• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

มะขวิด

มะขวิด สรรพคุณและประโยชน์ของมะขวิด

ลูกมะขวิด

มะขวิด

มะขวิด ภาษาอังกฤษ Limonia, Curd fruit, Elephant apple, Gelingga, kavath, Monkey fruit, Wood apple

มะขวิด ชื่อวิทยาศาสตร์ Feronia limonia (L.) Swingle (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Limonia pinnatifolia Houtt.)ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Limonia acidissima Groff (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Schinus limonia L.) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย AURANTIOIDEAE

สมุนไพรมะขวิด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะยม (ภาคอีสาน), มะฝิด (ภาคเหนือ) เป็นต้น

ลักษณะของมะขวิด

  • ต้นมะขวิด มีแหล่งกำเนิดในประเทศอินเดีย พม่า ศรีลังกา และอินโดจีน ปลูกทั่วไปในบริเวณหมู่บ้านและสวน แล้วแพร่กระจายไปตามธรรมชาติ ในประเทศมาเลเซียและเกาะชวากับเกาะบาลี อินโดนีเซีย และมีการนำไปปลูกในแคลิฟอร์เนียและฟลอริดาเพื่อใช้ในการศึกษา[3] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เซนติเมตร เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบไว รูปทรงของต้นสวยงาม ลักษณะเป็นทรงเรือนยอดพุ่มกลม เปลือกลำต้นภายนอกมีสีเทา ส่วนภายในมีสีขาว เป็นต้นไม้ที่มีความทนต่อสภาพดินและภูมิอากาศต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ชอบขึ้นในเขตมรสุมหรือในเขตร้อนที่มีอากาศแห้งแล้งเป็นบางช่วง

ต้นมะขวิด

ใบมะขวิด ใบออกเป็นช่อแบบข้อต่อเรียงสลับหรือติดกันเป็นกระจุกในบริเวณปุ่มตามกิ่งต่าง ๆ ช่อใบยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะมี 1-4 ปล้อง หลังใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างหนาเกลี้ยง ส่วนท้องใบจะมีสีจางกว่า เมื่อเอาใบมาส่องผ่านแสงจะเห็นเป็นต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป ลักษณะเป็นรูปรี ๆ ใส ๆ มากมาย ส่วนขอบใบเรียบ ก้านใบย่อยจะสั้นมาก แต่ก้านช่อใบจะยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร

ใบมะขวิด

ดอกมะขวิด ออกดอกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ดอกมีขนาดเล็กสีขาวอมสีแดงคล้ำ ๆ ในแต่ละช่อดอกจะมีทั้งดอกเพศผู้และดอกรวมเพศ

ดอกมะขวิด

ผลมะขวิด หรือ ลูกมะขวิด ผลมีลักษณะกลมตัว เป็นผลแห้ง เปลือกภายนอกแข็งเป็นกะลา มีสีเทาอมขาวหรือผิวเป็นขุยสีขาวปนสีชมพู ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติเมตร มีเนื้อมาก เนื้อในผลอ่อนนิ่ม เมื่อผลสุกแล้วเนื้อเยื่อจะเป็นสีดำ สามารถใช้รับประทานได้ โดยให้รสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม มียางเหนียว ส่วนในผลมีเมล็ดจำนวนมาก มีเมือกหุ้มเมล็ด เมล็ดมีขนาดยาวประมาณ 0.5-0.6 เซนติเมตร เปลือกหนาและมีขน สามารถนำมาเคี้ยวรับประทานได้เช่นกัน

