• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

สาคลู

ต้นสาคู

ต้นสาคู หรือ สาคู เป็นชื่อเรียกของพืชหลายชนิด โดยนำแป้งจากส่วนหัวหรือลำต้นมาใช้ประโยชน์สำหรับทำขนม ปัจจุบัน แป้งจากต้นสาคูไม่ค่อยนิยมแล้ว เพราะมีการนำแป้งจากแหล่งอื่นมาทดแทน ซึ่งหาง่าย และราคาถูก อาทิ แป้งมันสำปะหลัง และแป้งข้าวเจ้า

ส่วนคำว่า สาคู อีกชื่อ เป็นชื่อเรียกขนม หรือ ขนมสาคู ซึ่งแต่ก่อนใช้แป้งจากต้นสาคู ตัวขนมมีลักษณะเป็นทรงกลม เนื้อค่อนข้างใส ด้านในยัดด้วยไส้ขนม หรือ อีกชนิดเป็นเม็ดแป้งขนาดเล็ก แล้วนำมาต้มสุก ก่อนเติมน้ำกะทิ และน้ำเชื่อมรับประทาน ปัจจุบัน ขนมสาคู ไม่นิยมใช้แป้งจากต้นสาคูแล้ว เพราะกระบวนการผลิตแป้งยุ่งยาก และหายาก จึงนิยมใช้แป้งมันสำปะหลังแทน

ชนิดต้นสาคู
ต้นสาคู แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่ 
1. สาคูไทย หรือ ว่านสาคู (Marantaarundinaceae L.)
2. พุทธรักษาสาคู (Canna edulis Ker.)
3. ปาล์มสาคู (Metroxylon sagu)

. สาคูไทย หรือ ว่านสาคู
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maranta arundinaceae L.
• ชื่อสามัญ :
– arrowroot, West Indian arrowroot (อังกฤษ)
– Arrurruz (ฝรั่งเศส)
– Garut, Angkrik, Larut (อินโดนีเชีย)
– Aroru, Ubi garue, Berolu (มาเลเซีย)
– Aroru, Sagu (ฟิลิปปินส์)
– Zulu (อเมริกาใต้)
– Hore kiki (บราซิล)
– Viuxita (เม็กซิโก)
– Kuzu ukon (ญี่ปุ่น)
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– สาคู
– สาคูไทย
– สาคูขาว
– ว่านสาคู
– สาคูวิลาส
– สังคู
– มันสาคู
– มันอาโรรุต

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
สาคูไทย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง ตะวันตกของเอกวาดอร์ ตอนกลางของทุ่งหญ้าของกิอานา และแถบทะเลคาริบเบียน [4] อ้างถึงในสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (2544) ปัจจุบันพบแพร่กระจายทั่วในแถบประเทศเขตร้อนชื้น ส่วนประเทศไทยพบในทุกภาค แต่พบปริมาณน้อยลง เพราะไม่นิยมปลูก และรับประทานกันมากนัก เนื่องจาก หัวมีกาก และเส้นใยมาก ทำให้เคี้ยวลำบาก แต่ยังพบได้ตามป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ตามริมลำห้วยหรือที่ชื้นใกล้แหล่งน้ำ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น และใบ 
1. ลำต้นใต้ดิน
ลำต้นใต้ดินสาคูไทย เรียกว่า หัว หรือ เหง้า มีลักษณะคล้ายหัวลูกศร ขนาดหัวกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-40 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น 2 ชนิดได้แก่
– เครโอล (creole) หัวมีขนาดเล็ก เรียว และยาว แทงลึกลงดินได้หลายเซนติเมตร
– บานานา (banana) หัวมีขนาดใหญ่ และอวบสั้น ปริมาณหัวต่อต้นน้อย หัวแทงลงดินตื้นกว่าชนิด creole

หัวหรือเหง้าหลักจะติดกับโคนต้น และแตกหัวย่อยแทงลึกลงดิน โคนหัวแตกรากแขนงจำนวนมาก หัวย่อยอาจมีหัวเดียวหรือหลายหัว มีลักษณะทรงกระบอก เรียวยาว มีลักษณะแบ่งเป็นข้อๆ และมีตาชัดเจน และมีเกล็ดสีขาวหรือสีน้ำตาลหุ้ม เนื้อหัวด้านในมีสีขาว มีเส้นใยตามแนวยาวของหัว

