• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

ดอกคำใต้

กระถินเทศ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระถินเทศ

กระถินเทศ

กระถินเทศ ชื่อสามัญ Cassie, Cassie Flower, Huisache, Needle Bush, Sponge Tree, Sweet Acacia, Thorny Acacia

กระถินเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia farnesiana (L.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

สมุนไพรกระถินเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เกากรึนอง (กาญจนบุรี), บุหงาอินโดนีเซีย (กรุงเทพฯ), บุหงาละสะมะนา บุหงาละสมนา (ปัตตานี), กระถินเทศ กระถินหอม คำใต้ ดอกคำใต้ (ภาคเหนือ), กระถิน (ภาคกลาง), ถิน (ภาคใต้), กะถิ่นเทศ กะถิ่นหอม (ไทย), มอนคำ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), บุหงาเซียม (มลายู-ภาคใต้), อะเจ๋าฉิ่ว (จีน-แต้จิ๋ว), ยาจ้าวซู่ จินเหอฮวน (จีนกลาง) เป็นต้

หมายเหตุ : พรรณไม้ชนิดนี้เคยใช้ชื่อ Acacia farnesia (L.) Willd. มาจนถึงปี ค.ศ.2005 แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาอยู่ในสกุล Vachellia แล้วพร้อมกับชนิดอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตามอาจมีการเปลี่ยนกลับไปอยู่ในสกุลเดิมก็เป็นได้

ลักษณะของกระถินเทศ

  • ต้นกระถินเทศ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มผลัดใบขนาดย่อม กิ่งมักคดไปมาแต่จะยืดจนเกือบตรงเมื่อต้นเจริญเติบโตขึ้น ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 2-4 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม กิ่งออกในลักษณะซิกแซ็ก เปลือกต้นเป็นสีคล้ำน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและดินเหนียวที่อุ้มน้ำได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง ควรปลูกในที่มีแสงแดดทั้งวัน มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ พบขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไปในเขตร้อน

ต้นกระถินเทศ

สมุนไพรกระถินเทศ

  • ใบกระถินเทศ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาวประมาณ 1-1.3 เซนติเมตร มีต่อมบนก้านใบ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.4 มิลลิเมตร ไม่มีต่อมบนแกนกลางใบ ช่อใบย่อยมี 4-7 คู่ ยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ก้านใบประกอบย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนใบย่อยออกเรียงตรงข้ามกัน มีประมาณ 10-20 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปดาบ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม เบี้ยว ปลายเป็นติ่ง โคนใบตัด ไร้ก้าน ใบย่อยเป็นสีเขียวแก่มีขนาดยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร โคนก้านใบมีหูใบแปลงรูปเป็นหนามแหลมตรงและแข็ง 1 คู่ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร

ใบกระถินเทศ

หนามกระถินเทศ

  • ดอกกระถินเทศ ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่น มีลักษณะเป็นพุ่มกลม มีหลายช่อออกเป็นกระจุก ก้านช่อยาวประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตร ช่อดอกทรงกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร ที่โคนช่อมีวงใบประดับขนาดเล็ก 4-5 ใบ ดอกย่อยไร้ก้าน ใบประดับ 1 ใบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขน กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.3-1.5 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.2 มิลลิเมตร เกลี้ยง ส่วนกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีเหลืองสด และมีกลิ่นหอมมาก ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกจรดโคน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3.5-5.5 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่ยาวได้ประมาณ 1.5 มิลลิเมตร เกือบไร้ก้าน เกลี้ยง และมีขนละเอียด ก้านเกสรเพศเมียมีลักษณะเรียวยาว ขนาดยาวเท่า ๆ เกสรเพศผู้ ยอดเกสรมีขนาดเล็ก จะให้ดอกเมื่อต้นมีอายุประมาณ 3 ปี โดนจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม

รูปกระถินเทศ

ดอกกระถินเทศ

  • ผลกระถินเทศ ออกผลเป็นฝัก ฝักมีลักษณะกลมเป็นรูปทรงกระบอก ยาวได้ประมาณ 2-9 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ฝักจะตรงหรือโค้งงอเล็กน้อย ผิวฝักหนาเกลี้ยง เมื่อฝักแก่จะไม่แตก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 15 เมล็ด เรียงเป็น 2 แถว เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี แบนเล็กน้อย ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีรอย (pleurogram) รูปรี ยาว 6-7 มิลลิเมตร

ฝักกระถินเทศ

ผลกระถินเทศ

เมล็ดกระถินเทศ

สรรพคุณของกระถินเทศ

  1. ตำรายาไทยจะใช้รากกระถินเทศกินเป็นยาอายุวัฒนะ (ราก)
  2. หากเป็นวัณโรคมีร่างกายอ่อนแอ ให้ใช้รากแห้งประมาณ 15-30 กรัม ต้มเอาน้ำตุ๋นกับเป็ด หรือไก่ หรือเต้าหู้ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ใช้กินวันละครั้ง (รากแห้ง)
  3. เมล็ดนำมาบดให้เป็นผง หรือคั่วกินเป็นอาหารปกติ จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (เมล็ด)
  4. ยาขี้ผึ้งจากดอกใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ (ดอก)
  5. เปลือกใช้เป็นยาแก้ไอ (เปลือก)
  6. ยางจากรากใช้อม กิน เคี้ยวเป็นยาแก้ไอ แก้เจ็บคอ ช่วยทำให้คอชุ่ม (ยางจากราก) หรือใช้ยางเข้ายาแก้ไอ บรรเทาอาการระคายคอ (ยาง)

กระดังงาไทย

กระดังงา สรรพคุณและประโยชน์ของกระดังงาไทย

กระดังงาไทย

กระดังงาไทย ชื่อสามัญ Cananga, Ylang-Ylang, Ilang-Ilang (อิลาง-อิลาง)

กระดังงาไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Uvaria odorata Lam.) จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)

สมุนไพรกระดังงาไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดังงา (ยะลา, ตรัง), กระดังงาใบใหญ่ กระดังงาใหญ่ (ภาคกลาง), สะบันงา สะบันงาต้น (ภาคเหนือ) เป็นต้น

ลักษณะของต้นกระดังงา

  • ต้นกระดังงาไทย จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 15-20 เมตร  เรือนยอดเป็นทรงพุ่มแน่น แตกกิ่งก้านสาขามาก แผ่ออกจากต้นมักลู่ลง เปลือกต้นเป็นสีเทาเกลี้ยงหรือสีเงิน พบรอยแผลใบขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป ส่วนที่ยังอ่อนจะมีขนขึ้นปกคลุม สามารถขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือตอนกิ่ง ออกดอกและผลได้ตลอดทั้งปี

ใบกระดังงาไทย ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวอ่อน ออกแบบเรียงสลับในลักษณะห้อยลง ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบมนกลมหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4-9 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบ 5-9 คู่ เป็นร่องส่วนบนของใบและนูนเด่นชัดด้านล่างของใบ เส้นกลางใบเห็นได้ชัดเจน ผิวใบบางเรียบและนิ่ม ใบอ่อนมีขนขึ้นทั้งสองด้าน ส่วนใบแก่มักมีขนมากตามเส้นแขนงใบ ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร

ดอกกระดังงาไทย ออกเป็นช่อขนาดใหญ่บนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกแยกแขนง ในช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 3-6 ดอก ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีขน ก้านดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือสีเขียว มีกลิ่นหอมมาก กลีบยาวอ่อนมี 6 กลีบ กลีบดอกห้อยลง กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ชั้นและ 3 ชั้น กลีบดอกชั้นนอกมีลักษณะแคบ ยาว ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย (เป็นคลื่นน้อยกว่ากระดังงาสงขลา) กลีบดอกมีขนาดยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในมีลักษณะสั้นและแคบกว่าเล็กน้อย โคนกลีบดอกจะซ้อนทแยงอยู่ใต้รังไข่ กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร มีขนขึ้นปกคลุม ปลายกลีบเลี้ยงกระดกขึ้น รังไข่มีจำนวนมาก เกสรเพศผู้มีจำนวนมากเบียดกันเป็นตุ้มแป้นทรงกลมตรงกึ่งกลางดอก

