ต้นหูกระจง
ต้นหูกระจง
ประวัติความเป็นมาของต้นหูกระจง
ต้นหูกระจง หรือ แผ่บารมี (Terminalia ivorensis Chev.) เป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว และมีอายุยืน สำหรับในประเทศไทยพบต้นหูกระจงอยู่ทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ หูกระจงธรรมดา หูกระจงหนาม และหูกระจงแคระ ทั้งนี้ หูกระจงธรรมดาเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยม ในการซื้อไปปลูกเป็นไม้ประดับมากที่สุด ทั้ง ๆ ที่หูกระจงหนามมีทรงพุ่มที่สวยกว่า และใบของต้นหูกระจงหนามจะเป็นเงา และแน่นกว่าเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้กระถาง เหตุผลที่สำคัญที่คนสนใจปลูกต้นหูกระจงหนามไม่มาก เนื่องจากความเชื่อเรื่องหนามที่ไม่เป็นมงคลต่อผู้ปลูก สำหรับหูกระจงแคระ เป็นหูกระจงที่หายากกว่าหูกระจงสายพันธุ์อื่น
ลักษณะของต้นหูกระจง
ต้นหูกระจง เป็นไม้ประดับชนิดหนึ่ง ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว และมีอายุยืน ทั้งยังเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงามแตกกิ่งเป็นชั้น ๆ โดยในแต่ละชั้นจะห่างกันประมาณ 50 - 100 เซนติเมตร และใบของต้นหูกระจงหนามจะเป็นเงา และแน่นกว่าเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ กระถาง นอกจากนี้ แม้ต้นหูกระจงเป็นไม้ผลัดใบ แต่จะผลัดใบน้อยกว่าหูกวาง สำหรับดอกของต้นหูกระจง จะมีสีขาวคล้ายดอกกระถินณรงค์ ส่วนเมล็ดหูกระจงจะคล้ายกับเมล็ดพุทรา
ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminate ivorensis A. Chev.
ชื่อวงศ์ COMBRETACEAE
ชื่ออื่น หูกวางแคระ
ถิ่นกำเนิด สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (ไอเวอรี่โคสต์) ในแอฟริกา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม8-10 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มแผ่เป็นชั้นๆ หนาทึบ แตกกิ่งตั้งฉากกับลำต้น เมื่อต้นโตเต็มที่ปลายกิ่งจะลู่ลง เปลือกต้นสีน้ำตาล มีรอยแตกเป็นร่อง ตามแนวยาว สีน้ำตาลอมเหลืองและมีรอยด่างขาวทั่วทั้งลำต้น
ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับถี่ที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับ กว้าง 1 -1.5ซม. ยาว 1.5-3 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบแคบ เว้า และมีต่อม 1 คู่ ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาและเหนียว สีเขียวเรียบเป็นมัน ใบอ่อนสีน้ำตาลอมเขียว ก้านใบยาวประมาณ 0.4ซม.
ดอก สีขาว ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกมีลักษณะเป็นแท่ง โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น5 แฉก รูปสามเหลี่ยม ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้อยู่ปลายช่อ ดอกสมบูรณ์เพศอยู่บริเวณโคนช่อ เกสรเพศผู้ 10 อัน
ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว รูปไข่หรือรูปรีป้อมและแบนเล็กน้อย กว้าง 2-5 ซม. ยาว 3-7 ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีเหลืองอมเขียวมีเนื้อ และชั้นหุ้มเมล็ดค่อนข้างแข็งและเหนียว เมล็ดรูปรี สีน้ำตาลออกดอกติดผลเกือบตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง
นิเวศวิทยา
พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
วิธีการปลูกและดูแลต้นหูกระจง
หากต้องการปลูกต้นหูกระจงในบริเวณบ้านนั้น ควรปลูกให้ห่างตัวบ้าน เนื่องจากต้นหูกระจงมีระบบรากแข็งแรง จึงอาจส่งผลกระทบกับตัวบ้านได้ นอกจากนี้ การขยายพันธุ์ต้นหูกระจงนิยมใช้วิธีเพาะเมล็ดมากที่สุดอีกด้วย เพราะต้นหูกระจงจะเติบโตได้เร็ว
การดูแลต้นหูกระจง
เนื่องจากต้นหูกระจง เป็นต้นไม้ที่ชอบน้ำมาก ดังนั้น เมื่อนำไปปลูกในกระถางหรือลงดินแล้ว จึงควรหมั่นรดน้ำให้ชุ่ม และสม่ำเสมอ เพื่อเลี้ยงดูให้เขามีอายุยืนยาว
การขยายพันธุ์ต้นหูกระจง
ส่วนใหญ่การขยายพันธุ์หูกระจงนิยมทำโดยการเพาะเมล็ด โดยการนำเอาเมล็ดหูกระจงไปแช่น้ำ จากนั้นแกะเปลือกออก โดยการเตรียมดินใส่ไว้ในหลุม เมื่อแกะเปลือกออกเรียบร้อยแล้วให้นำเมล็ดหูกระจงฝังลงไปในดินที่เตรียมไว้ รดน้ำ ใส่ปุ๋ยตามปกติ แต่การจะเพาะเมล็ดได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเมล็ดนั้น ๆ ส่วนใหญ่แล้วการเพาะต้นหูกระจงค่อนข้างทำได้ยาก จึงทำให้มีราคาสูง
ประโยชน์ของต้นหูกระจง
การใช้ประโยชน์ ต้นหูกระจงเป็นไม้ที่มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม จึงนิยมนำมาปลูกเพื่อตกแต่งสวน หรือใช้ประดับริมถนน ตลอดจนเกาะกลางถนนเนื่องจากเป็นไม้ที่ให้ร่มเงา ทำให้บริเวณบ้านมีความร่มรื่น ช่วยบังแดดได้ดี นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องการเสริมบารมีให้คนในบ้านมีแต่ความสุขความเจริญยิ่งขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันคนในสังคมไทยยังรู้จักต้นหูกระจงไม่มากนัก และอาจจะรู้จักมากในหมู่รุ่นหลัง จึงได้จัดทำบ็อกนี้ขึ้นเพื่อการศึกษาค้นคว้าของคนรุ่นใหม่และทำให้ต้นหูกระจงนิยมปลูกในประเทศไทยมากขึ้น