• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

ขี้เหล็ก

ขี้เหล็ก สรรพคุณและประโยชน์ของขี้เหล็ก

ขี้เหล็ก ชื่อสามัญ Siamese senna, Siamese cassia, Cassod tree, Thai copperpod

 

ขี้เหล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna siamea (Lam.) H.S.Irwin & Barneby (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia siamea Lam.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

สมุนไพรขี้เหล็ก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี), ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง,สุราษฎร์ธานี), ผักจี้ลี้ แมะขี้แหละพะโด (แม่ฮ่องสอน), ยะหา (ปัตตานี), ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง), ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้) เป็นต้น

ลักษณะของต้นขี้เหล็ก เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกมีสีเทาถึงน้ำตาลดำแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแคบ ส่วนลักษณะของผลขี้เหล็ก มีลักษณะเป็นฝักแบนกว้าง 1.4 เซนติเมตร ยาว 15-23 เซนติเมตร มีความหนา มีสีน้ำตาล มีเมล็ดหลายเมล็ด

ขี้เหล็กลักษณะของใบขี้เหล็ก เป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกัน ใบเป็นสีเขียวเข้ม มีใบย่อยรูปรี 5-12 คู่ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ที่ปลายสุดเป็นใบเดี่ยว ปลายใบเว้าตื้น โคนใบมน ขอบและแผ่นใบเรียบ โดยใบขี้เหล็ก 100 กรัมจะมีเบต้าแคโรทีน 1.4 มิลลิกรัม, ธาตุแคลเซียม 156 มิลลิกรัม, ธาตุฟอสฟอรัส 190 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 5.8 มิลลิกรัม, เส้นใยอาหาร 5.6 กรัม, โปรตีน 7.7 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 10.9 กรัม, พลังงาน 87 กิโลแคลอรี

ลักษณะของดอกขี้เหล็ก จะออกดอกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง มีดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงกลมมี 3-4 กลีบ ปลายมน กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายมน โคนเรียว หลุดร่วงง่าย ก้านดอกจะยาว 1-1.5 เซนติเมตร และมีเกสรตัวผู้หลายเกสร และในบรรดาผักผลไม้ไทยทั้งหลาย ดอกขี้เหล็กก็จัดเป็นผักที่มีวิตามินซีสูงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยมีวิตามินซีมากถึง 484 มิลลิกรัมต่อดอกขี้เหล็ก 100 กรัม และยังมีเบต้าแคโรทีน 0.2 กรัม, ธาตุแคลเซียม 13 มิลลิกรัม, ธาตุฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.6 มิลลิกรัม, เส้นใยอาหาร 9.8 กรัม, โปรตีน 4.9 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 18.7 กรัม และให้พลังงาน 98 กิโลแคลอรี

ต้นขี้เหล็ก

ขี้เหล็ก เป็นพืชผักสมุนไพรที่หาได้ง่ายตามตลาด นอกจากจะนำมาใช้ทำเป็นอาหารไว้รับประทานแล้ว ในตำราการแพทย์แผนไทยยังได้มีการใช้ประโยชน์ของต้นขี้เหล็กในหลาย ๆ ด้าน เช่น ใช้แก้อาการท้องผูก บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยกำจัดรังแค ทำความสะอาดผมทำให้ผมชุ่มชื่นเงางาม เป็นต้น และนอกจากนี้ขี้เหล็กยังมีสาร "บาราคอล" (Baracol) ที่มีฤทธิ์ในการกล่อมประสาท และมีฤทธิ์เป็นยานอนหลับอ่อน ๆ ทำให้นอนหลับสบาย แต่ก็ใช่ว่ามันจะได้ผลอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะในกระบวนการปรุงอาหารให้ปลอดภัยก็ต้องต้มน้ำทิ้งเสียก่อน เพื่อลดความขมและความเฝื่อน ทำให้ความเป็นพิษและฤทธิ์ดังกล่าวลดน้อยลงไปด้วย โดยส่วนที่นำมาใช้และมีสรรพคุณทางยา ได้แก่ ดอก ใบ ใบแก่ ฝัก เปลือกฝัก เปลือกต้น ลำต้น กิ่ง แก่น ทั้งต้น และราก

โทษของขี้เหล็ก การรับประทานขี้เหล็กในลักษณะที่นำใบขี้เหล็กไปตากแห้งแล้วบรรจุเป็นเม็ด อาจทำให้เกิดการเสื่อมและการตายของเซลล์ตับ หรืออาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้เกิดโรคตับได้ ซึ่งการรับประทานขี้เหล็กอย่างปลอดภัย ต้องเลือกใบเพสลาดหรือตั้งแต่ยอดอ่อนถึงใบขนาดกลาง และนำไปต้มให้เดือด เทน้ำทิ้งสัก 2-3 น้ำ แล้วค่อยนำมาปรุงอาหารหรือนำไปทำเป็นยา ซึ่งวิธีการแบบพื้นบ้านนี้จะช่วยฆ่าฤทธิ์และทำลายสารที่เป็นอันตรายต่อตับได้ และยังช่วยลดความขมลงอีกด้วย

ขี้เหล็ก

ประโยชน์ของขี้เหล็ก

  1. ใบขี้เหล็กมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง (ใบ)
  2. ดอกขี้เหล็กมีวิตามินที่ช่วยบำรุงและรักษาสายตา (ดอก)
  3. ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ป้องกันหวัด ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ดอก)
  4. ช่วยบำรุงธาตุ (ราก)
  5. แก้ธาตุพิการ แก้ไฟ ทำให้ตัวเย็น (แก่น)
  6. ช่วยเจริญธาตุไฟ (ราก)
  7. ช่วยแก้โรคกระษัย (ราก, ลำต้นและกิ่ง, เปลือกต้น, ทั้งต้น)
  8. ช่วยรักษาอาการตัวเหลือง (ทั้งต้น)
  9. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน (ใบ, แก่น)
  10. ช่วยลดความดันโลหิตสูง (ใบ)
  11. ช่วยรักษาวัณโรค (แก่น)
  12. ช่วยยับยั้งและชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง (ดอก)
  13. ช่วยรักษามะเร็งปอด ปอดอักเสบ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร (แก่น)
  14. ช่วยแก้อาการชักในเด็ก (ราก)
  15. แก้ไตพิการ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  16. ช่วยแก้อาการแสบตา (แก่น)
  17. ใบขี้เหล็กมีสารที่ชื่อว่า "แอนไฮโดรบาราคอล" (Anhydrobarakol) ที่มีสรรพคุณช่วยในการคลายความเครียด บรรเทาอาการจิตฟุ้งซ่าน (ใบ)
  18. ช่วยบำรุงสมอง บำรุงประสาท แก้โรคประสาท และช่วยสงบประสาท (ดอก)
  19. ช่วยทำให้นอนหลับสบาย แก้อาการนอนไม่หลับ ผ่อนคลายความกังวล ด้วยการใช้ใบขี้เหล็กแห้ง 30 กรัม (หรือใบสด 50 กรัม) นำมาต้มกับน้ำไว้ดื่มก่อนนอน หรือจะใช้ใบอ่อนทำเป็นยาดองเหล้า โดยใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่ทิ้งไว้ 7 วันและคนทุกวันให้น้ำยาสม่ำเสมอ เมื่อครบให้กรองเอากากยาออก จะได้น้ำยาดองเหล้าขี้เหล็ก แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชาก่อนเข้านอน (ใบ, ดอก)
  20. ช่วยแก้ลมขึ้นเบื้องสูง เบื้องบน โลหิตขึ้นเบื้องบน ทำให้มีอาการระส่ำระสายในท้อง (ฝัก)
  21. ช่วยรักษาหืด (ดอก)
  22. ช่วยรักษาโรคโลหิตพิการ ผายธาตุ (ดอก)
  23. ช่วยบำรุงโลหิต (ใบ)
  24. ช่วยขับโลหิต (แก่น)
  25. ช่วยขับพิษโลหิต (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  26. แก้เลือดกำเดาไหล (ต้น, ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  27. ช่วยถ่ายพิษไข้ แก้ไข้กลับซ้ำ แก้ไข้หนาว ไข้ผิดสำแดง (ราก)
  28. ช่วยดับพิษไข้ (เปลือกต้น, ทั้งต้น)
  29. ช่วยแก้พิษไข้เพื่อน้ำดี พิษไข้เพื่อเสมหะ (เปลือกต้น, ฝัก)
  30. ช่วยแก้พิษเสมหะ (ทั้งต้น)
  31. ช่วยกำจัดเสมหะ (ใบ)
  32. ช่วยขับมุตกิด กัดเถาดาน กัดเสมหะ และกัดเมือกในลำไส้ (เปลือกฝัก)
  33. ขี้เหล็กมีสรรพคุณช่วยแก้ร้อนใน (ใบ)
  34. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ดอก)
  35. แก้อาการเบื่ออาหาร ด้วยการใช้ใบขี้เหล็กแห้ง 30 กรัม (หรือใบสด 50 กรัม) นำมาต้มกับน้ำไว้ดื่มก่อนนอน หรือจะใช้ใบอ่อนทำเป็นยาดองเหล้า โดยใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่ทิ้งไว้ 7 วันและคนทุกวันให้น้ำยาสม่ำเสมอ เมื่อครบให้กรองเอากากยาออก จะได้น้ำยาดองเหล้าขี้เหล็ก แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชาก่อนเข้านอน (ใบแห้ง, ใบอ่อน)
  36. ช่วยแก้อาการท้องผูก ด้วยการใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นประมาณ 2 องคุลี ประมาณ 3-4 ชิ้น นำมาต้มกับน้ำครึ่งถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มหลังตื่นนอนตอนเช้าหรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว (ใบอ่อน, แก่น)
  37. ช่วยรักษาโรคบิด (ใบ)
  38. ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ด้วยการใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นประมาณ 2 องคุลี ประมาณ 3-4 ชิ้น นำมาต้มกับน้ำครึ่งถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มหลังตื่นนอนตอนเช้าหรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว (ดอก, ใบ, แก่น, ลำต้นและกิ่ง, เปลือกต้น, ราก, ทั้งต้น)
  39. ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (เปลือกต้น)
  40. ช่วยบำรุงน้ำดี (ทั้งต้น)
  41. ช่วยขับปัสสาวะ (ใบ, ลำต้น และกิ่ง)
  42. ช่วยรักษานิ่วในไต (ใบ, ลำต้น และกิ่ง)
  43. แกงขี้เหล็กช่วยรักษาโรคหนองใน (แก่น, ทั้งต้น)
  44. รักษาแผลกามโรค (ราก, แก่น)
  45. ช่วยแก้หนองใส (แก่น)
  46. ช่วยขับระดูขาว (ใบ, ลำต้น และกิ่ง)
  47. ช่วยฟอกโลหิตในสตรี (ต้น)
  48. ช่วยขับพยาธิ (ใบ, ดอก)
  49. ช่วยรักษาอาการเหน็บชา (ใบ, ราก)
  50. รากใช้ทาแก้อัมพฤกษ์ให้หย่อน (ราก)
  51. ช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน (ทั้งต้น)
  52. แก้เส้นเอ็นพิการ (เปลือกฝัก)
  53. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (ลำต้นและกิ่ง)
  54. ช่วยรักษาโรคหิด (เปลือกต้น)
  55. ช่วยรักษาฝีมะม่วง (ใบ)
  56. ทางภาคใต้ใช้รากขี้เหล็กผสมกับสารส้ม นำมาทาแผลฝีหนอง (ราก)
  57. ช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ราก, ลำต้น และกิ่ง)
  58. ประโยชน์ของขี้เหล็กช่วยแก้บวม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  59. ช่วยรักษารังแค ด้วยการใช้ดอกขี้เหล็กผสมกับมะกรูดย่างไฟ 2 ลูก โดยต้องย่างให้มีรอยไหม้ที่ผิวมะกรูดด้วย ใช้ดอกขี้เหล็ก 2 ช้อนโต๊ะ พิมเสน 1 ช้อนชา นำมาปั่นผสมกันแล้วเติมน้ำปูนใส 100 cc. ปั่นจนเข้ากัน แล้วคั้นกรองเอาแต่น้ำ จากนั้นนำน้ำมันมะกอกเติมผสมเข้าไปประมาณ 60-100 cc. ผสมจนเข้ากันแล้วนำมาหมักผมทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีก่อนการสระผมทุกครั้ง จะช่วยรักษารังแคได้ (ดอก)
  60. ใช้ทำปุ๋ยหมัก (ใบแก่)
  61. ดอกและดอกอ่อนใช้รับประทานหรือทำเป็นแกงขี้เหล็กได้ (ดอก)

มะยม

มะยม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะยม ใบมะยม

มะยม ชื่อสามัญ Star gooseberry

มะยม ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus acidus (L.) Skeels จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

สมุนไพรมะยม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมากยม หมักยม (ภาคอีสาน), ยม (ภาคใต้) เป็นต้น

มะยม จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เปลือกของลำต้นขรุขระมีสีเทาปนน้ำตาล ใบมะยมเป็นใบประกอบ มีย่อยออกเรียงสลับกันเป็น 2 แถว ลักษณะของผลเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว แต่ถ้าแก่แล้วจะเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำมาก ในผลมีเมล็ดกลม ๆ สีน้ำตาล 1 เมล็ด สำหรับรสชาติจะมีรสหวานอมฝาด

มะยมนั้นมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยลักษณะเด่นของต้นตัวผู้จะออกดอกเต็มต้นแต่ไม่ติดลูก ส่วนต้นมะยมตัวเมียนั้นจะมีดอกน้อยกว่า ซึ่งในทางการแพทย์นั้นนิยมใช้มะยมตัวผู้เป็นหลักทั้งใบและราก เพราะมีสรรพคุณทางยาค่อนข้างสูงกว่ามะยมตัวเมีย

ข้อควรระวัง : น้ำยางจากเปลือกของรากมะยมจะมีพิษเล็กน้อย การรับประทานเข้าไปอาจจะมีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ และมีอาการง่วงซึมได้ ควรระวังน้ำยางจากเปลือกรากให้ดี

สำหรับความเชื่อในตำราพรหมชาติฉบับหลวง ระบุไว้ว่าให้ปลูกต้นมะยมในทางทิศตะวันตก จะช่วยป้องกันสิ่งไม่ดีไม่ให้มากล้ำกราย และเชื่อว่ามะยมเป็นต้นไม้มงคลนาม ซึ่งคล้ายกับคำว่า "นิยม" ซึ่งเชื่อว่าผู้ปลูกจะมีเมตตามหานิยม