ผลมะขวิด

มะขวิด

สรรพคุณของมะขวิด

  1. ผลใช้เป็นยาบำรุงทำให้สดชื่น (ผล)
  2. ผลดิบนำมาหั่นให้บางแล้วตากให้แห้ง ใช้ชงกับน้ำกินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ผล)
  3. ยางมะขวิดช่วยเจริญธาตุไฟในร่างกาย (ยาง)
  4. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิด ด้วยการนำผลดิบมาหั่นให้บางแล้วตากให้แห้ง นำมาใช้ชงกับน้ำกิน (ผล)
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผล)
  6. ช่วยแก้ลงท้อง (ราก, เปลือก, ดอก)
  7. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ใบ) ยางจากลำต้นมีสีจำพวกแทนนิน ใช้เป็นยารักษาโรคท้องร่วงได้เช่นกัน (ยางจากลำต้น)
  8. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ใบ)ช่วยบำบัดโรคท้องเสีย (ผล, ยาง)
  9. ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร (ผล)
  10. ใบช่วยขับลมในกระเพาะ (ใบ)
  11. ช่วยแก้ตัวพยาธิ (ราก, เปลือก, ใบ, ดอก, ผล)
  12. ช่วยแก้อาการตกโลหิต (ราก, เปลือก, ใบ, ดอก) ช่วยห้ามโลหิตระดูของสตรี (ใบ)
  13. ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง (ราก, เปลือก, ใบ, ดอก, ผล)
  14. ใบมะขวิดใช้เป็นยาฝาดสมาน (ใบ) ช่วยสมานบาดแผล (ยาง)
  15. ยางจากลำต้นมะขวิดสามารถนำมาใช้ห้ามเลือดได้ (ยางจากลำต้น)
  16. ช่วยแก้บวม (ราก, เปลือก, ดอก, ผล)
  17. ใบนำมาตำใช้พอกหรือทาแก้อาการฟกบวม ปวดบวม ช่วยรักษาฝี และโรคผิวหนังบางชนิดได้ (ใบ)
  18. สารสกัดจากใบสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้ออหิวาตกโรคในหลอดทดลองได้ (ใบ)

ประโยชน์ของมะขวิด

  1. ต้นมะขวิดใช้ปลูกเพื่อปรับภูมิทัศน์เพื่อความสวยงาม เหมาะสำหรับปลูกในส่วนสาธารณะ เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม เจริญเติบโตได้เร็วและแข็งแรง
  2. ผลมะขวิดใช้รับประทานสด และยังสามารถนำไปทำเป็นน้ำผลไม้และแยมได้
  3. ผลใช้เป็นอาหารของนกได้
  4. เมล็ดสามารถนำมาเคี้ยวรับประทานได้ รสอร่อยใช้ได้
  5. ยางของผลมะขวิดมีความเหนียว สามารถนำมาใช้ทำเป็นกาวเพื่อใช้ติดหรือเชื่อมต่อสิ่งของต่าง ๆ ได้
  6. เนื้อไม้ของต้นมะขวิดเป็นเนื้อไม้แข็ง สามารถนำมาใช้ในงานช่างได้

 

 

 

มะพลับ

มะพลับ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะพลับ

มะพลับ

มะพลับ ชื่อสามัญ Bo tree, Sacred fig tree, Pipal tree, Peepul tree

มะพลับ ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros malabarica var. siamensis (Hochr.) Phengklai (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Diospyros siamensis Hochr.) จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE)

สมุนไพรมะพลับ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขะนิง ถะยิง (นครราชสีมา), มะเขื่อเถื่อน (สกลนคร), ตะโกสวน ปลาบ (เพชรบุรี), ตะโกไทย (ภาคกลาง), ตะโกสวน พลับ มะพลับใหญ่ (ทั่วไปเรียก), มะสุลัวะ (ลำปาง-กะเหรี่ยง) เป็นต้น

ข้อควรรู้ : ต้นมะพลับเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดอ่างทอง

ลักษณะของมะพลับ

  • ต้นมะพลับ มีถิ่นกำเนิดในป่าดงดิบของประเทศไทย อินเดีย และในชวาเกาะเซลีเบส[4] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ทรงพุ่มกลมทึบ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทาปนดำ หรือบางทีแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย มีน้ำและความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดจัด มะพลับเป็นไม้ป่าดงดิบ พบขึ้นในป่าที่ลุ่มต่ำบริเวณกันชนระหว่างป่าบกและป่าชายเลน ชายป่าพรุ บริเวณชายคลอง ป่าดิบใกล้แหล่งน้ำ ป่าละเมาะริมทะเล และตามเรือกสวนทั่วไป ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 2-30 เมตร (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าประมาณ 50-400 เมตร) ในประเทศไทยพบได้ทางภาคใต้ ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่มาเลเซีย

ต้นมะพลับ

ใบมะพลับ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอกกลับ ปลายใบแหลมทู่ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เนื้อใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบแต่มีสีอ่อนกว่า หรือมีขนประปรายบ้างตามเส้นกลางใบด้านล่าง โดยมีเส้นใบประมาณ 6-12 คู่ แต่ละเส้นมีลักษณะคดงอไปมา พอมองเห็นได้ทั้งสองด้าน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และมีขนประปราย

