• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

เพชรสังฆาต

เพชรสังฆาต สรรพคุณและประโยชน์ของเพชรสังฆาต 11 ข้อ 

เพชรสังฆาต

 

เพชรสังฆาต ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissus quadrangularis L. จัดอยู่ในวงศ์องุ่น (VITACEAE)

สมุนไพรเพชรสังฆาต มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สันชะควด (กรุงเทพ), ขั่นข้อ (ราชบุรี), สามร้อยต่อ (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น

ลักษณะของเพชรสังฆาต

  • ต้นเพชรสังฆาต เป็นไม้เถา เถาอ่อนสีเขียวเป็นสี่เหลี่ยมเป็นข้อต่อกัน

เพชรสังฆาต สรรพคุณ

  • ใบเพชรสังฆาต ใบเป็นใบเดี่ยวรูปสามเหลี่ยม แผ่นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน ออกเรียงสลับตามข้อต้น ปลายใบมน โคนใบเว้า ขอบใบหยักมนห่าง ๆ ก้านยาว 2-3 เซนติเมตร
  • ดอกเพชรสังฆาต ดอกเป็นสีเขียวอ่อน ออกเป็นช่อตามข้อตรงข้ามกับใบ กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนด้านนอกสีแดง ด้านในเขียวอ่อน เมื่อดอกบานเต็มที่จะงองุ้มไปด้านล่าง ที่ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน
  • ผลเพชรสังฆาต ผลเป็นรูปทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีแดงออกดำ ในผลมีเมล็ดกลมสีน้ำตาล 1 เมล็ด โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ เถา ราก ใบยอดอ่อน และน้ำจากต้น

ประโยชน์ของเพชรสังฆาต ที่โดดเด่นก็คงหนีไม่พ้นการใช้เป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยมีงานวิจัยของ พญ. ดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์ และคณะ ได้ประเมินประสิทธิภาพของสมุนไพรเพชรสังฆาตกับผู้ป่วยที่เป็นโรคริดสีดวงทวารจำนวน 121 คน เปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันอย่างดาฟลอน (Daflon) โดยผลการวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนของการประเมินผลของสมุนไพรเพชรสังฆาตกับยาดาฟลอนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และที่สำคัญยังพบว่าค่าใช้จ่ายของยาแคปซูลเพชรสังฆาตถูกกว่ายาดาฟลอนถึง 20 เท่าอีกด้วย ผลการวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าแคปซูลเพชรสังฆาตสามารถใช้ทดแทนยาดาฟลอนในการรักษาโรคริดสีดวงทวารได้เป็นอย่างดี

แต่สรรพคุณในการรักษาริดสีดวงของสมุนไพรเพชรสังฆาตใช่ว่าจะรักษาริดสีดวงได้หายขาดเสมอไป การจะหายช้าหรือเร็วก็ยังขึ้นอยู่กับอาการว่าเป็นมากหรือน้อยแค่ไหนด้วย รวมไปถึงนิสัยการรับประทานอาหาร การดูแลตัวเองด้วยว่าคุณหมั่นรับประทานผักหรืออาหารที่มีเส้นใยมากน้อยแค่ไหน และสำหรับผู้ที่เป็นมากในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเพชรสังฆาตหรือยาดาฟลอนก็ช่วยแค่บรรเทาอาการของโรคเท่านั้น ต้องผ่าตัดอย่างเดียว

สรรพคุณของเพชรสังฆาต

  1. เพชรสังฆาตใช้ปรุงเป็นยาธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร (น้ำจากต้น)
  2. น้ำจากต้นเพชรสังฆาตใช้หยอดหู แก้น้ำหนวกไหล (น้ำจากต้น)
  3. น้ำจากต้นเพชรสังฆาตใช้หยอดจมูก แก้เลือดเสียในสตรี ประจำเดือนไม่ปกติ (น้ำจากต้น)
  4. ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (ต้น)
  5. ใช้เถาเพชรสังฆาตคั้นเอาน้ำมาดื่มแก้โรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟันได้ (เถา, น้ำคั้นจากต้น)
  6. ช่วยรักษาโรคลำไส้ที่เกี่ยวกับอาหารไม่ย่อย (ใบยอดอ่อน)
  7. เพชรสังฆาตมีสรรพคุณช่วยขับลมในลำไส้ (เถา)
  8. แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ (เถา, น้ำคันจากต้น)
  9. แก้กระดูกแตก หัก ซ้น (เถา)
  10. ใช้เป็นยาพอกเมื่อกระดูกหัก (ใบ, ราก)
  11. ใช้เป็นยารักษาริดสีดวง

