญ้างวงช้าง
- ใบใช้รักษาสิว (ข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้ แต่เข้าใจว่านำใบมาตำแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นสิว)
- สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานย้อมสีได้ จากการสกัดน้ำสีจากใบหญ้างวงช้าง เมื่อนำมาย้อมเส้นไหมก็พบว่าได้เส้นไหมที่มีคุณภาพดี มีความคงทนต่อการซักในระดับดีและดีมาก และมีความคงทนต่อแสงในระดับดี โดยสีที่ได้คือสีน้ำตาลอ่อน
- คนอีสานมีภูมิปัญญาการใช้หญ้างวงช้าง เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านการเป็นเครื่องมือตรวจวัดอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เมื่อต้องการวัดคุณภาพของอากาศ ถ้าช่อดอกเหยียดตรงแสดงว่าปีนั้นฝนจะแล้งจัด แต่ถ้าช่อดอกม้วนงอแสดงว่าปีนั้นจะมีน้ำมาก และถ้าแปลงนามีต้นหญ้างวงช้างขึ้นเป็นจำนวนมากก็แสดงว่าแปลงนานั้นมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยก็ได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งจากการทดลองพบว่าแปลงที่มีหญ้างวงช้างเจริญงอกงามดี จะสามารถให้ผลผลิตมากกว่าแปลที่ไม่มีหญ้างวงเกิดประมาณ 60% (จากการทดลองไม่มีการใส่ปุ๋ยทั้งสองแปลงเพื่อทำการเปรียบเทียบ)