. ลำต้นเหนือดิน และใบ
ลำต้นสาคูไทยเหนือดินเป็นส่วนที่แทงขึ้นมาจากเหง้า ประกอบด้วยแกนลำต้น และกาบใบ คล้ายกับพืชในกลุ่มว่านทั่วไป ส่วนด้านในเป็นแกนกลางที่ถูกหุ้มด้วยกาบใบ ส่วนด้านนอกเป็นกาบใบตั้งตรง มีลักษณะเกือบทรงกลม ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ถัดมาเป็นก้านใบ มีขนาดสั้น จากนั้น เป็นแผ่นใบ มีรูปหอก กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มองเห็นเส้นกลางใบสีเขียวชัดเจน ใบด้านล่างสุดมีขนาดใหญ่กว่าใบด้านบน แผ่นใบแบ่งออกเป็นสองข้างไม่เท่ากัน ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่มีสีเขียวเข้ม และค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อถึงหน้าแล้ง

ดอก
ดอกสาคูไทย แทงขึ้นกลางลำต้น มีดอกออกเป็นช่อแขนง ตั้งแต่ 2 ช่อ ขึ้นไป ช่อแขนงมีใบประดับรองรับ ปลายกิ่งแยกออกเป็นก้านดอก 1 คู่ และหันหน้าเข้าหากัน ก้านช่อดอกแต่ละคู่มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร มีก้านดอกย่อย ยาวประมาณ 5-15 มิลลิเมตร

บนช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยสีขาว ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร แต่ละดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงบางๆ 3 กลีบ กลีบเลี้ยงมีรูปหอก สีเขียว แยกออกจากกัน และมีขนาดไม่เท่ากัน ยาวประมาณ 12-16 มิลลิเมตร ถัดมาเป็นวงกลีบดอกที่เป็นรูปหลอดสั้นๆ สีขาว มีลักษณะเป็น 3 พู ถัดมาติดกับกลีบดอกจะเป็นเกสรตัวผู้ แบ่งเป็นชั้นๆ จำนวน 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นเกสรที่เป็นหมัน ส่วนตรงกลางเป็นเกสรตัวเมีย มียอดเกสรแยกเป็น 3 พู และรังไข่ 1 อัน ซึ่งอยู่ด้านล่างตรงกลาง ทังนี้ ต้นสามารถออกดอกได้หลังปลูกแล้ว 5-6 เดือน

ผล และเมล็ด
สาคูไทยถึงแม้จะออกดอก แต่ติดผล และเมล็ดยาก เพราะธรรมชาติของสาคูไทยจะแพร่กระจาย และเติบโตด้วยการแตกหน่อใหม่แทน แต่หากติดผลจะมีผลลักษณะกลม เปลือกผลแข็ง มีสีน้ำตาลอมแดง ขนาดผลประมาณ 7 มิลลิเมตร ส่วนเมล็ดมีขนาดเล็ก มีผิวหยาบ แบ่งออกเป็น 3 พู

ประโยชน์สาคูไทย
1. หัวสาคูไทยนำมาต้มหรือเผารับประทาน เนื้อหัวมีรสหวาน แต่ค่อนข้างมีเส้นใยมาก โดยเฉพาะพันธุ์หัวเล็ก
2. แป้งสาคูไทยมีขนาดเม็ดเล็ก และละเอียด เป็นแป้งที่ย่อยง่าย จึงนิยมใช้ทำเป็นอาหารทารก และผู้ป่วย
3. แป้งสาคูไทยใช้ประกอบอาหารหรือเติมในอาหารเพื่อเพิ่มความหนืดเหนียว
4. แป้งสาคูไทยแปรรูปเป็นขนมหวาน ทำขนมสาคู ทำเค้ก คุกกี้ ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ และขนมจีน เป็นต้น
5. หน่ออ่อนหรือแกนลำต้นอ่อนใช้ประกอบอาหาร อาทิ ผัด แกงเลียง หรือนำมารับประทานเป็นผักสดหรือลวกรับประทานคู่น้ำพริก
6. หัวหรือแป้งใช้หมักผลิตแอลกอฮอล์หรือน้ำส้มสายชู
7. เมล็ดนำมาคั่วไฟรับประทาน มีรสมันคล้ายถั่วทั่วไป
8. หัวหรือหน่ออ่อนนำมาต้มหรือให้สดเป็นอาหารเลี้ยงหมู
9. ใบใช้ห่อข้าว ห่ออาหาร ใช้ทำห่อหมก
10. เมล็ดนำมาร้อยเป็นลูกปัดหรือลูกประคำ
11. ลำต้น และใบสดนำมาเผารมควัน ช่วยไล่เหลือบ และยุง
12. บางพื้นที่นอกจากปลูกเพื่อรับประทานหัวแล้ว ยังปลูกเป็นไม้มงคล และไม้ประดับ

