• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

การบูร

การบูร สรรพคุณและประโยชน์ของการบูร 34 ข้อ 

การบูร

การบูร

การบูร ชื่อสามัญ Camphor, Gum camphor, Formosan camphor, Laurel camphor

การบูร ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora (L.) J.Presl(ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Camphora officinarum Nees, Laurus camphora L.) จัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE)

 สมุนไพรการบูร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า การะบูน การบูร (ภาคกลาง), อบเชยญวน (ไทย), พรมเส็ง (เงี้ยว), เจียโล่ (จีนแต้จิ๋ว), จางมู่ จางหน่าว (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของการบูร

  • ต้นการบูร เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินโดนีเซีย อินเดีย อียิปต์ แอฟริกาใต้ จาไมกา บราซิล สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นทรงพุ่มกว้างและทึบ มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1.5 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวหยาบ ส่วนเปลือกกิ่งเป็นสีเขียวหรือเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นและกิ่งเรียบไม่มีขน ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เมื่อนำมากลั่นแล้วจะได้ "การบูร" ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่ส่วนที่ของรากและโคนต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำ

ต้นการบูร

เปลือกต้นการบูร

  • ใบการบูร ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5.5-15 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างเหนียว หลังใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอมเทาหรือนวล ไม่มีขน เส้นใบขึ้นตรงมาจากโคนใบประมาณ 3-8 มิลลิเมตร แล้วแยกออกเป็นเส้น 3 เส้น ตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกนั้นมีต่อม 2 ต่อม และตามเส้นกลางใบอาจมีต่อมเกิดขึ้นตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกไป ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ไม่มีขน ที่ตาใบมีเกล็ดซ้อนเหลื่อมกันอยู่ โดยเกล็ดชั้นนอกจะเล็กกว่าเกล็ดชั้นในตามลำดับ และเมื่อนำใบมาขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นการบูร

ใบการบูร

  • ดอกการบูร ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาวอมสีเหลืองหรืออมสีเขียว ก้านดอกย่อยมีขนาดสั้นมาก ดอกรวมมีกลีบ 6 กลีบ เรียงเป็นวง 2 วง วงละ 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรี ปลายมน ด้านนอกเกลี้ยง ส่วนด้านในมีขนละเอียด ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 ก้าน เรียงเป็นวง 3 วง วงละ 3 ก้าน ส่วนอับเรณูของวงที่1 และ 2 หันหน้าเข้าด้านใน ที่ก้านเกสรมีขน ส่วนวงที่ 3 จะหันหน้าออกทางด้านนอก ที่ก้านเกสรค่อนข้างใหญ่ มีต่อม 2 ต่อม อยู่ใกล้กับก้าน ลักษณะของต่อมเป็นรูปไข่กว้างและมีก้าน อับเรณูจะมีช่องเปิด 4 ช่อง เรียงกันเป็นแถว 2 แถว แถวละ 2 ช่อง มีลิ้นเปิดทั้ง 4 ช่อง ส่วนเกสรเพศผู้เป็นหมันมี 3 ก้าน อยู่ด้านในสุด ลักษณะเป็นรูปร่างคล้ายหัวลูกศร มีแต่ขนและไม่มีต่อม ส่วนรังไข่เป็นรูปไข่ ไม่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ไม่มีขน ปลายเกสรเพศเมียมีลักษณะกลม ส่วนใบประดับมีลักษณะเรียวยาว ร่วงได้ง่าย และมีขนอ่อนนุ่ม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม

ดอกต้นการบูร

ดอกการบูร

  • ผลการบูร ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือกลม และเป็นผลแบบมีเนื้อ ผลเป็นสีเขียวเข้มมีขนาดยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลมีฐานดอกซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นแป้นรองรับผล ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

ผลการบูร

ลูกการบูร

  • การบูร คือผลึกที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ของต้นการบูร ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งต้น โดยมักจะอยู่ตามรอยแตกของเนื้อไม้ และมีมากที่สุดในแก่นของราก รองลงมาคือส่วนแก่นของต้น ซึ่งส่วนที่อยู่ใกล้กับโคนต้นจะมีการบูรมากกว่าส่วนที่อยู่เหนือขึ้นมา ส่วนในใบและยอดอ่อนมีการบูรอยู่น้อย โดยในใบอ่อนจะมีน้อยกว่าใบแก่ ซึ่งผงการบูรนั้นจะมีลักษณะเป็นเกล็ดกลม ๆ ขนาดเล็ก เป็นสีขาวและแห้ง อาจจับกันเป็นก้อนร่วน ๆ และแตกง่าย เมื่อทิ้งไว้ในอากาศจะระเหิดไปหมด โดยจะมีรสปร่าเมา

