• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

กำจัด

กำจัด

 

ชื่ออื่นๆ

ผักมาด (สกลนคร) หมากแคว่น (เหนือ) แคนโข่ง (กาฬสินธุ์) มะนาวป่า (สกลนคร) ละมาด พริกหอม พริกม้า (กลาง) มะข่วง หมักข่วง กำจัดต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์

Zanthoxylum rhetsa (Roxb.) DC.
ชื่อพ้อง

Zanthoxylum limonella Alston
ชื่อวงศ์

Rutaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน ขนาดกลาง ผลัดใบ สูงได้ถึง 20 เมตร เนื้อไม้มีแก่น ลำต้นส่วนยอดมีหนามแหลมคม ใบดกหนา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ก้านใบสีแดง ใบยาวรีปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบอ่อนและใบแก่สีน้ำตาลแดง ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ยอด ผลสุกสีแดง แตกเมื่อแห้ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-7 มิลลิเมตร เมล็ดทรงกลมขนาดเล็ก สีดำเป็นมัน พบขึ้นในป่าดงดิบ และป่าดิบแล้ง ไม่พบในป่าโคก ป่าโปร่ง ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด ผลแก่ใช้ตำน้ำพริก มีรสมันหอม เมล็ดแก่มีกลิ่นหอม ใช้คั่วตำน้ำพริก เรียกว่า น้ำพริกลูกระมาดและใช้ปรุงกับลาบ หรือเครื่องแกง เป็นเครื่องเทศ พบตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ออกดอกราวเดือนธันวาคมถึงมกราคม ติดผลราวเดือนมกราคมถึงมีนาคม

สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใช้ ผลแก่ ทุบห่อผ้าประคบแผลพุพอง หรือตำชงน้ำร้อนดื่มแก้ท้องอืดเฟ้อ แก้น้ำกัดเท้า เมล็ด รสเผ็ดสุขุมหอม มีกลิ่นหอม แก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ถอนพิษฟกบวม แก้หนองใน ใบ รสเผ็ด แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน รากและเนื้อไม้ รสร้อนขื่น ขับลมในลำไส้ แก้ลมเบื้องบน หน้ามืด ตาลาย วิงเวียน ขับระดู

กระทุงหมาบ้า

สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระทุงหมาบ้า

กระทุงหมาบ้า

กระทุงหมาบ้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Dregea volubilis (L.f.) Benth. ex Hook.f. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE - ASCLEPIADACEAE)[2]

สมุนไพรกระทุงหมาบ้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักฮ้วนหมู (เชียงใหม่), เครือเขาคลอน (อุบลราชธานี), ผักง่วนหมู ต้นง่วนหมู หัวเขาคอน (ร้อยเอ็ด), มวนหูกวาง (เพชรบุรี), เครือเขาหมู ผักฮ้วนหมู ฮ้วนหมู (ภาคเหนือ), กระทุงหมาบ้า คันชุนสุนัขบ้า (ภาคกลาง), เถาคัน (ภาคใต้), มุ้งหมู, ฮ้วน, ผักม้วน, ผักโง้น, ผักง้วน, ผักง้วนหมู เป็นต้น

ลักษณะของกระทุงหมาบ้า

  • ต้นกระทุงหมาบ้า จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง 10 เมตร เถาจะพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ ลำต้นมีลักษณะเป็นเถากลม เปลือกเถาอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนเถาแก่เป็นสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลอ่อน ตามผิวกิ่งตะปุ่มตะป่ำและมีช่องอากาศ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี ชอบที่ชื้น ทนแล้งได้ดี มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดียจนถึงจีนตอนใต้ ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยพบขึ้นตามบริเวณป่าดิบ ป่าราบ หรือบริเวณชายป่าทั่วทุกภาคของประเทศ

ต้นกระทุงหมาบ้า

ใบกระทุงหมาบ้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือเกือบกลม ปลายใบแหลมหรือยาวรี โคนใบมนหรือเว้าหรือป้าน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-15 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีสีเขียวอ่อนกว่า ก้านใบยาวประมาณ 4 เซนติเมตร

