• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

มะหาด

มะหาด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะหาด

มะหาด

มะหาด ชื่อสามัญ Monkey Jack, Monkey Fruit

มะหาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus lacucha Buch.-Ham. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artocarpus ficifolius W.T.Wang, Artocarpus lakoocha Roxb., Artocarpus yunnanensis H.H.Hu) จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)

สมุนไพรมะหาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปวกหาด (เชียงใหม่), มะหาดใบใหญ่ (ตรัง), หาดขนุน (ภาคเหนือ), ฮัด (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หาด (ทั่วไป-ภาคกลาง), เซยาสู้ (กะเหรี่ยง-กำแพง), กาแย ตาแป ตาแปง (มลายู-นราธิวาส), ขนุนป่า เป็นต้น

ลักษณะของมะหาด

  • ต้นมะหาด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ ที่มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง ทรงพุ่มกลมหรือแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีดำ สีเทาแกมน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลเข้ม ต้นแก่ผิวเปลือกจะค่อนข้างหยาบ ขรุขระและแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ บริเวณเปลือกของลำต้นมักมีรอยแตกและมียางไหลซึมออกมา แห้งติด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกประเภท (แม้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย) ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นทั่วไปในที่กึ่งโล่งแจ้งตามป่าดงดิบ ปาเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าคืนสภาพ ป่าหินปูน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,800 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ของประเทศไทย

ต้นมะหาด

ใบมะหาด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลมเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้ามนหรือแหลมกว้าง และอาจเบี้ยวไม่สมมาตรกัน ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือมีซี่ฟันเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนมีขนหยาบเล็กน้อย ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอมเทา มีขนหยาบสีเหลืองเล็กน้อย ใบอ่อนมีขนแต่พอแก่ขึ้น ขนเหล่านั้นจะหลุดไปทำให้ใบเรียบเกลี้ยง ใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม เหนียวคล้ายหนัง มีเส้นใบข้างประมาณ 8-20 คู่ จรดกันที่ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนที่ด้านท้องของใบ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนแข็งสีเหลืองอยู่หนาแน่น และมีหูใบขนาดเล็กบาง รูปหอกหลุดร่วงง่ายและมีขนปกคลุมหนาแน่น ขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร ส่วนกิ่งก้านค่อนข้างอ่อน อ้วน และหนาประมาณ 3-6 มิลลิเมตร

ใบมะหาด

ดอกมะหาด ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นกลมสีเหลืองหม่นถึงสีชมพูอ่อน โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน แต่อยู่คนละช่อ ช่อดอกเพศผู้กลม ช่อยาวประมาณ 0.8-2 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวตามซอกหรือช่วงล่างของกิ่งก้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงมี 2 พู ลึก มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนช่อดอกเพศเมียเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานสีเหลืองอ่อน ออกตามกลีบช่วงบน มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2-2.3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ก้านช่อยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

ดอกมะหาด

ผลมะหาด ผลเป็นสดและมีเนื้อ เป็นผลรวมสีเหลือง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมค่อนข้างบิดเบี้ยวเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 1.2-3.8 เซนติเมตร ผิวผลขรุขระและมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนถึงส้ม เมื่อแก่เป็นสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อผลนุ่มเป็นสีเหลืองถึงสีชมพู ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดมะหาดเป็นรูปขอบขนานหรือเกือบกลม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลทา ขนาดประมาณ 1.2 เซนติเมตร โดยจะติผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

ลูกมะหาด

ผลมะหาด

ผงปวกหาด คือ การนำเอาเนื้อไม้หรือแก่นไม้มะหาดที่มีอายุ 5 ขึ้นไป มาสับแล้วนำไปเคี่ยวต้มเอากากออก แล้วเอาผ้ากรองเอาน้ำออก ทำให้แห้งจะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้นำมาต้มเคี่ยวกับน้ำจนเกิดฟอง แล้วช้อนฟองที่ได้รวมกันทำให้แห้งก็จะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน) แล้วนำไปย่างไฟให้เหลือง หลังจากนั้นนำมาบดให้เป็นผง ผงที่ได้เรียกว่า "ผงปวกหาด" มีรสร้อนเมา วิธีการใช้ให้นำเอาผงมาชงกับน้ำเย็นรับประทาน

