• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

ส้มกุ้ง

ส้มกุ้ง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นส้มกุ้ง 15 ข้อ

ส้มกุ้ง

ส้มกุ้ง ชื่อสามัญ False Black Pepper, White-flowered Embelia, Vidanga, Vaividang, Vai Vidang, Vavding

ส้มกุ้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Embelia ribes Burm.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Embelia gaseinifolia Wall. Ex Ridl) จัดอยู่ในวงศ์ PRIMULACEAE(MYRSINACEAE)

สมุนไพรส้มกุ้ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สนขี้มด (หนองคาย), ส้มกุ้ง (ระนอง, ตรัง) เป็นต้น

ลักษณะของส้มกุ้ง

  • ต้นส้มกุ้ง จัดเป็นพรรณไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เลื้อย มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร และอาจยาวได้ถึง 13 เมตร

ต้นส้มกุ้ง

ใบส้มกุ้ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมวงรีถึงรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน

ใบส้มกุ้ง

ดอกส้มกุ้ง ออดอกเป็นช่อแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเขียวหรือสีขาว กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกลึก ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร กลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกลึก ลักษณะเป็นรูปวงรี ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนขึ้นหนาแน่น

ดอกส้มกุ้ง

ผลส้มกุ้ง ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือดำ ฉ่ำน้ำ

รูปผลส้มกุ้ง

สรรพคุณของส้มกุ้ง

  1. ใช้เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ด้วยการใช้เมล็ดส้มกุ้งที่แห้งแล้วนำมาป่นให้เป็นผง ใช้ประมาณ 1-2 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม เช้าและเย็น (เมล็ด)
  2. รากและใบใช้เป็นยาแก้โลหิต (ราก,ใบ)
  3. ใช้เป็นยาแก้ไอ (เถา, ราก, ใบ)
  4. รากใช้เป็นยาขับเสมหะ ละลายเสมหะ แก้เสมหะ (ราก)กัดฟอกเสมหะ (เถา, ใบ) กัดฟอกเสมหะและโลหิต (เนื้อไม้)
  5. รากหรือเถาใช้เป็นยารักษาริดสีดวงจมูก (รากหรือเถา)
  6. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หอบหืด (ใบ)
  7. ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ทำให้อุจจาระนิ่ม (เถา, ใบ)
  8. รากใช้เป็นยาถ่ายพรรดึก (ราก)
  9. ใช้เป็นยาขับฟอกโลหิตระดู (เถา, ใบ)
  10. เนื้อไม้และกระพี้นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปัสสาวะขัดหรือขุ่น แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ช่วยชะล้างทางเดินปัสสาวะ (เนื้อไม้และกระพี้)
  11. ช่วยแก้อาการช้ำใน (เถา, เนื้อไม้, ราก, ใบ)
  12. ใช้เป็นยาถ่ายเส้นเอ็น (เถา, เนื้อไม้, ราก) ช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน (ใบ)
  13. ประโยชน์ของส้มกุ้ง

    • ผลสุกใช้รับประทาน เป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง
    • ใบอ่อนและยอดอ่อนสามารถนำมารับประทานเป็นผัก หรือนำมาใส่ในแกงส้ม แกงเลียงรวมกับผักอื่น

     

 

หางไหลแดง

หางไหล สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหางไหลแดง

หางไหลแดง

หางไหลแดง

หางไหลแดง ชื่อสามัญ Tuba Root, Derris

หางไหลแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Derris elliptica (Wall.) Benth. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)

สมุนไพรหางไหลแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะลำเพาะ (เพชรบุรี), อวดน้ำ (สุราษฎร์ธานี), ไหลน้ำ ไกล เครือไกลน้ำ (ภาคเหนือ), โพตะโกส้า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), โล่ติ๊น เป็นต้น

กษณะของหางไหลแดง

  • ต้นหางไหลแดง มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน จัดเป็นไม้เถา มีเนื้อไม้แข็ง มีรูอากาศสีขาวกระจายตามกิ่งและเถา เถาหรือลำต้นส่วนที่แก่เป็นสีน้ำตาลปนแดง แต่จะเริ่มมีสีเขียวเห็นได้ชัดตรงปล้องที่อยู่ก่อนถึงยอดประมาณ 2-3 ปล้อง ลำต้นโดยทั่วไปจะมีลักษณะกลม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง แต่นิยมปักชำส่วนของลำต้นมากกว่า ขึ้นได้ดีในสภาพดินหลายชนิดตั้งแต่ดินทรายหยาบไปจนถึงดินเหนียวจัด แต่ไม่เหมาะนำมาปลูกในสภาพดินที่มีน้ำท่วมขัง พืชชนิดนี้สามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ติดต่อกันนานถึง 4 เดือน โดยมากจะพบขึ้นตามบริเวณแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนทางภาคกลางจะพบได้มากแถวจังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี ชลบุรี และในท้องที่ใกล้เคียง