ด้วยการใช้เถาเพชรสังฆาตสด ๆ ประมาณ 2-3 องคุลีต่อหนึ่งมื้ออาหาร นำมารับประทานด้วยการสอดไส้ในกล้วยสุก หรือมะขามเปียก หรือใบผักกาดดองแล้วกลืนลงไป ห้ามเคี้ยว เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้จะมีผลึก Calcium Oxalate รูปเข็มเป็นจำนวนมาก การรับประทานสด ๆ อาจทำเกิดอาหารคันในปาก ระคายต่อเยื่อบุในปากและในลำคอได้ และการรับประทานจะใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 วัน อาการของโรคริดสีดวงก็จะดีขึ้น (เถา)
หรือจะใช้เถาแห้งนำมาบดเป็นผง ใส่แคปซูลเบอร์ 2 ขนาด 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้งก่อนอาหารและช่วงก่อนนอน รับประทานไปสัก 1 อาทิตย์ก็จะเห็นผล (เถา)

อบเชยเทศ

อบเชยเทศ ประโยชน์และสรรพคุณของอบเชยเทศ

อบเชย หรือ อบเชยเทศ (Cinnamon, Cassia) เป็นพืชสมุนไพรประเภทต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคกลางเรียกมหาปราบ หรืออบเชยต้น ส่วนจังหวัดยะลาเรียก เจียดกระทังหัน หรือกระเจียด และจังหวัดกาญจนบุรีเรียก กระดังงา เป็นต้น จัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณเป็นยา มีหลากหลายสายพันธุ์ โดยในประเทศไทยบ้านเรามีอบเชยอยู่ด้วยกันมากกว่าถึง 16 ชนิดด้วยกันเลยทีเดียว

ลักษณะทั่วไปของอบเชยเทศ
สำหรับอบเชยเทศนั้นจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลางโดยไม่ผลัดใบ โดยบริเวณเปลือกของลำต้นนั้นจะค่อนข้างหนามีสีเทา ซึ่งกิ่งนั้นจะตั้งชันขึ้นและขนานกับพื้น ส่วนใบนั้นจะมีรูปทรงไข่ออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับกันอยู่ บริเวณโคนและปลายใบแหลม ขอบเรียบ ส่วนดอกนั้นจะมีสีเหลืองขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่ออยู่ตามบริเวณปลายกิ่ง และผลของอบเชยเทศนั้นจะมีรูปทรงไข่สีดำ เปลือกเรียบบาง จัดเป็นพืชที่มีราคาแพง

อบเชยเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณของอบเชยเทศ
ราก – ช่วยปลุกธาตุให้เจริญ ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ รวมทั้งช่วยแก้พิษร้อน และแก้ไข้สันนิบาต ให้รสหอมสุขุม
เปลือกต้น – ช่วยปลุกธาตุให้เจริญ แก้ไข้สั้นนิบาต ตลอดจนช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยขับผายลม และแก้ลมอัณฑพฤกษ์ ให้รสเผ็ดหวาน

อบเชยเทศ

ซึ่งอบเชยเทศนี้จัดเป็นพืชสมุนไพรที่เป็นเครื่องเทศที่มีเอกลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะตัว โดยเฉพาะกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ จัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์อย่างมากเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด หรืออุจจาระแข็ง รวมทั้งเป็นโรคริดสีดวงทวาร หรือเป็นไข้ตัวร้อนอยู่ และในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ควรงดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานพืชสมุนไพรชนิดนี้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตับหรือไต และเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนขึ้นได้นั่นเอง