สรรพคุณของการบูร

  1. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (การบูร, เนื้อไม้) ช่วยแก้ธาตุพิการ (การบูร) ช่วยคุมธาตุ (เมล็ดใน, เปลือกต้น)
  2. การบูรมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจและเป็นยากระตุ้นหัวใจ (การบูร)
  3. ใช้เป็นยาระงับประสาท (การบูร)
  4. ช่วยแก้เลือดลม (การบูร) รากและกิ่งเป็นยาช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนดี (รากและกิ่ง)
  5. ช่วยแก้โรคตา (การบูร)
  6. ช่วยแก้อาการปวดฟัน (การบูร)
  7. ช่วยในการขับเหงื่อ (การบูร, เนื้อไม้)
  8. ช่วยแก้ไข้หวัด (การบูร)
  9. ช่วยแก้อาการไอ (การบูร)
  10. ช่วยขับเสมหะ ทำลายเสมหะ (การบูร, เนื้อไม้)
  11. ช่วยขับความชื้นในร่างกาย (การบูร), ช่วยขับลมชื้น (รากและกิ่ง)
  12. ช่วยขับผายลม แก้อาการจุกแน่นเฟ้อ เมื่อนำเกล็ดการบูรมารับประทานเพียงเล็กน้อย จะช่วยขับลมได้ แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน (การบูร, เนื้อไม้) เมล็ดมีสรรพคุณแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (เมล็ด) ส่วนรากและกิ่งมีสรรพคุณแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ลมขึ้น จุกเสียดแน่นหน้าอก (รากและกิ่ง)
  13. ช่วยแก้กระเพาะหรือลำไส้อักเสบ (เมล็ด)
  14. ช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องร่วง (การบูร, เนื้อไม้)แก้ปวดท้อง ปวดกระเพาะ (การบูร)แก้อาการปวดท้อง (รากและกิ่ง) ส่วนเมล็ดในมีรสฝาด เป็นยาแก้บิด ปวดเบ่ง ท้องร่วง (เมล็ดใน)
  15. เมล็ดใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้องน้อย (เมล็ด)
  16. ช่วยแก้อาการท้องเสีย อันเนื่องมาจากกระเพาะหรือลำไส้เย็นชื้น (การบูร)
  17. ช่วยฆ่าพยาธิในท้อง ใช้ทะลวงทวารบริเวณใบหน้า (การบูร)
  18. ช่วยบำรุงกำหนัด (การบูร)
  19. ช่วยขับน้ำเหลือง (การบูร)
  20. เปลือกต้นมีรสฝาด เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)
  21. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (การบูร)
  22. เปลือกต้นและใบใช้เป็นยารักษาแผลเรื้อรังเน่าเปื่อยบริเวณผิวหนัง (เปลือกต้นและใบ)
  23. ช่วยรักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง โดยเกล็ดการบูรสามารถใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง หรือใช้แก้อาการคันตามผิวหนังได้ (การบูร) รักษากลากเกลื้อน (การบูร), แก้ผดผื่นคัน (เปลือกต้นและใบ)
  24. การบูรเป็นยาช่วยระงับเชื้ออย่างอ่อน (การบูร)
  25. การบูรมีรสเผ็ดร้อนเป็นยาแก้ปวด (การบูร)
  26. การบูรใช้เป็นทาถูนวดแก้อาการปวด แก้เคล็ดขัดยอก เคล็ดบวม ข้อเท้าแพลง ข้อบวมเป็นพิษ แก้อาการปวดตามข้อ แก้ปวดเส้นประสาท ปวดขัดตามเส้นประสาท (การบูร) รากและกิ่งช่วยแก้อาการปวดเมื่อตามร่างกาย ปวดเมื่อยตามข้อมือและเท้า แก้เคล็ดขัดยอก (รากและกิ่ง)
  27. ช่วยแก้อาการชักบางประเภท แก้กระตุก เส้นสะดุ้ง (การบูร)
  28. การบูรเมื่อนำมาผสมเป็นขี้ผึ้งจะเป็นยาร้อน ใช้เป็นยาทาแก้เพื่อถอนพิษอักเสบเรื้อรัง ปวดยอกตามกล้ามเนื้อ สะบักจม ทรวงอก ปวดร้าวตามเส้นเอ็น และโรคปวดผิวหนัง (การบูร)

หมายเหตุ : การใช้ตาม  ถ้าเป็นเปลือกต้นให้ใช้ภายนอกตามความต้องการ ส่วนรากและกิ่งใช้แบบเป็นยาแห้งครั้งละ 15-30 กรัม และการใช้เกล็ดการบูรตาม  ให้ใช้ครั้งละ 2-5 มิลลิกรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าใช้ภายนอกให้นำมาแช่กับเหล้าใช้เป็นยาทาบริเวณที่ต้องการ

 ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของการบูร
  • เนื้อไม้ของต้นการบูรเมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำ จะได้การบูรและน้ำมันหอมระเหยรวมกันประมาณ 1% ซึ่งประกอบด้วย acetaldehyde, betelphenol, caryophyllen, cineole, eugenol, limonene, linalool, orthodene, p-cymol, และ salvene
  • รากของต้นการบูรมีน้ำมันหอมระเหย 3% ซึ่งประกอบไปด้วย azulene, cadinene, camphene, camphor, carvacrol, cineol, citronellol, citronellic acid, fenochen, limonene, phellandene, pinene, piperiton, piperonylic acid, safrole และ terpineol ส่วนใบของต้นการบูรพบ camphor และ camperol
  • ราก กิ่ง และใบ พบน้ำมันระเหยโดยเฉลี่ยประมาณ 3-6% โดยในน้ำมันระเหยจะมีสารการบูรอยู่ประมาณ 10-50% และพบว่าต้นการบูรยิ่งมีอายุมากเท่าไหร่ จะพบว่ามีสารการบูรมากตามไปด้วย โดยพบสาร Azulene, Bisabolone, Cadinene, Camphorene, Carvacrol, Safrol เป็นต้น
  • การบูรมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ฆ่าแมลง สร้างภูมิคุ้มกัน และลดระดับคอเลสเตอรอล
  • เมื่อนำเกล็ดการบูรมาทาผิวหน้าจะทำให้รู้สึกแสบร้อน และหากนำมาผสมกับเกล็ดสะระแหน่จะช่วยเพิ่มความรู้สึกเย็น
  • เกล็ดการบูรมีประสิทธิภาพในการช่วยกระตุ้นประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเกิดการบีบตัวและเต้นเร็วมากขึ้น ส่งผลทำให้การหายใจถี่ขึ้น

