• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

อินจัน

อินจัน สรรพคุณและประโยชน์ของอินจัน

อินจัน ชื่อสามัญ Gold apple

อินจัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros decandra Lour. จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE)

สมุนไพรอินจัน มีชื่อเรียกอื่นว่า จัน, อิน, จันอินจันโอ, จันอิน, จันลูกหอม, จันท์ลูกหอม, จันขาว, ลูกจัน, ลูกอิน, จันอิน, ลูกจันทน์, ลูกจันทร์ เป็นต้น

ข้อควรรู้ ! : ต้นจันอินยังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดจันทบุรี และยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร

ต้นอินจัน หรือ ต้นจัน เป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตช้า เป็นต้นไม้โบราณที่ในปัจจุบันใกล้จะสูญพันธุ์ สมัยนี้หาดูได้ค่อนข้างยาก ซึ่งเมื่อก่อนจะนิยมปลูกไว้ตามวัด ต้นอินจันนับว่าเป็นไม้ผลที่ค่อนข้างแปลก โดยต้นเดียวกันแต่ออกผลได้ 2 แบบ ซึ่งไม่เหมือนกัน ผลหนึ่งลูกกลมป้อม ๆ ขนาดใหญ่กว่ามาก เราเรียกว่า "ลูกอิน" แต่อีกผลลูกแบน ๆ แป้น ๆ มีขนาดเล็กกว่า เราจะเรียกว่า "ลูกจัน"

ลักษณะของอินจัน

  • ต้นจันอิน เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-20 เมตร เรือนยอดเป็นทรงกลมหรือทรงกระสวย หนาทึบ ลำต้นตรง เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลเข้มอมเทาหรือดำแตกเป็นสะเก็ด เนื้อไม้สีขาว ส่วนกิ่งอ่อนยอดอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลปกคลุม และมีกิ่งก้านเหนียว
  • ใบอินจัน เป็นใบเดี่ยวสีเขียวเข้ม ออกเรียงสลับกัน ใบคล้ายรูปรี โคนใบมน ปลายใบสอบหรือแหลม แผ่นใบเรียบบางเป็นมันลื่น ขอบใบเรียบ ยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร
  • ดอกอินจัน ดอกมีสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ แยกเพศอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ช่อหนึ่งมีประมาณ 3 ดอก ตามส่วนต่าง ๆ มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบเรียงเป็นรูปถ้วยแต่ไม่เชื่อมกัน ส่วนกลีบดอกมี 4-5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำ ส่วนดอกเพศเมียจะออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามกิ่งเล็ก ๆ กลีบดอกและกลีบเลี้ยงจะเหมือนดอกเพศผู้แต่ใบใหญ่กว่า

ดอกจัน

จันท์ลูกหอม

  • ผลไม้อินจัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผลประมาณ 4-8 เซนติเมตร ที่ผลจะมีส่วนของกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่จุก ผลอ่อนมีสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลือง เนื้อนุ่ม มีกลิ่นหอมและมีรสหวาน สามารถรับประทานได้ โดยผลอินจันจะมีอยู่สองแบบคือ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแป้น ไม่มีเมล็ดหรือมีเมล็ดลีบ ผลมีรอยบุ๋มตรงกลาง รสฝาดหวาน มีกลิ่นหอม จะเรียกว่า ลูกจัน ส่วนผลที่มีลักษณะของผลเป็นรูปกลมและมีเมล็ด 2-3 เมล็ด ไม่มีรอยบุ๋ม มีรสฝาดหวาน จะเรียกว่า ลูกอิน โดยผลอินจันจะมีรสฝาด ต้องคลึงให้ช้ำก่อนรสฝาดจึงจะหายไป