สรรพคุณของอบเชยเทศ

  1. เปลือกต้นและเนื้อไม้ มีรสเผ็ด หวานชุ่ม มีกลิ่นหอม เป็นยาร้อนออกฤทธิ์ต่อไต ม้าม และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยกระจายความเย็นในร่างกาย ทำให้เลือดหมุนเวียนดี (เปลือกต้นและเนื้อไม้)
  2. เปลือกต้นใช้ปรุงผสมเป็นยาหอมและยานัตถุ์ ทำให้สดชื่น แก้ปวดศีรษะ แก้อาการอ่อนเพลีย (เปลือกต้น)
  3. ช่วยบำรุงดวงจิต บำรุงธาตุ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย (เปลือกต้น) ส่วนใบอบเชยต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ และบำรุงกำลัง (ใบอบเชยไทย)
  4. รากอบเชยเทศ มีสรรพคุณช่วยปลุกธาตุให้เจริญ แก้พิษร้อน ส่วนเปลือกต้นอบเชยเทศมีสรรพคุณปลุกธาตุอันดับให้เจริญ (เปลือกต้นอบเชยเทศ,รากอบเชยเทศ)
  5. อบเชยจีนมีรสเผ็ดอมหวาน มีฤทธิ์ร้อน ช่วยบำรุงธาตุไฟในระบบไต ตับ ม้าม และหัวใจ (เปลือกต้นอบเชยจีน)
  6. อบเชยสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ ด้วยการใช้ผงอบเชยที่หาซื้อได้ทั่วไปที่เป็นแท่งนำมาบด โดยให้ใช้ผงอบเชยหนัก 1 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (เปลือกต้น)
  7. ใช้ปรุงเป็นยานัตถุ์รับประทานแก้เบื่ออาหาร (เปลือกต้น) เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ และช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้นอบเชยไทย)
  8. อบเชยมีสรรพคุณช่วยทำให้ร่างกายมีความสามารถในการใช้อินซูลินเพื่อการสันดาปกลูโคสได้ดีขึ้น อบเชยสามารถลดการดื้ออินซูลินทำให้เซลล์ต่าง ๆ นำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานให้หมดไปไม่ค้างอยู่ในเลือด สมุนไพรอบเชยจึงเหมาะสมกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน ให้ใช้อบเชยวันละ 1 ช้อนชา หรือประมาณ 1,200 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งการรับประทานออกเป็น 4 มื้อ ซึ่งจะได้ผงอบเชยในปริมาณ 300 มิลลิกรัม หรือมีขนาดเท่ากับแคปซูลเบอร์ 1 แต่สำหรับผู้ไม่เป็นเบาหวานสามารถกินได้วันละ 500-600 มิลลิกรัม หรือประมาณวันละ 2 แคปซูล (เปลือกของกิ่ง)
  9. ช่วยย่อยสลายไขมัน ควบคุมระดับไขมันในเลือด และคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ให้มีระดับต่ำลง (เปลือกต้น)
  10. ช่วยต้านมะเร็ง เพราะมสารคลีเซอไรซินเข้มข้น (เปลือกต้น)
  11. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้สันนิบาต แก้อาการหวัด แก้อาการไอ (เปลือกต้น)เมล็ดนำมาทุบให้แตกผสมกับน้ำผึ้ง ให้เด็กกินเป็นยาแก้ไอ (เมล็ดอบเชยไทย)
  12. รากและใบ ใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้เนื่องจากความอักเสบของสตรีที่คลอดบุตรใหม่ ๆ (รากและใบอบเชยไทย)
  13. ช่วยแก้ไอเย็น หืดหอบเนื่องมาจากลมเย็นกระทบ (เปลือกต้นและเนื้อไม้)
  14. ตำรับยาแก้อาการไอหอบหืด ให้ใช้อบเชยจีน หู่จื้อ เจ็กเสี่ย เปลือกโบตั๋น อย่างละ 3-5 กรัม ซัวจูยู้ ซัวเอี๊ยะ หกเหล็ง อย่างละ 6 กรัม และเส็กตี่ 12 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน หรือทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)
  15. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียน (เปลือกต้น) ส่วนใบสามารถนำมาปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียนได้เช่นกัน (ใบอบเชยไทย)
  16. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เปลือกต้น)
  17. รากใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการปวดฟัน (รากอบเชยไทย)
  18. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาน้ำ แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยขับผายลม อาหารไม่ย่อย (เปลือกต้น)ส่วนใบใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้จุกเสียดแน่นท้องและลงท้อง (ใบอบเชยต้น)
  19. ช่วยแก้อาการท้องร่วง แก้ท้องเสีย แก้ท้องเสียในเด็ก แก้บิด ลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ ลำไส้อักเสบ (เปลือกต้น) เมล็ดอบเชยไทย นำมาทุบให้แตกผสมกับน้ำผึ้งให้เด็กกินเป็นยาแก้บิด (เมล็ดอบเชยไทย)
  20. เปลือกต้นใช้แทน Cinnamon เคี้ยวกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (เปลือกต้นอบเชยไทย)
  21. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (เปลือกต้น)
  22. แก้โรคกระเพาะ ปวดกระเพาะหรือถ่าย เนื่องจากลมเย็นชื้นหรือลมเย็นที่ทำให้มีอาการปวดและท้องเสีย ให้ใช้อบเชยจีน 2-3 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)
  23. ยาชงจากเปลือกต้น ใช้กินเป็นยาถ่าย (เปลือกต้นอบเชยไทย)
  24. ช่วยขับพยาธิ (เปลือกต้น)
  25. ช่วยขับปัสสาวะ (เปลือกต้น)
  26. ช่วยแก้ไตหย่อน ปัสสาวะไม่รู้ตัว หรือปัสสาวะบ่อย ให้ใช้อบเชยจีน หู่จื้อ เจ็กเสี่ย เปลือกโบตั๋น อย่างละ 3-5 กรัม ซัวจูยู้ ซัวเอี๊ยะ หกเหล็ง อย่างละ 6 กรัม และเส็กตี่ 12 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน หรือทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)
  27. เปลือกนำมาต้มหรือทำเป็นผง ใช้แก้โรคหนองในและแก้โทษน้ำคาวปลา (เปลือกต้นอบเชยไทย)
  28. เปลือกต้นนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยรักษาแผลกามโรค (เปลือกต้น)
  29. ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (เปลือกต้น)
  30. รากนำมาต้มให้สตรีกินหลังการคลอดบุตร และลดไข้หลังการผ่าตัด (รากอบเชยไทย)
  31. น้ำต้มเปลือกต้นใช้ดื่มเป็นยาแก้ตับอักเสบ (เปลือกต้น)
  32. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาห้ามเลือด ช่วยสมานแผล (เปลือกต้น)
  33. ใบอบเชยเทศมีสรรพคุณเป็นยาฆ่าเชื้อ (ใบอบเชยเทศ)
  34. น้ำมันอบเชยเทศมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อรา แต่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง (เข้าใจว่าคือน้ำมันจากเปลือกต้น)
  35. น้ำยางจากใบใช้เป็นยาทาแผลถอนพิษของยางน่อง (ใบอบเชยไทย)
  36. ใบใช้ตำเป็นยาพอกแก้อาการปวดรูมาติสซั่ม (ใบอบเชยไทย)
  37. ช่วยแก้อาการปวด แก้ปวดหลัง ปวดเอวเนื่องจากไตหย่อน ไม่มีกำลัง แก้ปวดตามข้อ ปวดตามบ่าหรือไหล่ (เปลือกต้นและเนื้อไม้)
  38. คนเมืองจะใช้รากอบเชยไทย นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว (รากอบเชยไทย)
  39. ช่วยแก้ลมอัณฑพฤกษ์ (เปลือกต้น)
  40. รากมีรสหอมสุขุม มีสรรพคุณช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (รากอบเชยเทศ)
  41. อบเชยจัดอยู่ในพิกัดยาไทยร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ หลายตำรับ ได้แก่ พิกัดตรีธาตุ (เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้ไข้ แก้เสมหะ), พิกัดตรีทิพย์รส (เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ), พิกัดจตุวาตะผล(เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้พรรดึก ขับผายลม แก้ลมกองริดสีดวง แก้ตรีสมุฏฐาน), พิกัดทศกุลาผล (เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้เสมหะ บำรุงปอด ขับลมในลำไส้ แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต) เป็นต้น