 

มะสัง

มะสัง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะสัง

มะสัง

มะสัง ชื่อสามัญ Wood apple

มะสัง ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus lucida (Scheff.) Mabb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Feroniella lucida (Scheff.) Swingle) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย AURANTIOIDEAE

สมุนไพรมะสัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักสัง (มุกดาหาร), หมากกะสัง มะสัง (ภาคกลาง), กะสัง (ภาคใต้), หมากสัง, กระสัง เป็นต้น

ลักษณะของมะสัง

  • ต้นมะสัง มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านขนานกับลำต้นหรือออกตั้งฉากกับลำต้น ต้นมีกิ่งก้านจำนวนมาก เปลือกต้นเป็นร่องเล็ก ๆ เปลือกแตกเป็นเกล็ดรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ต้นแก่เป็นสีเทาถึงดำ ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมยาว และแข็งตรง ยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ที่กิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่อุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ ชอบแสงแดดจัด และควรปลูกไว้กลางแจ้ง พบขึ้นได้ทางภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ โดยจะขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าโคก ทุ่งนา

ใบมะสัง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวหรือสองชั้น ปลายใบคี่ ก้านใบรวมยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร เรียงตัวกันแบบสลับหรือเป็นกระจุกประมาณ 2-3 ก้านใน 1 ข้อ ใบย่อยจะเกิดเป็นคู่ ๆ เรียงตัวกันแบบตรงข้าม มีจำนวน 3-5 คู่ ก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือค่อนข้างมนหรือเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวใบเรียบเป็นมัน ด้านท้องใบเห็นต่อมน้ำมันกระจายชัดเจน

ใบมะสัง

ดอกมะสัง ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งหรือตามซอกใบคล้าย ๆ ดอกกระถิน เป็นปุย ๆ มีสีขาว ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร โคนก้านมีใบประดับ 1 ใบ ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ปลายแหลม ขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบเป็นสีขาวแยกจากกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับหรือรูปใบหอก ปลายกลีบแหลม โคนกลีบตัดตรง มีขนาดกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.4-1.8 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันเล็กน้อยที่ฐาน ส่วนปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก เป็นกลีบสีเขียวแกมเหลือง ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 15-20 อัน บ้างว่าประมาณ 10-12 อัน โคนก้านชูอับเรณูติดกันประมาณ 1/5 ส่วนของความยาวก้าน ปลายก้านแยกจากกัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร อับเรณูติดบนก้านแบบ Basifix สีเหลืองแกมสีน้ำตาลอ่อน ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 ก้าน รังไข่ superior ovary สีเขียว ลักษณะเป็นรูปโดมทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ก้านเกสรอวบ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยอดเกสรจะเรียวเล็กกว่าก้านเกสรเล็กน้อย รังไข่ 5-6 ห้อง มีออวุลจำนวนมาก สามารถออกดอกได้ตลอดปี

ดอกมะสัง

ผลมะสัง ผลมีลักษณะกลม เป็นสีเขียวคล้ายผลมะนาว มีขนาดประมาณ 4-12 เซนติเมตร เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เปลือกผลแข็งและหนามาก มีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกมีกลิ่นหอม ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปยาวรี โดยผลจะมีรสเปรี้ยว สามารถนำมาใช้แทนมะนาวได้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ต้นมะสัง