ต้นหางไหล

ต้นหางไหลแดง

ใบหางไหลแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 9-13 ใบ ใบคู่แรกที่นับจากโคนจะมีขนาดเล็กสุดและจะเริ่มใหญ่ขึ้นตามลำดับจนถึงใบสุดท้ายที่อยู่ตรงยอดซึ่งเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรูปใบหอก หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบเล็กเรียวขึ้นไป ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร (อาจจะเล็กหรือใหญ่กว่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม) ใบแก่เป็นสีเขียว ลักษณะมัน แผ่นใบเรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หรือหลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขน เส้นใบเป็นสีเขียวปนน้ำตาล มองเห็นเส้นแขนงลักษณะคล้ายก้างปลาได้ชัดแต่ยาวจนชิดขอบใบ ด้านท้องใบเป็นสีเขียวและจะเห็นเส้นใบได้ชัดกว่าด้านบน ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นสีแดง มีขนสีน้ำตาลแดง

หางไหล

ดอกหางไหลแดง ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ช่อดอกแต่ละช่อมีความยาวประมาณ 22.5-30 เซนติเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม ดอกเป็นสีชมพูหรือสีชมพูแกมม่วง เมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีชมพูอ่อนและจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลีบล่างเป็นรูปโล่ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยหรือรูประฆังมีขน กลีบเลี้ยงยาวได้ประมาณ 6 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นมัดเดียว รังไข่มีขนอุย

ดอกหางไหลแดง

ผลหางไหลแดง ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ฝักเป็นรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ปลายและโคนฝักแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-8.5 เซนติเมตร คอดตามแนวของเมล็ด ฝักอ่อนเป็นสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนแดงเมื่อแก่ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมและแบนเล็กน้อย มีสีน้ำตาลปนแดง เมื่อฝักแก่ฝักจะแยกออกจากกัน และเมล็ดจะร่วงหล่นลงพื้นดิน ถ้ามีความชื้นเหมาะสม เมล็ดก็จะงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นต่อไป

สรรพคุณของหางไหลแดง

  1. ตำรับยาพื้นบ้านจังหวัดสุโขทัย จะใช้เถาหางไหลแดงนำมาตากให้แห้ง หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยาขับโลหิตและบำรุงโลหิตของสตรี (เถา)
  2. เถาผสมกับยาอื่นปรุงเป็นยาแก้ประจำเดือนเป็นลิ่มหรือเป็นก้อน และเป็นยาขับประจำเดือน (เถา)
  3. เถาตากแห้ง นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยาถ่ายลม ถ่ายเสมหะ ถ่ายโลหิต และถ่ายเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นหย่อน (เถา)
  4. ใช้รักษาหิด เหา และเรือด ด้วยการใช้เถาสดยาวประมาณ 2-3 นิ้วฟุต นำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันพืช ใช้ชโลมบนเส้นผมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วสระออกให้สะอาด โดยให้สระติดต่อกัน 2-3 วัน (เถา)