ประโยชน์ของการบูร

  1. น้ำมันการบูรจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกและทำให้จิตใจโล่งและปลอดโปร่ง ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและทำให้ตื่นตัว ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ เมารถ เมาเรือ
  2. ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่
  3. ช่วยแก้รอยผิวหนังแตกในช่วงฤดูหนาว
  4. กิ่งก้านและใบสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารและขนมได้ เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ ไส้กรอก เบคอน ข้าวหมกไก่ ลูกกวาด แยม เยลลี่ เครื่องดื่มโคคาโคลา เหล้า หรือใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องพะโล้ เครื่องแกงมัสมั่น ผงกะหรี่ คุกกี้ ขนมเค้ก ฯลฯ ใช้แต่งกลิ่นยาและใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทผักดอง ซอส เป็นต้น
  5. การบูรเมื่อนำมาวางในห้องหรือตู้เสื้อผ้าจะสามารถช่วยไล่ยุงและแมลง และยังนำมาผสมเป็นตัวดับกลิ่นอับในรองเท้าได้อีกด้วย
  6. ใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมต่าง ๆ เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาประสะไพล ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ยามันทธาตุ ยาไฟประลัยกัลป์ ยาประสะเจตพังคี ยาธรณีสัณฑะฆาต ยาธาตุอบเชย หรือนำมาใช้ทำน้ำมันไพล ลูกประคบ พิมเสนน้ำ

ข้อควรระวังในการใช้การบูร

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน และผู้ที่มีปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด เป็นโรคริดสีดวงทวาร อุจจาระแข็งแห้งไม่ควรรับประทาน
  • ห้ามใช้น้ำมันการบูรที่มีสีเหลืองและสีน้ำตาล เพราะมีความเป็นพิษ
  • เมื่อรับประทานการบูร 0.5-1 กรัม จะมีผลทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ และภายในมีอาการแสบร้อนและอาจเกิดอาการเพ้อได้
  • ถ้ารับประทานการบูร 2 กรัมขึ้นไปจะเกิดอันตรายทำให้อัตราการเต้นของหัวใจอ่อนลง
  • หากรับประทานการบูร 7 กรัมขึ้นไปจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

ชะพลู

ชะพลู สรรพคุณและประโยชน์ของชะพลู ใบชะพลู 16 ข้อ !

ชะพลู

ชะพลู ชื่อสามัญ Wildbetal leafbush

ชะพลู ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper sarmentosum Roxb. จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย (PIPERACEAE)

 

สมุนไพรชะพลู มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักพลูนก พลูลิง ปูลิง ปูลิงนก ผักปูนา (ภาคเหนือ), ผักแค ผักอีเลิด ผักนางเลิด (ภาคอีสาน), ช้าพลู (ภาคกลาง), นมวา (ภาคใต้) เป็นต้น

ชะพลู มักมีการจำสับสนกับพลูทั้งที่เป็นคนละชนิดกัน ซึ่งใบจะรสไม่จัดเท่ากับพลูและยังมีขนาดเล็กกว่า สำหรับสรรพคุณของชะพลูที่สำคัญนั้นก็ได้แก่ ช่วยบำรุงธาตุ ขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยในการขับเสมหะ เป็นต้น และประโยชน์ของชะพลูในด้านของสุขภาพนั้นก็คือ มีวิตามินเอและธาตุแคลเซียมในปริมาณสูงเป็นพิเศษ และยังมีธาตุเหล็ก ธาตุฟอสฟอรัส คลอโรฟิลล์ เส้นใยอีกด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น

ใบชะพลู หากรับประทานในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน แคลเซียมที่มีอยู่ในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ดังนั้นคุณจึงควรดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อให้สารออกซาเลตเจือจางลงและถูกขับออกทางปัสสาวะ หรือจะเลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ๆ เพื่อป้องกันโรคนิ่วก็ทำได้เหมือนกัน เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดคุณควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