ประโยชน์ของอินจัน

  1. จากงานศึกษาวิจัยผลไม้ในไทยพบว่า น้ำผลไม้ไทยจากลูกอินจัน มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี
  2. ผลไม้ชนิดนี้มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงได้
  3. ช่วยบำรุงผิวพรรณ (แก่น)
  4. ช่วยบำรุงกำลังให้สดชื่น (ผล, เนื้อไม้)
  5. ช่วยแก้ลม แก้อาการอ่อนเพลีย (แก่น)
  6. ช่วยบำรุงเลือดลม (เนื้อไม้)
  7. ช่วยบำรุงหัวใจ (แก่น)
  8. เนื้อไม้ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงประสาท ทำให้เกิดปัญญา (เนื้อไม้)
  9. ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ อาการกระสับกระส่าย (ผล)
  10. ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (เนื้อไม้, แก่น)
  11. ช่วยแก้อาการเหงื่อมาก (เนื้อไม้)
  12. ช่วยแก้ไข้ (เนื้อไม้, หรือใช้แก่นนำไปต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น)
  13. ช่วยแก้ไข้ที่มีผลต่อดี (แก่น)
  14. ช่วยแก้กำเดา (แก่น)
  15. ช่วยแก้อาการไข้ที่มีผลต่อตับและดี (เนื้อไม้)
  16. ช่วยแก้อาการไอ (แก่น)
  17. ช่วยบำรุงตับและปอดให้เป็นปกติ (เนื้อไม้, แก่น)
  18. ช่วยแก้ปอดตับพิการ (เนื้อไม้)
  19. ช่วยแก้ตับพิการ (แก่น)
  20. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ผล)
  21. ช่วยแก้ดีพิการ (เนื้อไม้)
  22. ช่วยขับพยาธิ (เนื้อไม้)
  23. ผลสุกมีรสหวานและฝาดเล็กน้อย นิยมรับประทานเป็นผลไม้สด หรือนำไปแปรรูปเป็นของหวาน
  24. เนื้อไม้แข็ง จึงมักถูกตัดนำมาทำเป็นฟืนเป็นถ่าน
  25. เนื้อไม้อินจันเป็นไม้ที่มีลวดลายสวยงาม ทำให้เป็นที่นิยมในการนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ประดับตกแต่ง แต่ในปัจจุบันนี้จัดเป็นไม้หวงห้ามไปแล้ว เพราะหายากและใกล้สูญพันธุ์

หมี่

 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหมี่ ใบหมี่ ! (หมีเหม็น)

ใบหมี่

หมี่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Litsea glutinosa (Lour.) C.B.Rob. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Litsea chinensis Lam., Litsea sebifera Pers.) จัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE)

สมุนไพรหมี่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมูเหม็น (แพร่), ดอกจุ๋ม (ลำปาง), หมี (อุดรธานี, ลำปาง), ตังสีไพร (พิษณุโลก), อีเหม็น (กาญจนบุรี, ราชบุรี), หมูทะลวง (จันทบุรี), มะเน้อ ยุบเหยา (ภาคเหนือ, ชลบุรี), ทังบวน (ปัตตานี), มัน (ตรัง), มะเย้ย ไม้หมี่ (คนเมือง), ไม้ต๊องช้าง (ไทยใหญ่), ลำหญุบหญอ (ลั้วะ), มือเบาะ (มลายู-ยะลา), ส่ปึยขู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หมีเหม็น เป็นต้น

ลักษณะของต้นหมี่

  • ต้นหมี่  หรือ ต้นหมีเหม็น จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล ลำต้นแก่แตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนละเอียด ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามป่าดงดิบ

ต้นหมีเหม็น

ใบหมี่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มักออกเป็นกลุ่มหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ หรือค่อนข้างกลม ปลายใบมนหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเป็นครีบ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบมีขน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ตามก้านใบมีขน ก้านใบยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร

ต้นหมี่

ดอกหมี่ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้น ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเหลือง ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้มีดอกย่อยประมาณ 8-10 ดอก กลีบรวมลดรูปเหลือ 1-2 กลีบ หรือไม่มีเลย ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ขอบกลีบมีขน ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 9-20 อัน เรียงเป็นชั้น ๆ ก้านเกสรมีขน ชั้นในมีต่อมกลม ๆ อับเรณูเป็นรูปรี มี 4 ช่อง เกสรเพศเมียเป็นหมันอยู่ตรงกลาง อับเรณูเป็นแบบฝาเปิด กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปกลม ส่วนช่อดอกเพศเมียกลีบรวมลดรูปเหลือเพียงเล็กน้อยหรือไม่มี ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร เกสรเพศผู้เป็นหมัน ลักษณะเป็นรูปช้อน ส่วนเกสรเพศเมียไม่มีขน รังไข่เป็นรูปไข่ ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ปลายเกสรเพศเมียเป็นรูปจาน มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ แยกจากกัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม

หมี่

ดอกหมีเหม็น

ผลหมี่ มีกลิ่นเหม็น ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีม่วงเข้มเกือบดำ ก้านผลมีขน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดแข็ง ช่อหนึ่งมีผลประมาณ 3-5 ผล

หมีเหม็น

ผลหมีเหม็น

สรรพคุณของหมี่

  1. ตำรายาไทยจะใช้รากต้นหมี่เป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)
  2. รากใช้เป็นยาแก้ไข้ออกฝีเครือ (ราก)
  3. เปลือกสดใช้อมแก้ปวดฟัน แก้ปากเหม็น (เปลือกต้น)
  4. ช่วยแก้ลมเป็นก้อนในท้อง (ราก)
  5. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการท้องอืด ท้องร่วง (ราก)
  6. เปลือกต้นมีรสฝาดเฝื่อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้ท้องเสีย (เปลือกต้น)
  7. ใบมีสรรพคุณเป็นยาปัสสาวะ (ใบ)
  8. ช่วยแก้ริดสีดวงแตก (ราก)
  9. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดมดลูกของสตรี (เปลือกต้น)
  10. ช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ (ต้น)
  11. รากและเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน (ราก, เปลือกต้น) ใบใช้ตำพอกรักษาบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ (ใบ) ส่วนยางใช้ตำพอกปิดทาแผล (ยาง)
  12. เปลือกต้นนำมาบดให้เป็นผงใช้ผสมกับน้ำหรือน้ำนมทาแก้แผลอักเสบ และเป็นยาห้ามเลือด (เปลือกต้น)
  13. ใช้แก้อาการระคายเคืองของผิวหนัง (ใบ)
  14. ใบสดใช้ขยี้ทารักษากลากเกลื้อน (ใบ)
  15. เปลือกต้นใช้ฝนทาแก้ผื่นคัน แสบร้อน (เปลือกต้น)
  16. ใบและเมล็ดมีรสฝาดเฝื่อน ใช้ตำพอกรักษาฝี แก้ปวด (ใบและเมล็ด) ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้เปลือกต้นหรือรากผสมกับเมล็ดหรือผลน้อยหน่าที่แห้งคาต้น ฝนกับน้ำทารอบฝีให้รัดหนองออกมา (เปลือกต้น, ราก)ส่วนตำรายาพื้นบ้านของจังหวัดอำนาจเจริญจะใช้รากต้นหมี่นำมาฝนทารักษาฝี (ราก)
  17. เปลือกต้นใช้ฝนทาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (เปลือกต้น) ส่วนใบใช้ขยี้ทาแก้พิษแมงมุม (ใบ)
  18. ใบใช้เป็นยาถอนพิษร้อน (ใบ)
  19. เมล็ดใช้เป็นยาถอนพิษอักเสบต่าง ๆ (เมล็ด)
  20. ยางมีรสฝาดร้อน ใช้ตำพอกทาแก้ฟกช้ำ แก้ช้ำบวม (ยาง)
  21. รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดกล้ามเนื้อ (ราก) เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยแก้อาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ (เปลือกต้น)ส่วนผลดิบให้น้ำมันที่สามารถนำมาใช้เป็นยาถูนวดแก้ปวดได้ (ผลดิบ)
  22. ช่วยถ่ายเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นอ่อน (เปลือกต้น)
  23. บางท้องถิ่นจะนำรากมาตากให้แห้ง ดองกับเหล้าขาว กินเป็นยาแก้โรคเลือด เช่น ระดูมาไม่เป็นปกติ เป็นลมพิษ เป็นต้น (ราก)
  24. รากใช้เป็นส่วนผสมของยาเย็น ยาผง ยาแก้ซาง (ราก)