ใบมะพลับ

ดอกมะพลับ ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่กันคนละต้น ดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ โดยจะออกตามซอกใบ ก้านดอกยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และมีขนอยู่หนาแน่น มีกลีบดอก 4-5 กลีบ ยาวประมาณ 7-15 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะออกดอกเดี่ยว สีเหลือง ก้านดอกยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร และมีขนคลุมแน่น ที่โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็นแฉกแบบตื้น ๆ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

ดอกมะพลับเพศเมีย

ผลมะพลับ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ที่โคนและปลายผลบุ๋ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงมีขนสีน้ำตาลแผ่กว้างแนบกับส่วนล่างของผล ขอบกลีบเป็นคลื่น ๆ กลีบไม่พับกลับ ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเหลือง ผลสุกหรือผลแก่จะค่อนข้างนุ่ม ผิวมีเกล็ดสีน้ำตาลแดงคลุม เกล็ดเหล่านี้จะหลุดได้ง่าย ภายในมีเมล็ด 8 เมล็ด เป็นสีน้ำตาลดำทรงรีแป้น มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม

ผลมะพลับ

เมล็ดมะพลับ

สรรพคุณของมะพลับ

  1. เปลือกต้นมีรสฝาดใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)
  2. ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น, เนื้อไม้)
  3. เปลือกต้นเป็นยาลดไข้ (เปลือกต้น)
  1. เปลือกและผลอ่อนใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (เปลือกและผลอ่อน)
  2. เปลือกและผลแก่มีรสฝาดหวาน ใช้เป็นยารักษาแผลในปาก แก้คออักเสบ ด้วยการใช้เปลือกและผลแก่นำมาต้มเป็นยาอม กลั้วคอ (เปลือกและผลแก่)
  3. ช่วยขับผายลม (เปลือกต้น, เนื้อไม้)
  4. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วง (เปลือกต้น, เนื้อไม้) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าการใช้เป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วงให้ใช้เปลือกและผลอ่อนนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกและผลอ่อน, ผลดิบ, เมล็ด)
  5. เปลือกต้นนำมาย่างให้กรอบชงกับน้ำดื่ม เป็นยาแก้กามตายด้าน แก้ความกำหนัด บำรุงความกำหนัด (เปลือกต้น, เนื้อไม้)
  6. เปลือกต้นใช้เป็นยาทาสมานบาดแผลและช่วยห้ามเลือด (เปลือกต้น, เนื้อไม้) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ผลดิบเป็นยาห้ามเลือด และใช้เปลือกและผลอ่อนนำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณบาดแผล สมานแผล (เปลือกและผลอ่อน, เปลือกต้น, ผลดิบ)

ประโยชน์ของมะพลับ

  1. ผลมะพลับแก่สามารถใช้รับประทานได้
  2. เนื้อไม้มะพลับสามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องกลึง และใช้ในงานแกะสลักได้
  3. เปลือกต้นให้น้ำฝาดที่นำมาใช้สำหรับการฟอกหนัง
  4. ยางของลูกมะพลับจะให้สีน้ำตาล เมื่อนำมาละลายกับน้ำจะใช้ย้อมผ้า แห และอวนเพื่อให้มีความทนทานเช่นเดียวกับตะโก แต่ยางจากลูกมะพลับจะมีคุณภาพที่ดีกว่า เพราะไม่ทำให้เส้นด้ายแข็งกรอบเหมือนลูกตะโก จึงทำให้ยางของลูกมะพลับมีราคาดีกว่าลูกตะโกมาก จึงมีพ่อค้าหัวใสนำยางของลูกตะโกมาปลอมขายเป็นยางมะพลับ จึงเกิดคำพังเพยที่ว่า "ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก"
  5. สำหรับการปลูกต้นมะพลับเพื่อใช้งานด้านภูมิทัศน์นั้น สามารถปลูกได้ตามริมน้ำ เพื่อให้ร่มเงาได้ดี เพราะเป็นไม้ไม่ผลัดใบ
  6. ในด้านของความเชื่อ คนไทยเชื่อว่าต้นมะพลับเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ด้วยเชื่อว่าการปลูกต้นมะพลับไว้ในบริเวณบ้านจะทำให้ร่ำรวยยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ปลูกไว้ทางทิศใต้
  7. บางตำราก็ว่ามะพลับเป็นไม้ที่ควรปลูกไว้ทางทิศใต้ แต่ยังหาหลักฐานยืนยันไม่ได้แน่ชัด คาดว่าคงเป็นเพราะต้นมะพลับเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี หากนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เชื่อว่าจะทำให้มีความอดทนต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนดังต้นมะพลับ