สรรพคุณของมะหาด

  1. แก่นมะหาดมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย ละลายเลือด กระจายโลหิต (แก่น,ผงปวกหาด)
  2. แก่นมะหาดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคกระษัยไตพิการ กระษัยเสียด กระษัยดาน กระษัยกร่อน กระษัยลมพานไส้ กระษัยทำให้ท้องผูก (แก่น)
  3. ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร (แก่น,ผงปวกหาด)
  4. ช่วยแก่ตานขโมย (แก่นเนื้อไม้)
  5. แก่นมะหาดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ดวงจิตขุ่นมัว ระส่ำระสาย แก้อาการนอนไม่หลับ (แก่น)
  6. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (แก่น,แก่นเนื้อไม้,ผงปวกหาด)
  7. เปลือกต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ หรือจะใช้รากสดหรือแห้ง นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ก็ได้ (เปลือกต้น,ราก)[1],[4],[5] แก่นมีรสร้อน สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ต่าง ๆ (แก่น)
  8. รากมะหาดสดหรือแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้พิษร้อนใน (ราก)
  9. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (แก่น,ผงปวกหาด)
  10. ช่วยแก้เสมหะ (แก่น)
  11. ช่วยแก้หอบหืด (แก่น)
  12. ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (แก่น,ผงปวกหาด)ส่วนแก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณแก้จุกแน่น แก้ท้องขึ้นอดเฟ้อ ช่วยขับลม ผายลม (แก่นเนื้อไม้)
  13. ช่วยแก้ฝีในท้อง (แก่น,ผงปวกหาด)
  14. ช่วยแก้ท้องโรพุงโต แก้จุกผามม้ามย้อย (แก่น)
  15. แก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาระบาย แก้ท้องผูกไม่ถ่าย (แก่นเนื้อไม้)ส่วนยางและเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายเช่นกัน (ยาง,เมล็ด)
  16. เปลือกต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาช่วยขับพยาธิ ถ่ายพยาธิ พยาธิตัวตืด หรือจะใช้รากสดหรือแห้ง นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับพยาธิก็ได้ (เปลือกต้น,แก่น,ราก) (แก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือนตัวกลม พยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวตืด พยาธิตัวแบน)
  17. ตำรายาไทยจะใช้ผงปวกหาดเป็นยาถ่ายพยาธิ พยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน และพยาธิตัวตืด โดยใช้ผงปวกหาดในขนาด 3-5 กรัม นำมาละลายหรือผสมกับน้ำสุกที่เย็นแล้วดื่มตอนเช้ามืดก่อนอาหารเช่า (หรือจะผสมน้ำมะนาวลงไปด้วยก็ได้) หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่ว ให้กินยาถ่าย (ดีเกลือ) ก็จะช่วยขับพยาธิออกมา วิธีนี้ใช้กับเด็กได้ดี แต่เวลาปรุงยาควรใส่ลูกกระวานหรือลูกจันทน์เทศด้วยเพื่อแก้อาการไซร้ท้อง สำหรับเด็กให้ใช้ผงปวกหาดเพียงครึ่งช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผงปวกหาด)
  18. ช่วยขับปัสสาวะกะปริดกะปรอย (แก่น,ผงปวกหาด)
  19. ช่วยขับโลหิต (แก่น,แก่นเนื้อไม้,ผงปวกหาด)
  20. ใบมะหาดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคบวมน้ำ (ใบ)
  21. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (แก่น)
  22. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน (เปลือกต้น)
  23. ผงปวกหาด ใช้ละลายน้ำทาแก้ผื่นคัน แก้เคือง (ผงปวกหาด) ส่วนแก่นมีสรรพคุณช่วยแก้ประดวงทุกชนิด (แก่น)
  24. ช่วยแก้อาการปวด (ผงปวกหาด)
  25. แก่นมะหาดมีสรรพคุณเป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ (แก่น,แก่นเนื้อไม้)
  26. รากสดหรือแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้กระษัยในเส้นเอ็น (ราก)
  27. รากเป็นยาบำรุงและมีฤทธิ์บรรเทาการอุดตัน (ข้อมูลไม่ได้ระบุว่าบรรเทาอาการอุดตันอะไร) (ราก)