ประโยชน์ของหมี่

  1. ผลสุกใช้รับประทานได้
  2. ใบใช้บ่มกล้วยให้สุกเร็ว หรือใช้รองปิดปากไหปลาร้ากันหนอน
  3. ใบนำมาขยี้ผสมกับน้ำซาวข้าว ใช้เป็นยาสระผม ช่วยป้องกันรังแค และทำให้ผมนุ่ม หรือจะนำใบและยอดอ่อนมาผสมกับเปลือกต้นเถารางแดง ส้มป่อยหรือมะนาวหรือมะกรูด และน้ำด่าง (น้ำขี้เถ้า) นำมาผสมแล้วต้มรวมกัน แล้วนำน้ำที่ได้ไปสระผมก็ได้
  4. ใบสดใช้เป็นยาพอกศีรษะเพื่อฆ่าเหา
  5. ดอกนำมาตากแห้งอบน้ำหอม ประดิษฐ์เป็นของชำร่วย
  6. ใบสามารถย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีเขียว ส่วนเปลือกใช้ย้อมสีผ้า ย้อมแหให้ติดสี ผงจากเปลือกใช้ทำธูปจุดไล่แมลง
  7. ยางของต้นใช้ทาเครื่องจักสานให้หนาและทนทาน และใช้ดักแมลงตัวเล็ก
  8. เนื้อไม้ของต้นสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ หรือนำลำต้นมาใช้ทำฟืน
  9. ใบหมี่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางเครื่องสำอางได้ดี เพราะหาได้ง่าย ราคาไม่แพง เนื่องจากมีสารเมือก (mucilage) ที่สามารถนำมาใช้เป็นสารเคลือบผิวและผมในการปกป้องและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวและผม อีกทั้งสารสกัดจากใบยังมีสารสำคัญที่มีคุณสมบัติเป็นสารเพิ่มความหนืดให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือยาที่ใช้ภายนอกได้อีกด้วย
  10. ในด้านประเพณีและความเชื่อ บางท้องถิ่นจะใช้ใบนำมาห่อข้าวต้มประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ใช้แก่นทำช่อฟ้าอุโบสถ ส่วนในด้านความเชื่อนั้น มีการขูดเปลือกเพื่อขอหวย ใช้ใบไล่ผี เวลาเดินทางไกลจะนำใบมาเหน็บบั้นเอวไว้ โดยเชื่อว่าจะทำให้หายจากอาการจุกเสียด นอกจากนี้ยังเชื่อว่าคนท้องที่สระผมด้วยใบหมี่กับน้ำซาวข้าวแล้วจะช่วยให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น

หางไหลขาว

หางไหลขาว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหางไหลขาว

หางไหลขาว

 

หางไหลขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Derris malaccensis Prain (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Derris cuneifolia var. malaccensis Benth.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)

สมุนไพรหางไหลขาว มีชื่อเรียกอื่นว่า ยานาเละ (มลายู-นราธิวาส)

ลักษณะของหางไหลขาว

  • ต้นหางไหลขาว จัดเป็นไม้เถาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นตามริมน้ำลำธาร ในเขตวนอุทยานถ้ำเพชร ป่าดงดิบเขา และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป

ต้นหางไหลขาว

  • ใบหางไหลขาว ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อยประมาณ 5-7 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายใบกว้างแหลม โคนใบสอบแคบ ใบอ่อนเป็นสีเหลืองอ่อนออกเขียว ส่วนใบแก่เป็นสีเขียว

ใบหางไหลขาว

  • ดอกหางไหลขาว ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีขนาดเล็กสีชมพู
  • ผลหางไหลขาว ผลมีลักษณะเป็นรูปฝักแบนไม่ยาวมากนัก มียาวสีขาวข้น