ชะพลูใบชะพลู

ประโยชน์ของใบชะพลู

  1. ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ (ใบ)
  2. ใบชะพลูมีรสเผ็ดร้อน ช่วยทำให้เจริญอาหารมากยิ่งขึ้น (ใบ)
  3. ใบชะพลูมีเบต้าแคโรทีนในปริมาณมากซึ่งช่วยบำรุงและรักษาสายตา ช่วยในการมองเห็น ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน แก้โรคตาฟาง เป็นต้น (ใบ)
  4. ช่วยยับยั้งและชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง (ใบ)
  5. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ชะพลูสดทั้งต้นประมาณ 7 ต้น นำมาล้างน้ำให้สะอาด ใส่น้ำพอท่วมแล้วต้มให้เดือดสักพัก แล้วนำมาดื่มเป็นชา (ทั้งต้น)
  1. ช่วยบำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ (ราก)
  2. ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน และช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน (ใบ)
  3. ช่วยทำให้เสมหะงวดและแห้ง (ดอก, ราก)
  4. ช่วยในการขับเสมหะบริเวณทรวงอก ลำคอ (ใบ, ราก, ต้น)
  5. ช่วยในการขับเสมหะทางอุจจาระ (ราก)
  6. ช่วยในการขับถ่าย เนื่องจากมีเส้นใยในปริมาณมาก (ใบ)
  7. ช่วยแก้อาการบิด ด้วยการใช้รากประมาณครึ่งกำมือ ใช้ผลประมาณ 3 หยิบมือ นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้ว แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 ส่วน 4 ถ้วยแก้ว (ราก)
  8. ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการใช้รากประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวจนเหลือ 3 ใน 4 ถ้วยแก้วแล้วรับประทานครั้งละ 1 ส่วน 4 ถ้วยแก้ว (ราก, ทั้งต้น)
  9. ช่วยขับลมในลำไส้ ด้วยการใช้รากประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวจนเหลือ 3 ใน 4 ถ้วยแก้วแล้วรับประทานครั้งละ 1 ส่วน 4 ถ้วยแก้ว (ดอก,ราก)
  10. รากชะพลูเป็นหนึ่งในส่วนผสมของตำรับสมุนไพรพิกัดยาตรีสาร ซึ่งช่วยบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต แก้คูถเสมหะ
  11. เมนูใบชะพลู ได้แก่ แกงคั่วไก่ใบชะพลู แกงคั่วหอยขมใบชะพลู หมูห่อใบชะพลู ไข่น้ำใบชะพลู ยำตะไคร้ใบชะพลู เมี่ยงปลาเผาใบชะพลู ผัดป่าใบชะพลู แกงอ่อมใบชะพลู ยำปลาทูใบชะพลู เป็นต้น

อบเชยไทย

อบเชย สรรพคุณและประโยชน์ของอบเชย 41 ข้อ 

อบเชย

อบเชย

อบเชย ชื่อสามัญ Cinnamon, Cassia

 

อบเชย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum spp. จัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE)

สมุนไพรอบเชย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บอกคอก (ลำปาง), พญาปราบ (นครราชสีมา), สะวง (ปราจีนบุรี), กระดังงา (กาญจนบุรี), ฝักดาบ (พิษณุโลก), สุรามิด (สุโขทัย), กระแจกโมง โมงหอม (ชลบุรี), กระเจียด เจียดกระทังหัน (ยะลา), อบเชยต้น มหาปราบ (ภาคกลาง) เป็นต้น

ชนิดของอบเชย

อบเชยมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีคุณภาพที่แตกต่างกันออกไปตามสถานที่ปลูกหรือแหล่งผลิต อบเชยแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติหรือสรรพคุณทางยาที่ใกล้เคียงกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ โดยอบเชยพันธุ์ที่มีชื่อเสียงคุณภาพดีและราคาแพงที่สุด คือ อบเชยสายพันธุ์จากศรีลังกา อบเชยสายพันธุ์จากจีนจะอ่อนที่สุด ส่วนอบเชยไทยนั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะเปลือกหนาและไม่หอม[3] ส่วนอีกข้อมูลระบุนั้นว่าอบเชยญวนจะมีคุณภาพสูงสุด รองลงมาคืออบเชยจีน และอบเชยเทศ ซึ่งส่วนประกอบของสารเคมีและน้ำมันระเหยแต่ละชนิดจะไม่เท่ากัน อบเชยที่พบได้ในประเทศไทยนั้นมีมากกว่า 16 ชนิด แต่จะมีชนิดใหญ่ ๆ อยู่ 5 ชนิดด้วยกัน ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

  • อบเชยเทศ หรือ อบเชยลังกา ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum verum J.Presl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cinnamomum zeylanicum Blume) ชื่อสามัญ Ceylon cinnamon, True cinnamon เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ไม่ผลัดใบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาและหนา กิ่งขนานกับพื้นและตั้งชันขึ้น ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันตามลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ มีเส้นใบ 3 เส้น ใบค่อนข้างหนา ผิวใบเรียบเป็นมัน สีเขียมเข้ม ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองและมีกลิ่นหอม ผลเป็นสีดำมีลักษณะคล้ายรูปไข่ ผิวเปลือกเรียบบาง หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ชนิดนี้มาจากประเทศอินเดียและศรีลังกา เป็นชนิดที่มีราคาแพงที่สุด

ต้นอบเชยเทศ

ดอกอบเชยเทศ

ผลอบเชยเทศ

เมล็ดอบเชยเทศ

  • อบเชยจีน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum cassia (L.) J.Presl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cinnamomum aromaticum Nees, Cinnamomum cassia (L.) D. Don) ชื่อสามัญ Chinese cassia, Chinese cinnamom, Cassia lignea, Cassia bark, False cinnamon (ชื่ออื่น โย่วกุ้ย กวนกุ้ย อิกุ้ย (จีนกลาง) อบเชยชนิดนี้มีความสูงและขนาดของลำต้นใหญ่กว่าอบเชยเทศ มีเปลือกหนาหยาบกว่าและสีเข้มกว่าอบเชยเทศเล็กน้อย  อบเชยจีนเป็นพรรณไม้ที่พบในประเทศจีนแถบมณฑลกวงสี ยูนนาน และกวางตุ้ง โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ประมาณ 10-15 เมตร เปลือกลำต้นหนาและเป็นสีเทาเข้ม มีรอยแตกตามยาว เปลือกลำต้นมีรูปรูปกลมรี เนื้อในเปลือกเป็นสีแดงเข้ม มีกลิ่นหอมและมีรสหวาน ตามกิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ใบอบเชยจีน ใบออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหลายแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร เนื้อใบหนา มีเส้นใบตามยาว 3 เส้น หลังใบเป็นสีเขียวผิวใบเรียบมัน ส่วนท้องใบมีสีเขียมอมเทา และมีขนปกคลุมเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนดอกอบเชยจีน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือง่ามใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 10-19 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีเหลืองอมเขียว กลีบดอกคล้ายรูปหัวใจ ดอกมีกลีบดอก 6 กลีบ ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ใจกลางของดอกมีมีเกสรเพศผู้ 9 อัน และผลอบเชยจีน ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา ผลเมื่อสุกจะเป็นสีม่วงเข้ม