ข้อควรระวัง : ห้ามกินมะหาดกับน้ำร้อน เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง เกิดอาการไซ้ท้อง หรือเกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรงได้[4] แต่สำหรับบางรายอาจมีอาการแพ้ผงปวกหาด โดยจะมีผื่นคันขึ้นตามตัว หน้าแดง ตาแดง ผิวหนังแดงคัน และมีไข้ร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 1-2 วัน

ประโยชน์ของมะหาด

  1. ผลมะหาดสุก ใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานอมเปรี้ยว
  2. ชาวม้งจะใช้ใบมะหาดอ่อนนำมานุ่งเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกรับประทาน
  3. เปลือกต้นมะหาดมีรสฝาด สามารถนำมาเคี้ยวกับหมากแทนสีเสียดได้
  4. ที่ประเทศเนปาลจะใช้ใบมะหาดเป็นอาหารสัตว์ เพื่อช่วยเพิ่มการขับน้ำนมของสัตว์เลี้ยง
  5. ในประเทศอินเดียและเนปาลจะใช้เปลือกต้นมะหาด นำมาต้มกับน้ำทารักษาสิว
  6. ชาวกะเหรี่ยงจะใช้ใบมะหาดแทนการใช้กระดาษทราย
  7. ใยจากเปลือกต้นมะหาด สามารถนำมาใช้ทำเชือกได้
  8. รากมะหาด สามารถนำมาสกัดเป็นสีสำหรับย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีเหลือง
  9. เนื้อไม้มะหาดเป็นสีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน เสี้ยนสน เนื้อไม้หยาบ แข็ง มีความเหนียวและทนทานมาก สามารถเลื่อยกบไสตบแต่งได้ง่าย ปลวกและมอดไม่ชอบทำลาย นิยมใช้ทำเสา สร้างบ้าน ทำสะพาน ทำหมอนรองรางรถไฟ ด้ามเครื่องมือทางการเกษตร
  10. ในด้านประโยชน์ทางด้านนิเวศน์ ต้นมะหาดสามารถปลูกเป็นไม้เพื่อให้ร่มเงา ความร่มรื่นได้ และยังช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี
  11. ในปัจจุบันมีการนำสารสกัดมะหาดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ครีมทาผิวหรือ "ครีมมะหาด", "โลชั่นมะหาด", "เซรั่มมะหาด" เนื่องจากสารสกัดจากแก่นมะหาดนั้นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase และมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเมลานิน จึงทำให้ผิวขาวขึ้นได้ แต่การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดมะหาดเพื่อให้ผิวขาว นอกจากจะต้องพิจารณาถึงความเข้มข้นของสาสกัดเป็นหลักแล้ว รูปแบบของผลิตภัณฑ์ก็มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของสารสกัดมะหาดเช่นกัน

ปอกะบิด

ปอกะบิด สรรพคุณและประโยชน์ของปอกะบิด

ปอกะบิด ชื่อสามัญ East indian screw tree

ปอกะบิด ชื่อวิทยาศาสตร์ Helicteres isora L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) และวงศ์สำโรง (STERCULIACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย HELICTEROIDEAE

สมุนไพรปอกะบิด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอทับ (เชียงใหม่), มะบิด (ภาคเหนือ), ข้าวจี่ (ลาว), ปอบิด เป็นต้น ซึ่งในบ้านเราสามารถพบปอกะบิดได้ทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเต็งรัง หรือที่รกร้างว่างเปล่า