สรรพคุณของหางไหลขาว

  • รากมีรสเอียนเล็กน้อย ใช้เป็นยาถ่ายเส้นเอ็น ทำให้เส้นอ่อน (ราก)
  • รากมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายลม ถ่ายเสมหะและโลหิต (ราก)
  • ใช้ปรุงเป็นยาขับระดู แก้ระดูเป็นลิ่มหรือเป็นก้อนเน่าเหม็นของสตรี (ราก)

ประโยชน์ของหางไหลขาว

  • รากใช้เป็นยาฆ่าแมลงตัวหนอนที่เกาะกินผัก ด้วยการนำรากมาทุบ ๆ ผสมกับน้ำ พอให้ขุ่นขาว แล้วนำมารดพืชผักในสวนผัก จะช่วยฆ่าแมลงและตัวหนอนได้ และใช้เป็นยาเบื่อปลาได้อีกด้วย
  • รากใช้ผสมกับสบู่และน้ำสำหรับใช้ฆ่าสัตว์ เช่น หิดและเหาได้เป็นอย่างดี[

หม่อน

หม่อน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหม่อน ใบหม่อน

หม่อน

หม่อน หรือ มัลเบอร์รี่ (Mulberry) ชื่อสามัญ Mulberry tree, White Mulberry

หม่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba Linn. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)

สมุนไพรหม่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มอน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน), ซึงเฮียะ ซึงเอียะ (จีนแต้จิ๋ว), ซางเย่ (จีนกลาง) เป็นต้น

หม่อนที่เรารู้จักกันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ หม่อนที่ปลูกเพื่อรับประทานผล (ชื่อสามัญ Black Mulberry, ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus nigra L.) ชนิดนี้ผลจะโตเป็นช่อ เมื่อสุกผลจะเป็นสีดำ มีรสเปรี้ยวอมหวาน นิยมนำมารับประทาน ทำแยม หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนอีกชนิดนั้นก็คือ หม่อนที่ใช้ปลูกเพื่อการเลี้ยงไหมเป็นหลัก (ชื่อสามัญ White Mulberry, ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba L.) เป็นชนิดที่เรากำลังกล่าวถึงในบทความนี้ครับ ชนิดนี้จะมีใบใหญ่และออกใบมากใช้เป็นอาหารของไหมได้ดี ส่วนผลจะออกเป็นช่อเล็ก เมื่อสุกแล้วจะมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้ครับ แต่ไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไหร่

ลักษณะของหม่อน

  • ต้นหม่อน เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศจีนตอนใต้ แถบเทือกเขาหิมาลัย แต่ภายหลังได้มีกรนำเข้ามาปลูกในอินโดจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย ฯลฯ โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลางหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 2.5 เมตร บางพันธุ์สูงได้ประมาณ 3-7 เมตร แตกกิ่งก้านไม่มากนัก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดง สีขาวปนสีน้ำตาล หรือสีเทาปนขาว ส่วนเปลือกรากเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีเหลือแดง มีเส้นร้อยแตกที่เปลือกผิว พบได้ทั่วไปในป่าดิบ ในประเทศไทยปลูกกันมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ต้นหม่อน

รากหม่อน

  • ใบหม่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลมยาว โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจหรือค่อนข้างตัด ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู (ขึ้นอยู่กับสาพันธุ์ที่ปลูก) ใบอ่อนขอบใบจักเป็นพูสองข้างไม่เท่ากัน ขอบพูจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-16 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มเรียบเงา ท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน ใบค่อนข้างหนา หลังใบสากระคายมือ เส้นใบมี 3 เส้น ออกจากโคนยาวไปถึงกลางใบ และเส้นใบออกจากเส้นกลางใบอีก 4 คู่ เส้นร่างแหเห็ดได้ชัดเจนจากด้านล่าง ก้านใบเรียวเล็ก ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีหูใบเป็นรูปแถบแคบปลายแหลม ยาวได้ประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร

ใบหม่อน

  • ดอกหม่อน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกระบอก ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียจะอยู่ต่างช่อกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก วงกลีบรวมเป็นสีขาวหม่นหรือเป็นสีขาวแกมสีเขียว ช่อดอกเป็นหางกระรอก ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกเพศผู้ วงกลีบรวมมีแฉก 4 แฉก เกลี้ยง ส่วนดอกเพศเมีย วงกลีบรวมมีแฉก 4 แฉก เกลี้ยง ขอบมีขน เมื่อเป็นผลจะอวบน้ำ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมี 2 อัน

ดอกหม่อน

  • ผลหม่อน เป็นผลที่เกิดจากช่อดอก ผลเป็นผลรวมอยู่ในกระจุกเดียวกัน โดยจะออกตามซอกใบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้มหรือสีม่วงดำ เกือบดำ เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ และมีรสหวานอมเปรี้ยว

มัลเบอร์รี่

ผลหม่อน

สรรพคุณของหม่อน

  1. ใบหม่อนมีรสจืดเย็น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระงับประสาท (ใบ)
  2. ใบใช้ทำชามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (ราก)
  3. กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น (กิ่ง)
  4. ช่วยบำรุงหัวใจ (ผล)
  5. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)
  6. ผลนำมาต้มกับน้ำหรือเชื่อมกินเป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติ (ผล)
  7. ผลหม่อนมีรสเปรี้ยวหวานเย็น มีสรรพคุณช่วยดับร้อน คายความร้อนรุ่ม ขับลมร้อน ทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการกระหายน้ำ และทำให้ร่างกายชุ่มชื่น (ผล)
  8. ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัด ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ และเป็นยาช่วยขับลมร้อน (ใบ)
  9. ใบมีรสขม หวานเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาแก้ไอร้อนเนื่องจากถูกลมร้อนกระทบ (ใบ)
  10. ใบมีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อ (ใบ)
  11. ช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ใบ)
  12. เปลือกรากหม่อนมีรสชุ่ม เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและม้าม ใช้เป็นยาแก้ไอเป็นเลือด แก้ไอร้อนไอหอบ (เปลือกราก)
  13. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (เมล็ด)
  14. ใบนำมาทำเป็นยาต้ม ใช้อมหรือกลั้วคอแก้อาการเจ็บคอ คอแห้ง แก้ไอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น หล่อลื่นภายนอก (ใบ)
  15. รากนำมาตากแห้งต้มผสมกับน้ำผึ้ง มีรสหวานเย็น ใช้มากในโรคทางเดินหายใจและการมีน้ำสะสมในร่างกายอย่างผิดปกติ (ราก)
  16. ยอดหม่อนนำมาต้มกับน้ำดื่มและล้างตาเป็นยาบำรุงตา (ยอด)ส่วนผลมีสรรพคุณทำให้เส้นประสาทตาดี ทำให้สายตาแจ่มใส ร่างกายสุขสบาย (ผล)
  17. ใบนำมาต้มเอาน้ำใช้ล้างตา แก้ตาแดง ตามัว ตาแฉะ และตาฝ้าฟาง (ใบ)
