• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

ละมุดยักษ์

ละมุดยักษ์

ละมุดยักษ์สาลี่ หรือที่ผู้ปลูกชอบเรียกคือ ละมุดเวียดนาม อยู่ในวงศ์เดียวกับละมุดทั่วไปคือ SAPOTACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 3-5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับถี่บริเวณปลายกิ่ง ปลายใบแหลม โคนมน ดอก ออกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกมีขนาดเล็ก สีขาวนวล มีกลีบดอก 5 กลีบ “ผล” มีด้วยกัน 2 ลักษณะคือ กลมแป้นเล็กน้อยและผลกลมรียาว ขนาดผลใหญ่ ผลโตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ยระหว่าง 3 ผลต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งผู้ขยายกิ่งตอนขายระบุว่า บางครั้งในต้นเดียวสามารถติดผลได้ 2 รูปแบบตามที่กล่าวข้างต้น ถือว่าเป็นเรื่องแปลกที่สุด รสชาติสุกหวานกรอบ เนื้อไม่เละ รับประทานอร่อยมาก ใน 1 ผล มีเมล็ด 3-5 เมล็ด มีดอกและติดผลดกตลอดทั้งปี ติดผลเป็นพวง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอด การปลูก เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย เป็นไม้ชอบแดด ไม่ชอบน้ำท่วมขัง หลังปลูกรดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยมูลสัตว์กลบฝังดินรอบโคนต้นเดือนละครั้งสลับกับใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ครึ่งเดือนครั้ง เมื่อต้นสูงประมาณ 3 เมตร จะเริ่มติดผลชุดแรกและจะติดผลดกขึ้นเรื่อยๆตามอายุของต้น

ประโยชน์ของละมุด

  1. ละมุดมีวิตามินซีสูงจึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโรคและช่วยป้องกันหวัดได้
  2. เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
  3. การรับประทานละมุดจะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
  4. เปลือกของลำต้นละมุด นำมาต้มปรุงเป็นยาแก้บิด (ประเทศฟิลิปปินส์)
  5. ยางใช้เป็นยาถ่ายพยาธิชนิดรุนแรง
  6. ละมุดเป็นผลไม้ที่มีเส้นใยมาก จึงช่วยในการขับถ่ายและป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี และยังช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้อีกด้วย
  7. ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ทำไวน์ หรือนำมาทำน้ำละมุด
  8. ยางที่มีสีขาวทุกส่วนของลำต้นสามารถนำไปใช้ทำหมากฝรั่งและรองเท้าบูทได้

กานพลู

กานพลู สรรพคุณและประโยชน์ของกานพลู

กานพลู ชื่อสามัญ Clove

กานพลู ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & S.G.Harrison, Eugenia caryophyllata Thunb.) จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)

ต้นกานพลู เป็นไม้ยืนต้นและเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่น่าใจ มีสรรพคุณทางยาหลากหลาย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นสมุนไพรไทยที่มีรสเผ็ด โดยมีการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น

เรานิยมนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นดอกตูม ผล ต้น เปลือก ใบ รวมไปถึงน้ำมันหอมระเหย ในบัญชียาสมุนไพร ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีการใช้กานพลูเป็นยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) โดยปรากฏอยู่ในตำรับยาหลายชนิด ได้แก่ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ซึ่งจะมีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อยู่ด้วย มีสรรพคุณช่วยแก้ลม วิงเวียน อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน และยังมีการใช้กานพลูเป็นยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ซึ่งประกอบไปด้วย ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ซึ่งจะช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด อาหารไม่ย่อยเป็นต้น

กานพลูซื้อที่ไหน ? ถ้าซื้อน้อยก็ตามร้านยาแผนไทยทั่วไป ตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งก็มีขาย ร้านขายเครื่องแกงเครื่องเทศทั่วไป