ปอกะบิด เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-2 เมตร ลักษณะของลำต้นดูกลมเรียวอ่อนคล้ายเถา เปลือกนอกมีสีเทา และมีดอกปอกะบิด รวมไปถึงฝักปอกะบิดหรือส่วนของผลปอกะบิดจะเป็นฝักกลมบิดเป็นเกลียว มีความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่จะเป็นสีดำแห้งด้าน และยังถือว่าเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถรักษาโรคได้หลายชนิด

สมุนไพรปอกะบิดสรรพคุณปอกะบิดปอกะบิด สรรพคุณ

ประโยชน์ของปอกะบิด

  1. ช่วยบำรุงกำลัง (แก่น)
  2. ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ด้วยการใช้รากนำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาต้มเป็นยารับประทาน (ราก,เปลือกต้น)
  3. แก้อาการลงแดง ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 10 กรัมนำมาต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการ (ฝักแห้ง)
  4. ช่วยแก้เสมหะ ด้วยการใช้รากนำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือจะใช้ผลแห้งประมาณ 10 กรัมนำมาต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการ (ราก, แก่น, ผลแห้ง)
  5. ช่วยแก้ธาตุพิการ (ราก, เปลือก)
  6. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้รากนำมาต้มเอาน้ำดื่ม (ราก)
  7. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิต (ราก)
  8. ช่วยรักษาโรคลำไส้ในเด็ก (ฝัก)
  9. ช่วยบำรุงน้ำเหลือง แก้น้ำเหลืองเสีย (แก่น)
  10. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ฝัก)
  11. แก้โรคบิด ด้วยการใช้รากนำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาต้มเป็นยารับประทาน (ราก, เปลือกต้น, ฝัก)
  12. แก้อาการท้องร่วง ด้วยการใช้รากนำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาต้มเป็นยารับประทาน (ราก, เปลือกต้น)
  13. ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 10 กรัมนำมาต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการ (ฝักแห้ง)
  14. ประโยชน์ปอกะบิดใช้เป็นยาฝาดสมาน (ฝัก)
  15. ช่วยรักษาแผล อาการอักเสบเรื้อรังในกระเพาะอาหาร ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 10 กรัมนำมาต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการ (ฝักแห้ง)
  16. ใช้แก้อาการปวดเคล็ดบวม ด้วยการใช้รากนำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือจะใช้ผลแห้งประมาณ 10 กรัมนำมาต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการ (ราก, ฝักแห้ง)
 

สรรพคุณของปอกะบิด

ปล.สรรพคุณปอกะบิดในส่วนนี้เป็นของผู้จำหน่ายปอกะบิดเกลียวทอง ที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณต่าง ๆ แต่ยังไม่มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้มายืนยัน ควรใช้วิจารณญาณ

  1. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยรักษาโรคเบาหวาน
  2. ช่วยลดความโลหิต
  3. ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
  4. มีส่วนในการช่วยลดน้ำหนัก
  5. ช่วยรักษาอาการไมเกรน
  6. ช่วยรักษาโรคภูมิแพ้
  7. ช่วยรักษาโรคไทรอยด์
  8. ช่วยบำรุงตับและไต
  9. ช่วยบรรเทาอาการของโรคไต
  10. ช่วยป้องกันการเกิดและช่วยแก้โรคเหน็บชาตามปลายมือปลายเท้า
  11. ปอกะบิดเกลียวทอง สรรพคุณช่วยแก้อาการนิ้วล็อก
  12. ช่วยรักษาโรคเกาต์ อาการปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเข่า
  13. ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวระบบภายในมดลูกของสตรี

วิธีกินปอกะบิดเกลียวทอง ปอกะบิดอย่างแรกให้นำฝักปอกะบิดไปต้มในน้ำร้อน 25 ฝักต่อน้ำ 1.5 ลิตร ใช้เวลาต้มประมาณ 20 นาที แล้วเอาน้ำมาดื่มเป็นชา โดยดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น (ฝักปอกะบิดที่นำไปต้ม สามารถต้มได้ถึง 4 ครั้งหรือจนกว่าสีจะจางแล้วค่อยเปลี่ยน) สำหรับราคาที่มีจำหน่ายก็กิโลกรัมละประมาณ 500 บาทขึ้นไป

มีงานศึกษาวิจัยที่สรุปว่า สารสกัดจากผลปอกะบิดสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลอง และช่วยป้องกันไม่ให้ระดับไขมันสูงขึ้นได้จริง แม้ว่าผลการทดลองจะสรุปว่ามันสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ก็ยังไม่เพียงที่จะระบุขนาดในการใช้ และยังไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนยารักษาโรคเบาหวานได้จริง และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องความเป็นพิษ ทั้งนี้มีสมุนไพรจำนวนไม่น้อยที่มีพบว่ามีความเป็นพิษต่อตับและไต หากขนาดการใช้ไม่ถูกต้องหรือเหมาสม ซึ่งในกรณีที่ยังไม่มีข้อมูลครบเช่นนี้ การนำมาใช้ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อตับและไตได้

ดังนั้น ผู้ที่ใช้สมุนไพรชนิดนี้อยู่หรือผู้ที่คิดจะลองใช้ ควรตรวจภาวะการทำงานของตับและไตอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 3 เดือน และสำหรับผู้ที่มีประวัติหรือแม้แต่คนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคตับและไตห้ามรับประทาน

เพี๊ยฟาน

เพี้ยฟาน

ผักเพี้ยฟาน

วงศ์ : Rutaceae

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clausena excavata Burm.f.

ชื่อไทย : สันโสก, เพี้ยฟาน

ชื่อท้องถิ่น : ระยอลร์(ขมุ), เส่เนอซี(กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ขี้ฮอก(คนเมือง), เต็งละ(ม้ง), เหมือดหม่น,เฮือดหม่อน,เพี้ยฟาน(คนเมือง),หัสคุณเทศ สมัดน้อย สมัดขาว(อีสาน)