  18. ใบมีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดเย็นและตาสว่าง (ใบ), ส่วนผลมีสรรพคุณช่วยทำให้หูตาสว่าง (ผล)
  19. ใบแก่นำมาตากแห้งมวนสูบเหมือนบุหรี่ แก้ริดสีดวงจมูก (ใบแก่)
  20. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้เปลือกรากประมาณ 90-120 กรัม นำมาทุบให้แหลก แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น หรือจะใช้ใบนำมาทำเป็นชาเขียวใช้ชงกับน้ำดื่มก็ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน นอกจากนี้ผลก็มีสรรพคุณรักษาเบาหวานได้เช่นกัน (ราก,เปลือกราก,ใบ,ผล)
  21. ใบอ่อนหรือแก่นำมาทำเป็นชาเขียว ใช้ชงกับน้ำดื่มช่วยลดไขมันในเลือด (ใบ)
  22. ช่วยขับน้ำในปอด (เปลือกราก)
  23. กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยทำให้ลำไส้ทำงานได้ดี ช่วยจัดความร้อนในปอด และกระเพาะอาหาร ช่วยขจัดการหมักหมมในกระเพาะอาหารและเสลดในปอด (กิ่ง)
  24. ผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องผูก (ผล)
  25. ผลนำมาต้มกับน้ำหรือเชื่อมกินเป็นยาเย็น ยาระบายอ่อน ๆ และมีเมล็ดที่ช่วยเพิ่มกากใยอาหาร (ผล) ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาถ่าย ยาระบายเช่นกัน (เปลือกต้น)
  26. เปลือกต้นใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เปลือกต้น) รากช่วยขับพยาธิ (ราก)
  27. เปลือกรากมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกราก)
  28. กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปัสสาวะสีเหลือง มีกลิ่นฉุนอันเกิดจากความร้อนภายใน (กิ่ง)
  29. ผลเป็นยาเย็นที่ออกฤทธิ์ต่อตับและไต มีสรรพคุณช่วยบำรุงตับและไต (ผล)
  30. ช่วยรักษาตับและไตพร่อง (ผล)
  31. รากมีสรรพคุณเป็นยาสมาน (ราก)
  32. ใบนำมาอังไฟและทาด้วยน้ำมันมะพร้าว ใช้วางบนแผลหรือตำใช้ทาแก้แมลงกัด (ใบ)
  33. ใบใช้ผสมกับหอมหัวใหญ่เป็นยาพอกรักษาแผลจากการนอนกดทับ (ใบ)
  34. ใบใช้เป็นยาแก้อาการติดเชื้อ (ใบ)
  35. ช่วยลดอาการบวมน้ำที่ขา (เปลือกราก)
  36. ช่วยแก้ข้อมือข้อเท้าเกร็ง แก้โรคปวดข้อ ไขข้อ (ผล)
  37. ช่วยแก้แขนขาหมดแรง (ราก)
  38. กิ่งหม่อนมีรสขมเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ใช้เป็นยาขับลมชื้นแก้ข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้นเกาะติด หรือลมร้อนที่ทำให้ปวดแขน ขาบวม หรือมือเท้าแข็งเกร็ง เส้นตึง (กิ่ง) ช่วยรักษาอาการปวดมือ เท้าเป็นตะคริว เป็นเหน็บชา ด้วยการใช้กิ่งหม่อนและโคนต้นหม่อนเก่า ๆ นำมาตัดเป็นท่อน ๆ ผึ่งไวให้แห้ง แล้วนำมาต้มกิน (กิ่ง)
  39. ช่วยบำรุงเส้นผมให้ดกดำ (ผล)
  40. ส่วนในประเทศจีนจะใช้เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบ และผล เป็นยาบำรุง แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก แก้ไอ หืด วัณโรคปอด ขับปัสสาวะ การสะสมน้ำในร่างกายผิดปกติ และโรคปวดข้อ (เปลือกราก,กิ่งอ่อน,ใบ,ผล)