ผลกระดังงาไทย ออกเป็นผลกลุ่มมีประมาณ 4-12 ผล ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ก้านช่อผลยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลยาวประมาณ 1.3-2 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดลักษณะรูปไข่แบน สีน้ำตาล ประมาณ 2-12 เมล็ด

สรรพคุณของกระดังงา

  • เปลือกต้นกระดังงา มีรสฝาดเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้อาการท้องเสีย ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
  • เนื้อไม้กระดังงา มีรสขมเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ
  • รากกระดังงา มีสรรพคุณเป็นยาคุมกำเนิด
  • ใบกระดังงา ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้อาการคัน และใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
  • ดอกกระดังงา มีรสหอมสุขุม มีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน ใช้ปรุงเป็นยาหอม ใช้เป็นยาชูกำลัง ทำให้หัวใจชุ่มชื่น บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้อาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำ จัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเกสรทั้ง 7” (สัตตะเกสร) และ “พิกัดเกสรทั้ง 9” (เนาวเกสร) ช่วยแก้อาการไข้เนื่องจากโลหิตเป็นพิษ และมีปรากฏในตำรายาแผนโบราณชื่อคัมภีร์มหาโชติรัตน์ ยาชื่อมาลาสันนิบาต ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมจุกคอ แก้อาการแน่นหน้าอก แก้จุกเสียดและแก้สะอึก
  • เกสรกระดังงา มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร และใช้แก้โรคตา
  • น้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณเป็นยาขับลม ฆ่าเชื้อโรค ช่วยบำรุงประสาท สงบประสาท แก้อาการซึมเศร้า กระวนกระวายใจ แก้หอบหืด ช่วยลดความดันโลหิต

ประโยชน์ของกระดังงา

  1. คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นกระดังงาไว้ประจำบ้านจะช่วยทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง เนื่องจาก "กระดัง" คือการทำให้เกิดเสียงดังไปไกล นอกจากนี้ยังเชื่อด้วยว่า เสียงดังเหมือนกับนกการเวกในสมัยพุทธกาลที่มีเสียงดังไพเราะและก้องไกลทั่วสวรรค์ ดังนั้นบางคนจึงเรียกกระดังงาว่า การเวก
  2. คนไทยโบราณจะใช้ดอกกระดังงานำมาทอดกับน้ำมันมะพร้าวทำเป็นน้ำมันใส่ผม
  3. ดอกแก่จัดสด ๆ สามารถนำมารมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียน เพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตกออกและส่งกลิ่นหอมออกมา แล้วนำไปเสียบไม้ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้งในตอนเช้า แล้วนำน้ำไปเป็นน้ำกระสายยา หรือนำไปคั้นกะทิ หรือทำเป็นน้ำเชื่อมปรุงขนมต่าง ๆ
  4. ดอกแห้งใช้ผสมกับดอกไม้หอมอื่น ๆ สำหรับทำบุหงา
  5. น้ำมันหอมใช้ปรุงเป็นน้ำหอมชั้นสูงที่มีราคาแพง ใช้ปรุงขนม น้ำอบ และอาหาร
  6. น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากดอก (Cananga oil หรือ Ylang-ylang oil) ถูกนำมาใช้ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) ใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอาง หรือทำเป็นเครื่องหอมต่าง ๆ
  7. เปลือกสามารถนำมาทำเป็นเชือกได้