 

อบเชยจีน

  • อบเชยญวน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum loureiroi Nees (ชื่อสามัญ Cinnamon, Saigon Cinnamon, Vietnamese cassia) เป็นไม้ยืนต้น มีลักษณะลำต้นคล้ายคลึงกับอบเชยจีนมาก ใบเป็นใบเดี่ยวค่อนข้างบาง ลักษณะของใบเป็นรูปร่างยาวเรียว ปลายใบแหลม ดอกและผลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม แต่กลิ่นจะหอมไม่เท่ากับอบเชยเทศ มีรสหวานชนิดนี้มีรสหวานแต่ไม่ค่อยหอม ปลูกได้ดีมากในประเทศไทย และประเทศไทยเราจะส่งออกอบเชยชนิดนี้เป็นหลัก

อบเชยญวน

  • อบเชยชวา หรือ อบเชยอินโดนีเซีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum burmanni (Nees & T.Nees) Blume ชื่อสามัญ Indonesian cassia, Batavia cassia, Batavia cinnamom, Panang cinnamon เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่กว่าอบเชยที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นอบเชยที่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป แต่นิยมเรียกกันว่า อบเชยเทศ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวเรียว ปลายใบแหลม ดอกและผลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมแต่น้อยกว่าอบเชยเทศ และเป็นอบเชยที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน

ต้นอบเชยชวา

อบเชยชวา

  • อบเชยไทย คืออบเชยชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum bejolghota (Buch.-Ham.) Sweet (มีชื่อเรียกอื่นว่า เชียกใหญ่, จวงดง, เฉียด, ฝนเสน่หา, สมุลแว้ง, มหาปราบ ) หรือเป็นอบเชยที่ได้จากต้น "อบเชยต้น" (Cinnamomum iners Reinw. ex Blume.) โดยอบเชยต้นนั้นมีชื่อสามัญว่า Cinnamom และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น ๆ อีกว่า บอกคอก (ลำปาง), พญาปราบ (นครราชสีมา), กระดังงา (กาญจนบุรี), สะวง (ปราจีนบุรี), ฝักดาบ (พิษณุโลก), กระแจะโมง กะเชียด กะทังนั้น (ยะลา), มหาปราบตัวผู้ อบเชย อบเชยต้น (ภาคกลาง), เขียด เคียด เฉียด ชะนุต้น (ภาคใต้), ดิ๊กซี่สอ กัวเล่ะบิ๊ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), กะพังหัน โกเล่ เนอม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เสี้ยง (ม้ง), ม้าสามเอ็น (คนเมือง), เชียด) อบเชยชนิดจะพบได้ในป่าเขาที่ยังอุดมสมบูรณ์หรือป่าดงดิบทั่วไปในประเทศไทย[8],[9] จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปเจดีย์ต่ำ ๆ ทึบ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลอมเทา เปลือกและใบมีกลิ่นหอม ใบอบเชยไทย ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-25 เซนติเมตร แผ่นใบหนา เกลี้ยง แข็ง และกรอบ เส้นใบออกจากโคนมี 3 เส้น ยาวตลอดจนถึงปลายใบ ด้านล่างเป็นคราบขาว ก้านใบยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ดอกอบเชยไทย ออกดอกเป็นช่อแบบกระจายที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นเหม็น ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอ่อน ผลอบเชยไทย ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลแข็ง ตามผิวผลมีคราบขาว แต่ละมีเมล็ดเดียว ฐานรองรับผลมีลักษณะเป็นรูปถ้วย (อบเชยไทยเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดระนอง )

ต้นอบเชยไทย

ดอกอบเชยไทย

ลักษณะของอบเชย

อบเชยเป็นเครื่องยาหรือเครื่องเทศที่ได้มาจากการขูดเอาเปลือกชั้นออกให้หมด แล้วลอกเปลือกชั้นในออกจากแก่นลำต้น โดยใช้มีดกรีดตามยาวของกิ่ง แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มสลับกับตากแดดประมาณ 5 วัน และในขณะที่ตากให้ใช้มือม้วนเอาขอบทั้งสองข้างเข้าหากัน เมื่อเปลือกแห้งแล้วจึงมัดรวมกัน โดยเปลือกอบเชยที่ดีนั้นจะต้องเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีสนิม มีความตรงและยางอย่างสม่ำเสมอ โดยยาวประมาณ 1 เมตร มีรสสุขุม เผ็ด หวานเล็กน้อย และมีกลิ่นหอมแบบเฉพาะ