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม  เปลือกรากแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม ส่วนใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม, ส่วนผลแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้าตำรับยาตามที่ต้องการ

ประโยชน์ของหม่อน

  1. ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว สามารถนำมารับประทานได้
  2. ผลหม่อนมีสาร Anthocyanins ในปริมาณมาก (เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคมะเร็ง ช่วยต่อต้านอาการขาดเลือดในสมอง ฯลฯ) และยังมีสารสำคัญอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น สาร Deoxynojirimycin (ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด), กาบา (ช่วยลดความดันโลหิต), สาร Phytosterol (ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล), สาร Polyphenols (สารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์กับร่างกาย), สารประกอบฟีนอล (สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านอาการอักเสบ อาการเส้นเลือดโป่งพอง ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส), สาร Quercetin และสาร Kaempferol ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (เป็นสารที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิต ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด ช่วยป้องกันการดูดซึมของน้ำตาลในลำไส้เล็ก ช่วยทำให้หลอดเลือดแข็งแรง ทำให้เลือดหมุนเวียนดี ยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วยยืดอายุเม็ดเลือดขาว และลดอาการแพ้ต่าง ๆ), และยังมีกรดโฟลิกสูง (ช่วยทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเจริญได้เต็มที่ จึงช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง และยังช่วยทำให้เซลล์ประสาทไขสันหลังและเซลล์สมองเจริญเป็นปกติได้อีกด้วย) นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุ และกรดอะมิโนอีกหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม สังกะสี วิตามินเอ วิตามินบี เป็นต้น (เมื่อผลหม่อนมีระยะสุกเพิ่มขึ้น ปริมาณของสารออกฤทธิ์ดังกล่าวข้างต้นจะมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย) อ่านประโยชน์และสรรพคุณของมัลเบอร์รี่เพิ่มเติมได้ที่ มัลเบอร์รี่ (Mulberry) สรรพคุณและประโยชน์ของมัลเบอร์รี่ 24 ข้อ !
  3. ใบอ่อนและใบแก่สามารถนำมาทำเป็นชาเขียว ชาจีน หรือชาฝรั่งชงกับน้ำดื่มได้ โดยมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิตสูงได้ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันได้มีการแปรรูปใบหม่อนเป็นผลิตภัณฑ์ชา ทั้งชาเขียวและชาดำ ที่ใช้ชงกับน้ำดื่มเช้าและเย็น
  4. ยอดอ่อนใช้รับประทานได้ โดยมักนำมาใช้ใส่ในแกงแทนการใช้ผงชูรส หรือใช้รับประทานเป็นอาหารต่างผัก ส่วนชาวอีสานจะนำไปใส่ต้มยำไก่ ต้มยำเป็ด มีรสเด็ดอย่าบอกใคร
  5. ผลหม่อนสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม เยลลี่ ข้าวเกรียบ ขนมพาย ไอศกรีม นำมาแช่อิ่ม ทำแห้ง ลูกอมหม่อน ทำน้ำหม่อน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทไวน์ หรือไวน์หม่อน เป็นต้น
  6. ใบหม่อนเป็นพืชอาหารที่วิเศษสุดสำหรับตัวไหม หนอนไหมที่เจริญเติบโตเต็มที่จะนำโปรตีนที่ได้จากใบหม่อนไปสร้างเป็นโปรตีนแล้วผลิตเป็นเส้นไหม ซึ่งเส้นไหม จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าไหมที่มีความสวยงามได้อีกต่อหนึ่ง โดยใบหม่อนประมาณ 108-120 กิโลกรัม สามารถเปลี่ยนเป็นรังไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านได้ประมาณ 10-12 กิโลกรัม (ใบหม่อนมีโปรตีนประมาณ 18-28.8% ของน้ำหนักแห้ง, มีคาร์โบไฮเดรต 42.25%, ไขมัน 4.57%, ใยอาหารและเถ้า 24.03%,) นอกจากนี้ใบหม่อนยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสำหรับสัตว์เอื้องได้บางชนิด และนำไปใช้เลี้ยงปลาได้อีกด้วย และวัวควายที่กินใบหม่อนจะทำให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้น
  7. เนื้อไม้มีสีเหลือง เนื่องจากมีสาร Morin สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าไหม ผ้าแพรได้
  8. เยื่อจากเปลือกของลำต้นและกิ่งมีเส้นใย สามารถนำมาเป็นกระดาษได้สวยงาม เช่นเดียวกับกระดาษสา
  9. ลำต้นและกิ่ง สามารถนำมาใช้เป็นไม้ในการสร้างผลิตภัณฑ์บางชนิดได้
  10. นอกจากนี้เรายังสามารถนำต้นหม่อนมาใช้ในการปลูกเพื่อจัดและประดับสวนเพื่อให้มีภูมิทัศน์ที่ดีได้ เมื่อแตกกิ่งใหม่ กิ่งจะย่อยห้อยลงตามแรงโน้มถ่วง ไม่ได้ตั้งตรงขึ้นไปเช่นพันธุ์ไม้อื่น ทำให้ดูเป็นพุ่มสวยงาม และต้นหม่อนยังทนต่อการตัดแต่ง หลังการตัดแต่งแล้วจะมีการแตกกิ่งและเจริญเติบโตเร็ว