บัวสวรรค์

บัวสวรรค์


          “บัวสวรรค์ หรือ “กัตตาเวีย” เป็นพืชดอกที่มีถิ่นกำเนิดมาจากตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันออก โคลัมเบีย คอสตาริกาและปานามา ซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น ใกล้เส้นศูนย์สูตร ดังนั้นการนำมาปลูกในบ้านเราจึงเป็นเรื่องไม่ยากและสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยสามารถออกดอกได้เหมือนกับต้นที่ปลูกในถิ่นกำเนิด
● ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gustavia gracillima Miers
● วงศ์ : LECYTHIDACEAE
● ชื่อสามัญ : Gustavia, Gutzlaffia
● ชื่ออื่นๆ : บัวสวรรค์, บัวฝรั่ง
● ถิ่นกำเนิด : ตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันออก โคลัมเบีย
● ประเภท : ไม้พุ่มสูงหรือหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 2-5 เมตร
● ลักษณะทั่วไป :
          ต้น : เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม ลำต้นตรง รอบลำต้นกว้างประมาณ 30 เซนติเมตรหรือ 1 ฟุต แต่ลำต้นอาจจะใหญ่กว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและท้องถิ่นที่ปลูก ตามลำต้นจะมีตุ่มปมขนาดต่างๆ ปรากฏอยู่ทั่วไปรอบลำต้น ผิวลำต้นหยาบขรุขระ
          ใบ : เป็นใบเดี่ยวรูปหอก เวียนเรียงสลับเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ขอบใบเป็นคลื่น โคนสอบ ปลายแหลมยาวคล้ายหาง ผิวใบมันสีเขียว ไม่ผลัดใบ ขนาดใบกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 13-25 เซนติเมตร
          ดอก : กลีบดอกหนา ซ้อนเหลื่อมกัน ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบใกล้ยอด สีชมพูอ่อนมีกลีบดอก 8-9 กลีบ ลักษณะค่อนข้างกลม ขอบกลีบเป็นคลื่นหยัก งอ ปลายกลีบจะมีสีเข้มกว่าโคนกลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางดอก 7-10 เซนติเมตร มีเส้นเกสรจำนวนมากอยู่ตรงกลาง ดอกคล้ายดอกบัวหลวงแต่ใหญ่และสวยกว่ามาก แต่ดอกมักออกซ่อนอยู่ภายในทรงพุ่ม ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่พบดอกที่กำลังบาน โดยส่วนใหญ่จะรู้ว่าต้นออกดอกก็เมื่อเห็นกลีบดอกที่ร่วงลงบนพื้นแล้ว เมื่อกลีบดอกและเกสรร่วงจะเหลือแต่ด้านในที่เป็นฝักสีเขียว น้ำหวานจากดอกมีความหวานมาก มีกลิ่นหอมช่วงกลางวัน ดอกบานและร่วงภายใน 1 - 2 วันเท่านั้น
          ผล : ผลบัวสวรรค์จะมีลักษณะคล้ายรูประฆังคว่ำขนาด 3-4.5 เซนติเมตร มีเนื้อกลมคล้ายลูกข่าง ปลายผลตัดแบน ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลอมเขียว ผิวขรุขระไม่เรียบ ภายในผลมีเนื้อสีเหลืองและมีเมล็ด 3 เมล็ด
          เมล็ด : สีดำผิวเกลี้ยงเป็นมัน รูปไข่เบี้ยว ที่ขั้วผลมีเนื้อสีเหลืองติดอยู่ กว้าง 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.7-2.0 เซนติเมตร
● ฤดูการออกดอก : ออกดอกช่วงฤดูฝน (มิ.ย. - ต.ค.)
● การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ด, ตอนกิ่งและปักชำ
          - การเพาะเมล็ด ตามธรรมชาติเมล็ดของบัวสวรรค์มีขนาดใหญ่และหนัก จึงไม่สามารถกระจายออกไปไกลจากโคนต้นได้มากนัก เมื่อผลเน่าเสียเมล็ดจะถูกฝังลงดินและงอกเป็นต้นอ่อนขึ้นมา ต้นจากการเพาะเมล็ดจะใช้เวลาในการออกดอกถึงห้าปี ช้ากว่าต้นจากการปักชำหรือตอนกิ่ง
● การดูแลรักษา :  
          - เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ดูแลง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม ชอบแสงแดดจัดและน้ำปานกลางถึงมาก
          - ชอบแดดรำไรถึงแดดจัด หมั่นรดน้ำพรวนดินบ้าง
● ข้อดีของพันธุ์ไม้ :       
          1.เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ดูแลง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม แข็งแรงไม่ต้องดูแลมาก เป็นต้นไม้ที่น่าปลูกประดับบ้านเป็นอย่างยิ่ง
          2.ใบไม่ค่อยร่วง ใบหนาทึบเหมาะกับการปลูกกรองแสงลดความร้อมเข้าตัวบ้าน
          3.ดอกสวยหอมชื่นใจ มีดอกคล้ายดอกบัว เมื่อดอกโรยจะมีผลคล้ายฝักบัวอีกด้วย กลิ่นหอมอ่อนๆ เหมือนดอกบัว 
● สรรพคุณ :
          ใบ : ในสมัยโบราณ ชาวอินเดียนแดงใช้ใบต้มทำยาแก้พิษจากการถูกธนูพิษยิงและแก้พิษไข้ แก้หวัด
          ดอก : น้ำจากก้านดอกอ่อน นำไปหมักแล้วกลั่นรับประทาน บำรุงโลหิตและบำรุงธาตุ
● การใช้ประโยชน์ : ใช้เป็นไม้ประดับ ใบเขียวตลอดปีช่วยให้บ้านดูร่มรื่นเย็นสบาย
          ต้น : ลำต้นที่ตรงใช้ได้ดีสำหรับการก่อสร้าง
          เยื่อไม้ : ใช้ทำด้าย
 
 

เคี่ยม

เคี่ยม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเคี่ยม

เคี่ยม

เคี่ยม ชื่อสามัญ Resak tembaga

เคี่ยม ชื่อวิทยาศาสตร์ Cotylelobium lanceolatum Craib (ส่วนอีกข้อมูลใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cotylelobium melanoxylon (Hook.f.) Pierre) จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)

สมุนไพรเคี่ยม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เคี่ยม (ทั่วไป), เคี่ยมขาว เคี่ยมดำเคี่ยมแดง (ภาคใต้) เป็นต้น

ลักษณะของต้นเคี่ยม

  • ต้นเคี่ยม จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 20-40 เมตร ลักษณะเรือนยอดเป็นพุ่มทึบ รูปเจดีย์แบบต่ำ ๆ ส่วนเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล เปลือกเรียบ มีรอยด่างสีเทาและสีเหลืองสลับกัน และมีต่อมระบายอากาศกระจายอยู่ทั่วไป เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีชันใสตามลำต้นและจะจับกันเป็นก้อนสีเหลืองเมื่อทิ้งไว้นาน ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด (โดยเด็ดปีกออกก่อนการนำไปเพาะ) และวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนและดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นสูงและแสงแดดปานกลาง โดยต้นเคี่ยมสามารถพบขึ้นได้ทั่วไปตามป่าดงดิบทางภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป และทางภาคใต้ของพม่าลงไปจนถึงภาคเหนือของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 10-100 เมตร[1],[2] ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีต้นเคี่ยมอยู่ 2 ชนิด คือ เคี่ยมขาวและเคี่ยมดำ ซึ่งเคี่ยมดำเปลือกต้นจะหนาและเข้มกว่าเปลือกต้นเคี่ยมขาว
เคี่ยมแดงเคี่ยมดำ
  • ใบเคี่ยม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบสอบเรียวหรือหยักเป็นติ่งยาว ส่วนโคนใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร แผ่นใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสีน้ำตาลปนสีเหลืองเป็นกระจุก

ใบเคี่ยม

  • ดอกเคี่ยม ดอกสีขาวมีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ออกดอกเป็นช่อตามยาวที่ปลายกิ่งและตามง่ามใบ
  • ผลเคี่ยม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเล็ก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7 เซนติเมตร มีขนนุ่มคล้ายขนกำมะหยี่สีน้ำตาล มีปีก 5 ปีก แบ่งเป็นปีกยาว 2 ปีก ปลายปีกมนเรียวสอบมาทางโคน มีเส้นตามยาว 5 เส้น และปีกสั้นอีก 3 ปีก ลักษณะเป็นรูปหอก ยาวประมาณ 1 ใน 3 รองรับผลอยู่ และจะติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