อบเชยเทศ

สรรพคุณของอบเชย

  1. เปลือกต้นและเนื้อไม้ มีรสเผ็ด หวานชุ่ม มีกลิ่นหอม เป็นยาร้อนออกฤทธิ์ต่อไต ม้าม และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยกระจายความเย็นในร่างกาย ทำให้เลือดหมุนเวียนดี (เปลือกต้นและเนื้อไม้)
  2. เปลือกต้นใช้ปรุงผสมเป็นยาหอมและยานัตถุ์ ทำให้สดชื่น แก้ปวดศีรษะ แก้อาการอ่อนเพลีย (เปลือกต้น)
  3. ช่วยบำรุงดวงจิต บำรุงธาตุ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย (เปลือกต้น) ส่วนใบอบเชยต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ และบำรุงกำลัง (ใบอบเชยไทย)
  4. รากอบเชยเทศ มีสรรพคุณช่วยปลุกธาตุให้เจริญ แก้พิษร้อน ส่วนเปลือกต้นอบเชยเทศมีสรรพคุณปลุกธาตุอันดับให้เจริญ (เปลือกต้นอบเชยเทศ,รากอบเชยเทศ)
  5. อบเชยจีนมีรสเผ็ดอมหวาน มีฤทธิ์ร้อน ช่วยบำรุงธาตุไฟในระบบไต ตับ ม้าม และหัวใจ (เปลือกต้นอบเชยจีน)
  6. อบเชยสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ ด้วยการใช้ผงอบเชยที่หาซื้อได้ทั่วไปที่เป็นแท่งนำมาบด โดยให้ใช้ผงอบเชยหนัก 1 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น (เปลือกต้น)
  7. ใช้ปรุงเป็นยานัตถุ์รับประทานแก้เบื่ออาหาร (เปลือกต้น) เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ และช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้นอบเชยไทย)
  8. อบเชยมีสรรพคุณช่วยทำให้ร่างกายมีความสามารถในการใช้อินซูลินเพื่อการสันดาปกลูโคสได้ดีขึ้น อบเชยสามารถลดการดื้ออินซูลินทำให้เซลล์ต่าง ๆ นำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานให้หมดไปไม่ค้างอยู่ในเลือด สมุนไพรอบเชยจึงเหมาะสมกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน ให้ใช้อบเชยวันละ 1 ช้อนชา หรือประมาณ 1,200 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งการรับประทานออกเป็น 4 มื้อ ซึ่งจะได้ผงอบเชยในปริมาณ 300 มิลลิกรัม หรือมีขนาดเท่ากับแคปซูลเบอร์ 1 แต่สำหรับผู้ไม่เป็นเบาหวานสามารถกินได้วันละ 500-600 มิลลิกรัม หรือประมาณวันละ 2 แคปซูล (เปลือกของกิ่ง)
  9. ช่วยย่อยสลายไขมัน ควบคุมระดับไขมันในเลือด และคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ให้มีระดับต่ำลง (เปลือกต้น)
  10. ช่วยต้านมะเร็ง เพราะมสารคลีเซอไรซินเข้มข้น (เปลือกต้น)
  11. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้สันนิบาต แก้อาการหวัด แก้อาการไอ (เปลือกต้น)เมล็ดนำมาทุบให้แตกผสมกับน้ำผึ้ง ให้เด็กกินเป็นยาแก้ไอ (เมล็ดอบเชยไทย)
  12. รากและใบ ใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้เนื่องจากความอักเสบของสตรีที่คลอดบุตรใหม่ ๆ (รากและใบอบเชยไทย)
  13. ช่วยแก้ไอเย็น หืดหอบเนื่องมาจากลมเย็นกระทบ (เปลือกต้นและเนื้อไม้)
  14. ตำรับยาแก้อาการไอหอบหืด ให้ใช้อบเชยจีน หู่จื้อ เจ็กเสี่ย เปลือกโบตั๋น อย่างละ 3-5 กรัม ซัวจูยู้ ซัวเอี๊ยะ หกเหล็ง อย่างละ 6 กรัม และเส็กตี่ 12 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน หรือทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)
  15. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียน (เปลือกต้น) ส่วนใบสามารถนำมาปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียนได้เช่นกัน (ใบอบเชยไทย)
  16. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เปลือกต้น)
  17. รากใช้ปรุงเป็นยาแก้อาการปวดฟัน (รากอบเชยไทย)
  18. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาน้ำ แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยขับผายลม อาหารไม่ย่อย (เปลือกต้น)ส่วนใบใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้จุกเสียดแน่นท้องและลงท้อง (ใบอบเชยต้น)
  19. ช่วยแก้อาการท้องร่วง แก้ท้องเสีย แก้ท้องเสียในเด็ก แก้บิด ลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ ลำไส้อักเสบ (เปลือกต้น) เมล็ดอบเชยไทย นำมาทุบให้แตกผสมกับน้ำผึ้งให้เด็กกินเป็นยาแก้บิด (เมล็ดอบเชยไทย)
  20. เปลือกต้นใช้แทน Cinnamon เคี้ยวกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (เปลือกต้นอบเชยไทย)
  21. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (เปลือกต้น)
  22. แก้โรคกระเพาะ ปวดกระเพาะหรือถ่าย เนื่องจากลมเย็นชื้นหรือลมเย็นที่ทำให้มีอาการปวดและท้องเสีย ให้ใช้อบเชยจีน 2-3 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)
  23. ยาชงจากเปลือกต้น ใช้กินเป็นยาถ่าย (เปลือกต้นอบเชยไทย)
  24. ช่วยขับพยาธิ (เปลือกต้น)
  25. ช่วยขับปัสสาวะ (เปลือกต้น)
  26. ช่วยแก้ไตหย่อน ปัสสาวะไม่รู้ตัว หรือปัสสาวะบ่อย ให้ใช้อบเชยจีน หู่จื้อ เจ็กเสี่ย เปลือกโบตั๋น อย่างละ 3-5 กรัม ซัวจูยู้ ซัวเอี๊ยะ หกเหล็ง อย่างละ 6 กรัม และเส็กตี่ 12 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน หรือทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทาน (เปลือกต้นอบเชยจีน)
  27. เปลือกนำมาต้มหรือทำเป็นผง ใช้แก้โรคหนองในและแก้โทษน้ำคาวปลา (เปลือกต้นอบเชยไทย)
  28. เปลือกต้นนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยรักษาแผลกามโรค (เปลือกต้น)
  29. ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (เปลือกต้น)
  30. รากนำมาต้มให้สตรีกินหลังการคลอดบุตร และลดไข้หลังการผ่าตัด (รากอบเชยไทย)
  31. น้ำต้มเปลือกต้นใช้ดื่มเป็นยาแก้ตับอักเสบ (เปลือกต้น)
  32. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาห้ามเลือด ช่วยสมานแผล (เปลือกต้น)
  33. ใบอบเชยเทศมีสรรพคุณเป็นยาฆ่าเชื้อ (ใบอบเชยเทศ)
  34. น้ำมันอบเชยเทศมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อรา แต่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง (เข้าใจว่าคือน้ำมันจากเปลือกต้น)
  35. น้ำยางจากใบใช้เป็นยาทาแผลถอนพิษของยางน่อง (ใบอบเชยไทย)
  36. ใบใช้ตำเป็นยาพอกแก้อาการปวดรูมาติสซั่ม (ใบอบเชยไทย)
  37. ช่วยแก้อาการปวด แก้ปวดหลัง ปวดเอวเนื่องจากไตหย่อน ไม่มีกำลัง แก้ปวดตามข้อ ปวดตามบ่าหรือไหล่ (เปลือกต้นและเนื้อไม้)
  38. คนเมืองจะใช้รากอบเชยไทย นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว (รากอบเชยไทย)
  39. ช่วยแก้ลมอัณฑพฤกษ์ (เปลือกต้น)
  40. รากมีรสหอมสุขุม มีสรรพคุณช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (รากอบเชยเทศ)
  41. อบเชยจัดอยู่ในพิกัดยาไทยร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ หลายตำรับ ได้แก่ พิกัดตรีธาตุ (เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้ไข้ แก้เสมหะ), พิกัดตรีทิพย์รส (เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ), พิกัดจตุวาตะผล(เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้พรรดึก ขับผายลม แก้ลมกองริดสีดวง แก้ตรีสมุฏฐาน), พิกัดทศกุลาผล (เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้เสมหะ บำรุงปอด ขับลมในลำไส้ แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต) เป็นต้น