สรรพคุณของมะสัง

  1. ใบมีรสฝาดมัน สรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (ใบ)
  2. รากและผลอ่อนเป็นยาแก้ไข้ ตำรายาไทยจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือฝนกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ราก, ผลอ่อน)
  3. ช่วยแก้ท้องเดิน (ใบ)
  4. ใบช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ใบ)
  5. แก่นมะสังใช้ร่วมกับแก่นมะขาม ใช้ต้มกับน้ำดื่มขณะอยู่ไฟ (แก่น)
  6. ใบใช้เป็นยาสมานแผล (ใบ)

ประโยชน์ของมะสัง

  • ผลมะสังมีรสเปรี้ยว สามารถนำมาใช้แทนมะนาวได้ โดยใช้ปรุงน้ำพริก หรือใส่แกง นอกจากนี้ยังใช้กินและนำมาทำน้ำผลได้อีกด้วย
  • ยอดอ่อนและใบอ่อนมะสังใช้กินเป็นผักสด หรือนำไปปิ้งไฟให้หอมก็ใช้รับประทานร่วมกับลาบ ก้อย ซุปหน่อไม้
  • ในปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ทำเป็นไม้แคระประดับหรือไม้ดัด เนื่องจากมีความสวยงามจากเปลือกที่ขรุขระ มีรูปทรงของต้นที่สวยงาม ออกใบดกและมีขนาดเล็ก และง่ายต่อการดัดเพราะกิ่งก้านมีความเหนียว

 

มะตาด

มะตาด สรรพคุณและประโยชน์ของมะตาด

มะตาด

มะตาด ชื่อสามัญ Chulta, Chalta, Ouu, Elephant apple

มะตาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Dillenia indica L. จัดอยู่ในวงศ์ส้าน (DILLENIACEAE)

สมุนไพรมะตาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มปรุ ส้านกวาง ส้านท่า ส้านป้าว ส้านปรุ ส้านใหญ่ (เชียงใหม่), แส้น (นครศรีธรรมราช, ตรัง), สั้น บักสั้นใหญ่ (อีสาน), แอปเปิ้ลมอญ, ส้านมะตาด, ไม้ส้านหลวง (ไทใหญ่), ตึครือเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ลำส้าน(ลั้วะ), เปียวกับ (เมี่ยน) เป็นต้น โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย คาบสมุทรมลายู ไทย ลาว พม่า และอินโดจีน

ลักษณะของมะตาด

  • ต้นมะตาด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลักษณะต้นเป็นทรงเรือนยอดทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ เป็นทรงพุ่มทึบ ลำต้นของมะตาดมักคดงอ ไม่ตั้งตรง และมักมีปุ่มปมปรากฏอยู่บนลำต้น ซึ่งจะเกิดจากร่องรอยของกิ่งแก่ที่หลุดร่วง ส่วนเปลือกต้นเป็นเปลือกหนา มีสีน้ำตาลอมแดงหรือสีทองแดง เมื่อแก่เปลือกต้นจะเปลี่ยนเป็นสีเทา และหลุดล่อนออกเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนการแตกกิ่งก้านของลำต้นจะไม่สูงจากพื้นดินมากนัก และการแตกกิ่งย่อยจะเกิดที่ส่วนปลายของยอดกิ่งหลัก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและกิ่งตอน ต้นไม้มะตาดเป็นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งและน้ำท่วมได้ดี ในประเทศไทยสามารถพบขึ้นได้ทั่วไปในป่าพรุ ป่าดิบชื้น และริมแม่น้ำลำธาร

ลำต้นของมะตาดต้นมะตาดลักษณะมะตาด

ใบมะตาด ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับถี่ออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกหรือเป็นรูปไข่กลับ ใบมีความกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตรและยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น ส่วนโคนใบเรียวสอบแคบและมน แผ่นใบหนา ใบเป็นคลื่นลอนตามเส้นแขนง ใบที่แยกขนานออกจากเส้นใบไปขอบใบ ขอบใบเป็นหยักและฟันเลื่อย มีหนามเล็ก ๆ อยู่ที่ปลายสุดของเส้นแขนงตรงขอบใบ ส่วนท้องใบจะเห็นเส้นแขนงและมีขนขึ้นประปราย เส้นแขนงใบตรงประมาณ 30-40 คู่ และก้านใบมีความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นร่อง โคนก้านใบแบนและเป็นกาบห่อหุ้มกิ่ง

