ต้นสาเก
ต้นสาเก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus altilis (Parkinson ex F.A.Zorn) Fosberg
ชื่อวงษ์ (MORACEAE)
ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ "ขนุนสำปะลอ"
ต้นสาเก มีสายพันธุ์มากกว่า 120 สายพันธุ์ มีการเพาะปลูกกันมานานมากกว่า 3,000 ปีแล้ว ซึ่งในเกาะมาวีและเกาะกาวาย คือแหล่งสะสมต้นสาเกสายพันธุ์ต่าง ๆ ไว้หลายสายพันธุ์ โดยปลูกเอาไว้ให้ชมกันมากที่สุดในโลก สาเกเป็นไม้ผลที่ออกลูกดก (ในหนึ่งฤดูต้นสาเกอาจออกผลราว 200 ผล) แต่ที่นิยมปลูกในบ้านเราคือ สาเกพันธุ์ข้าวเหนียว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ใบสาเก ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ลักษณะใบคล้ายรูปไข่ ใบมีสีเขียวเข้ม ใบใหญ่และหนา มีรอยหยักหรือร่องลึกเกือบถึงก้านกลางใบ (คล้ายใบมะละกอ) ก้านใบเห็นเด่นชัด
ดอกสาเก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกมีสีเหลือง ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้มีลักษณะคล้ายกระบอง และห้อยลง มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกตัวเมียมีลักษณะกลม แต่จะแยกกันคนละดอก และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผลสาเก ลักษณะของผลกลมรี ผลมีสีเขียวอมเหลือง ลูกคล้ายขนุน แต่จะลูกเล็กกว่า มีความกว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร ส่วนเนื้อในเป็นสีเหลืองซีดหรือขาวและไม่มีเมล็ด (แต่มีสายพันธุ์หนึ่งที่มีเมล็ด จะเรียกว่า ขนุนสำปะลอ)
สรรพคุณของต้นสาเก
ผลสาเกนำไปต้มหรืออบจะได้เนื้อนุ่มเหมือนก้อนแป้ง ใช้ทำขนม เช่น เชื่อม แกงบวด ชาวอินโดนีเซียนำสาเกไปอบกรอบใช้เป็นอาหารว่าง และมีการนำไปป่นเป็นแป้งเพื่อทำขนมปังกรอบ เนื้อสาเกมีพลังงานสูง ให้แคลเซียมและวิตามินเอจำนวนมาก ช่วยป้องกันโรคหัวใจและกระดูกพรุน ผลแก่ใช้ทำขนมปัง โดยหั่นเป็นชิ้นบางๆตากแดดหรืออบแห้ง ในฟิลิปปินส์นำผลสาเกต้มสุกกินกับน้ำตาลและมะพร้าวขูดฝอย หรือเคลือบน้ำตาลแล้วทำให้แห้ง ใบและผลใช้เป็นอาหารสัตว์[1] ยางสาเกนิยมใช้เป็นชันยาเรือและใช้ดักนก ก้านดอกตัวผู้มีเส้นใยนำมาผสมกับใยปอสาใช้ทอผ้า เปลือกลำต้นมีเส้นใย ใช้ทอผ้าได้เช่นกัน เนื้อไม้ใช้ทำเรือแคนู กระดานโต้คลื่น หีบและลังไม้