ดีปลาช่อน
ดีปลาช่อน
“ดีปลาช่อน” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tacca chantrieri Andre อยู่ในวงศ์ Taccaceae มีชื่อ Common name ว่า “Bat Flower” และมีชื่ออื่นเรียกต่างกันตามท้องถิ่น ดังนี้ ดีงูหว้า (ภาคเหนือ); คลุ้มเลียม, ว่านหัวเลียม, ว่านหัวฬา(จันทบุรี); ดีปลาช่อน(ตราด); นิลพูสี(ตรัง); มังกรดำ(กทม); ม้าถอนหลัก(ชุมพร); ว่านพังพอน(ยะลา) และเนระพูสีไทย (ภาคกลาง) ทางสำนักงานไม่แน่ใจว่า เป็นสมุนไพรต้นเดียวกับที่ท่านกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ จึงขออธิบายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของ “ดีปลาช่อน” ดังนี้ เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้าใต้ดินรูปทรงกระบอก สูง 30-50 ซม. ใบเดี่ยว เรียงสลับเรียนออกเป็นรัศมี รูปวงรี รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก กว้าง 6-18 ซม. ด้านใบแผ่เป็นครีบ ดอกช่อซี่ร่ม มีดอกย่อย 4-6 ดอก กลีบดอก สีม่วงดำ ใบประดับ 2 คู่ สีเขียวถึงม่วงดำ เรียงตั้งฉากกัน ผลสด รูปขอบขนานแกมสามเหลี่ยม มีสันเป็นคลื่นตามยาว เมล็ดรูปไต นอกจากนี้ยังพบว่า ดีปลาช่อน เป็นสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา โดยใช้ ทั้งต้นผสมสมุนไพรอื่น (ไม่ระบุ) ฝนรวมกันกินแก้เบื่อเมา ชาวเขาเผ่าแม้ว มูเซอ ใช้ ราก ต้น เหง้า ใบ ต้มน้ำดื่ม หรือเคี้ยวกิน แก้ปวด ปวดตามร่างกาย มะเร็ง ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร และบำรุงร่างกาย