ลักษณะทาง พฤกษศาสตร์

  • ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก โดยทั่วไปสูง 2-4 เมตร แต่บางต้นอาจสูงได้ถึง 15 เมตร ลำต้นโตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ยาวได้ถึง 20 ซม. แตกกิ่งก้านสาขาไม่เป็นระเบียบ มีขนละเอียดอ่อนนุ่มคลุมใบ เป็นใบประกอบแบบขนนสองชั้นเรียงสลับช่อใบยาว 15-50 ซม. โคนช่อใบอาจมีช่อใบย่อยหลายช่อ ใบย่อย 15-31 ใบต่อช่อ ปลายช่อเป็นใบเดี่ยว ก้านใบย่อยสีเขียว ก้านใบปลายยาวกว่าก้านใบข้างมาก แผ่นใบรูปไข่ถึงรูปใบหอก ขนาดกว้าง 1-7 ซม. ยาว 2-20 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบเบี้ยด้านหนึ่งสอบเป็นรูปลิ่ม อีกด้านโค้งมน ขอบใบเรียบหรืออาจเป็นซี่หยักเล็กๆ ผิวใบแก่ด้านบนเกลี้ยงไม่มีขน ด้านล่างมีขนละเอียดบาง ๆ ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ก้านดอกย่อยยาว 0.5-2.0 มม. วงกลีบเลี้ยงเล็กมาก กลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่แกมขอบขนาน ยาว 3.5-5.0 มม. สีเขียวอ่อนถึงขาวอมเหลือง เกสรเพศผู้ 8 อัน ก้านชูอับเรณู ยาว 1.5-3.5 มม. โคนโต ก้านชูเกสร เพศเมีย รูปทรงกระบอก ปลายกว้าง ยาวได้ถึง 1.8 มม. รังไข่รูปไข่ มีขนละเอียดคลุมผล มีเนื้อนอก รูปไข่ยาว 1-2 ซม. เมื่อสุกสีชมพูอมแดง ผิวเกลี้ยงหรืออาจมีขนละเอียดบางๆ
  • ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนสองชั้นเรียงสลับช่อใบยาว 15-50 ซม. โคนช่อใบอาจมีช่อใบย่อยหลายช่อ ใบย่อย 15-31 ใบต่อช่อ ปลายช่อเป็นใบเดี่ยว ก้านใบย่อยสีเขียว ก้านใบปลายยาวกว่าก้านใบข้างมาก แผ่นใบรูปไข่ถึงรูปใบหอก ขนาดกว้าง 1-7 ซม. ยาว 2-20 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบเบี้ยด้านหนึ่งสอบเป็นรูปลิ่ม อีกด้านโค้งมน ขอบใบเรียบหรืออาจเป็นซี่หยักเล็กๆ ผิวใบแก่ด้านบนเกลี้ยงไม่มีขน ด้านล่างมีขนละเอียดบางๆ
  • ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ก้านดอกย่อยยาว 0.5-2.0 มม. วงกลีบเลี้ยงเล็กมาก กลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่แกมขอบขนาน ยาว 3.5-5.0 มม. สีเขียวอ่อนถึงขาวอมเหลือง เกสรเพศผู้ 8 อัน ก้านชูอับเรณู ยาว 1.5-3.5 มม. โคนโต ก้านชูเกสร เพศเมีย รูปทรงกระบอก ปลายกว้าง ยาวได้ถึง 1.8 มม. รังไข่รูปไข่ มีขนละเอียดคลุม
  • ผล มีเนื้อนอก รูปไข่ยาว 1-2 ซม. เมื่อสุกสีชมพูอมแดง ผิวเกลี้ยงหรืออาจมีขนละเอียดบางๆ 

สรรพคุณ / การใช้ประโยชน์          

  • ใบ รับประทานสดกับลาบ(ขมุ) ยอดอ่อน รับประทานสดจิ้มน้ำพริก มีรสขมเล็กน้อย(คนเมือง)
  • ทั้งต้น ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน อาจใส่รวมกับแพพันชั้นก็ได้ (คนเมือง) ลำต้นและใบ ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้สรรพพิษ (คนเมือง) กิ่งและใบ ต้มน้ำอาบหรืออบตัวแก้ไข้ ไม่สบาย หลังจากคลอดลูก ใช้ต้มรวมกับเมโกล่บละ กล้วยตานี และกล้วยป่า (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) ยอดอ่อน รับประทานเป็นยาแก้อาการท้องผูก (ม้ง)
  • เปลือกต้น พบสารที่มีฤทธิ์ต้านสารพิษที่ทำลายตับ ต้านอาการปวดและอักเสบ ใบหรือทั้ง 5 แก้ไข้มาลาเรีย วัณโรค รักษาโรคผิวหนัง ห้ามเลือด ฆ่าเชื้อโรค
  • ชาวเขาเผ่าลีซอใช้ใบต้มน้ำอาบให้ไก่เพื่อกำจัดไรไก่ หรือให้คนอาบเพื่อกำจัดเหาและไร หรือแก้แผลเปื่อย แผลอันเกิดจากอาการคันและเกา ชาวม้งใช้ใบตำและอาจจะผสมกับใบพืชอื่นๆ เช่น ส้มโอ เครือเขาดำ ท้อ ตำร่วมกัน ห่อผ้ารัดที่ข้อมือด้านหนึ่งและข้อเท้าอีกด้านหนึ่ง แก้ไข้มาลาเรีย กะเหรี่ยงใช้ทั้งต้นต้มอาบแก้อาการวิงเวียนศีรษะชาวเขาโดยทั่วไปใบตำพอกแก้อาการอักเสบ บวมอันเกิดจากไฟ น้ำร้อนลวกหรือสาเหตุอื่นๆ ไทยใหญ่ใช้รากต้มกินเป็นยาบำรุงกำลัง   