สรรพคุณของกานพลูกานพลู

ประโยชน์ของกานพลู

  1. กานพลูมีสารประกอบอย่างฟีโนลิกในปริมาณมาก ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเรื่องการต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย
  2. ใบกานพลูมีส่วนช่วยเผาผลาญแคลอรี ช่วยลดความอยากน้ำตาล และช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  3. กานพลูแก้ปวดฟัน ด้วยการใช้น้ำมันที่กลั่นมาจากดอกตูมของดอกกานพลูประมาณ 5 หยด แล้วใช้สำลีพันปลายไม้จุ่มน้ำมันนำมาอุดในรูที่ปวดฟันจะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ หรือจะนำดอกมาเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่มีอาการปวดฟันก็ได้ หรือจะนำดอกกานพลูมาตำให้แหลก ผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อยพอให้แฉะ แล้วนำมาอุดฟันบริเวณที่ปวด (น้ำมันสกัด) หรือจะใช้ดอกตูมที่แห้งแล้วนำมาแช่เหล้าเอาสำลีชุบอุดรูฟันก็ได้เช่นกัน
  4. ช่วยรักษาโรครำมะนาด (โรคปริทันต์) หรือโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะรอบ ๆ ฟันนั่นเอง ด้วยการนำดอกมาเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่มีอาการของโรค (ดอกตูม)
  5. ช่วยระงับกลิ่นปาก ดับกลิ่นเหล้าได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ดอกตูมของกานพลูประมาณ 3 ดอก อมไว้ในปากจะช่วยลดกลิ่นปากลงไปได้บ้าง และยังเป็นส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปากหลายชนิด (ดอกตูม)
  6. ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน หน้ามืดตาลาย (ดอก)
  7. ช่วยแก้อาการสะอึก แก้ซางต่าง ๆ (ดอก)
  8. ดอกตูมของกานพลูใช้รับประทานเพื่อขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ดอกตูม)
  9. ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ (ดอกตูม)
  10. กานพลูมีสรรพคุณช่วยลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง ที่เกิดจากการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ (ดอกตูม)
  1. ช่วยกระตุ้นการหลั่งเมือกและช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร (ดอกตูม)
  2. ช่วยแก้อาการท้องเสียในเด็ก (ดอกตูม)
  3. ช่วยแก้อาการเหน็บชา (ดอกตูม)
  4. ช่วยรักษาโรคหืดหอบ (ดอกตูม)
  5. ช่วยแก้อาการไอ ด้วยการอมดอกกานพลู ระหว่างอมอาจจะรู้สึกชาปากบ้างเล็กน้อย (ดอกตูม)
  6. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ดอกตูม)
  7. ช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะเหนียวข้น (ดอกตูม)
  8. ช่วยขับน้ำดี (ดอกตูม)
  9. มีส่วนช่วยในการดูดซึมของธาตุเหล็กให้ดียิ่งขึ้น
  10. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย แก้เลือดเสีย (ดอกตูม)
  11. ช่วยขับน้ำคาวปลา (ดอกตูม)
  12. ช่วยแก้ลม แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ (ดอกตูม)
  13. ช่วยขับผายลม จับลมในลำไส้ (ดอกตูม)
  14. เปลือกของต้นการพลู ช่วยแก้อาการปวดท้อง แก้ลม และช่วยคุมธาตุ
  15. ผลของกานพลูนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ ซึ่งเป็นตัวช่วยให้มีกลิ่นหอม
  16. น้ำมันหอมระเหยของกานพลู (Essential oil) ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ (น้ำมันหอมระเหย)
  17. น้ำมันหอมระเหยของกานพลู ช่วยทำให้ประสาทสงบ
  18. ใช้เป็นยาระงับอาการชักกระตุก ด้วยน้ำมันหอมระเหยจากกานพลู (น้ำมันหอมระเหย)
  19. ช่วยทำให้ผิวหนังชา ด้วยการใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลู เพราะมีสาร Eugenol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ (น้ำมันหอมระเหย)
  20. ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อบิดชนิดไม่มีตัว เชื้อหนอง เชื้อโรคไทฟอยด์ เป็นต้น (ดอกตูม)
  21. น้ำมันหอมระเหยจากกานพลูมีส่วนช่วยฆ่าเชื้อจากบาดแผล แมลงสัตว์กัดต่อยได้
  22. งานวิจัยพบว่าน้ำมันกานพลูสามารถช่วยละลายลิ่มเลือดและช่วยลดการจับตัวเป็นก้อนได้
  23. กานพลูเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่นำมาใช้ในการย้อมสีผม ซึ่งจะให้สีผมที่ใกล้เคียงกับสีดำ
  24. น้ำมันกานพลู (Clove oil) นำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร แต่งกลิ่นสบู่ และยาสีฟัน
  25. ประโยชน์ของกานพลูน้ำมันกานพลูมีฤทธิ์ในการช่วยไล่ยุงได้
  26. ใช้เป็นส่วนผสมของสมุนไพรในตำรับยาต่าง ๆ หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น พิกัดตรีพิษจักร พิกัดตรีคันธวาต ยาหอมเทพจิต ยาหอมนวโกฐ ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู เป็นต้น
  27. กานพลูเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่แนะนำให้รับประทานของหญิงให้นมบุตรเพราะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต และทำให้มีน้ำนมเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับหญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยกานพลู เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
  28. ผู้ผลิตบางรายได้นำกานพลูมาทำเป็นบุหรี่ หรือที่เรียกกันว่าบุหรี่กานพลู โดยมีการพัฒนาสูตรใหม่ ๆเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติ ที่มีทั้งรสช็อกโกแลต รสบ๊วย รสวานิลลา รสผลไม้ และอื่น ๆ มากมาย แต่เหล่านี้ก็ยังถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่ดี จึงไม่ขอแนะนำ และบุหรี่กานพลูก็มีพิษเทียบเท่ากับบุหรี่ทั่วไปอีกด้วย
  29. น้ำมันสกัดจากการพลูสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของ Lactococcus garvieae ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ เมื่อนำอาหารปลาที่ผสมกับน้ำมันกานพลูมาเลี้ยงปลานิล จะทำให้ปริมาณการตายเนื่องจากการติดเชื้อ L. garvieae ของปลานิลลดลง