ใบกระทุงหมาบ้า

ดอกกระทุงหมาบ้า ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกบริเวณซอกใบหรือระหว่างก้านใบ ลักษณะของดอกเป็นดอกที่มีขนาดเล็ก มีกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีเขียวอ่อน บิดเวียนกัน ยาวได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อ ส่วนปลายกลีบแยกออกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม เส้าเกสร 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร

ผักฮ้วน

ดอกกระทุงหมาบ้า

ผลกระทุงหมาบ้า ผลมีลักษณะเป็นฝัก ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.6-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-10 เซนติเมตร โคนฝักป่องแล้วค่อย ๆ เรียวไปหาปลาย มีครีบตามยาว ผิวฝักมีขนสีน้ำตาลอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ข้างในฝักมีเมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่หรือรูปรีกว้าง โค้งเว้า มีขนาดยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผิวเรียบเป็นมันวาว ขอบบางเป็นครีบ มีพู่ขนสีขาวเป็นมันเหมือนเส้นไหม

สมุนไพรกระทุงหมาบ้า

ผลกระทุงหมาบ้า

เมล็ดกระทุงหมาบ้า

สรรพคุณของกระทุงหมาบ้า

  1. ส่วนที่กินได้ของผักชนิดนี้มีรสขมอมหวานมัน มีสรรพคุณช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกายและช่วยเจริญอาหาร (ส่วนที่กินได้)
  2. รากและเถามีสรรพคุณช่วยทำให้นอนหลับ (ราก, เถา)
  3. เถาใช้เป็นยาแก้โรคตา (เถา)
  4. ใช้เป็นยาแก้หวัด ทำให้จาม (เถา) บ้างใช้รากนำมาตัดเสียบเข้าไปในจมูกเพื่อทำให้เกิดการจาม (ราก)
  5. รากใช้เป็นยาขับพิษร้อน กระทุ้งพิษ พิษฝี แก้ไข้พิษ พิษไข้หัว ไข้กาฬ ให้ซ่านออกมาจากภายใน ช่วยดับความร้อน แก้พิษน้ำดีกำเริบ (ราก)
  6. เถามีรสเมาเบื่อเอียดติดขม มีสรรพคุณเป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ใช้กระทุ้งพิษไข้หัว ไข้กาฬ ดับพิษฝี แก้พิษดีกำเริบ ละเมอเพ้อกลุ้ม เซื่องซึม ปวดศีรษะ น้ำตาตกหนัก แสบร้อนหน้าตา (เถา)
  7. รากมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ ถ้าใช้มากเกินไปจะมีสรรพคุณทำให้อาเจียน ส่วนลำต้นอ่อนก็มีสรรพคุณทำให้อาเจียนเช่นกัน (ราก, ลำต้นอ่อน)
  8. เถาเป็นยาเย็น ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เถา)
  9. ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ (ราก)
  10. ใบมีรสเมาเบื่อเอียนติดขม ใช้เป็นยาแก้แผลที่ถูกน้ำร้อนลวก แก้บวม แก้ฝี แก้ฝีภายใน แก้พิษต่าง ๆ การใช้ภายนอกให้นำใบสดมาตำให้ละเอียดแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลหรือใช้พอกฝีและบริเวณที่อักเสบ (ใบ)
  11. เถาใช้เป็นยาแก้พิษงูกัด (เถา)
  12. ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะใช้เป็นยาลดไข้ ทำให้อาเจียน ใช้ในการรักษาอาการอาเจียนออกมาเป็นเลือดสด (Hematemesis), เจ็บคอ, อาการฝีหนองติดเชื้อ (Carbuncles), กลาก, โรคหอบหืดและเป็นยาแก้พิษสำหรับยาพิษ (เนื่องจากทำใหอาเจียนได้ แต่ใช้รากเท่านั้น)