ประโยชน์ของหางไหลแดง

  1. ใช้เป็นยาฆ่าแมลง หรือไล่แมลง โดยนำรากหรือเถาแก่สด (จำนวนที่ใช้ขึ้นอยู่กับพื้นที่และแมลง) มาทุบให้แตกมาก ๆ (โดยทั่วไปถ้าเป็นรากสดให้ใช้ 1/2-1 กิโลกรัม ส่วนรากแห้งให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง) แล้วแช่ลงในน้ำ 1 ปี๊บ ทิ้งไว้อย่างน้อย 12-24 ชั่วโมง เพื่อให้สารที่มีความเป็นพิษละลายออกมา ซึ่งน้ำที่ได้จะขาวเหมือนน้ำซาวข้าว จากนั้นให้กรองเอารากออก แล้วเอาน้ำที่ได้มาใช้เป็นยาฆ่าแมลงฉีดพ่นในแปลงพืชผักหรือสวนผลไม้ โดยให้ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน และควรฉีดในช่วงเย็น เพราะสารโรตีโนนจะสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกแสงแดด (มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้) ส่วนการนำมาใช้กำจัดหนอนในนาข้าว ให้นำรากมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทุบให้ละเอียดก่อนแล้วนำไปหว่านให้ทั่วนาข้าวและทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง (เหมาะกับนาข้าวที่ไม่มีปลา) หรือจะใช้ในรูปของสารละลายนำมาฉีดพ่นเลยก็ได้ โดยสารพิษที่อยู่ในหางไหลแดง เรียกว่า "โรตีโนน" (rotenone) จะไม่เป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่นอย่างมนุษย์ จึงสามารถนำมาใช้ได้ดี อีกทั้งสารพิษชนิดนี้ยังสลายตัวได้ง่าย ไม่ติดค้างอยู่บนพืชผักเหมือนยาฆ่าแมลงทั่วไป
  2. ใช้เป็นยาเบื่อปลา ด้วยการนำรากมาตัดเป็นชิ้นขนาดเล็กยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร บดให้ละเอียด แล้วจึงนำไปร่อนเพื่อแยกเอาส่วนที่บดละเอียดไปใช้ในการเบื่อปลา หรือนำลำต้นมาทุบแล้วนำไปแช่ไว้ในลำห้วย จะทำให้ปลาเมา สามารถจับมากินได้ง่าย ส่วนในหมู่เกาะโซโลมอนจะใช้ใบของหางไหลแดงนำไปใส่ในรูร่วมกับทรายในปริมาณเท่ากันและบดให้เข้ากันจะได้เม็ดสีเขียว แล้วนำไปหว่านในน้ำ ปลาที่ถูกสารพิษจะมีอาการมึนเมาและลอยขึ้นเหนือน้ำ แล้วจึงแทงด้วยฉมวก นำมาบริโภคเป็นอาหารได้ต่อไป
  3. พืชชนิดนี้มีใบดกร่มทึบ สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ร่มหรือไม้ดอกได้
  4. เนื่องจากหางไหลแดงเป็นพืชในตระกูลถั่ว การปลูกพืชชนิดนี้นอกจากจะสามารถปลูกเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินแล้ว ยังใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้นจากดินและป้องกันการชะล้างหน้าดินได้อีกด้วย ส่วนในแง่การนำมาปลูกเป็นพืชฆ่าแมลงหรือปลูกเพื่อผลิตสารฆ่าแมลง โดยทั่วไปแล้วจะปลูกกันเป็นแปลงใหญ่

การเก็บหางไหลแดงมาใช้ประโยชน์

  • การเก็บรากมาใช้ประโยชน์ ในกรณีที่ปลูกด้วยกิ่งชำ จะเก็บได้ตั้งแต่เมื่อมีอายุ 22-27 เดือน เพราะช่วงนี้จะมีสารโรตีโนนมากที่สูง (ประมาณ 4-5%) ซึ่งโดยทั่วไปจะแนะนำให้เก็บในช่วงอายุ 24 เดือน การขุดรากควรขุดในช่วงฤดูแล้ง เพราะช่วงนี้ต้นหางไหลแดงจะผลัดใบ ทำให้สารสำคัญถูกเก็บไว้ในราก โดยจะใช้คนขุดหรือรถแทรกเตอร์ขุดก็ได้ เมื่อขุดมาแล้วควรนำมาล้างดินออก แล้วนำไปแขวนหรือผึ่งบนตะแกรงให้แห้งในที่ร่ม (ห้ามผึ่งกลางแดด เพราะสารโรตีโนนจะถูกทำลายได้ด้วยความร้อน) ส่วนการผลิตนำมาผลิตเป็นยาฆ่าแมลง มีคำแนะนำว่าควรจัดให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี ใส่หน้ากากและถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันสารพิษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผิวหนังอักเสบและอาการระคายเคืองของเนื้อเยื่อ

ฝาง

ฝาง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นฝาง 49 ข้อ

ฝาง

ฝาง ชื่อสามัญ Sappan หรือ Sappan tree

ฝาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia sappan L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Biancaea sappan (L.) Tod.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

สมุนไพรฝาง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขวางฝางแดงหนามโค้ง (แพร่), ฝางส้ม (กาญจนบุรี), ฝางเสน (ทั่วไป, กรุงเทพฯ, ภาคกลาง), ง้าย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลำฝาง (ลั้วะ), สะมั่วะ (เมี่ยน), โซปั้ก (จีน), ซูมู่ ซูฟังมู่ (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของต้นฝาง

  • ต้นฝาง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง หรือเป็นไม้พุ่ม หรือไม้พุ่มกึ่งไม้เถาผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-13 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็งและโค้งสั้น ๆ อยู่ทั่วไป ถ้าเนื้อไม้หรือแก่นเป็นสีแดงเข้มและมีรสขมหวานจะเรียกว่า "ฝางเสน" แต่ถ้าแก่นไม้เป็นสีเหลืองส้มและมีรสฝาดขื่นจะเรียกว่า "ฝางส้ม" พรรณไม้ชนิดนี้เป็นไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย มักจะพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้ตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และตามเขาหินปูน