บัวตอง

บัวตอง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นบัวตอง

บัวตอง

บัวตอง

บัวตอง ชื่อสามัญ Mexican sunflower, Mexican sunflower weed

บัวตอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tithonia diversifolia (Hemsl.) A.Gray จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

สมุนไพรบัวตอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดาวเรืองญี่ปุ่น ทานตะวันหนูเบญจมาศน้ำ (กรุงเทพฯ), บัวตอง (ทั่วไป), พอมื่อนื้อ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น

ลักษณะของบัวตอง

  • ต้นบัวตอง มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลาง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กมีอายุได้หลายปี มีความสูงของต้นได้ถึง 4 เมตร มีไหลอยู่ใต้ดิน ทุกส่วนของต้นมีขนสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและไหล มักขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น ชอบแสงแดดจัด และจะออกดอกสวยงามที่สุดบนดอยที่สูงกว่า 800 เมตรขึ้นไป ในประเทศไทยพบกระจายอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวทางภาคเหนือ โดยเฉพาะทุ่งบัวตองที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกทั้งยังจัดเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วย

ต้นบัวตอง

ใบบัวตอง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปไข่แกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-30 เซนติเมตร แผ่นใบบาง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวแกมเทา มีขนสั้นและต่อมเล็กทั้งสองด้าน

ใบบัวตอง

ดอกบัวตอง ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ริ้วประดับมีประมาณ 3-4 ชั้นเรียงกันเป็นรูประฆัง ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-14 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองสด ดอกวงนอกเป็นรูปช้อนหรือเป็นรูปรางน้ำขอบขนาน ปลายจัก ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบมีประมาณ 12-15 กลีบ เป็นหมัน ส่วนดอกวงในมีขนาดเล็ก โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ดอกวงในเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศและมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นหลอดยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อับละอองเรณูเป็นสีดำ ที่ปลายสีเหลือง และจะออกดอกในช่วงฤดูหนาวหรือในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม

ดอกบัวตอง

ผลบัวตอง ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายและโคนผลสอบ เมล็ดล่อน ไม่แตก ผนังผลแยกออกจากกัน ผลมีขนาดยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร

สรรพคุณของบัวตอง

  • ใบสดนำมาย่างไฟ ใช้วางบนศีรษะแล้วใช้ผ้าพันแผลไว้ ช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ใบ)
  • ดอกนำมาใส่แผลและแผลช้ำ (ดอก)
  • ยอดอ่อนนำมาเผาแล้วขยี้ใช้ทาผื่นคันที่ขึ้นตามตัว (ยอดอ่อน)
  • ใบนำมาต้มกับน้ำรวมกับต้นสาบหมาน (เข้าใจว่าคือต้นสาบหมา) ใช้อาบแก้อาการคัน (ใบ)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบัวตอง

  • สารสกัดใบบัวตองด้วยแอลกอฮอล์และคลอโรฟอร์มเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง
  • สารสกัดด้วยบิวทานอลมีฤทธิ์ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้หนูได้
  • น้ำต้มจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นบัวตองมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบและช่วยรักษาตับอักเสบในสัตว์ทดลองได้
  • สารสกัดจากดอกบัวตองด้วยแอลกอฮอล์และแอซีโตนมีฤทธิ์ฆ่าแมลง

ประโยชน์ของบัวตอง

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะทางภาคเหนือที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ดอยแม่อูคอ แต่ตอนนี้สามารถหาชมได้แล้วที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ในช่วงหน้าหนาวด้วย

สมอพิเภก

สมอพิเภก สรรพคุณและประโยชน์ของสมอพิเภก 

ผลสมอพิเภก

สมอพิเภก

สมอพิเภก ชื่อสามัญ Beleric Myrobalan, Ink Not, Bahera, Beleric

สมอพิเภก ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb. จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)

สมุนไพรสมอพิเภก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลัน (เชียงราย), สะคู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ซิบะดู่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แหน แหนต้น แหนขาว (ภาคเหนือ), สมอแหน (ภาคกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของสมอพิเภก

  • ต้นสมอพิเภก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงราว 15-35 เมตร ลักษณะเป็นทรงเรือนยอดกลมแผ่กว้างและค่อนข้างทึบ มีลำต้นเปราตรง โคนต้นมักขึ้นเป็นพูพอน เปลือกต้นมีสีเทาอมน้ำตาลหรือเป็นสีดำ ๆ ด่าง ๆ เป็นแห่ง ๆ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ไปตามความยาวของต้น เปลือกด้านในมีสีเหลือง ส่วนกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะมีขนอยู่ประปราย ขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยวิธีการปักชำและการตอนกิ่ง สามารถขึ้นได้ทั่วไปตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-400 เมตร ส่วนทางภาคใต้มักจะพบขึ้นตามป่าดงดิบ

เปลือกต้นสมอพิเภก

  • ใบสมอพิเภก ใบเป็นใบเดี่ยวติดเวียนกันเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปทรงรีแกมรูปไข่หัวกลับ มีความกว้างประมาณ 9-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 13-19 เซนติเมตร โคนใบสอบมาสู่ก้านใบ และส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบจะผายกว้าง ขอบใบเรียบ ที่ปลายสุดของใบจะหยักคอดเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบมีเส้นแขนงใบโค้งอ่อนประมาณ 6-10 คู่ เส้นใบเป็นแบบร่างแหเห็นได้ชัดเจนทางด้านท้องใบ ท้องใบมีสีจางหรือสีเทามีขนนุ่ม ๆ คลุมอยู่ ส่วนหลังใบมีสีเขียวเข้มและมีสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป แต่ใบทั้งสองด้านขนจะหลุดร่วงออกไปเองเมื่อใบแก่จัด และก้านใบมีความประมาณ 4-6 เซนติเมตร ที่บริเวณกึ่งกลางก้านจะมีต่อมหรือตุ่มหูดอยู่ 1 คู่

ใบสมอพิเภก

  • ดอกสมอพิเภก ออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ๆ แบบหางกระรอกตามง่ามใบหรือรอยแผลใบตามกิ่ง ปลายช่อดอกจะห้อยย้อยลง ช่อมีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกสมอพิเภกมีขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง ดอกตัวผู้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามปลายช่อ ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ตามโคนช่อ ส่วนกลีบฐานดอกจะมีกลีบ 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยเล็ก ๆ และทั้งหมดมีขนอยู่ทั่วไป โดยเกสรตัวผู้จะมีอยู่ด้วยกัน 10 ก้าน เรียงซ้อนกันอยู่เป็นสองแถว ส่วนรังไข่ค่อนข้างแป้น ภายในมีช่องเดียวและมีไข่อ่อนอีก 2 หน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว

ดอกสมอพิเภก

  • ผลสมอพิเภก หรือ ลูกสมอพิเภก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี มีความกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร มีสัน 5 สัน ผิวภายนอกปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลอยู่หนาแน่น ผลมักออกรวมกันเป็นพวงโต ๆ เมล็ดเดี่ยวแข็ง ผลอ่อนมีรสเปรี้ยว ส่วนผลแก่มีรสเปรี้ยวฝาดหวาน (ฝาดแบบสุขุม) และเมล็ดในมีรสฝาด

สมอพิเภก

สมุนไพรสมอพิเภก ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ได้แก่ ผลอ่อน ผลแก่ ดอก ใบ เปลือก แก่น ราก และเมล็ดใน

สรรพคุณของสมอพิเภก

  1. ผลแห้งสมอพิเภกมีสรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ผลแห้ง)
  2. ผลแก่มีรสฝาดช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้ธาตุกำเริบ (ผลแก่, ผลแห้ง)
  3. ผลสุกใช้เป็นยาเจริญอาหาร ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น (ผลสุก)
  4. รากสมอพิเภกใช้ต้มดื่มช่วยแก้พิษโลหิต ซึ่งทำให้มีอาการร้อนได้ (ราก)
  5. ผลอ่อนมีรสเปรี้ยวช่วยแก้ไข้ (ผลอ่อน, ผลแก่)
  6. ผลแห้งช่วยรักษาอาการไอและไข้เจือลม (ผลแห้ง)
  7. ลูกสมอพิเภกช่วยแก้ไข้เพื่อเสมหะ (ผลอ่อน)
  8. ช่วยแก้เสมหะจุกคอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ (ผลแก่)
  9. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ เสียงแห้ง (ผลแห้ง)
  10. ผลอ่อนช่วยแก้ลม (ผลอ่อน)
  11. ดอกช่วยแก้โรคในตา รักษาโรคตา แก้ตาเปียกแฉะ (ผลแก่, ดอก)
  12. ช่วยแก้อาการบิด บิดมูกเลือด (เมล็ดใน)
  13. ผลอ่อนใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย โดยใช้ผลโตแต่ยังไม่แก่ประมาณ 2-3 ผล นำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว พร้อมใส่เกลือเล็กน้อย แล้วใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผลอ่อน)
  14. ผลแก่ใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) โดยใช้ผลแก่ประมาณ 2-3 ผล นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้วและใส่เกลือเล็กน้อย เคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้วและนำมาใช้ดื่มแก่อาการ (ผลแก่)
  15. ผลแก่ช่วยรักษาโรคท้องมาน (ผลแก่)
  16. ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับปัสสาวะพิการ (เปลือกต้น)
  17. เปลือกสมอพิเภกมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ โดยใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกต้น)
  18. ช่วยแก้ริดสีดวงทวารหนัก ส่วนแก่นช่วยแก้ริดสีดวงพรวก (ผลแก่, แก่น)
  19. ช่วยรักษาโรคเรื้อน (ผล)
  20. ผลช่วยแก้ผิวหนังเป็นตุ่มหนอง (ผล)
  21. ใบช่วยรักษาบาดแผล แผลติดเชื้อ โดยใช้ใบสดนำมาตำแล้วนำมาพอกรักษาแผล (ใบ)
  22. ในประเทศแถบอินโดจีนใช้ผลแห้งเป็นยาฝาดสมาน (ผลสุกเต็มที่, ผลแห้ง)
  23. ในตำรายาไทย สมุนไพรสมอพิเภกจัดอยู่ตำรับยา "พิกัดตรีผลา" ซึ่งประกอบไปด้วย ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย และลูกมะขามป้อม ซึ่งตำรับยาชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ กองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน
  24. ลูกสมอพิเภกจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดตรีสมอ" ซึ่งประกอบไปด้วย ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย และลูกสมอเทศ ซึ่งตำรับยาชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยผายธาตุ รู้ถ่ายรู้ปิดเอง และช่วยแก้เสมหะ
  25. ในบัญชียาจากสมุนไพรตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา สมอพิเภกจัดให้อยู่ในตำรับยา "ยาหอมนวโกฐ" ซึ่งเป็นยาในกลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในหน้าอกในผู้สูงอายุ และแก้ลมปลายไข้ (อาการหลังจากฟื้นไข้แล้วมีอาการคลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และท้องอืด)
  26. สารสกัดจากสมุนไพรสมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งได้ (ผศ.ดร.สีหณัฐ ธนาภรณ์)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสมอพิเภก

  • สมุนไพรสมอพิเภก มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา ต้านยีสต์ ต้านไข้มาลาเรีย แก้หืด แก้ไอ แก้หวัด ช่วยลดความดันโลหิต ยับยั้งระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันเบาหวาน ช่วยเร่งการสร้างน้ำดี ช่วยรักษาดีซ่าน ป้องกันฟันผุ ช่วยลดอาการอักเสบ รักษาสิว ช่วยคลายกล้ามเนื้อมดลูกของสตรี ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก ช่วยยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase, HIV-1 Protease ช่วยฆ่าไส้เดือน และเป็นพิษต่อปลา (ข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)

ประโยชน์ของสมอพิเภก

  • เมล็ดสมอพิเภกสามารถนำมาทุบกินเนื้อข้างในได้ (ลั้วะ)
  • นอกจากผลจะใช้รับประทานเป็นยาระบายแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้าโดยจะให้สีขี้ม้า ส่วนเปลือกต้นจะให้สีเหลือง และยังใช้ฟอกหนัง ทำหมึกได้อีกด้วย
  • เนื้อไม้ของต้นสมอพิเภกสามารถนำมาใช้ทำพื้น หีบใส่ของ ทำฝา ใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ทำคันไถ เครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ เรือขุด เป็นต้น