ว่านลูกไก่ทอง

ว่านลูกไก่ทอง สรรพคุณและประโยชน์ของว่านลูกไก่ทอง

ว่านลูกไก่ทอง

ว่านลูกไก่ทอง ชื่อสามัญ Golden Moss, Chain Fern.

ว่านลูกไก่ทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cibotium barometz (L.) J.Sm. จัดอยู่ในวงศ์ CIBOTIACEAE

สมุนไพรว่านลูกไก่ทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านไก่น้อย (ทั่วไป), แตดลิง (ตราด), ขนไก่น้อย (เลย), หัสแดง (นครราชสีมา), นิลโพสี (สงขลา, ยะลา), กูดเสือ โพลี (ปัตตานี), กูดผีป่า กูดพาน ละอองไฟฟ้า เฟินลูกไก่ทอง เฟิร์นลูกไก่ทอง (ภาคเหนือ), หัสแดง (ภาคใต้), เกาแช กิมซีม้อ กิมม๊อเกาจิก (จีนแต้จิ๋ว), จินเหมาโก่วจี๋ (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของว่านลูกไก่ทอง

  • ต้นว่านลูกไก่ทอง จัดเป็นพรรณไม้จำพวกเฟิร์น ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 2.5-3 เมตร เหง้ามีเนื้อแข็งคล้ายไม้ ปกคลุมไปด้วยขนนิ่มยาวสีเหลืองทองวาว เหมือนขนอ่อนของลูกไก่ มีใบจำนวนมากออกมารอบ ๆ เหง้า ลักษณะคล้ายมงกุฎ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ชอบดินเปรี้ยว ความชื้นสูง ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดรำไร มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน อินเดีย และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมักพบขึ้นเองตามหุบเขา เชิงเขา และตามที่ชื้นแฉะ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,500 เมตร