ต้นฝาง

ต้นฝาง

ใบฝาง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับ แก่นช่อใบยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร มีช่อใบย่อยประมาณ 8-15 คู่ และในแต่ละช่อจะมีใบย่อยประมาณ 5-18 คู่ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 8-20 มิลลิเมตร ปลายใบย่อยกลมถึงเว้าตื้น โคนใบตัดและเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ ใบเกลี้ยงหรือมีขนบ้างประปรายทั้งสองด้าน ก้านใบมีขนาดสั้นมากหรือไม่มีก้านใบ และมีหูใบยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร หลุดร่วงได้ง่าย

ใบฝาง

ดอกฝาง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง และจะออกรวมกันเป็นช่อ ๆ ช่อดอกยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร มีใบประดับลักษณะเป็นรูปใบหอก ร่วงได้ง่าย ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายเรียวแหลมและมีขน ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม มีข้อต่อหรือเป็นข้อที่ใกล้ปลายก้าน ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบเกลี้ยงที่ขอบมีขนครุย ขอบกลีบเกยซ้อนทับกัน โดยกลีบเลี้ยงล่างสุดจะมีขนาดใหญ่สุดและเว้ามากกว่ากลีบอื่น ๆ ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 6-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร ผิวและขอบกลีบย่น โดยกลีบกลางจะมีขนาดเล็กกว่า มีก้าน กลีบด้านในมีขนจากโคนไปถึงกลางกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน แยกจากกันเป็นอิสระ ส่วนก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นนุ่ม มีช่อง 1 ช่องและมีออวุล 3-6 เม็ด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม

ดอกฝาง

ผลฝาง ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ฝักแบนแข็งเป็นจะงอยแหลม เป็นสีน้ำตาลเข้ม มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตร และส่วนที่ค่อนมาทางโคนฝักจะสอบเอียงเล็กน้อย และด้านปลายฝักจะผายกว้างและมีจะงอยแหลมที่ปลายด้านหนึ่ง ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร โดยจะเป็นผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤษภาคม

ผลฝาง

สรรพคุณของฝาง

  1. เนื้อไม้และแก่นเป็นยาแก้ธาตุพิการ (เนื้อไม้, แก่น)
  2. เมล็ดแก่แห้งนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูงหรืออาจบดเป็นผงกินก็ได้ (เมล็ด)
  3. เปลือกลำต้นและเนื้อไม้ สามารถนำมาใช้ต้มรับประทานเป็นยารักษาวัณโรคได้ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)
  4. ตำรับยาบำรุงร่างกายทั้งบุรุษและสตรี แก้ประดง ระบุให้ใช้แก่นฝาง แก่นไม้แดง รากเดื่อหอมอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกิน (แก่น)
  5. ตำรับยาบำรุงกำลังระบุให้ใช้แก่นตากแห้งผสมกับเปลือกต้นนางพญาเสือโคร่ง ตานเหลือง ข้าวหลามดง โด่ไม่รู้ล้มต้มน้ำ ม้ากระทืบโรง มะตันขอ ไม้มะดูก หัวข้าวเย็น และลำต้นฮ่อสะพายควาย ดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย (แก่น) หรืออีกตำรับระบุให้ใช้แก่นฝาง กำลังช้างสาร ม้ากระทืบโรง และรากกระจ้อนเน่าอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำดื่ม และอีกตำรับระบุให้ใช้แก่นฝาง 1 บาท, ดอกคำไทย 2 สลึงนำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เอา 1 แก้ว ใช้แบ่งกินเช้า, เย็นเป็นยาบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย และแก้กษัย (แก่น)
  6. ตำรับยาแก้กษัยระบุให้ใช้แก่นฝาง เถาวัลย์เปรียง และรากเตยอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำกิน หรืออาจเติมน้ำตาลให้พอหวานเพื่อช่วยทำให้รสชาติดีขึ้นด้วยก็ได้ (แก่น)
  7. แก่นฝางมีรสฝาด เค็ม ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิตและใช้ปรุงเป็นยาบำรุงโลหิตของสตรี (แก่น)
  8. ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก แก้เส้นเลือดอุดตัน กระจายเลือดที่อุดตัน แก้อาการหัวใจขาดเลือด ทำให้จุกเสียดแน่นและเจ็บหน้าอก (แก่น)
  9. ช่วยแก้โลหิต แก้ไข้กำเดา แก้กำเดา ทำให้โลหิตเย็น (แก่น)
  10. แก่นใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้ตัวร้อน (แก่น) ตำรับยาแก้ไข้ตัวร้อน ระบุให้ใช้แก่นฝาง 70 กรัม, ผงโกฐน้ำเต้า 30 กรัม, และน้ำประสานทองบดเป็นผง 15 กรัม นำมารวมกันต้มให้เป็นน้ำเหลวแล้วเติมเหล้าเข้าผสม ใช้กินครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 ครั้ง (แก่น)บ้างว่าใช้แก้ไข้สัมประชวรได้ด้วย (แก่น)
  11. ตำรับยาแก้ไข้ทับระดูระบุให้ใช้ฝางเสน เกสรบัวหลวง แก่นสน รากลำเจียก รากมะพร้าว รากมะนาว รากเท้ายายม่อม รากย่านาง ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกสารภี จันทน์ขาว จันทน์แดง สักขี อย่างละ 1 บาท นำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำร้อน ใช้จิบครั้งละ 1 ช้อนชา โดยให้จิบบ่อย ๆ จนกว่าไข้จะสงบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  12. น้ำต้มแก่นฝางช่วยแก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำได้ดี (แก่น)เนื้อไม้มีสรรพคุณแก้ร้อนใน (เนื้อไม้)
  13. แก่นและเนื้อไม้มีสรรพคุณแก้เสมหะ ขับเสมหะ (เนื้อไม้, แก่น)
  14. ช่วยแก้อาการไอ แก้หวัด (แก่น)ตามตำรับยาระบุให้ใช้แก่นฝางหนัง 3 บาท, ตะไคร้ 3 ต้น ทุบให้ละเอียด, น้ำ 1 ลิตร ใส่น้ำปูนใสเล็กน้อยแล้วต้มพอให้ได้น้ำยาสีแดง ใช้รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา หรืออาจผสมน้ำตาลกรวดด้วยก็ได้ (แก่น)[16] ส่วนอีกตำรับยาหนึ่งซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไอ ไอแบบเป็นหวัดและเจ็บคอ ไอแบบคอแห้ง หรือไอแบบหอบหืด และผู้ที่ไอจากวัณโรคก็บรรเทาได้เช่นกัน รวมไปถึงอาหารปอดหรือหลอดลมอักเสบก็จิบยาแก้ไอขนานนี้ได้ โดยตำรับยาแก้ไอฝาง ประกอบไปด้วยเนื้อไม้ฝาง 200 กรัม, พริกไทยร่อน 200 กรัม, กานพลู 50 กรัม, สารส้ม 50 กรัม, การบูร 25 กรัม, เมนทอล 25 กรัม, เปลือกหอยแครงแล้วทำเป็นปูนขาว 15 กรัม, ดีน้ำตาลหรือใช้น้ำตาล 2.5 กรัม และน้ำสะอาด 5 ลิตร ส่วนวิธีการปรุงยาให้นำเนื้อไม้ฝางมาสับเป็นซี่เล็ก ๆ คล้ายไม้จิ้มฟัน แล้วนำไปต้มกับน้ำให้เดือดประมาณ 15-30 นาที และสำหรับส่วนผสมอื่น ๆ ให้นำมาตำให้ละเอียด เก็บใส่ไว้ในโหลก่อน จากนั้นนำน้ำยาต้มฝางที่รอจนอุ่นแล้วมาทาใส่ลงในโหลที่มีตัวยาอื่น ๆ ผสมอยู่ และให้แช่ยานี้ไว้ประมาณ 2-3 วัน (คนยาวันละ 3 ครั้ง) เมื่อครบวันแล้วให้กรองเอาเฉพาะน้ำยามาเก็บไว้ใส่ขวดที่สะอาด เก็บไว้จิบกินตอนมีอาการไอ (ยาแก้ไอฝางสูตรนี้ไม่ควรกินต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้มีอาการมึนศีรษะและมีความดันต่ำได้ ดังนั้นเมื่อกินจนอาการไอหายแล้วก็ให้หยุดกิน) (เนื้อไม้)
  15. ช่วยแก้โรคหืดหอบได้ด้วย (แก่น)ตามตำรับยาระบุให้ใช้แก่นฝางเสน, แก่นแสมสาร, เถาวัลย์เปรียง, ใบมะคำไก่ อย่างละ 2 บาท 2 สลึง ใส่น้ำพอท่วมยา แล้วต้มให้เดือด 10 นาที นำมากินต่างน้ำให้หมดภายในวันนั้น พอวันต่อมาให้เติมน้ำเท่าเดิม ต้มเดือด 5 นาทีแล้วกินเหมือนวันแรก ต้มกินจนยาจืดประมาณ 5 วัน แล้วค่อยเปลี่ยนยาใหม่ โดยให้ต้มกินไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาย (แก่น)[
  16. ช่วยแก้ปอดพิการ (แก่น)