ใบมะตาด

ดอกมะตาด ดอกมีสีขาวนวลและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกดอกเดี่ยว ๆ บริเวณง่ามใบและกิ่งบริเวณใกล้ปลาย ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร และมีขนสากมือ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นแผ่นโค้งคล้ายช้อน มีอยู่ 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่กลับบาง มีความกว้างประมาณ 15-18 เซนติเมตร กลีบดอกจะร่วงได้ง่ายเมื่อดอกบาน ดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอยู่จำนวนมากล้อมรอบเกสรตัวเมีย โดยเกสรตัวเมียจะมีสีขาว ยอดเกสรตัวเมียจะแยกออกเป็นแฉก ๆ รังไข่มี 20 ช่อง เมื่อดอกตูมในระยะแรกจะมีลักษณะคล้ายกับผลมะตาด และเมื่อดอกมีขนาดเท่าผลมะนาวก็จะบานออก และเมื่อดอกบานและได้รับการผสมแล้ว กลีบเลี้ยงจะเริ่มห่อหุ้มเข้ามาใหม่จนมีลักษณะเป็นผลกลม ๆ เมื่อเกาะอัดแน่นและเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นผลมะตาด

ดอกมะตาด

ผลมะตาด หรือ ลูกมะตาด ผลเป็นผลเดี่ยวสด ลักษณะเป็นรูปทรงกลมใหญ่อวบ ซึ่งเป็นกาบที่เกิดขึ้นมาจากกลีบเลี้ยงที่อัดกันแน่นและแข็ง มีความกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ผลเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ผลมีกลิ่นเฉพาะตัว มีเมือกเหนียวและมีรสเปรี้ยวอมฝาด ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล มีความกว้างประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร เมล็ดมีเมือกห่อหุ้ม และเมื่อแก่จัดเมล็ดจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนเกือบดำ โดยในหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก

ผลมะตาดสุกลูกมะตาดดิบ

มะตาด แยกเป็นชนิดย่อยได้อีก คือ มะตาดข้าวเหนียวและมะตาดข้าวเจ้า ซึ่งแบ่งตามรสสัมผัสของเนื้อผล โดยผลมะตาดที่นิยมใช้คือมะตาดข้าวเหนียว เพราะมีเนื้อที่เหนียวนุ่มกว่ามะตาดข้าวเจ้า

สรรพคุณของมะตาด

  1. ผลมะตาดมีสารฟลาโวนอยด์และสารฟีนอลิก ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ผล)
  2. ผลมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล)
  3. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  4. ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นยาเย็น (ผลสุก)
  5. ช่วยต้านอาการลมชัก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  6. ช่วยถอนพิษไข้ ระบายพิษไข้ (ใบ, เปลือกต้น)
  7. ช่วยแก้ไข้ ลดไข้ (ผล, ใบ, เปลือกต้น)
  8. ช่วยแก้อาการไอ (ผลสุก)
  9. ช่วยขับเสมหะ (ผลสุก)
  10. เปลือกต้นนำมาเคี้ยวช่วยทำให้เหงือกและฟันกระชับแน่น (เปลือกต้น)
  11. ใบและเปลือกต้นมีรสฝาด ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ, เปลือกต้น)
  12. ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง (ผล)
  13. ผลมีเมือกเหนียวคล้ายวุ้น ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ (เมือกผล)
  14. ช่วยในการขับถ่าย ทำให้ขับถ่ายได้สะดวกขึ้น ทำให้ท้องไม่ผูก (ผล)
  15. ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ผล, ใบ, เปลือกต้น)
  16. เปลือกและใบมีรสฝาด ใช้เป็นยาสมานแผล (ใบ, เปลือกต้น)
  17. รากมะตาดใช้เป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก)