ผลเคี่ยม

สรรพคุณของต้นเคี่ยม

  1. ยอด ราก ดอก และลำต้นใช้ผสมกับเปลือกหว้าต้มเป็นยาบ้วนปาก ช่วยแก้อาการปากเปื่อย (ยอด, ราก, ดอก, ลำต้น)
  2. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ชันจากไม้เคี่ยม)
  3. เปลือกต้นใช้เป็นยากลางบ้าน สำหรับช่วยห้ามเลือดจากบาดแผลสด (เปลือกต้น)
  4. เปลือกต้นใช้ยาสำหรับชะล้างแผล (เปลือกต้น)
  5. ชันจากไม้เคี่ยมใช้เป็นยาสมานแผล (ชันจากไม้เคี่ยม)
  6. ยอด ราก ดอก และลำต้นใช้ตำพอกรักษาแผล แก้อาการฟกบวม เน่าเปื่อย (ยอด, ราก, ดอก, ลำต้น)

ประโยชน์ต้นเคี่ยม

  1. เนื้อไม้มีความละเอียด แข็ง หนัก และเหนียว มีความทนทานสูงมาก ใช้ในน้ำมีความทนทานดี เช่น การใช้ทำเป็นเรือ หรือจะใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงมาก ๆ เหมาะสำหรับใช้ทำไม้พื้น ไม้กระดาน เสาเรือด รอดตง อกไก่ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่ต้องตากแดดตากฝน ฯลฯ และมีการใช้ไม้เคี่ยมต่างสายพานรองหนุนเสาเรือ เพื่อใช้ลากเรือนทั้งหลังในการย้ายบ้าน หรือใช้ทำเลื่อนในการชักพระ ทำเสาหลักผูกเทียบเรือ ทำสะพานท่าเรือ สะพานทอดขนานไปกับลำน้ำ ทำหมอนรองรางรถไฟ รวมทั้งการนำไปทำลูกประสัก พายเรือแจว กรรเชียง ล้อเกวียน กระเดื่อง ครก สาก ตัวถังรถ ทำด้ามเครื่องมือ ฯลฯ โดยเลือกไม้ที่ยังสดอยู่ เพราะจะบิดและแตกได้ง่าย การเลื่อยหรือตบแต่งจึงควรทำในขณะที่ยังสดอยู่
  2. ในการตีพร้านาป้อ (พร้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดตรัง) จะใช้ถ่านที่ทำจากไม้เคี่ยม เพราะประหยัดและให้ความร้อนสูงไม่แพ้กับถ่านหิน
  3. เปลือกต้นใช้ทุบผสมกับชันใช้สำหรับยาเรือ ชันเคียมใช้ผสมในน้ำยางทาไม้ น้ำมันทาไม้ และน้ำมันชักเงา
  4. เปลือกไม้เคี่ยม นำมาตัดเป็นชิ้นขนาดประมาณ 1 x 2 นิ้ว หรือตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใส่ในกระบอกตาลรองรับน้ำตาลจากต้นตาล เพื่อใช้รสฝาด โดยรสฝาดของไม้เคี่ยมจะช่วยรักษาน้ำตาลไม่ให้บูดเร็วหรือบูดก่อนการนำมาเคี่ยว อีกทั้งยังใช้ใส่ในน้ำตาลเมาเพื่อให้มีรสกลมกล่อมอีกด้วย
  5. ในทางด้านนิเวศน์และทางด้านภูมิสถาปัตย์ สามารถใช้เป็นดรรชนีเพื่อชี้วัดได้ว่าพื้นดินเหมาะสมต่อการทำเกษตรและที่อยู่อาศัย ใช้ปลูกเป็นกลุ่ม ๆ ตามสวนสาธารณะและพื้นที่ใกล้ทะเล