  17. ช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเดิน ใช้ฝาดสมานโรคท้องร่วง ตำรายาไทยระบุให้ใช้แก่นฝางหนัก 3-9 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 500 มิลลิเมตร แล้วเคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง ใช้ดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง หรือจะใช้ฝาง 1 ส่วนต่อน้ำ 20 ส่วน นำไปต้มเคี่ยว 15 นาที ใช้รับประทานครั้งละ 2-4 ช้อนโต๊ะหรือ 4-8 ช้อนแกงก็ได้เช่นกัน (เนื้อไม้, แก่น) ส่วนน้ำมันหอมระเหยมีสรรพคุณเป็นยาสมานอย่างอ่อน แก้อาการท้องเดิน (น้ำมันระเหย)[9]
  18. ช่วยแก้บิด (แก่น)
  19. ใช้เป็นยาสมานลำไส้ (แก่น)
  20. แก่นนำมาต้มกินเป็นยารักษาโรคนิ่วร่วมกับแก่นต้นคูน รากมะเดือยหิน หญ้าถอดปล้อง และใบสับปะรด (แก่น)
  21. ช่วยแก้ปัสสาวะขุ่นข้น ด้วยการใช้แก่นฝาง เถาวัลย์เปรียง และรากเตย อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำกิน หรืออาจเติมน้ำตาลให้พอหวานเพื่อช่วยทำให้รสชาติดีขึ้นด้วยก็ได้ (แก่น)
  22. ช่วยแก้โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา ช่วยแก้โลหิตตกหนัก (เนื้อไม้, แก่น)[1],[3],[5]
  23. ฝางนิยมใช้เข้าตำรับยาบำรุงโลหิต ฟอกโลหิตในกลุ่มยาสตรี เนื่องจากช่วยทำให้เลือดดี เช่น ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี ด้วยการใช้ฝางเสนหนัก 4 บาทและแก่นขี้เหล็ก 2 บาท นำมาต้มกินก่อนประจำเดือนจำมา จะช่วยทำให้ประจำเดือนไม่เน่าเสียและมาสม่ำเสมอ ช่วยแก้พิษโลหิตร้าย เป็นยาขับประจำเดือน และบำรุงโลหิต (แก่น)
  24. แก่นใช้เป็นยารักษาอาการประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี ช่วยขับระดู (แก่น)ส่วนเนื้อไม้เป็นยาขับระดูอย่างแรง (เนื้อไม้)ตำรายาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนปิดกั้นไม่มา ให้ใช้แก่นฝาง 70 กรัม, ผงโกฐน้ำเต้า 30 กรัม และน้ำประสานทองบดเป็นผง 15 กรัม นำมารวมกันต้มให้เป็นน้ำเหลว แล้วเติมเหล้าเข้าผสม ใช้ดื่มครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 ครั้ง (แก่น) ส่วนอีกตำราระบุให้ใช้แก่น 5-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เติมเนื้อมะขามเปียกที่ติดรก (ไม่รวมเมล็ด) ประมาณ 4-6 ฝัก แล้วนำไปเคี่ยวจนเหลือ 1 แก้ว ใช้กินเช้าและเย็น (แก่น) และอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าเปลือกลำต้นและเนื้อไม้ เป็นยาแก้ท้องเสียและแก้อาการอักเสบในลำไส้ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)
  25. ช่วยลดอาการปวดมดลูกของสตรีหลังการคลอดบุตร (แก่น)
  26. ช่วยคุมกำเนิด (แก่น)
  27. ช่วยแก้ดีและโลหิต (เนื้อไม้)
  28. ช่วยขับหนอง ขับหนองในฝีอักเสบ (แก่น)
  29. ช่วยแก้คุดทะราด (แก่น)
  30. ช่วยรักษามะเร็งเพลิง (แก่น)
  31. ใช้เป็นยาฝาดสมานและรักษาแผล (เปลือกต้น, เนื้อไม้)
  32. แก่นฝางนำมาฝนกับน้ำใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนังบางชนิดและฆ่าเชื้อโรคได้ (แก่น)
  33. ช่วยแก้น้ำกัดเท้า ด้วยการใช้แก่นฝาง 2 ชิ้นนำมาฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ๆ แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่น้ำกัดเท้า จะช่วยฆ่าเชื้อและสมานแผลได้ (แก่น)
  34. แก่นใช้เป็นยาแก้ปวด แก้บวม ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ช้ำใน (แก่น) ตำรายาแก้ฟกช้ำ ระบุให้ใช้แก่นฝาง 60 กรัม นำมาบดเป็นผงผสมกับเหล้า แบ่งกิน 3 ครั้ง ใช้กินตอนท้องว่าง (แก่น)
  35. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (แก่น) ตามตำรายาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายระบุให้ใช้แก่นฝาง 70 กรัม, ผงโกฐน้ำเต้า 30 กรัม และน้ำประสานทองบดเป็นผง 15 กรัม นำมารวมกันต้มให้เป็นน้ำเหลว แล้วเติมเหล้าเข้าผสม ใช้รับประทานครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 ครั้ง (แก่น)
  36. กิ่งนำมาตัดเป็นท่อน ๆ นำไปตากแห้ง แล้วนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว (กิ่ง)
  37. เนื้อไม้ใช้เป็นส่วนผสมหลักในตำรับยาบำรุงหลังการคลอดบุตรของสตรี (เนื้อไม้)
  38. เนื้อไม้ใช้ผสมกับปูนขาว นำมาบดใช้ทาหน้าผากสตรีหลังการคลอดบุตรจะช่วยทำให้เย็นศีรษะ และช่วยลดอาการเจ็บปวด (เนื้อไม้)
  39. ตำรายาพระโอสถพระนารายณ์เป็นตำรับยาที่ใช้แก้ความผิดปกติของอาโปธาตุหรือธาตุน้ำ โดยประกอบไปด้วยเครื่องยา 2 สิ่ง คือ ฝางเสนและเปลือกมะขามป้อมอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำ 4 ส่วนให้เหลือ 1 ส่วน ใช้กินเป็นยาแก้อาการท้องเสียอย่างแรงและเป็นยาแก้บิด (แก่น)
  40. นอกจากนี้ยังใช้ฝางในการรักษาโรคอีกหลายชนิด เช่น โรคประดง โรคไต ไข้หวัด แก้ไอ หอบหืด ขับปัสสาวะ และฝางยังเป็นสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในตำรับยาโบราณมากที่สุดชนิดหนึ่ง เช่น ยาหอมอินทจักร ยาจันทลีลา อยู่ในตำรับยาบำรุงโลหิตต่าง ๆ รวมไปถึงตำรับยาบำรุงโลหิตของสตรีจะขาดฝางเสียไม่ได้