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหวดหม่อน

  • เปลือกต้นหวดหม่อนมีสาร clausine-D ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด wedelolactone และอนุพันธ์ของ coumentan ที่มีฤทธิ์ต้านสารพิษที่ทำลายตับ และต้านอาการปวดและอักเสบ
  • สารสกัดด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรีย ในขณะที่สารสกัดคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค ส่วนสารบริสุทธิ์ที่แยกออกมาได้จากการสกัดหยาบคลอโรฟอร์มและเอทานอลจากเหง้าและรากออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค เชื้อรา และเชื้อเอชไอวี-1
  • จากการศึกษาฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของน้ำสกัดและสารสกัดอัลกอฮอล์ของหวดหม่อน พบว่าสารสกัดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ เมื่อนำมาทดสอบกับ Salmonella typhimurium TA98 และ TA100
  • จากการศึกษาความเป็นพิษ โดยทำการศึกษาผลของน้ำสกัดหวดหม่อน 5% w/v โดยให้ในหนูขาวทดลอง 2 กลุ่ม ในปริมาณ 0.5 และ 1 มล./วัน ตามลำดับ ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน จากผลการทดสอบพบว่าได้สมรรถภาพของตับ ไต และค่าทางโลหิตวิทยาไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และเมื่อทดลองให้น้ำสกัดหวดหม่อนกับผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายจำนวน 8 ราย พบว่า ผู้ป่วยไม่มีการเปลี่ยนแปลงของ complete blood count, platelet count และ performance status และจากการตรวจสอบหาค่า LD50 ของน้ำสกัดจากเนื้อไม้หวดหม่อนในหนูขาว โดยฉีดสารสกัดเข้าทางช่องท้อง พบว่าค่า LD50 เท่ากับ 1.6 ก./กก. แต่เมื่อป้อนสารสกัดนี้ให้กับหนูขาว ค่า LD50 มากกว่า 10 ก./กก. ซึ่งในกรณีนี้จะจัดสารสกัดหวดหม่อนให้อยู่ในระดับไม่เป็นพิษเชิงปฏิบัติ
  • จากการศึกษาพิษต่อระบบสืบพันธุ์ โดยทำการทดลองให้น้ำสกัดหวดหม่อน ความเข้มข้น 4 มก./มล. ทุกวัน วันละ 2 มล. เป็นระยะเวลา 2 เดือน พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ของหนูขาวเพศผู้

ต้นนิโครธ

กร่าง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกร่าง (ต้นนิโครธ)

กร่าง

กร่าง ชื่อสามัญ Banyan tree, Bar, East Indian Fig

กร่าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus benghalensis L.(มักเขียนผิดเป็น Ficus bengalensis L.) จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)

สมุนไพรกร่าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นิโครธ หรือ ไทรนิโครธ (กรุงเทพฯ), ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "บันยัน" (Banyan), ในภาษาฮินดูเรียกว่า "บาร์คาด" (Bargad) ส่วน "กร่าง" เป็นชื่อเรียกของคนภาคกลางทั่วไป (ส่วนในวิกิพีเดียใช้ชื่อสมุนไพรชนิดนี้ว่า "ไกร")

ลักษณะของต้นกร่าง

  • ต้นกร่าง หรือ ต้นนิโครธ เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน และได้แพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นตรงขึ้นเป็นพูพอน แตกกิ่งก้านหนาทึบ ลักษณะเป็นเรือนยอดแผ่กว้างปลายกิ่งลู่ลง เปลือกต้นเรียบเกลี้ยง ลำต้นและกิ่งมีรากอากาศห้อยย้อยลงมามากมาย และเมื่อหยั่งถึงดินแล้วจะทำให้เกิดเป็นหลืบสลับซับซ้อน เป็นฉากเป็นห้อง หรือเป็นลำต้นต่อไปได้อีก ทุกส่วนของลำต้นมียางสีขาว กิ่งอ่อนมีขนนุ่มอยู่หนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด หรือโดยวิธีทางธรรมชาติที่นกหรือ ค้างคาวจะกินผลแล้วถ่ายมูลที่มีเมล็ดติดอยู่ไปยังที่ต่าง ๆ หรือจะขยายพันธุ์ด้วยการปักชำหรือการตอนกิ่งก็ทำได้เช่นกัน โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิดที่ค่อนข้างมีความชุ่มชื้น

