• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

เจตมูลเพลิงขาว

เจตมูลเพลิงขาว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเจตมูลเพลิงขาว

เจตมูลเพลิงขาว

เจตมูลเพลิงขาว ชื่อสามัญ Ceylon leadwort, White leadwort

เจตมูลเพลิงขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago zeylanica L. จัดอยู่ในวงศ์ PLUMBAGINACEAE เช่นเดียวกับเจตมูลเพลิงแดง

สมุนไพรเจตมูลเพลิงขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปิดปิวขาว (ภาคเหนือ), ตั้งชู้อ้วย ตอชูวา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ตอชู (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), โก้นหลัวะ (ม้ง), หนวดแมว (ไทลื้อ), ป๋ายฮัวตาน ไป๋ฮวาตัน ไป๋เสี่ยฮวา (จีนกลาง), แปะฮวยตัง (แต้จิ๋ว), ปิ๋ด ปี๋ ขาว ปี่ปีขาว เป็นต้น

ลักษณะของเจตมูลเพลิงขาว

  • ต้นเจตมูลเพลิงขาว มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างในเขตร้อน ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี แตกกิ่งก้านมากกิ่งก้านมักทอดยาว ลำต้นตั้งตรงหรือพาดพันบนต้นไม้อื่น ส่วนกิ่งเอนลู่ลง ต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวเข้ม กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเป็นร่องเหลี่ยม ผิวเรียบ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด โดยเป็นไม้ในที่ร่มรำไร ชอบความชื้นและที่แฉะ มักพบขึ้นตามป่าที่ราบ ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบทั่วไป

ต้นเจตมูลเพลิงขาว

ใบเจตมูลเพลิงขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก รูปกลมรี รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม ตอนปลายเป็นติ่ง โคนใบเว้าหรือเป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.8-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางและเป็นสีเขียวอ่อน

ใบเจตมูลเพลิงขาว

ดอกเจตมูลเพลิงขาว ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะเชิงลด ดอกย่อยมีหลายดอก แกนกลางและก้านช่อดอกจะมีต่อมไร้ก้าน (ส่วนเจตมูลเพลิงแดงจะไม่มี) ก้านมียางเหนียว กลีบดอกเป็นสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกแหลมหรือเป็นติ่ง ดอกมีเกสรเพศผู้สีม่วงน้ำเงิน ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร จำนวน 5 อัน และมีรังไข่ลักษณะเป็นรูปรี เป็น 5 เหลี่ยม ส่วนก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีลักษณะเป็นหลอดเล็กยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมีต่อมน้ำยางเหนียวติดมือได้ ช่อดอกยาวได้ประมาณ 5-25 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร ส่วนใบประดับย่อยมีลักษณะเป็นรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร และมีต่อมอยู่หนาแน่น

รูปดอกเจตมูลเพลิงขาว

ปิดปิวขาว

ผลเจตมูลเพลิงขาว ผลเป็นแบบแคปซูลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี ยาว กลม หรือเป็นรูปขอบขนาน ผลเป็นสีเขียวและมีขนเหนียวรอบผล แตกได้เป็น 5 ปาก มีร่องตามยาว