พญาไร้ใบ

พญาไร้ใบ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นพญาไร้ใบ 16 ข้อ

พญาไร้ใบ

พญาไร้ใบ

พญาไร้ใบ ชื่อสามัญ Milk bush, Indian tree spurge

พญาไร้ใบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia tirucalli L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)

สมุนไพรพญาไร้ใบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เคียะจีน พญาร้อยใบ (เชียงใหม่), เคียะเทียน (ภาคเหนือ) เป็นต้น

หมายเหตุ : ต้นพญาไร้ใบที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกับพญาไร้ใบ (ชนิดที่ไม่มีใบเลยจริง ๆ) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarcostemma acidum (Roxb.) Voigt มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เถาหูด้าน เอื้องเถา เถาวัลย์ยอดด้วน เป็นต้น โดยคุณสามารถอ่านบทความของพรรณไม้ชนิดนี้ได้ที่บทความเรื่อง "เถาวัลย์ด้วน" และยังเป็นคนละชนิดกับกล้วยไม้ที่มีชื่อว่า "เอื้องพญาไร้ใบ" (ชื่อวิทยาศาสตร์ Chiloschista lunifera (Rchb.f.) J.J.Sm.) อีกด้วย

ลักษณะของพญาไร้ใบ

  • ต้นพญาไร้ใบ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 4-7 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ดูคล้ายกับปะการัง เปลือกลำต้นแก่เป็นสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีหนาม ส่วนกิ่งอ่อนเป็นรูปทรงกระบอกเป็นสีเขียวเรียบเกลี้ยง อวบน้ำ เมื่อหักหรือกรีดดูจะมีน้ำยางสีขาวข้นออกมาจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตัดชำ ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี และมีแสงแดดตลอดวัน มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ โดยจะออกดอกและติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤศจิกายน

ต้นพญาไร้ใบ

ยางพญาไร้ใบ

ใบพญาไร้ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบมีขนาดมาก ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน โดยมีขนาดกว้างประมาณ 0.2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย

ใบพญาไร้ใบ

ดอกพญาไร้ใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีเขียว ดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ไม่มีกลีบดอก และอยู่ในช่อเดียวกัน มีแต่กลีบรองดอกสีขาว กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ

ดอกพญาไร้ใบ

ผลพญาไร้ใบ ผลเป็นผลแห้งจะแตกและอ้าออก

ผลพญาไร้ใบ

สรรพคุณของพญาไร้ใบ

  1. รากมีรสเฝื่อน ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ธาตุพิการ (ราก)
  2. รากนำมาต้มกับน้ำมะพร้าวใช้ทาแก้อาการปวดท้อง (ราก)
  3. ต้นใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้กระเพาะอักเสบ (ต้น)
  4. รากใช้สกัดเป็นเป็นยาระบายได้ (ราก)
  5. ใบและรากมีรสเฝื่อน ใช้ตำพอกแก้ริดสีดวงทวาร (ใบและราก) และใช้ต้นนำมาตำพอกริดสีดวง (ต้น)
  1. น้ำยางจากต้นใช้รักษาโรคผิวหนัง (น้ำยางจากต้น) ส่วนเนื้อไม้ใช้ผสมเป็นยาสำหรับรักษาโรคผิวหนัง โรคเรื้อน กรณีที่มือและเข่าอ่อนเปลี้ยหลังการคลอดบุตรของสตรี (เนื้อไม้)
  2. ต้นใช้ตำพอกเป็นยาแก้รังแค (ต้น)
  3. ต้นใช้เป็นยาพอกแผล (ต้น)
  4. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้น้ำยางจากต้นมาแต้มกัดหูด (ใช้น้ำยางจากกิ่งที่หักมาใหม่ ๆ มาหยดลงบริเวณที่เป็นหูด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น) (น้ำยางจากต้น)
  5. ต้นมีรสเฝื่อน ใช้ต้มแช่รักษาอาการบาดเจ็บ (ต้น)
  6. ต้นใช้ตำพอกเป็นยาแก้ปวดบวม (ต้น)
  7. ต้นใช้ตำทาแก้อาการปวดกระดูก กระดูกเดาะ (ต้น)
  8. ใช้น้ำยางจากต้นนำมาถูผิวหนังบริเวณที่กระดูกแตกหัก เชื่อว่าจะช่วยเชื่อมกระดูกได้ (น้ำยางจากต้น)

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรพญาไร้ใบ

  • ยางจากต้นพญาไร้ใบมีพิษ เมื่อสัมผัสกับน้ำยางสีขาวจากต้นจะทำให้ผิวหนังอักเสบ บวมเป็นผื่นแดง ทำให้เกิดอาการคัน และเป็นอันตรายเมื่อเข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้
  • ในน้ำยางมีสาร 4-deoxyphorbol และอนุพันธ์ ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองอย่างแรงและยังเป็นสารร่วมก่อมะเร็ง จึงควรระมัดระวังในการนำมาใช้

การรักษาพิษของพญาไร้ใบ

  • พิษระคายเคืองต่อผิวหนัง น้ำยางสีขาวจากต้นมีสารพิษชื่อว่า Phorbol derivative หากสัมผัสจะมีอาการปวด ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง บวมพองเป็นตุ่มน้ำ ถ้าเข้าตาจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบและตาบอดชั่วคราว
    • วิธีการรักษา
      1. ให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์
      2. ทาด้วยครีมสเตียรอยด์
      3. ทานยาแก้แพ้ (เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlopheniramine) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร)
      4. ประคบด้วยน้ำเย็นจัดบริเวณที่มีอาการประมาณ 30 นาที
      5. ถ้ายางเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วหยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • พิษระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ มีอาการอาเจียน และถ่ายท้องอย่างรุนแรง ม่านตาหด หากได้รับมากอาจทำให้สั่นและเสียชีวิตได้
    • วิธีการรักษา
      1. ให้รีบทำให้อาเจียนแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้อง
      2. ดื่มน้ำนมหรือไข่ขาว เพื่อช่วยเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้
      3. ดื่มน้ำเกลือผงละลายน้ำ หรือให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือด เพื่อช่วยชดเชยน้ำที่เสียไป
      4. ต้องรับประทานอาหารอ่อน ๆ จนกว่าอาการจะทุเลา

ประโยชน์ของพญาไร้ใบ

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตกแต่งสวน
  • น้ำยางสีขาวมีพิษ จึงใช้ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ เช่น เพลี้ยอ่อน มอดแป้ง แมลงวันทอง หนอนกระทู้ผัก และช่วยป้องกันแมลงในโรงเก็บ และยังสามารถช่วยยับยั้งการฟักไข่ของด้วงถั่วเขียวได้อีกด้วย
  • นอกจากนี้ยังใช้เป็นสมุนไพรป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าวได้อีกด้วย โดยให้เตรียมพญาไร้ใบ 3 กิโลกรัม, น้ำ 10 ลิตร, กากน้ำตาล 0.5 ลิตร นำส่วนผสมทุกอย่างมาหมักรวมกัน ปิดถังหมักทิ้งไว้ในร่ม 1 เดือน ส่วนวิธีการใช้ให้ปล่อยไปตามน้ำหรือเทราดตามข้างนาจำนวน 1 ลิตร ต่อไร่ (หรืออาจมากกว่านั้น) ก็จะช่วยกำจัดหอยเชอรี่ได้โดยไม่มีผลกระทบหรือเป็นอันตรายใด ๆ ต่อต้นข้าวเลย