ต้นว่านลูกไก่ทอง

ลูกไก่ทอง

  • ใบว่านลูกไก่ทอง ก้านใบเป็นสีเทามีความแข็งแรงมาก ส่วนที่โคนจะมีขนสีทองยาวขึ้นปกคลุมอยู่ ลักษณะของตัวใบใหญ่รีแหลมเป็นรูปขนนก 3 ชั้น ยาวได้ถึง 2 เมตร ตัวใบส่วนล่างรีแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 15-30 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ใบส่วนบนค่อย ๆ เล็กลง ปลายสุดเรียวแหลม ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างเป็นสีเทาคล้ายกับมีแป้งเคลือบอยู่ ส่วนอับสปอร์จะเกิดที่ริมใบ มีลักษณะกลมโต แต่ละรอยหยักของตัวใบจะมีอับสปอร์อยู่ประมาณ 2-12 กลุ่ม เยื่อคลุมอับสปอร์เป็นสีน้ำตาล และใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.4-1 เซนติเมตร

ใบว่านลูกไก่ทอง

อับสปอร์ว่านลูกไก่ทอง

สรรพคุณของว่านลูกไก่ทอง

  1. ตำรับยาบำรุงกำลังและกระดูก ระบุให้ใช้เหง้าแห้งของว่านลูกไก่ทอง, โกฐเชียง, รากหง่วงจี้เน็ก และโป่งรากสนเอาเปลือกออก อย่างละเท่ากัน นำมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้ง แล้วทำเป็นยาเม็ด ใช้กินกับเหล้าครั้งละประมาณ 50 เม็ด (เหง้า)
  2. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาระบายและช่วยย่อย เหมาะสำหรับเป็นยาของผู้สูงอายุ (เหง้า)
  3. เหง้าใช้เป็นยาขับพยาธิ (เหง้า)
  4. ตำรับยาแก้ปัสสาวะมาก ระบุให้ใช้เหง้าแห้งของว่านลูกไก่ทอง, ลูกบักกวย, เปลือกต้นโต่วต๋ง และเปลือกรากโงวเกียพ้วย อย่างละ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เหง้า)
  5. แก้ปัสสาวะไม่รู้ตัวหรือช้ำรั่ว ปัสสาวะกะปริบกะปรอยเป็นสีเหลือง สำหรับผู้สูงอายุที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ให้ใช้เหง้าแห้ง 15 กรัม, ราพังทึ้งก้วง 15 กรัม, รากเชียวจั้ง 15 กรัม, และใบไต่แม้กวยมึ้ง 15 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูกิน (เหง้า)
  6. ส่วนสตรีที่มีอาการตกขาวมากผิดปกติ ให้ใช้เหง้าที่เอาขนออกแล้ว, เต็งย้ง (เขากวางอ่อนนึ่งด้วยน้ำส้ม แล้วเผา), แปะเกี่ยมสด นำมาบดให้เป็นผง ใช้ต้นหนาดใหญ่ต้มกับน้ำส้มสายชูผสมข้าวเหนียว นำไปต้มแล้วบดให้เหนียว ผสมทำเป็นยาเม็ด ใช้กินตอนท้องว่างครั้งละประมาณ 50 เม็ด (เหง้า)
  7. ใช้รักษาอาการน้ำกามเคลื่อน (เหง้า)
  8. ช่วยทำให้มีบุตรง่ายขึ้น (เหง้า)
  9. ใช้เป็นยาบำรุงตับและไต (เหง้า)
  10. ใช้รักษาบาดแผลสด แผลจากปลิงดูด สุนัขกัด ถูกของมีคมบาดทุกชนิด เหยียบตะปู ช่วยห้ามเลือดจากแผลสด ทำให้เลือดแข็ง หรือใช้หลังการถอนฟัน ด้วยการใช้ขนจากเหง้าที่ตากแห้ง นำมาบดให้เป็นผงใช้โรยลงบนบาดแผล (ผงที่บดจากขนจะมีฤทธิ์ห้ามเลือดได้ดีที่สุด) (ขนจากเหง้า)
  11. เหง้ามีรสขม ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและไต ใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับกระดูก รักษาอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามข้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย รักษาแขนขาอ่อนไม่มีแรง ทำให้หลังและขาที่อ่อนเพลียแข็งแรง แก้อาการปวดเมื่อยเนื่องจากลมชื้น แก้อัมพฤกษ์ แก้เหน็บชา (เหง้า)
  12. ใช้รักษาขาบวม หลังจากฟื้นไข้ ด้วยการนำเหง้ามาต้มเอาน้ำใช้ชะล้าง แล้วให้กินอาหารอ่อน ๆ ครั้งละน้อย ๆ เพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารทำงานหนักเกินไป (เหง้า)
  13. ตำรับยารักษาอาการปวดขา ปวดเอว ระบุให้ใช้เหง้าแห้งประมาณ 60 กรัม และเมล็ดฝอยทอง 30 กรัม นำมาดองกับเหล้าไว้ 3 วัน แล้วนำไปตากให้แห้ง นำมารวมกันบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นยาเม็ด (ขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว) ใช้กินตอนท้องว่างก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละประมาณ 30 เม็ด ส่วนตำรับยารักษาอาการปวดเอวอีกตำรับ ระบุให้ใช้เหง้าแห้ง, ลูกบักกวย, เปลือกต้นโต่วต๋ง และเปลือกรากโงวเกียพ้วย อย่างละ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เหง้า)
  14. ตำรับยาแก้ปวดน่อง ปวดเอว อัมพฤกษ์ ระบุให้ใช้เหง้า 15 กรัม, ไหฮวงติ้ง 12 กรัม, มะละกอจีน 12 กรัม, หงู่ฉิก 10 กรัม, กิ่งหม่อน 10 กรัม, สกต๋วง 10 กรัม, โต่วต๋ง 10 กรัม, ฉิ่งเกา 10 กรัม และกิ่งอบเชยอีก 6 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำหรือดองกับเหล้ากินเป็นยา (เหง้า)
  15. ตำรับยารักษาอาการปวดข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ โรครูมาติสซั่ม แขนและขาไม่มีแรง ระบุให้ใช้เหง้าแห้ง, ต้นและรากนังด้งล้าง, รากอบเชยญวน, รากพันงู, รากซกต๋วง, เปลือกต้นโต่วต๋ง, และใบพวงแก้วมณี นำมาแช่กับเหล้าใช้กินเป็นยา (เหง้า)
  16. ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม ให้ใช้เหง้าครั้งละ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนขนให้นำมาบดเป็นผง ใช้โรยบนบาดแผลภายนอกตามต้องการ

    ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีอาการปัสสาวะขัด ปากขม ลิ้นแห้ง ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้

ประโยชน์ของว่านลูกไก่ทอง

  1. ในบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงที่เกิดโรคติดต่อ เช่น สุนัข หมู วัว ควาย ฯลฯ ให้นำขนของว่านชนิดนี้ไปแช่กับน้ำให้สัตว์ที่ป่วยกิน จะทำให้สัตว์หายป่วย
  2. ใบแก่สามารถนำมาใช้ฟอกย้อมสีได้
  3. นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป มีขนสีทองมองเห็นเด่นชัด ดูสวยงามแปลกตา
  4. ในด้านของความเชื่อนั้นถือว่าว่านลูกไก่ทองเป็นว่านมหามงคล จัดเป็นว่านกายสิทธิ์ชนิดหนึ่งที่ควรมีไว้ติดบ้าน เพราะมีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านการช่วยป้องกันภัยต่าง ๆ อีกทั้งยังถือเป็นว่านเสี่ยงทายอีกด้วย ถ้าหากต้นว่านลูกไก่ทองเจริญเติบโตขึ้นและได้ยินเสียงไก่ร้องในตอนกลางคืนดึกสงัด (เสียงร้อง “จิ๊บ ๆ” บางตำราว่าร้อง “กุ๊ก ๆ”) ก็สามารถทำนายทายทักโชคชะตาของผู้ปลูกและครอบครัวได้ว่าจะมีโชคลาภมหาศาล จะนำพาโชคลาภเงินทองมาให้ในไม่ช้า แต่ก็มีข้อควรระวังว่าหากปลูกไว้ในบ้านหรือหน้าบ้าน ห้ามเดินข้าม ห้ามปัสสาวะรด และห้ามล้างมือใส่ เพราะจะทำให้ว่านเสื่อมไม่เป็นมงคลอีกต่อไป

เฟินลูกไก่ทอง

กะตังใบ

กะตังใบ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกะตังใบ

กะตังใบ

กะตังใบ ชื่อสามัญ Bandicoot Berry

กะตังใบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Leea indica (Burm.f.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์องุ่น (VITACEAE)

สมุนไพรกะตังใบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้หมาเปียก (นครราชสีมา), ต้างไก่ (อุบลราชธานี), คะนางใบ (ตราด), กะตังใบ (กรุงเทพมหานคร, จันทบุรี, เชียงใหม่), ช้างเขิง ดังหวาย (นราธิวาส), บังบายต้น บั่งบายต้น (ตรัง), ตองจ้วม ตองต้อม (ภาคเหนือ), ไม้ชักป้าน (ไทใหญ่), เหม่โดเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ช้างเขิง (เงี้ยว), ต้มแย่แงง (เมี่ยน), อิ๊กะ (ม้ง), ช้างเขิง (ฉาน), กระตังใบ, เรือง, เขืองแข้งม้า เป็นต้น

ลักษณะของกะตังใบ

  • ต้นกะตังใบ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อมหรือไม้ต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ลำต้นค่อนข้างเกลี้ยงหรือปกคลุมด้วยขนสั้น ๆ ต้นฉ่ำน้ำ ตามต้นและตามกิ่งอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ชอบแสงแดดรำไร ใต้ร่มไม้ใหญ่ มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย เนปาล พม่า บังกลาเทศ ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ไปจนถึงออสเตรเลียและฟิจิ ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาค โดยมักพบขึ้นตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ และตามป่าเต็งรัง บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่ความสูงประมาณ 1,400 เมตร

ต้นกะตังใบ

  • ใบกะตังใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขนสั้นขึ้นปกคลุม ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ริ้วประดับมีตั้งแต่รูปสามเหลี่ยมค่อนข้างกว้าง ถึงรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร หูใบเป็นรูปไข่กลับ แผ่เป็นแผ่น มีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 6 เซนติเมตร ซึ่งมักจะเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย จะเห็นชัดเจนในขณะที่ใบยังอ่อน และจะร่วงได้ง่ายเมื่อใบแก่ เหลือไว้เฉพาะรอยแผลรูปสามเหลี่ยม ใบย่อยมีประมาณ 3-7 ใบ ออกเป็นคู่ตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรียาว รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรี ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบแหลมเล็กน้อย มน หรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-24 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย เนื้อใบหนาปานกลาง ก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขน หลังใบเป็นลอนตามแนวเส้นใบ ส่วนท้องใบเป็นลอนสีเขียวนวล และมีต่อมขนาดเล็กรูปเหลี่ยมหรือกลม เห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-16 เส้น

ใบกะตังใบ

  • ดอกกะตังใบ ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตั้งขึ้น ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบหรือตรงเรือนยอดของกิ่ง ก้านชูช่อดอกยาว แต่ละช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เป็นเป็นสีขาวอมเขียว ขาวอมเหลือง หรือสีเขียวอ่อน ดอกตูมเป็นรูปทรงกลมสีแดงเข้ม เมื่อดอกบานจะเปลี่ยนเป็นสีขาว กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันที่โคน ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน กลีบดอกส่วนล่างติดกัน ส่วนด้านในเชื่อมติดกับส่วนของเกสรเพศผู้ ส่วนบนแยกเป็นกลีบเรียว 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่กับหลอดเกสรเพศผู้ ปลายอับเรณูจะโผล่พ้นหลอดออกไปเป็นแฉกมน ๆ ปลายแฉกเว้า เกสรเพศเมียมีรังไข่ 6 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรสั้น ปลายมน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม

ดอกกะตังใบ

รูปกะตังใบ

  • ผลกะตังใบ ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ๆ หรือกลมแป้น ด้านบนแบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มจนถึงสีดำ ผิวผลบางมีเนื้อนุ่ม ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ออกผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม

ผลกะตังใบ

เมล็ดกะตังใบ

สรรพคุณของกะตังใบ

  1. รากมีรสเย็นเมาเบื่อ เป็นยาเย็น ตำรายาไทยจะใช้เป็นยาขับเหงื่อ ระงับความร้อน แก้ไข้ แก้ไข้รากสาด แก้อาการกระหายน้ำ (ราก)
  2. อินโดนีเซียจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาพอกศีรษะแก้ไข้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  3. ชาวม้งจะใช้ลำต้นต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ลำต้น)
  4. ใบนำย่างไฟให้เกรียม ใช้เป็นยาพอกศีรษะแก้วิงเวียน มึนงง (ใบ)
  5. ทั้งต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษามะเร็งเต้านม (ทั้งต้น)
  1. น้ำยางจากใบอ่อนใช้กินเป็นยาช่วยย่อย (น้ำยางจากใบอ่อน)
  2. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องร่วง และแก้บิด (ราก) (ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากผสมกับลำต้นขมิ้นเครือ ลำต้นเมื่อยดูก และรากตากวาง อย่างละเท่ากัน ต้มกับน้ำเดือดใช้ดื่มแก้ท้องเสีย) ส่วนชาวม้งจะใช้ส่วนของลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องร่วงและรักษาโรคนิ่ว (ลำต้น)
  3. รากและลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปัสสาวะขัดและรักษาโรคนิ่ว (รากและลำต้น)
  4. รากใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 3 ครั้ง จนยาหมดรสฝาด จะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ตกขาวของสตรี มะเร็งมดลูก มะเร็งลำไส้ (ราก)
  5. ใช้ต้มกินเป็นยาแก้ครั่นเนื้อครั่นตัว (ราก)
  6. ใบใช้ตำพอกเป็นยาแก้อาการคันหรือผื่นคันตามผิวหนัง (ใบ)
  7. หมอยาพื้นบ้านในจังหวัดอุบลราชธานีจะนำรากมาฝนกับเหล้าใช้ทารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ราก)
  8. รากใช้ต้มกินเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย (ราก) หรือจะใช้ใบนำมาตำพอกแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อก็ได้ (ใบ)
  9. ใบใช้ต้มอาบช่วยบำรุงร่างกายให้สมบูรณ์ (ใบ)

ประโยชน์ของกะตังใบ

  • ผลสุกใช้รับประทานได้ และใช้เป็นเหยื่อสำหรับตกปลา
  • ชาวกะเหรี่ยงแดงจะใช้ใบนำมาต้มให้หมูกิน
  • ใบอ่อน ยอดอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือนำมาลวกหรือต้มรับประทาน โดยจะมีรสฝาดมัน
  • นอกจากนี้ยังมีการใช้รากของต้นกะตังใบ นำมาตำใส่แผลที่มีหนองของวัว ควาย และช้างอีกด้วย