ผลเจตมูลเพลิงขาว

สรรพคุณของเจตมูลเพลิงขาว

  1. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก, ลำต้น)
  2. รากใช้เข้ายาช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)
  3. รากใช้เข้ายาบำรุงโลหิต (ราก)
  4. ช่วยขับโลหิตที่เป็นพิษ (ราก)
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)
  6. ช่วยกระจายเลือดลม ช่วยลดการอุดตันในเส้นเลือด (ราก, ทั้งต้น)
  7. ใบมีรสร้อน แก้ลมและเสมหะ แก้ลมในกองเสมหะ (ใบ)
  8. ดอกมีรสร้อน ใช้แก้โรคหนาวเย็น (ดอก)
  9. ช่วยขับโลหิตที่เป็นพิษ (ราก)
  10. ดอกใช้เป็นยาแก้โรคตา (ดอก)
  11. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก, ลำต้น)[2],[5],[6]หรือจะใช้ใบเป็นยาแก้โรคมาลาเรียก็ได้เช่นกัน โดยใช้ใบสดประมาณ 8-9 ใบ นำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกตรงข้อมือทั้งสองข้างตรงบริเวณชีพจร โดยให้พอกก่อนที่จะเกิดอาการสักประมาณ 2 ชั่วโมง และให้พอกไปจนกระทั่งบริเวณที่พอกนั้นเย็น แล้วค่อยเอาออก (ใบ)ส่วนชาวม้งจะนำมาใบทุบแล้วหมกไฟให้ร้อน แล้วนำไปไปห่อด้วยผ้า ใช้ห่อมือห่อเท้าผู้ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ด้วยเชื่อว่าจะช่วยลดไข้ได้ (ใบ)
  12. ช่วยขับเหงื่อ (ราก)
  13. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก, ลำต้น)
  14. ใบช่วยขับเสมหะ (ใบ)
  15. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยทำให้อาเจียน (ราก, ลำต้น)
  16. ช่วยแก้อาการหาวเรอ (ราก)
  17. ใบมีรสร้อน ช่วยแก้ปอดบวม (ใบ)
  18. หากเต้านมอักเสบ ให้นำใบสดมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้พอกบริเวณที่เป็นจนหาย (ใบ)
  19. รากและทั้งต้นมีรสเผ็ดฝาด ใช้เป็นยาเย็นร้อนเล็กน้อย มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ ใช้เป็นยาขับลม (ราก, ทั้งต้น) ตำรายาไทยรากเจตมูลเพลิงขาวมีรสร้อน ใช้เข้ายาแก้ลมในตัว (ราก) ช่วยขับลมในอก (ราก)
  20. แก้อาการปวดกระเพาะ แน่นจุกเสียดท้อง (ราก, ทั้งต้น)
  21. ใบช่วยในการขับผายลม (ใบ) รากช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ราก)
  22. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ, ราก) บ้างว่าใช้ทั้งต้น
  23. ช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย (ราก, ทั้งต้น)
  24. รากใช้เป็นยาขับพยาธิ (ราก)
  25. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (ราก, ลำต้น)
  26. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ดอก ราก)
  27. ต้นหรือลำต้นมีรสร้อน ใช้เป็นยาขับประจำเดือนหรือขับระดูเสียให้ตกไป (ต้น, ราก) แก้ประจำเดือนไม่เป็นปกติ ประจำเดือนไม่มา แก้อาการปวดท้องเวลามีประจำเดือน (ราก, ทั้งต้น)[3] ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของขังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากเข้ายากับพริกไทย นำมาดองกับเหล้าดื่มเป็นยาขับประจำเดือน (แต่เจตมูลเพลิงแดงจะมีฤทธิ์แรงกว่า[5]) ส่วนตำรายาจีนจะใช้รากเจตมูลเพลิงขาว 15 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูรับประทานเป็นยาขับประจำเดือน (บ้างว่าใช้รากแห้ง 30 กรัมและเนื้อหมูแดง 60 กรัม) (ราก)
  28. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มจะช่วยทำให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น (ราก, ลำต้น)
  29. หากตับหรือม้ามโต ให้ใช้ทั้งต้นเจตมูลเพลิงขาว นำมาดองกับเหล้ารับประทานเช้าเย็น หรือจะนำต้นแห้งมาบดเป็นผง ผสมกับแป้งข้าวเหนียวทำให้เป็นยาลูกกลอนใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 1 เมล็ด (ขนาดเม็ดละประมาณ 3-3.5 กรัม) เช้าเย็นก็ได้ (ทั้งต้น) หรือจะใช้รากนำมาดองกับเหล้ารับประทาน จะช่วยแก้อาการม้ามบวมได้ แต่ถ้าอาการหนักก็ให้นำใบสดมาตำให้ละเอียดคลุกกับข้าวเหนียวปั้นเป็นเม็ดขนาดพอดี แล้วนำไปนึ่งให้สุก ใช้รับประทานก่อนนอนและตื่นนอนครั้งละ 1 เม็ด (ราก, ใบ)
  30. ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาหรือพอกเป็นยารักษาแผลสด ห้ามเลือด (ใบ)
  31. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก, ทั้งต้น)
  32. ต้นสดใช้ตำพอกรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน รากใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง โรคผิวหนังบางชนิด กลากเกลื้อนและผื่นคัน (ต้น, ทั้งต้น, ราก) หรือจะใช้รากสดประมาณ 1-2 ราก นำมาตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าหรือน้ำหรือน้ำมันพืชเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อนก็ได้ แล้วนำส่วนที่ผสมนั้นไปพอกบริเวณที่เป็น (ราก) หรือจะใช้ผงรากนำมาทาแก้กลากเกลื้อนก็ได้เช่นกัน (ผงราก)
  33. ใบและรากนำมาตำใช้พอกบริเวณที่โดนตัวบุ้งที่ทำให้เกิดอาการคัน (ใบ, ราก)
  34. ใช้ใบสดและข้าวสวยอย่างละ 1 กำมือ ใส่เกลือเล็กน้อย นำมาตำเคล้ากันให้ละเอียด ใช้รักษาโรคผิวหนังหนาอันเนื่องมาจากการเสียดสีกันนาน ๆ โดยนำมาบริเวณที่เป็น (ใบ)
  35. ช่วยแก้ฝีบวมอักเสบ (ราก, ต้น, ทั้งต้น) หรือจะใช้ผงรากปิดพอกฝีก็ได้ (ผงราก) หรือจะใช้ใบสดนำมาตำพอกแก้ฝีบวมก็เช่นกัน[5] หรืออีกวิธีให้นำใบสดมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้เป็นยาพอกแก้ฝีบวม ฝีคัณฑสูตร (ใบ)
  36. ใช้รักษาไฟลามทุ่ง ด้วยการนำใบสดมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้พอกบริเวณที่เป็นจนกระทั่งหาย (ใบ)
  37. ช่วยแก้คุดทะราด (ราก)
  38. ใช้แก้อาการฟกช้ำ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้แหลกคั่วกับเหล้า แล้วนำมาพอกบริเวณที่มีอาการฟกช้ำ และถ้ารู้สึกแสบร้อนแล้วจึงค่อยเอายาที่พอกออก (ต้น, ทั้งต้น, ราก) หรือจะใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอก หรือนำใบสดนำมาตำแล้วนำไปแช่ในเหล้าหรือผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้พอกหรือทาบริเวณที่ฟกช้ำก็ได้เช่นกัน (ใบ)
  39. ช่วยแก้ปวด แก้ปวดบวม (ราก, ทั้งต้น) แก้อาการบวม (ราก)
  40. ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดหลัง (ราก, ลำต้น)
  41. ตำรายาไทยใช้รากเข้ายาแก้อาการปวดตัว (ราก)
  42. รากใช้เป็นยาทาแก้อาการปวดตามข้อ เคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 1.5-3 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือนำมาแช่ในเหล้า ใช้รับประทานวันละ 5 มิลลิเมตร วันละ 2 ครั้ง (ราก) บ้างว่าใช้ผงรากนำมาทาแก้อาการปวดข้อ (ผงราก) ช่วยขับลมชื้นปวดตามข้อ (ราก,ทั้งต้น)
  43. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย กระดูกหัก (เข้าใจว่าใช้ใบนำมาตำแล้วพอก)