 

จันทน์หอม

จันทน์หอม ไม้มงคลชั้นสูง

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ โดยวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระโกศจันทน์ พระหีบจันทน์ และท่อนฟืนไม้จันทน์ นับเป็นสิ่งสำคัญในการพระราชพิธี ซึ่งล้วนทำจากไม้จันทน์หอมทั้งสิ้น

ผู้เขียนได้ทำจดหมายขอข้อมูลไม้จันทน์หอมไปถึงอธิบดีกรมป่าไม้ นายชลธิศ สุรัสวดี ท่านอธิบดีได้ส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์และครอบคลุมทุกด้าน จึงขอนำข้อมูลทั้งหมดมาเผยแพร่ ดังนี้

ไม้จันทน์หอมเป็นไม้มีค่าที่หายากชนิดหนึ่ง จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูง ใช้ในพระราชประเพณีตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชประเพณีเกี่ยวกับพระบรมศพ โดยนำเอาไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายเองตามธรรมชาติ ซึ่งเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มาสร้างพระลองประดับพระโกศพระบรมศพ ตลอดจนใช้ทำฟืน และดอกไม้จันทน์ในพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ (ณัฏฐภัทร, ๒๕๓๙)

ไม้จันทน์หอมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้อไม้แข็ง ละเอียด กระพี้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีน้ำตาลเข้ม ไสกบ ตบแต่งง่าย ขัดเป็นเงาสวยงามมาก นิยมใช้สร้างบ้านหรือตำหนักของเจ้านายสมัยก่อน ทั้งโครงสร้างบ้านทั่วไปภายในและภายนอก โดยเฉพาะพื้นบ้านจะนิยมกันมาก นอกจากนี้แล้วไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายเองตามธรรมชาติเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จึงนิยมเก็บมาเป็นไม้หอมที่มีราคาสูงมาก เพื่อนำมากลั่นเป็นน้ำหอม ใช้ทำเครื่องหอม ธูปหอม ตลอดจนเป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย

ไม้จันทน์หอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mansonia gagei Drumm. วงศ์ STERCULIACEAE และมีชื่ออื่นๆ ที่เรียกกันทั่วไปว่า จันทน์ จันทน์ชะมด จันทน์ขาวหรือจันทน์พม่า (เต็ม, ๒๕๒๓)

ไม้จันทน์หอมเป็นไม้คนละชนิดกับจัน หรือจันอิน-จันโอ (Diospyros decandra Lour.) และเป็นคนละชนิดกับไม้กฤษณา (Aquilaria malaccensis) ซึ่งบางท่านก็เรียกว่าไม้หอมเช่นกัน