ประโยชน์ของกระทุงหมาบ้า

  • ใบ ดอก และฝักอ่อน นำมาต้มแล้วใช้เป็นอาหารได้ โดยจะมีรสขมเล็กน้อย ชาวเหนือและชาวอีสานจะนิยมรับประทานใบอ่อน ยอด และดอกสด โดยนำมาใช้ในการประกอบอาหาร เช่น แกงกับปลาแห้ง หรือแกงกับผักชนิดอื่น ใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริกหรือใส่ส้มตำ ผักชนิดนี้ในหน้าแล้งจะมีรสอร่อยกว่าหน้าฝน เพราะหน้าแล้งจะมีรสขมออกหวาน ส่วนหน้าฝนจะมีรสขมมาก[2],[3],[6] โดยคุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัมนั้น ผักชนิดนี้จะให้พลังงาน 56 แคลอรี, โปรตีน 5.2 กรัม, ไขมัน 2.3 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 6.9 กรัม, เถ้า 1.7 กรัม, แคลเซียม 104 มิลลิเมตร, ฟอสฟอรัส 90 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.8 มิลลิกรัม, วิตามินเอ 266 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.14 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.24 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 1.0 มิลลิกรัม, วิตามินซี 351 มิลลิกรัม
  • ผลใช้เป็นยารักษาโรคของสัตว์

กระวาน

กระวาน สรรพคุณและประโยชน์ของกระวานไทย

กระวาน ชื่อสามัญ Best cardamom, Camphor, Clustered cardamom, Siam cardamom

กระวาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum verum Blackw. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

สมุนไพรกระวาน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปล้าก้อ (ปัตตานี), กระวานขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก), มะอี้ (ภาคเหนือ), ข่าโคก ข่าโค่ม หมากเนิ้ง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กระวานไทย, กระวานดำ, กระวานแดง, กระวานจันทร์, กระวานโพธิสัตว์ เป็นต้น

กระวานจัดเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพง ที่ซื้อขายในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ

  • ระวานไทย หรือ กระวาน (Amomum krevanh) ผลจะมีลักษณะค่อนข้างกลม ปลูกมากในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย หมู่เกาะอินเดียตะวันตก สำหรับประเทศไทยแหล่งผลิตสำคัญจะเก็บได้จากตามป่าบริเวณเขาสอยดาว ในจังหวัดจันทบุรี หรือที่เรียกว่า "กระวานจันทบุรี" ซึ่งเป็นกระวานที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาด และยังมาจากแหล่งอื่น ๆ ทางภาคใต้อีก เช่น กระวานสงขลา กระวานสุราษฎร์ธานี แต่จะมีคุณภาพต่ำกว่ากระวานจันทบุรี
  • กระวานเทศ หรือ กระวานแท้ (Elettaria cardamomum) ผลมีลักษณะแบนรี ซึ่งแตกต่างจากกระวานไทย กระวานเทศนี้จะปลูกมากในประเทศอินเดีย ศรีลังกา แทนซาเนีย และกัวเตมาลา

ลักษณะของกระวาน

  • ต้นกระวาน จัดเป็นไม้ล้มลุกมีเหง้า มีความสูงประมาณ 2 เมตร โดยมีกาบใบหุ้มซ้อนกันทำให้ดูคล้ายลำต้น โดยต้นกระวานมักขึ้นในที่ร่มหรือใต้ร่มไม้ที่มีความชื้นสูง หรือในที่ที่มีฝนตกชุกและอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 800 ฟุตขึ้นไป โดยมักจะพบขึ้นทั่วไปตามไหล่เขาในบริเวณป่าดงดิบ

ต้นกระวาน

ใบกระวาน ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบแคบและยาว เป็นรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ปลายใบแหลม

ใบกระวาน

ดอกกระวาน ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกออกมาจากเหง้า ชูขึ้นขึ้นมาเหนือพื้นดิน เรียงสลับซ้อนกันตลอดช่อ ในซอกใบประดับจะมีดอกประมาณ 1-3 ดอก ปลายกลีบเลี้ยงมีหยัก 3 หยัก กลีบดอกมีสีเหลือง เป็นหลอดแคบ เกสรตัวผู้เป็นแบบไม่สมบูรณ์เพศ แปรสภาพเป็นกลีบขนาดใหญ่สีขาว มีแถบสีเหลืองอยู่ตรงกลาง

ดอกกระวาน

  • ผลกระวาน หรือ ลูกกระวาน ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ติดเป็นพวงราว 10-20 ผล ผลมีสีขาวนวล เปลือกผิวเกลี้ยง มองเห็นเป็นพู มี 3 พู ผลอ่อนมีขน ผิวเปลือกมีริ้วตามยาว เรียงตัวจากฐานไปสู่ยอด ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-15 มิลลิเมตร ทั้งหัวและท้ายผลมีจุก ผลจะร่วงไปเมื่อแก่ ผลแก่จะแตก มีเมล็ดอยู่ภายในจำนวนมาก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีเมล็ดกลุ่มละประมาณ 12-18 เมล็ด

ผลกระวาน

เมล็ดกระวาน เมล็ดอ่อนมีสีขาวและมีเยื่อหุ้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลไหม้ โดยทั้งผลและเมล็ดจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว คล้ายกับกลิ่นของการบูร มีรสเผ็ดและเย็น

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ ราก หัว และหน่อ เปลือกต้น แก่น กระพี้ เมล็ด ผลแก่ที่มีอายุประมาณ 4-5 ปี โดยจะเก็บผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนมีนาคม

สรรพคุณของกระวาน

  1. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ผลแก่, ใบ, เปลือก, เมล็ด)
  2. ช่วยแก้ธาตุพิการ (เมล็ด) แก้ธาตุไม่ปกติ (ผลแก่)
  3. ช่วยบำรุงกำลัง (ผลแก่, ใบ)
  4. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผลแก่) แก้อาการเบื่ออาหาร (ผลแก่)
  5. ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (กระพี้)
  6. ช่วยขับโลหิต (ผลแก่)ช่วยฟอกโลหิต แก้โลหิตเน่าเสีย (ราก) ช่วยรักษาโรคโลหิตเป็นพิษ (แก่น)
  7. ช่วยแก้เสมหะให้ปิดธาตุ (ราก)แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ (ผลแก่, ใบ)
  8. ช่วยขับเสมหะ (ใบ, เปลือก, เมล็ด)
  9. แก้อาการสะอึก (ผลแก่)
  10. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน (ผลแก่)
  11. ช่วยแก้ลม (ผล, ใบ, ราก)
  12. ช่วยแก้ลมในอกให้ปิดธาตุ (ผลแก่)
  13. ช่วยแก้ลมสันนิบาต สันนิบาตลูกนก (ผลแก่, ใบ)
  14. ช่วยแก้พิษร้าย (แก่น)
  15. ช่วยแก้อาการผอมเหลือง (เปลือก)
  16. ช่วยรักษาโรครำมะนาด (ผลแก่, ใบ, ราก)
  17. ช่วยแก้ไข้ (เปลือก)
  18. ช่วยแก้ไข้เพื่อลม (ใบ)
  19. ช่วยแก้ไข้อันเป็นอชินโรคและอชินธาตุ (เปลือก)
  20. ช่วยแก้ไข้อันง่วงเหงา (ใบ, เปลือก)
  21. แก้ไข้เซื่องซึม (ใบ)
  22. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (เมล็ด)
  23. แก้ลมจุกเสียดแน่นเฟ้อ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ด้วยการใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือครึ่งถ้วยแก้ว และนำมาใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผลแก่, ใบ)
  24. แก้ลมในลำไส้ (ผลแก่) ช่วยขับผายลมในลำไส้ (เมล็ด, ใบ) มีฤทธิ์ในการขับลม (Carminative) ด้วยการใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา แล้วต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือครึ่งถ้วยแก้ว และนำมาใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผลแก่)
  25. ผลกระวานใช้ผสมกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย เช่น มะขามแขก เพื่อใช้บรรเทาอาการไซ้ท้องหรืออาการคลื่นไส้อาเจียน (ผลแก่, เมล็ด)
  26. ช่วยแก้อุจจาระพิการ (เมล็ด)
  27. ช่วยแก้อัมพาต (ผลแก่)
  28. ช่วยขับพยาธิในเนื้อให้ออกทางผิวหนัง (หัวและหน่อ)
  29. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (กระพี้, เปลือก)
  30. ผลแก่มีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม ประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) 5-9% มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียบางชนิด (ผลแก่)
  31. ใช้เป็นส่วนประกอบในพิกัดยาไทย ได้แก่ ตำรับยา "พิกัดตรีธาตุ" ซึ่งประกอบไปด้วย กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ธาตุพิการ แก้ไข้ แก้ลม แก้เสมหะ และยังจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดตรีทุราวสา" อันประกอบไปด้วย ผลกระวาน ผลราชดัด ผลโหระพาเทศ ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลม แก้เสมหะ แก้พิษตานซาง และช่วยบำรุงน้ำดี