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเจตมูลเพลิงขาว

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากมีสารบางอย่างที่เหมือนกับเจตมูลเพลิงแดง ที่มีฤทธิ์ในการบีบมดลูกและทำให้แท้ง (แต่ฤทธิ์ของเขตมูลเพลิงขาวจะอ่อนกว่า)
  • เมื่อทาเจตมูลเพลิงขาวแล้ว ให้สังเกตด้วยว่าอาการของโรคผิวหนังดีขึ้นหรือไม่ หากมีอาการพุพองมากยิ่งขึ้นให้หยุดใช้ยา เพราะสมุนไพรชนิดนี้หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้เป็นแผลพุพองได้

ประโยชน์ของเจตมูลเพลิงขาว

  • นอกจากจะใช้เจตมูลเพลิงเป็นยาสมุนไพรแล้ว เรายังสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย เพราะมีดอกที่ดูสวยงาม มีอายุได้หลายปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อและปักชำ

กาสามปีก

กาสามปีก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกาสามปีก

กาสามปีก

กาสามปีก ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex peduncularis Wall. ex Schauerr[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)

สมุนไพรกาสามปีก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตีนนกผู้ มะยาง ห้าชั้น (เชียงใหม่), สวองหิน (นครราชสีมา), ไข่เน่า (นครราชสีมา, ลพบุรี), เน่า (ลพบุรี), ขี้มอด (นครปฐม), แคตีนนก (กาญจนบุรี), กะพุน ตะพรุน (จันทบุรี), ตะพุน ตะพุนทอง ตะพุ่ม สะพุนทอง (ตราด), กานน สมอกานน สมอตีนนก สมอหิน (ราชบุรี, ประจวบคีรีธันธ์), สมอป่า สมอหิน (ประจวบคีรีขันธ์), นนเด็น (ปัตตานี), ตาโหลน (สตูล), กาสามปีก กาจับหลัก ตีนนกผู้ มะยางห้าชั้น (ภาคเหนือ), กาสามซีก กาสามปีก ตีนกา สมอบ่วง (ภาคกลาง), โคนสมอ ตีนนก สมอตีนเป็ด สมอหวอง (ภาคตะวันออก), ปะถั่งมิ เปอต่อเหมะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), นน สมอตีนเป็ด (ภาคใต้), ลือแบ ลือแม (นราธิวาส-มาเลเซีย), ไม้เรียง (เมี่ยน), ตุ๊ดอางแลง (ขมุ) เป็นต้น

ลักษณะของกาสามปีก

  • ต้นกาสามปีก จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้มหรือดำ กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนอ่อนขึ้นประปราย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยงไม่มีขน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบแสงแดดจัด ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด มีเขตการกระจายพันธุ์ในภาคเหนือของปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นในป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าคืนสภาพ พบมากในป่าชายหาด บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400-900 เมตร
  • ใบกาสามปีก ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบเรียว ยาวประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร ด้านบนเรียบหรือเป็นร่องตื้น มีขอบเป็นสันชัดเจน ผิวเรียบหรือมีขนขึ้นประปราย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานถึงรูปรี หรือเป็นรูปคล้ายใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา ใบย่อยจะมีขนาดไม่เท่า โดยใบกลางจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-5.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-17 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นประปราย ส่วนใบแก่ด้านบนจะเกลี้ยง ด้านล่างมีขนขึ้นตามเส้นกลางใบ ปลายเส้นแขนงใบโค้งจรดกัน เห็นได้ไม่ชัด ก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 0.1-1.2 เซนติเมตร
  • ดอกกาสามปีก ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ออกเป็นช่อเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ มีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-25 เซนติเมตร แตกแขนงเป็นคู่ตรงข้ามหรือเกือบตรงข้ามกัน แต่ละแขนงจะแตกแขนงย่อยเป็นคู่ ๆ อีกประมาณ 1-3 คู่ ที่ปลายสุดของกิ่งจะเป็นช่อกระจุก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-0.5 เซนติเมตร มีใบประดับติดเป็นคู่ตรงจุดที่แตกกิ่ง ยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่าย ดอกกาสามปีกจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีใบประดับย่อยขนาดเล็ก 1 คู่ ติดอยู่ใต้กลีบเลี้ยง ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนติดกันเป็นรูปกรวย สูงประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ที่ปลายแยกเป็นแฉกสามเหลี่ยมเล็ก 5 แฉก แฉกด้านล่างมักจะมีขนาดใหญ่กว่าแฉกอื่น ๆ กว้างได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน แบ่งเป็นอันยาว 2 อัน และสั้น 2 อัน ส่วนรังไข่มี 3-4 ช่อง
  • ผลกาสามปีก ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ฝาปิดขั้วผลมีขนาดกว้างประมาณ 1 ใน 4 ของตัวผล มีเนื้อหุ้มเมล็ดบาง ๆ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดแข็งมาก

