ไขมันแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร
กรดไขมันอิ่มตัว คือ ไขมันที่เป็นไขมันเต็มตัว เช่น ไขมันโคเลสเตอรอล ไขมัน
ไตรกลีเซอไรด์ พบมากในพวกไขมันสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว และไขมันจากกะทิ มะพร้าว เนย และไข่แดง เมื่อบริโภคในปริมาณมาก จะไปสะสมในเซลล์ไขมันทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ไขมันชนิดนี้มีความจำเป็นต่อร่างกาย เพียงแต่ต้องบริโภคในปริมาณที่จำกัด
กรดไขมันไม่อิ่มตัว เป็นไขมันที่ได้จากพืช ยกเว้นจากพืชบางชนิด เช่น กะทิ และน้ำมันปาล์ม ไขมันชนิดนี้ มีผลต่อโรคอ้วนและโรคหลอดเลือดน้อยกว่าไขมันอิ่มตัว
กรดไขมันทรานส์ พบมากในอาหารแปรรูป เช่น มาการีน ขนมขบเคี้ยว เป็นไขมันที่เกิดจากการแปรรูป จึงย่อยสลายได้ยากกว่าไขมันชนิดอื่น จึงอาจก่อให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย คือ น้ำหนักและไขมันส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น มีภาวะการทำงานของตับที่ผิดปกติ และมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด
อย่างไรก็ตาม น้ำมันและไขมัน มีกรดไขมันที่เป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผนังเซลล์เพื่อช่วยในการดูดซึมวิตามินดี เอ อี และเค นอกจากนี้ กรดไขมันยังให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่หากได้รับเกินความต้องการร่างกายจะเก็บไว้เป็นพลังงานสะสมในรูปของไขมัน
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดโรคอ้วน และส่งผลต่อการเกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ ไขมันแต่ละชนิดมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงควรเลือกบริโภคน้ำมันและไขมันให้หลากหลายและเหมาะสม