 

ตะไคร้หอม

ตะไคร้หอม สรรพคุณ และการปลูกตะไคร้หอม

ตะไคร้หอม จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับตะไคร้บ้าน แต่มีกลิ่นหอมฉุนที่แรงกว่า นิยมนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ต้มน้ำดื่ม ทำธูป และใช้ในการป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูพืช

 ตะไคร้หอม (Citronella grass) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในวงศ์ Gramineae พันธุ์ที่นิยมปลูกมากเพื่อการผลิตน้ำมันหอมระเหย มีอยู่ 2 ชนิด คือ พันธุ์ Cymbopogonnardus Lin. มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ตะไคมะขูด ตะไคร้มะขูด (ภาคเหนือ) หรือตะไคร้แดง (นครศรีธรรมราช) ส่วนอีกชนิดคือพันธุ์ Cymbopogonwinterianus Jowitt ปลูกมากบริเวณเกาะชวา มีชื่อพื้นเมืองว่า Mahapengiri ซึ่งต่อมาได้กระจายออกไปหลายแห่ง เช่น เกาะไต้หวัน เกาะไฮติ และเป็นชนิดที่ปลูกมากในประเทศไทย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
• ลำต้น
ตะไคร้หอมเป็นพืชล้มลุก อายุประมาณได้นาน 6-8 ปี เป็นพืชที่มีกลิ่นหอม เจริญเติบโตด้วยการแตกหน่อ หรือแตกเหง้า มีทรงพุ่มเป็นกอคล้ายตะไคร้บ้าน มีลำต้นยื่นจากเหง้าสั้น รูปทรงกระบอก ผิวเรียบเกลี้ยง ส่วนเหนือดินสูงได้ตั้งแต่ 1-2 เมตร

ตะไคร้หอม

• ใบ 
ใบเป็นใบเดี่ยว ขนาดใหญ่ ยาว แต่บางกว่าตะไคร้บ้าน ใบเรียวยาว กว้าง 1.5-2.6 เซนติเมตร ยาว 60-115 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักถี่ คมแข็ง มีผิวใบสาก ไม่มีขน บริเวณโคนใบด้านในมีขน ปลายใบยาวมีลักษณะโน้มลง ใบมีสีเขียวแกมเหลือง กาบใบเป็นส่วนหุ้มที่มองเป็นลำต้นเทียม มีสีเขีนวแกมแดงหรือสีม่วง ซึ่งต่างจากตะไคร้บ้านที่มีสีขาวอมเขียว

ต้นตะไคร้หอม

• ดอก และเมล็ด
ดอกออกในฤดูหนาว ออกเป็นช่อยาวขนาดใหญ่ เป็นแบบแยก แขนงขนาดใหญ่ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร แกนก้านช่อยาวโค้งหักไปหักมา ช่อดอกย่อยเป็นแบบกระจับหรือแบบเชิงลด ดอกประกอบด้วยดอกสมบูรณ์เพศ กาบล่างมี 2 หยัก สีใส รยางค์แข็งยาว (ถ้ามีรยางค์) ไม่มีกาบบน กลับเกล็ดมี 2 กลับ เกสรเพศผู้มี 3 อัน เกสรเพศเมียมี 2 อัน ยอดเกสรปกคลุมด้วยขนยาวนุ่ม ก้านย่อยรูปรี เป็นดอกเพศผู้หรือดอกเป็นหมัน กาบช่อย่อยข้างล่าง มีเส้น 7-9 เส้น  ดอกย่อยจริงมีเกล็ด 1 เกล็ด ยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร มีสีใส ล้อมเกสรเพศผู้ไว้ 3 อัน และมีกลีบเกล็ด 2 กลีบ ผลเป็นแบบผลแห้งติดเมล็ด รูปทรงกระบอกออกกลม และมีขั้วที่ฐาน