ประโยชน์ของกระวาน

  1. เหง้าอ่อนของกระวานใช้รับประทานเป็นผักได้ ให้กลิ่นหอมและมีรสเผ็ดเล็กน้อย
  2. ผลแก่ของกระวานนำมาตากแห้ง สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหารได้อย่างปลอดภัย
  3. เมล็ดมีกลิ่นหอม ใช้สำหรับแต่งกลิ่นขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้ และยังช่วยแต่งกลิ่นและดับกลิ่นคาวของอาหารประเภทเนื้อสัตว์ได้อีกด้วย
  4. กระวานไทยสามารถนำมาใช้ทดแทนกระวานเทศได้
  5. มีการนำผลกระวานมาแปรรูปทำเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยการกลั่นด้วยไอน้ำ โดยน้ำมันกระวานสามารถนำไปแต่งกลิ่นเหล้า หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมไปถึงยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมอีกด้วย
  6. กระวานเป็นเครื่องเทศส่งออกของประเทศไทยที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละนับล้านบาท

 

กระทือ

สรรพคุณและประโยชน์ของกระทือ

กระทือ ชื่อสามัญ Shampoo ginger, Wild ginger

กระทือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber zerumbet (L.) Roscoe ex Sm. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

สมุนไพรกระทือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน), กระทือป่ากะแวน กะแอน แสมดำ เฮียวดำ แฮวดำ (ภาคเหนือ), ทือ กะทือ เป็นต้น

ลักษณะของกระทือ

  • ต้นกระทือ เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ต่อมาภายหลังได้แพร่กระจายมายังทวีปเอเชียรวมถึงประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นอยู่เหนือดินสูงราว 0.9-1.5 เมตร และมีเหง้าอยู่ใต้ดินเรียกว่า "เหง้ากระทือ" หรือ "หัวกระทือ" เปลือกนอกของเหง้ามีสีน้ำตาลแกมเหลือง ส่วนเนื้อในมีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม มีรสขม ขื่น ปร่า และเผ็ดเล็กน้อย ต้นจะโทรมในหน้าแล้งแล้วจะงอกขึ้นใหม่ในหน้าฝน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าหรือที่เรียกว่าหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ในที่ที่มีความชื้นพอสมควร และมีแสงแดดส่องตลอดวัน พบขึ้นมากทางภาคใต้ ตามป่าดงดิบ ริมลำธารหรือชายป่า

ต้นกระทือ

รูปกระทือ

  • ใบกระทือ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ใบสีเขียวเข้ม ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบและแผ่นใบเรียบ ด้านล่างของใบมักมีขนนุ่ม ใบกว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ที่ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น
  • ดอกกระทือ ออกดอกเป็นช่อแทงออกมาจากเหง้าขึ้นมา (รูปแรกด้านบนสุด) ลักษณะของช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีกลีบดอกสีขาวนวลออกเหลือง (รูปที่ 1 ด้านล่าง) มีใบประดับขนาดใหญ่สีเขียวแกมแดงเรียงซ้อนกันหนาแน่นและเป็นระเบียบ (รูปที่ 2 ด้านล่าง) โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกจะบานไม่พร้อมกัน

กลีบดอกกระทือ

  • ผลกระทือ ผลมีลักษณะเป็นเมล็ดสีดำ ผลค่อนข้างกลม ผลแห้งแตก ติดอยู่ในประดับ และมีเนื้อสีขาวบางหุ้มเมล็ดอยู่