ประโยชน์ของมะตาด

  1. ผลมะตาดใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ นำมาใช้ประกอบอาหารเพื่อรับประทานมาตั้งแต่โบราณ เช่น การทำเป็นแกงส้มมะตาด แกงคั่วมะตาด หรือนำไปทำอาหารอื่น ๆหรือใช้ผลสดจิ้มกินกับน้ำพริก กลีบชั้นในที่มีลักษณะอวบอุ้มน้ำ ใช้จิ้มกับเกลือกินได้ ให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นหอม
  2. เมล็ดมะตาดที่แก่แล้วสามารถนำมารับประทานสดได้ (มีรสชาติมัน)
  3. คนไทยโบราณนิยมปลูกต้นมะตาดไว้ในสวนบริเวณบ้าน หรือปลูกในพื้นที่กลางแจ้งและมีเนื้อที่มากพอสมควร เพื่อใช้เป็นร่มเงาให้ความร่มรื่น เพราะใบมะตาดมีใบขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่หนาแน่น จึงสามารถช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับบรรยากาศ จึงช่วยลดโลกร้อนไปได้ด้วย และที่สำคัญยังนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกที่มีความโดดเด่นสวยงาม และมีเส้นใบเป็นริ้วที่ดูสวยงามแปลกตา
  4. เนื้อไม้ของต้นมะตาดสามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือทางการเกษตรหรือทำเครื่องเรือน ใช้ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น ทำเสาบ้าน หรือทำเป็นพานท้ายปืน และใช้ทำเป็นฟืน
  5. เปลือกและผลของมะตาดสามารถนำมาใช้ในการย้อมหนังสัตว์และทำหมึกได้
  6. จากภูมิปัญญาของชาวรามัญได้นำเปลือกด้านในของผลมะตาดมาใช้ทาท้องเรือ เพื่อทำให้เรือแล่นได้เร็วขึ้น เพราะเมือกมะตาดนั้นจะช่วยลดความเสียดทานของท้องเรือกับผิวน้ำได้
  7. น้ำยางจากผลดิบนำมาใช้สระผมได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีผู้คิดค้นและดัดแปลงแปรรูปผลมะตาดทำเป็นผลิตภัณฑ์สระผม
  8. เมือกที่ห่อหุ้มเมล็ดอยู่สามารถนำมาใช้บำรุงเส้นผมและช่วยปกป้องเส้นผมจากแสงแดดและมลพิษได้ ด้วยการนำเมล็ดมะตาดที่มีเมือกผสมกับน้ำ 4-5 เท่า แล้วนำมาใส่ขวดปิดฝาให้สนิท เขย่าแรง ๆ แล้วกรองด้วยผ้าขาวบางหรือกระชอน แล้วใช้น้ำที่ได้นี้นำมาหมักเส้นผมประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง จากนั้นก็สระผมตามปกติ

มะหวด

มะหวด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะหวด

มะหวด

มะหวด

มะหวด ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepisanthes rubiginosa (Roxb.) Leenh. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sapindus rubiginosus Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)

สมุนไพรมะหวด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หวดฆ่า[1] หวดค่า[2] (อุดรธานี), สีหวด (นครราชสีมา), สีฮอกน้อย หวดลาว (ภาคเหนือ), มะหวดป่า หวดคา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หวดเหล้า (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ, คนเมือง), กำซำ กะซ่ำ มะหวด (ภาคกลาง), ชันรู มะหวดบาท มะหวดลิง (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), กำจำ นำซำ มะจำ หมากจำ (ภาคใต้), สีหวดใหญ่ (บางภาคเรียก), ซำ (ทั่วไป), สือเก่าก๊ะ ยาตีนไก่ (ม้ง), เดี๋ยงอายเปียว (เมี่ยน), มะซ้าหวด (ไทลื้อ) เป็นต้น

ลักษณะของมะหวด

  • ต้นมะหวด จัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตรและสูงได้ถึง 15 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปไข่ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งแขนงเป็นรูปทรงกระบอกเป็นร่อง ที่กิ่งก้านมีขนละเอียด เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีขนสั้น ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการทำกิ่งตอน เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด ชอบดินทุกชนิดที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ตามป่าผลัดใบ ริมลำธาร ชายป่าชื้น ชายป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และพื้นที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 300-1,200 เมตร