ไม้จันทน์หอมเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๓๐ เมตร พบขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาหินปูน ในจังหวัดนครราชสีมา สระบุรี ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ในต่างประเทศพบในพม่าและอินเดีย (เต็ม, ๒๕๒๓)

ลำต้น…มีลักษณะเปลา ตรง เปลือกสีเทาอมขาว หรือเทาอมน้ำตาล แตกเป็นร่อง เปลือกชั้นในเมื่อถากใหม่ๆ จะมีสีขาว ทิ้งไว้แห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนประปราย

ใบ…เป็นชนิดใบเดี่ยว ติดเรียงสลับ ทรงใบรูปมนแกมรูปหอก แขนงใบออกสีดำ ท้องใบมีขนสีอ่อนๆ ประปราย หลังใบเกลี้ยง ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ ขนาดใบกว้าง ๓-๖ เซนติเมตร ยาว ๘-๑๔ เซนติเมตร โคนใบตัดหรือเว้าเข้าเล็กน้อย และจะเบี้ยวเล็กน้อย ปลายใบสอบแหลมทู่ๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา ใบอ่อนมีขนประปราย ใบแห้งออกสีเขียวอ่อนๆ เส้นใบออกจากจุดโคนใบ ๓ เส้น เส้นแขนงใบมี ๔-๖ คู่ ก้านใบยาว ๕-๑๐ มิลลิเมตร มีขนประปราย และจะออกสีดำคล้ำเมื่อใบแห้ง

ดอก…เป็นดอกขนาดเล็ก สีเหลืองอ่อนๆ หรือสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้ๆ ปลายกิ่ง ช่อยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร โดยกลีบฐานดอกติดกันเป็นรูปเหยือก ปลายแยกเป็นแฉกแหลมๆ ๕ แฉก ทั้งหมดยาว ๑๐-๑๓ มิลลิเมตร เกสรตัวผู้มี ๑๐ อัน และในจำนวนนี้จะมีเกสรตัวผู้เทียมเสีย ๕ อัน รังไข่มี ๕ พู รวมเบียดกันเป็นรูปเหยือกน้ำ มีขนคลุมแน่น แต่ละพูเป็นอิสระแก่กัน และต่างก็มีหลอดท่อรังไข่ ๑ หลอด ในแต่ละพูมีช่อเดียว และมีไข่อ่อน ๑ หน่วย ออกดอกระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน

ผล…เป็นผลประเภทผลแห้งแก่แล้วไม่แตก มีปีกเดียว ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่มีสีเหลืองอ่อนจนเป็นสีน้ำตาล ผลมักติดกันเป็นคู่ๆ แต่ไม่ติดเป็นเนื้อเดียวกัน ทรงผลรูปกระสวยเล็กๆ กว้าง ๕-๗ มิลลิเมตร ยาว ๑๐-๑๕ มิลลิเมตร ส่วนปลายของผลมีครีบเป็นปีกรูปสามเหลี่ยม ๑ ปีก กว้าง ๑-๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๒.๕-๓ เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ ๕ มิลลิเมตร มีจำนวนผลเฉลี่ยประมาณ ๒,๖๔๓ ผล/กิโลกรัม และผลจะแก่ประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม

เมล็ด…มีเปลือกบางๆ หุ้มภายในผล ผลหนึ่งมี ๑ เมล็ด จำนวนเมล็ดประมาณ ๓,๕๖๕ เมล็ด/กิโลกรัม หรือน้ำหนักของเมล็ดจำนวน ๑,๐๐๐ เมล็ด เท่ากับ ๒๘๐.๐๕ กรัม ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเมล็ดประมาณเดือนมกราคม (คงศักดิ์, ๒๕๕๐)

ประโยชน์ ปรากฏหลักฐานการใช้ประโยชน์จากไม้จันทน์หอมมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล กล่าวคือ มักจะใช้จตุชาติสุคนธ์ คือ ของหอมธรรมชาติ ๔ อย่าง ได้แก่ กลิ่นของกฤษณา กะลำภัก จันทน์หอม และดอกไม้หอม ประพรมในพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีมงคลถวายพระนามเจ้าชายสิทธัตถะในปฐมวัย นอกจากนี้ยังพบประวัติการใช้ไม้หอมในประเทศไทยยาวนานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นสินค้าหลักแล้วยังใช้เป็นเครื่องบรรณาการอีกด้วย

เนื้อไม้นิยมใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า ทำเครื่องกลึง แกะสลักทำเสาหลักเมือง ทำหวี ธูป น้ำหอม เครื่องหอม เครื่องสำอางต่างๆ น้ำอบไทย และใช้ทำยาสมุนไพร น้ำมันที่กลั่นจากเนื้อไม้ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ใช้เป็นยาบำรุงประสาท เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้ดี แก้กระหายน้ำ อ่อนเพลีย นอกจากนี้แล้ว ขี้เลื่อยยังใช้ทำธูปหอม และที่สำคัญ คือ ดอกไม้จันทน์ที่นิยมใช้ในการเคารพศพในพิธีเผาศพทั่วๆ ไป ตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถหาไม้จันทน์หอมมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้จันทน์ได้ แต่ยังคงเรียกดอกไม้จันทน์ โดยการประยุกต์มาใช้ไม้อื่นๆ เช่น ไม้โมก หรือไม้ตีนเป็ดแทนไม้จันทน์หอม หรือบางครั้งอาจใช้กระดาษเป็นกลีบดอกแทนก็มีให้เห็นในปัจจุบัน