สรรพคุณของกระทือ

  1. ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (เหง้า)
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)
  3. ช่วยขับน้ำย่อย ช่วยให้เจริญอาหาร (เหง้า)
  4. ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร ทำให้สามารถรับประทานอาหารมีรสได้ (ต้น)
  5. ช่วยแก้โรคผอมแห้ง ผอมเหลือง (ดอก)
  6. ช่วยขับเลือดเน่าร้ายในเรือนไฟ (ใบ)
  7. แก้เบาเป็นโลหิต (ใบ)
  8. มีการใช้เหง้ากระทือในตำรับยา "พิกัดตรีผลธาตุ" ซึ่งประกอบไปด้วย เหง้ากระทือ เหง้าไพล หัวตะไคร้หอม โดยตำรับยานี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุไฟ แก้ไข้ตัวร้อน และช่วยแก้เลือดกำเดาไหล (เหง้า)
  9. ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (เหง้า)
  10. กระทือมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ต้น)
  1. ช่วยแก้ไข้เรื้อรัง (ดอก)
  2. ช่วยแก้ไข้ต่าง ๆ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ตัวเย็นที่รู้สึกร้อนภายใน (ราก)
  3. ช่วยแก้เสมหะเป็นพิษ (เหง้า)
  4. ดอกช่วยแก้ลม (ดอก)
  5. ช่วยแก้บิด บิดป่วงเบ่ง แก้อาการปวดท้อง อาการปวดมวนในท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง และช่วยขับผายลมในลำไส้ ด้วยการใช้หัวกระทือหรือเหง้ากระทือสด ประมาณ 20 กรัม (ขนาดเท่าหัวแม่มือ 2 หัว) นำมาย่างไฟพอสุก แล้วนำมาตำเข้ากับน้ำปูนใสครึ่งแก้ว คั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเมื่อมีอาการ (เหง้า)
  6. ช่วยกล่อมอาจมหรืออุจจาระ ใช้สูตรเดียวกันกับแก้บิด (เหง้า)
  7. เหง้าหรือหัวกระทือประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) ที่ประกอบไปด้วยสาร Methyl-gingerol, Zingerone, และ Citral ซึ่งมีฤทธิ์ในการขับลมได้และไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร (เหง้า)
  8. เหง้าช่วยขับปัสสาวะ (เหง้า)
  9. เหง้ากระทือมีสรรพคุณช่วยแก้ฝี (เหง้า)
  10. ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้หัวกระทือนำมาฝนแล้วใช้ทาบริเวณที่มีอาการเคล็ด (เหง้า, ราก)
  11. ช่วยบำรุงและขับน้ำนมของสตรี (เหง้า)

ประโยชน์ของกระทือ

  1. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพื่อความสวยงามในสถานที่ต่าง ๆ
  2. ดอกกระทือสามารถนำไปใช้ปักแจกันเพื่อความสวยงามได้
  3. กระทือเป็นพืชที่มีสารอาหารน้อย แต่สำหรับบางท้องถิ่นก็มีการใช้หัวกระทือในการประกอบอาหาร ซึ่งเนื้อในจะมีรสขมเล็กน้อย ต้องนำมาหั่นแล้วขยำกับน้ำเกลือนาน ๆ ก่อนนำมารับประทาน โดยทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน มีการใช้เหง้าไปแกงกับปลาย่างเพื่อใช้รับประทาน
  4. ในจังหวัดกาญจนบุรีมีการนำดอกแห้งของกระทือและเหง้ากระทือมาใช้รับประทานเป็นผักหรือใส่ในน้ำพริกรับประทาน
  5. หน่ออ่อนหรือต้นอ่อนกระทือสามารถนำมาทำแกงเผ็ด แกงไตปลา หรือนำไปต้มจิ้มกินกับน้ำพริกได้
  6. สารสกัดจากกระทือด้วยเมทิลแอลกอฮอล์ สามารถนำมาใช้ป้องกันและกำจัดเหาได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้ผลดีกว่าขมิ้นชัน ขิง และไพล