ต้นมะหวด

ใบมะหวด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แก่นกลางใบประกอบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 3-6 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-11 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-30 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า ผิวใบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่นเป็นรอย ส่วนใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมเขียว

ใบมะหวด

ดอกมะหวด ดอกเป็นสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน ๆ ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงตั้ง จากปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายยอด มีความยาวถึง 50 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาวมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร มีกลีบดอก 4-5 กลีบ เกลี้ยงหรือมีขน กลีบดอกเป็นสีขาว โคนกลีบแคบ มีขนและมีเกล็ดเล็ก 1 เกล็ด ที่มีสันนูน 2 สัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน ก้านเกสรมีขนสีน้ำตาลอ่อน ๆ ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาวและไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปครึ่งวงกลม กลีบนอก 2 กลีบจะเล็กกว่ากลีบในและมีขนที่ด้านนอก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม

รูปดอกมะหวด

ผลมะหวด ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปรีเว้าเป็นพู ผิวผลเกลี้ยง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลมีพู 2 พู ผิวเกลี้ยงเปลือกและเนื้อบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดง และจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำเมื่อแก่จัด เนื้อผลฉ่ำน้ำมีรสหวานใช้รับประทานได้ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลดำเป็นมัน 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดมะหวดเป็นรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน โดยจะติดผลใช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มะหวด

สรรพคุณของมะหวด

  1. ผลมีสรรพคุณบำรุงกำลัง (ผล)
  2. เปลือกต้นช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น)
  3. รากช่วยแก้วัณโรค (ราก)
  4. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้เบื่อเมา (ราก)
  5. รากใช้ตำพอกศีรษะแก้อาการปวดศีรษะได้ หรือใช้รากฝนกับเหล้าขาวแล้วนำพอกก็ได้ (ราก)
  6. รากและใบช่วยรักษาอาการไข้ (ราก, ใบ)ด้วยการใช้รากตำพอกศีรษะหรือนำมาฝนกับเหล้าขาวใช้พอกศีรษะ จะช่วยแก้ไข้ได้ (ราก)
  7. ช่วยแก้พิษร้อน (ราก)
  8. รากหรือใบมะหวดใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ซาง (โรคในเด็กเล็กที่มีอาการเบื่ออาหาร ซึม ลิ้นเป็นฝ้า มีเม็ดขึ้นในปากและคอ) (ใบ)
  9. เมล็ดนำมาต้มกับน้ำให้เด็กรับประทานเป็นยาแก้ซาง แก้ไอกรน แก้ไอหอบในเด็ก (เมล็ด)
  10. ช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง (เมล็ด)
  11. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (ราก)
  12. ผลสุกใช้รับประทาน ช่วยแก้ท้องร่วง (ผล)
  13. ช่วยแก้บิด (เปลือกต้น)
  14. รากเป็นยาขับพยาธิ (ราก)
  15. เปลือกต้นช่วยสมานแผล (เปลือกต้น)
  16. ช่วยแก้พิษฝีภายใน (ราก)
  17. รากใช้ตำพอกรักษาโรคผิวหนัง ผิวหนังเป็นผื่นคัน (ราก)
  18. ช่วยแก้กระษัยเส้น (ราก)
  19. เมล็ดมีรสฝาด ช่วยบำรุงเส้นเอ็น (เมล็ด)

ประโยชน์ของมะหวด

  • เนื้อผลมะหวดฉ่ำน้ำ ผลสุกมีรสจืดฝาดถึงหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้
  • ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ โดยจะรับประทานเป็นผักสด ต้ม ลวกจิ้มกับน้ำพริก หรือใช้ใส่ในแกงผักรวม ใส่ปลาย่าง ฯลฯ และชาวบ้านยังนำมาใช้รองพื้นหรือคลุมข้าวที่จะใช้ทำขนมจีนเพื่อช่วยกันบูดได้อีกด้วย
  • เนื้อไม้มะหวดสามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำไม้ฟืน หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตรได้