ปีบ
ปีบ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นปีบ
ปีบ ชื่อสามัญ Cork tree, Indian cork
ปีบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Millingtonia hortensis L.f. จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)
ต้นปีบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เต็กตองโพ่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กาซะลอง กาสะลอง กาดสะลอง กาสะลองคำ (ภาคเหนือ), ปีบ ก้องกลางดง (ภาคกลาง) กางของ (ภาคอีสาน) เป็นต้น
ลักษณะของปีบ
- ต้นปีบ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นตรง มีความสูงประมาณ 5-10 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทาเข้มแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศ รากเกิดเป็นหน่อ เจริญเป็นต้นใหม่ได้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการนำเมล็ดมาเพาะ หรือใช้ต้นอ่อนที่เกิดจากรากรอบ ๆ ของต้นแม่ นำมาตัดเป็นท่อนสั้น ๆ แล้วนำมาปักชำในกระบะกรวยที่ผสมด้วยขี้เถ้าแกลบก็ได้ ปีบเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของพม่าและไทยที่ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ใบปีบ ลักษณะของใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น มีความกว้างประมาณ 13-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 16-26 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3.5-6 เซนติเมตร ที่ตัวใบจะประกอบไปด้วยแกนกลางยาวประมาณ 13-19 เซนติเมตร มีใบย่อย 4-6 คู่ กว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ลักษณะใบมีรูปร่างคล้ายรูปหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบหยักเป็นซี่หยาบ ๆ เนื้อใบเกลี้ยงบางคล้ายกับกระดาษ
- ดอกปีบ ลักษณะดอกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง มีความยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ดอกย่อยจะประกอบไปด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว ดอกมีกลิ่นหอม มีความกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร เชื่อมกันเป็นหลอดปากแตร แยกออกเป็น 5 แฉก 3 แฉกรูปขอบขนาน 2 แฉกล่างค่อนข้างแหลม มีเกสรตัวผู้จำนวน 4 ก้าน สองคู่จะยาวไม่เท่ากัน และมีเกสรตัวเมียจำนวน 1 ก้าน อยู่เหนือวงกลีบ โดยดอกปีบจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม
- ผลปีบ ลักษณะเป็นผลแห้งแตก ผลแบนยาว ขอบขนาน มีเนื้อและเมล็ดจำนวนมาก เป็นแผ่นบางมีปีก
สรรพคุณของปีบ
- ดอกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (ดอก)
- ช่วยบำรุงโลหิต (ดอก)
- รากช่วยบำรุงปอด (ราก)
- ช่วยรักษาวัณโรค (ราก)
- ใช้เป็นยารักษาไซนัสอักเสบ (ดอก)
- ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก ด้วยการใช้ดอกที่ตากแห้งแล้วนำมามวนเป็นบุหรี่สูบเพื่อรักษาอาการ (ดอก)
- ช่วยรักษาอาการหอบหืด หอบเหนื่อย ทำให้ระบบการหายใจดียิ่งขึ้นด้วยการใช้ดอกปีบแห้งประมาณ 6-7 ดอก แล้วมวนเป็นบุหรี่สูบ เพื่อรักษาอาการหอบหืดได้ (ราก, ดอก)
- ช่วยรักษาปอดพิการ (ราก)
- ใช้เป็นยาแก้ลม (ดอก)
- ใบใช้มวนเป็นบุหรี่สูบแทนฝิ่น เพื่อช่วยขยายหลอดลมและรักษาอาการหอบหืดได้เช่นกัน (ใบ)
ประโยชน์ของปีบ
- ดอกนำมาตากแห้งแล้วผสมกับยาสูบมวนบุหรี่ ใช้สูบทำให้ชุ่มคอ ทำให้ปากหอม และยังมีกลิ่นควันบุหรี่ที่หอมดีอีกด้วย
- ดอกช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำดี (cholagogue) และเพิ่มรสชาติ (ดอก)
- ดอกปีบนำมาตากแห้ง นำมาชงใส่น้ำร้อนดื่มเป็นชาก็ได้ โดยดอกปีบชงนี้จะมีกลิ่นหอมละมุนอ่อน ๆ มีรสชาติหวานแบบนุ่มนวล ไม่ขม แถมยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย
- สารสกัดจากใบที่สกัดด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของคะน้า (ใบ)
- เนื้อไม้ของต้นปีบมีสีขาวอ่อน สามารถเลื่อยหรือไสกบเพื่อตกแต่งให้ขึ้นเงาได้ง่าย จึงเหมาะแก่การนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องตกแต่งภายในบ้านได้
- เปลือกของต้นปีบ เมื่อก่อนสามารถนำมาใช้แทนไม้ก๊อกสำหรับทุกจุกขวดได้
- ปีบเป็นไม้พุ่มมีใบและดอกสวย แถมยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย จึงสามารถปลูกไว้ประดับสวน ปลูกเพื่อให้ร่มเงาในลานจอดรถหรือริมถนนข้างทาง และที่สำคัญต้นไม้ชนิดนี้ยังทนน้ำท่วมขังได้ดีอีกด้วย
- ดอกปีบเป็นสัญลักษณ์ของพยาบาลไทย โดยความหมายของต้นไม้ชนิดนี้ คือ เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่นแก่ชีวิต ซึ่งหมายถึง "พยาบาล" และดอกปีบยังหมายถึงยาอายุวัฒนะ ซึ่งเปรียบเสมือนพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพแก่คนทั่วไป ต้นปีบเป็นต้นไม้ที่โตเร็ว เกิดขึ้นได้ในป่าทุกชนิด สามารถช่วยสร้างเสริมธรรมชาติที่ชุบและดำรงชีวิตให้แก่มวลมนุษย์ตลอดกาล เช่นเดียวกับพยาบาล ที่จะเป็นการบริการสุขภาพที่มีความจำเป็นต่อสังคมตลอดไป (ดอกปีบยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปราจีนบุรีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาอีกด้วย)
- การปลูกต้นปีบเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน เชื่อว่าการปลูกไว้ประจำบ้านจะทำให้เก็บเงินเก็บทองได้มากขึ้น และยังทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังอีกด้วย โดยควรปลูกต้นปีบไว้ในทางทิศตะวันตกและผู้ปลูกควรปลูกในเสาร์เพื่อเอาเคล็ด แต่ถ้าจะให้เป็นมงคลมากยิ่งขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้ที่เกิดในวันจันทร์ (ส่วนผู้อยู่อาศัยหากเกิดวันจันทร์ด้วยแล้วจะยิ่งเป็นสิริมงคลยิ่งนัก) เพราะปีบเป็นดอกไม้ประจำของนางโคราคะเทวี ซึ่งเป็นนางประจำวันจันทร์ในธิดาของพระอินทร์นั่นเอง