ต้นกร่าง

ต้นนิโครธ

ใบกร่าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมน บ้างว่ามีติ่งแหลมสั้น โคนใบเรียบหรือโค้งกว้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-14 เซนติเมตรและยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีเส้นแขนงของใบประมาณ 4-6 คู่ ก้านใบอวบ ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีหูใบหุ้มยอดอ่อน ใบอ่อนมีขนหนามากโดยเฉพาะในส่วนของท้องใบ ส่วนใบแก่ไม่มีขน ใบเมื่อแก่จะร่วงหล่นและมีรอยแผลใบให้เห็นเด่นชัดบนกิ่ง

  • ดอกกร่าง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อมะเดื่อตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก เจริญเติบโตอยู่ภายใต้ฐานรองดอก ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ภายในดอกประกอบไปด้วยดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย โดยดอกตัวเมียจะอยู่ใกล้กับรูปากเปิด
  • ผลกร่าง ผลมีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร บ้างว่าประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียวเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงสีส้ม และเมื่อแก่ผลจะเป็นสีแดงคล้ำหรือสีเลือดหมู ในแต่ละผลจะมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ประมาณ 2-4 กลีบ

ผลกร่าง

ผลนิโครธ

สรรพคุณของกร่าง

  1. เมล็ดใช้เป็นยาเย็นและยาบำรุงร่างกาย (เมล็ด)
  2. เปลือกต้นทำเป็นยาชงใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้โรคเบาหวาน (เปลือกต้น)
  3. รากนำมาเคี้ยวเพื่อช่วยป้องกันโรคเหงือกบวม (ราก)
  4. ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ท้องเดิน (เปลือกต้น, ยาง)
  5. ใบและเปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง (ใบ, เปลือกต้น)
  6. ยางและเปลือกต้นใช้แก้บิด (เปลือกต้น, ยาง)
  7. ผลสุกใช้รับประทาน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย (ผลสุก)
  8. ช่วยแก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือด (ใบ, เปลือกต้น)
  9. ยางจากต้นใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร (ยาง)
  10. ใบและเปลือกต้นใช้เป็นยาช่วยห้ามเลือด (ใบ, เปลือกต้น)
  11. ยางจากต้นใช้แก้หูด (ยาง)
  12. ยางใช้เป็นยาทาแก้ไขข้ออักเสบ (ยาง)

ประโยชน์ของกร่าง

  1. ผลใช้รับประทานได้
  2. ผลแก่ที่เป็นสีแดงคล้ำใช้เป็นอาหารของนก
  3. นอกจากใช้ผลรับประทานแล้ว ในอินเดียยังใช้ใบสำหรับใส่อาหารรับประทานอีกด้วย
  4. ต้นกร่าง หรือ ต้นไทรนิโครธ จัดเป็นไม้มงคลตามพุทธประวัติที่พระกัสสปพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน และได้ตรัสรู้ ณ ควงไม้นิโครธ จึงมีการนิยมปลูกไว้ตามศาสนสถานหรือตามวัดวาอารามทั่วไป เพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงาและเพิ่มความร่มเย็น แต่จะไม่นิยมปลูกไว้ในบ้านเนื่องจากต้นนิโครธมีขนาดใหญ่เกินไป
  5. มีข้อมูลอื่น ๆ ระบุว่ารากอากาศมีความเหนียว สามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกได้ ส่วนเปลือกด้านในนั้นใช้ทำกระดาษ