น้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอม
น้ำมันหอมระเหย (volatile oil) เป็นสารอินทรีย์ที่พืชสังเคราะห์ขึ้น มีกลิ่น และรสเฉพาะตัว ถูกสร้างไว้ในเซลล์พิเศษ ผนังเซลล์ ต่อมหรือท่อภายในพืช น้ำมันหอมระเหยเกิดขึ้นจากกระบวนการเมทาบอลิซึมระดับทุติยภูมิ (secondary metabolite) แต่เป็นสารที่ไม่ได้ทำหน้าที่ต่อการเจริญเติบโต เป็นสารที่พบในพืชบางชนิด  สารตั้งต้นในกระบวนการผลิตน้ำมันหอมระเหย เป็นสารที่ได้จากปฏิกิริยาเมแทบอลิซึมระดับปฐมภูมิ (primary metabolite) แตกต่างกันที่มีเอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของการผลิตน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด

พืชที่ผลิตน้ำมันหอมระเหยได้จะสังเคราะห์ จัดเก็บ และปลดปล่อยกลิ่นน้ำมันหอมระเหยแตกต่างกัน สำหรับตะไคร้หอม เป็นพืชที่สร้างน้ำมันหอมระเหยจากเซลล์ขนขนาดเล็ก (microhairs) ที่อยู่บริเวณเนื้อเยื่อถาวร abaxial epidermis ของใบ

การสร้างน้ำมันหอมระเหย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. สารประกอบกลุ่มเทอร์พีนอยด์ (terprenoids)
สารประกอบกลุ่มเทอร์พีนอยด์ เป็นสารสารประกอบอินทรีย์ มีโครงสร้างเป็นเส้นตรงหรือวงแหวน ประกอบด้วยไอโซพรีน (isoprene) ตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไป เรียกว่า เทอร์พรีนไฮโดรคาร์บอน (terprenehydroocarbon) สารไอโซพรีนที่สำคัญเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารเทอร์พีนอยด์ คือ ไอโซพรีนไพโรฟอสเฟต (isoprene pyrophosphate: IPP) และไดเมทธิลอาลลิลไพโรฟอสเฟต (dimetyllalyl pyrophosphate: DMAPP) สารประกอบเทอร์พีนอยด์ที่สังเคราะห์ได้ คือ monoterpenes มีคาร์บอน 10 อะตอม, diterpenes มีคาร์บอน 20 อะตอม, triterpenes มีคาร์บอน 30 อะตอม และ tetraterpenes มีคาร์บอน 40 อะตอม

น้ำมันตะไคร้หอม

สารสำคัญของตะไคร้หอมของสารคือ monoterpenes ที่มีคาร์บอน 10 อะตอม ประกอบด้วยสารสำคัญหลัก 3 ชนิด คือ citronellal, geraniol และ citronellol เป็นสารที่เกิดจากกระบวนการ terpenoidderivertive โดยมีไอโซพรีนไพโรฟอสเฟต และไดเมทธิลอาลลิลไพโรฟอสเฟต เป็นสารตั้งต้นของการสังเคราะห์ เมื่อพิจารณรองค์ประกอบโครงสร้างของ citronellal มีแอลดีไฮด์เป็นองค์ประกอบหลัก (aldehyde volatile oils) ส่วน geraniol และ citronellol มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบหลัก (alchol volatile oils)

การใช้ประโยชน์จากตะไคร้หอม
การใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์
ตะไคร้หอมเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีน้ำมันหอมระเหยสูงกว่าตะไคร้บ้าน พบในส่วนใบ กาบใบ และลำต้น มีสรรพคุณทางยา ใช้แก้ริดสีดวงในปาก ปากแตกระแหง แผลในปาก ขับลมในกระเพราะ ลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

การใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมคุณสมบัติป้องกันตัวเต็มวัยและสามารถฆ่าไข่ของด้วงถั่วเขียว (Callosobruchus maculates)ซึ่งเป็นแมงลงในโรงเก็บเข้าทำลายเมล็ดถั่วเขียวที่เก็บ โดยใช้ citronellal ความเข้มข้นร้อยละ 5 ตั้งทิ้งไว้ในดรงเก็บเมล็ดเป็นเวลา 3 ชั่วโมงสามารถออกฤทธิ์ไล่ตัวเต็มวัยและไข่ของด้วงถั่วเขียวได้

มีการทดลองใช้สารสกัดจากตะไคร้หอมยับยั้งเพลี้ยที่เข้าทำลายต้นยี่หร่าฝรั่งได้โดยใช้ citronellal เข้มข้นร้อยละ 1.0 ฉีดพ่นยี่หร่าฝรั่ง และมีการนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อรา Aspergillusflavus และการผลิต aflatoxin พบว่า citronellal ซึ่งเป็นองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม สามารถยับยั้งการผลิต aflatoxin โดยใช้ความเข้มข้นร้อยละ 1.0

สรรพคุณตะไคร้หอม
– ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
– ช่วยในการย่อยอาหาร และเจริญอาหาร
– ช่วยป้องกัน และรักษาโรคในช่องปาก ยังยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัสบางชนิด

ข้อควรระวัง
น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์บีบรัดมดลูก สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน อาจทำให้แท้งได้

การปลูกตะไคร้หอม
ตะไคร้หอมมีในประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว กาญจนบุรี อุบลราชธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ ราชบุรี และชลบุรี โดยเฉพาะจังหวัดสระแก้วที่ปลูกกันมาก พันธุ์ที่นิยมปลูก คือ พันธุ์ C. winterianus J. เนื่องจากมีช่อดอกยาว โน้มต่ำลง มีลำต้น และใบที่ยาว มีกลิ่นแรง และน้ำมันหอมระเหยที่ได้มีคุณภาพดีกว่าพันธุ์ C. nardus L. ที่มีช่อดอกตรง และสั้น นิยมปลูกกันมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

เหง้าตะไคร้หอม

ตะไคร้หอมเป็นพืชที่มีอายุหลายปี ชอบแสงแดดจัด ทำให้เจริญเติบโต และสร้างน้ำมันหอมระเหยเร็ว เป็นพืชที่มีรากฝอยมาก สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ดินที่เหมาะสม ได้แก่ ดินร่วน ดินร่วนปนทราย ที่มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง  ส่วนดินเหนียวจัดหรือทรายจัด การเจริญเติบโตจะช้า ค่า pH ที่เหมาะสมในช่วง 6-7

การเตรียมดิน เตรียมแปลง
เตรียมดินหรือแปลงปลูก ด้วยการไถตากดินก่อนปลูกประมาณ 7 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช โรค และแมลงในดิน หลังจากนั้น ไถพรวนดินให้ร่วน และไถยกร่อง ให้มีระยะห่างระหว่างแถว 1-1.5 เมตร ขุดหลุมขนาดประมาณ 15 x 15 x 15 เซนติเมตร โดยมีระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 1-1.5 เมตร หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตราปุ๋ยคอก 3-5 กำมือ/หลุม ปุ๋ยเคมี ครึ่งกำมือ/หลุม

การเตรียมท่อนพันธุ์
ท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรเป็นสายพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมฉุน ลำต้นใหญ่ ใบยาว โดยขุดเหง้าจากกอที่มีอายุตั้งแต่ 8 เดือน ขึ้นไป นำมาตัดส่วนใบออกให้เหลือเฉพาะกาบใบหรือลำต้น ให้มีข้ออยู่ประมาณ 2-3 ข้อ มีกาบใบหุ้มข้ออยู่ 4-5 ใบ ทั้งนี้ การขุดเหง้าต้องขุดให้มีส่วนรากติดมาด้วย และระวังการหักของโคนเหง้า

การปลูก
นำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูก หลุมละประมาณ 1-2 ต้น โดยปักให้เอียง 45 องศา หลังจากปลูกประมาณ 20-50 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 และ 16-20-0 และเมื่อตะไคร้หอมเริ่มจะมีการแตกกอในช่วงตั้งแต่ 120 -150 วัน อัตราการใช้ปุ๋ยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน

การให้น้ำ
การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทำให้ตะไคร้หอมแตกกอเร็วขึ้น และสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดปี และตลอดระยะเวลาในการเจริญเติบโต ตะไคร้หอมเป็นพืชที่ทนต่อโรค แมลง และทนแล้งได้ดี ซึ่งง่ายต่อการดูแล

การเก็บผลผลิต
สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากปลูกประมาณ 6-8 เดือน มีอายุการให้ผลผลิตยาวประมาณ 5-6 ปี แต่ปริมาณการให้น้ำมันหอมระเหยสูงสุดอยู่ในปีที่ 2 หรือ 3 เท่านั้น หลังจากนั้นปริมาณน้ำมันหอมระเหยจะลดลง การปลูกใหม่จึงควรดำเนินการปลูกในปีที่ 3 หรือ 4 การเก็บเกี่ยวจะตัดส่วนใบเหนือพื้นดิน 25-30 เซนติเมตร เพื่อให้ต้นที่เหลือสามารถแตกใบใหม่ได้เร็วขึ้น การเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งควรเว้นระยะห่างประมาณ 3 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละ 2-3 ครั้ง

 

สีเสียด

สีเสียด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสีเสียดเหนือ 23 ข้อ 

สีเสียดเหนือ

สีเสียดเหนือ ชื่อสามัญ Catechu tree, Cutch tree, Cutch, Black Catechu

 สีเสียดเหนือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia catechu (L.f.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

สมุนไพรสีเสียดเหนือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สีเสียดเหลือง (เชียงใหม่), สีเสียดแก่น (ราชบุรี), สีเสียด ขี้เสียด (ภาคเหนือ), สีเสียดเหนือ (ภาคกลาง), สะเจ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), สีเสียดลาว (ลาว), สีเสียดหลวง, สีเสียดไทย เป็นต้น

ข้อควรรู้ : ต้นสีเสียดเหนือเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดกำแพงเพชร

ลักษณะของสีเสียดเหนือ

  • ต้นสีเสียดเหนือ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศอินเดียตะวันตกของปากีสถานจนถึงพม่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมดำหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นสะเก็ดตามยาว ผิวเปลือกค่อนข้างขรุขระ และสามารถลอกเปลือกผิวออกมาได้เป็นแผ่น ๆ เปลือกข้างในเป็นสีแดง ตามกิ่งก้านมีหนามเล็ก ๆ เป็นคู่ขึ้นอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ทนต่อแสงแดดและความแห้งแล้งได้ดี สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกสภาพ ขึ้นได้ดีในที่แห้งแล้งและภูเขาหิน แต่ต้องการน้ำและความชื้นในระดับปานกลาง ไม่ชอบน้ำขัง พบขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่งทางภาคเหนือ และป่าละเมาะบนพื้นที่ราบและที่แห้งแล้งทั่วไป

ต้นสีเสียด

ต้นสีเสียดเหนือ

ใบสีเสียดเหนือ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ยาวประมาณ 9-17 เซนติเมตร ใบย่อยมีจำนวนมากและมีขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกันมีอยู่ประมาณ 20-50 คู่ เรียงชิดซ้อนทับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว มีขนขึ้นประปราย หลังใบและท้องใบเรียบ ไม่มีก้าน

ใบสีเสียด

ดอกสีเสียดเหนือ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้บริเวณปลายยอด ช่อดอกยาวได้ประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมากอัดกันแน่น รวมกันเป็นช่อยาวคล้ายหางกระรอก ก้านช่อมีขน ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีขาวอมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ลักษณะเป็นพู่ รูปทรงกระบอกตรง ไม่มีกลีบดอก กลีบรองดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวนวล มีกลีบ 5 กลีบ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ติดกันที่ฐาน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรไม่ติดกัน เกสรเป็นเส้นเล็ก ๆ สีขาว โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

ดอกสีเสียด

  • ผลสีเสียดเหนือ ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว รูปบรรทัด กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนปลายและส่วนโคนฝักเรียวแหลม ตัวฝักตรง ผิวฝักเรียบเป็นมัน ซึ่งเมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีน้ำตาลดำ เมื่อฝักแก่จะแห้งและแตกอ้าออกตามด้านข้าง มองเห็นเมล็ดภายในซึ่งมีประมาณ 3-7 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กสีน้ำตาลเป็นมัน ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปแบน (เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ด จะมีน้ำหนักประมาณ 65 กรัม)โดยจะออกผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม

สีเสียดลาว

  • ก้อนสีเสียด (บ้างเรียกว่า "สีเสียดลาว", "สีเสียดไทย") คือ ยางที่ได้จากต้นสีเสียดที่ถูกนำมาเคี่ยวจนงวดเป็นก้อนสีดำ หรือแก่นสีเสียดที่ถูกนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ กับน้ำ กรองเคี่ยวต่อจะได้ยางสีน้ำตาลดำ มีลักษณะเหนียว แล้วนำมาปั้นเป็นก้อน ทิ้งไว้จนแห้งแข็งเก็บไว้ใช้ ไม่มีกลิ่น มีรสขมและฝาดจัด นำมาบดหรือต้มรับประทานเป็นยา

สรรพคุณของสีเสียดเหนือ

  1. เปลือกต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ปรุงเป็นยาแก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น) ใช้เป็นยาบำรุงธาตุและแก้อติสาร (ก้อนสีเสียด)
  2. ก้อนสีเสียดและเปลือกต้นสีเสียด มีสรรพคุณช่วยปิดธาตุ คุมธาตุ แก้อาการลงแดง (เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด)
  3. ใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่น แก้อาการไอ (ก้อนสีเสียด)
  4. ช่วยแก้ปากเป็นแผล ช่วยห้ามเลือดที่ออกจากจมูก รวมถึงอาการเจ็บที่มีเลือดออก (ก้อนสีเสียด)
  5. ใช้รักษาเหงือก ลิ้น และฟัน และช่วยรักษาแผลในลำคอ (ก้อนสีเสียด)
  6. ใช้เป็นยาแก้ท้องเดิน ด้วยการใช้ก้อนสีเสียดนำมาบดให้เป็นผงประมาณ 1/3-1/2 ช้อนชา (ประมาณ 0.3-1.0 กรัม) แล้วต้มเอาน้ำดื่มให้หมดใน 1 ครั้ง โดยให้ดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณแก้ท้องเดินได้เช่นเดียวกัน (ก้อนสีเสียด, เปลือกต้น) หรือจะใช้ผงสีเสียดผสมกับผงอบเชย อย่างละเท่ากัน ถ้าท้องเดินมากให้ใช้ 1 กรัม ถ้าท้องเดินให้ใช้เพียง 1/2 กรัม แล้วนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้รับประทานครั้งละ 4 ช้อนแกง หรือประมาณ 30 มิลลิเมตร วันละ 3 ครั้ง (ผงสีเสียด)
  7. ช่วยแก้อาการท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ (ก้อนสีเสียด)
  8. แก่นมีฤทธิ์ฝาดสมานเนื่องจากมีสารแทนนิน ตำรายาไทยจะใช้กินเป็นยาแก้ท้องร่วง (แก่น, เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด)] ส่วนเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วงอย่างแรง (เปลือกต้น)
  9. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด หรือใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น)ส่วนสีเสียดมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิดมูกเลือด (ก้อนสีเสียด)
  10. ใช้รักษาริดสีดวง (ก้อนสีเสียด)
  11. ใช้เป็นยาห้ามเลือด ด้วยการใช้ผงสีเสียดนำมาละลายกับน้ำใช้ใส่แผลสด (ผงสีเสียด)
  12. แก่นใช้เป็นยารักษาบาดแผล (แก่น)เปลือกต้น มีรสฝาด เป็นยาสมานแผล และใช้เป็นยาชะล้างบาดแผล แก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง แผลหัวแตก ล้างแผลหัวนมแตก (เปลือกต้น) ก้อนสีเสียดใช้เป็นยาทาสมานบาดแผล หรือรักษาบาดแผล หรือนำมาต้มใช้ชะล้างบาดแผล ล้างแผลที่ถูกไฟไหม้ ทำให้แผลหายเร็ว (ก้อนสีเสียด)
  13. ใช้ภายนอกเป็นยารักษาโรคผิวหนัง (แก่น, ก้อนสีเสียด)
  14. เมล็ดสีเสียดที่อยู่ในฝัก นำมาฝนเป็นยาทาแก้โรคหิด (เมล็ด)
  15. เมล็ดนำมาฝนทารักษาแผลน้ำกัดเท้า (เมล็ด) หรือจะใช้ก้อนสีเสียดฝนกับน้ำให้ข้นใช้ทา หรือใช้ผงสีเสียดผสมกับน้ำมันพืชทาบริเวณแผลน้ำกัดเท่าก็ได้เช่นกัน (ก้อนสีเสียด)
  16. เปลือกต้นนำมาต้มใช้น้ำที่ต้มเป็นยาระงับเชื้อ หรือจะใช้ก้อนสีเสียดนำมาบดหรือต้มทาเป็นยาระงับเชื้อก็ได้เช่นกัน (เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด)
  17. สีเสียดใช้ใส่ปูนที่รับประทานกับหมากและพลู จะช่วยป้องกันปูนกัดปากได้ (สีเสียด)
  18. สีเสียดเหนือปรากฏอยู่ในตำรับ "ยาเหลืองปิดสมุทร" ซึ่งเป็นตำรับยารักษาอาการโรคในระบบทางเดินอาหาร (มีส่วนประกอบของสีเสียดเหนือ สีเสียดเทศ รวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ) โดยมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ (ก้อนสีเสียด)

ประโยชน์ของสีเสียดเหนือ

  1. ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้แก่นไม้สีเสียด นำมาเคี้ยวกินกับหมาก
  2. ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ประเภท วัว ควาย ทั้งต้นใช้เลี้ยงครั่ง
  3. เปลือกต้นและก้อนสีเสียดถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้าและฟอกหนังสัตว์ เนื้อไม้หรือแก่นของสีเสียดจะให้สีน้ำตาล ที่สามารถนำมาใช้ย้อมผ้า แห อวน และหนังได้ หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาย้อมสีเส้นไหม โดยการลอกเอาเฉพาะเปลือกต้นแล้วนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มสกัดสีกับน้ำ ในอัตราส่วน 1:2 (เปลือกต้นสีเสียด 15 กิโลกรัม จะย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม) โดยให้ต้มสกัดสีนาน 1 ชั่วโมง แล้วนำน้ำสีที่ได้มาย้อมเส้นไหมด้วยกรรมวิธีการย้อมร้อน จากนั้นนำเส้นไหมที่ย้อมได้มาแช่ในสารละลายสารช่วยติดสี สารส้ม และจุนสี ก็จะได้เส้นไหมสีน้ำตาล (สีที่ได้จะมีความคงทนต่อการซักและคงทนต่อแสงในระดับต่ำ)
  4. เนื้อไม้สีเสียดมีลักษณะแข็งเหนียว สีน้ำตาลแดง ไสกบตกแต่งได้ยาก สามารถนำมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ ได้ เช่น เสา คาน ตง สะพาน กงล้อเกวียน หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น ด้ามมีด ด้ามพร้า ฯลฯ และยังนำมาใช้ทำถ่านทำฟืนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงหาอาหารหรือให้ความอบอุ่นในช่วงฤดูได้ด้วย ส่วนเยื่อไม้ที่เหลือจากการสกัดเอายางออกยังสามารถนำมาใช้ทำแผ่นไม้อัดได้อีกด้วย
  5. หลายแห่งได้มีการพัฒนาและนำต้นสีเสียดเหนือมาปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านหรือประดับตามสวน ในบ้านเรามีบ้างที่ปลูกไว้เพื่อผลิตก้อนสีเสียดเป็นการค้า แต่ในอินเดียและพม่าจะปลูกเป็นสวนป่าเพื่อการค้าเป็นหลัก