ต้นกาสามปีก

สรรพคุณของกาสามปีก

  1. เปลือกต้นใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (เปลือกต้น)
  2. ในอินเดียจะใช้น้ำต้มจากใบและเปลือกเป็นยาลดไข้ และเชื่อว่าน้ำคั้นจากใบมีสรรพคุณทางยา (ใบ, เปลือกต้น)
  3. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (เปลือกต้น)
  4. เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะดำหรือปัสสาวะเป็นเลือด (เนื้อไม้)
  5. บางข้อมูลระบุว่า ราก ต้น และใบของสมุนไพรชนิดนี้สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรียได้ (ต้น ,ราก, ใบ)

ประโยชน์ของกาสามปีก

  1. ใบอ่อน ยอดอ่อน นำมาลวกหรือต้มรับประทานเป็นผัก ให้รสฝาดมัน
  2. ชาวเมี่ยนจะใช้ใบนำมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำดื่มเหมือนชา ให้รสชาติดี
  3. ในปากีสถานจะใช้ใบอ่อนรับประทานเป็นผักและรับประทานผลสุกด้วย
  4. เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ทั่วไป เช่น เสา พื้น กระดาน รอด ตง พาย กรรเชียง ครก สาก พานท้าย รางปืน ฯลฯ ใช้ในงานแกะสลักได้ดี[2],[3] และใช้ทำฟืน

ไคร้หอม

ต้นไคร้หอม 

ต้นไคร้หอม ไม้ดีหายาก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Sauropus thorelii Beille 
วงศ์ EUPHORBIACEAE 
ลักษณะ 
“ใคร่หอม” เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม สูงเต็มที่ไม่เกิน 6.8 เมตร ลำต้นเดี่ยวตั้งตรง เนื้อไม้แข็ง กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทึบและกิ่งอ่อนจะพันกันเหมือนไม้เถาเลื้อยเปลือกบาง ผิวเรียบ สีน้ำตาลแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ 6-8 คู่ รูปใบหอบแกมรูปรี ปลายและโคนแหลม ก้านใบยาว 1-1.5 ซ.ม. ขอบใบเป็นคลื่น เวลาใบดกจะเป็นพุ่มแน่นให้ร่มเงาดี 
ดอก จะโดดเด่นเป็นพิเศษคือ เป็นสีแดงอมม่วงขนาดเล็กมาก ออกเป็นช่อกระจุกคล้ายช่อดอก “มะเฟือง” หรือ “มะยม” ตามลำต้นและตามกิ่ง ตามซอกใบ แต่ละช่อ 50-100 ดอก มีกลิ่นหอมเย็นคล้ายกลิ่นเครื่องยาจีน เป็นที่น่าประหลาดใจยิ่ง เวลาได้สูดดมจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าหายเหนื่อย มีกำลังวังชาขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ ลักษณะดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้สีม่วงโผล่พ้นกลีบดอก 2-3 อัน ผลสดสีเขียวรูปกลมแบนคล้ายผล “มะยม” แต่จะโตกว่า แบ่งเป็น 3-5 พู ภายในมีเมล็ด ดอกมีตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ดกับตอนกิ่ง “ใคร่หอม” เหมาะจะปลูกทั้งแบบลงดินกลางแจ้งหรือปลูกลงกระถางตั้งวางในที่มีแดดส่องถึง รดน้ำบำรุงปุ๋ยสม่ำเสมอจะเติบโตเร็วและมีดอกไม่ขาดต้น โดยเฉพาะกลิ่นหอมของดอกจะเพิ่มพลังอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง

"ใคร่หอม" เป็นไม้ยืนต้นในร่ม เจริญเติบโตได้ดีภายในบริเวณบ้าน ใบเขียว หนา ออกดอกสีชมพูสวยงามที่ลำต้น จึงใช้เป็นไม้ประดับได้ดี มีคุณค่าในการฟอกอากาศ และลดมลพิษในบริเวณบ้าน.

ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม สูงเต็มที่ไม่เกิน 6.8 เมตร ลำต้นเดี่ยวตั้งตรง เนื้อไม้แข็ง กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทึบและกิ่งอ่อนจะพันกันเหมือนไม้เถาเลื้อย เปลือกบาง ผิวเรียบ สีน้ำตาลแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ 6-8 คู่ รูปใบหอบแกมรูปรี ปลายและโคนแหลม ก้านใบยาว 1-1.5 ซ.ม. ขอบใบเป็นคลื่น เวลาใบดกจะเป็นพุ่มแน่นให้ร่มเงาดี

 ดอกจะโดดเด่นเป็นพิเศษคือ เป็นสีแดงอมม่วงขนาดเล็กมาก ออกเป็นช่อกระจุกคล้ายช่อดอก "มะเฟือง" หรือ "มะยม" ตามลำต้นและตามกิ่ง ตามซอกใบ แต่ละช่อ 50-100 ดอกมีกลิ่นหอมเย็นคล้ายกลิ่นเครื่องยาจีนเป็นที่น่าประหลาดใจยิ่ง เวลาได้สูดดมจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าหายเหนื่อย มีกำลังวังชาขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ ลักษณะดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้สีม่วงโผล่พ้นกลีบดอก 2-3 อัน ผลสดสีเขียวรูปกลมแบนคล้ายผล "มะยม" แต่จะโตกว่า แบ่งเป็น 3-5 พู ภายในมีเมล็ด ดอกมีตลอดปี มีพื้นที่การกระจายพันธุ์ตามป่าเบญจพรรณและป่าราบทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งจะมีมากที่สุดแถบจังหวัดเลยและภาคเหนือ

 การขยายพันธุ์ ด้วยวิธีเพาะเมล็ดกับตอนกิ่ง เหมาะจะปลูกทั้งแบบลงดินกลางแจ้งหรือปลูกลงกระถางตั้งวางในที่มีแดดส่องถึง รดน้ำบำรุงปุ๋ยสม่ำเสมอจะเติบโตเร็วและมีดอกไม่ขาดต้น โดยเฉพาะกลิ่นหอมของดอกจะเพิ่มพลังอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

 "ใคร่หอม" แก้ภูมิแพ้
ต้นใคร่หอม จัดเป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของคนพื้นบ้านในอดีต และจะมีปลูกประดับบ้านเกือบทุกบ้าน เนื่องจากมีสรรพคุณเฉียบขาดในการรักษาอาการของโรค "ภูมิแพ้" 

กวาวเครือดำ

กวาวเครือดำ

สรรพคุณและประโยชน์
     กวาวเครือดำ ข้อเด่นคือ เป็นยาบำรุงกำลัง เพิ่มฮอร์โมนเพศชาย ทำให้อวัยวะเพศขยายใหญ่ ทำให้ผิวขาว หน้าเด้ง และยังมีสรรพคุณอื่นๆ อีกมากมาย
ข้อควรระวัง  
     เด็กหนุ่มยังไม่มีครอบครัว หรือมีกิ๊กไม่ควรเป็นอย่างยิ่งในการที่จะหาไปรับประทาน เหตุผลที่เขาห้ามเด็กหนุ่มรับประทานกวาวเครือดำเพราะ กวาวเครือดำเป็นสมุนไพรเพิ่มฮอร์โมนเพศ ซึ่งเมื่อทานเข้าไปแล้วสักระยะหนึ่ง จะเกิดอาการความต้องการทางเพศสูงมาก ยิ่งถ้าท่านใดทานกวาวเครือดำถูกกับสมุนไพรนี้ จะคึกคักๆ มาก ดังนั้นแล้วเขาจึงห้ามทานกวาวเครือดำ และมีฤทธิ์แรงกว่ากวาวเครือแดงหลายเท่า

วิธีการใช้
     สามารถนำไปขัดหน้าได้ และชงกับน้ำอุ่นใช้รับประทานได้

คำเตือน :
     ไม่แนะนำให้ซื้อไปรับประทานเอง ถ้าต้องการซื้อไปรับประทานเอง ดิฉันขอแนะนำให้ซื้อชนิดแคปซูลจะดีกว่า  เพราะถ้าซื้อไปและชั่งตวงเองอาจเกิดความผิดพลาดปริมาณในการใช้ได้ อาจทำให้ไม่ได้ผล และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยได้ กวาวเครือดำยังเหมาะสำหรับนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ หรือเหมาะกับผู้ผลิตสมุนไพรขายมากกว่า