ประโยชน์ของมะยมสรรพคุณของมะยม

ใบมะยมสรรพคุณ

ประโยชน์ของมะยม

  1. ผลมะยมมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยชะลอวัยและความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้
  2. ผลไม้มะยมช่วยดับร้อนและปรับสมดุลในร่างกาย
  3. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้ผลแก่นำมาดองในน้ำเชื่อมจนครบ 3 วัน (น้ำ 1 ส่วน / น้ำตาล 3 ส่วน) แล้วนำมารับประทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ
  4. มะยมมีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้ผลแก่นำมาดองในน้ำเชื่อมจนครบ 3 วัน (น้ำ 1 ส่วน / น้ำตาล 3 ส่วน) แล้วนำมารับประทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ
  5. ดอกสดของมะยม นำมาต้มกรองเอาแต่น้ำใช้แก้โรคตา ชำระล้างดวงตา (เป็นสูตรโบราณ ปัจจุบันไม่ขอแนะนำให้ทำ)
  6. สรรพคุณช่วยแก้ไข้ทับระดู ระดูทับไข้ ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกของลำต้น)
  7. ช่วยแก้ไข้ (ราก)
  8. น้ำมะยมช่วยต้านหวัดได้เพราะมีวิตามินซีสูง
  9. ผลมะยมมีฤทธิ์กัดเสมหะ ดับพิษเสมหะ ด้วยการรับประทานผลสุกหรือดิบก็ใช้ได้
  10. ผลใช้เป็นยาระบาย
  11. ใช้แก้น้ำเหลืองเสียให้แห้ง (ราก)
  12. ช่วยรักษาเม็ดผดผื่นคันหรือแก้โรคประดง (โรคผื่นคันตามผิวหนัง) ด้วยการใช้รากประมาณ 1 กิโลกรัมนำมาต้มกับน้ำ 10 ลิตร ต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที ทิ้งไว้ให้อุ่นแล้วนำมาอาบ และควรทำควบคู่ไปกับการใช้รากฝนกับน้ำซาวข้าวทาบริเวณผดผื่นที่เป็นด้วย (ราก)
  13. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (ราก)
  14. มะยมมีประโยชน์ช่วยแก้อาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ โรคไขข้ออักเสบ ด้วยการนำผลมาตำรวมกับพริกไทยแล้วพอกบริเวณที่ปวด
  15. นิยมรับประทานเป็นผลไม้สดและมีการนำมาประกอบอาหาร เช่น ใช้ทำส้มตำ ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดกินกับน้ำพริก ลาบ ขนมจีน ส้มตำ
  16. มีการนำมาแปรรูปได้หลากหลาย เช่น มะยมแช่อิ่ม มะยมดอง มะยมเชื่อม น้ำมะยม มะยมแยม มะยมกวน หรือนำมาใช้ทำเป็นน้ำส้มสายชู

สรรพคุณของมะยม

  1. ใบมะยมแก้เบาหวาน ด้วยการใช้ใบสดและรากใบเตยพอประมาณนำมาใส่หม้อ เติมน้ำแล้วต้มเอาน้ำดื่ม ซึ่งจะช่วยไปกระตุ้นตับอ่อนให้แข็งแรงและสามารถผลิตน้ำตาลในภาวะสมดุลโดยไม่ต้องพึ่งอินซูลินจากภายนอก
  2. ช่วยลดความดันโลหิต ด้วยการใช้ใบแก่พร้อมก้านประมาณ 1 กำมือ นำมาใส่หม้อเติมน้ำพอท่วม ใส่น้ำตาลเล็กน้อยเพื่อดับรสเฝื่อน ต้มให้เดือดประมาณ 5 นาที แล้วนำมาดื่มจนความดันเป็นปกติแล้วจึงหยุดรับประทาน (สูตรทางเลือก ท่านใดที่รักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันอยู่แล้วไม่ควรหยุดยาที่แพทย์ให้รับประทาน)
  3. ใบช่วยบำรุงประสาท
  4. ใบมะยมมีสรรพคุณทางยา ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ใบมะยมแก่รวมก้าน 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำ ใส่น้ำตาลกรวดพอประมาณไม่ให้หวานมาก นำมาต้มจนเดือด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า-เย็น
  5. แก้ไข้เหือด ไข้หัด ด้วยการใช้ใบต้มกับน้ำแล้วนำมาอาบ
  6. ใบช่วยแก้สำแดง
  7. ใบมะยมมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคอีสุกอีใส ด้วยการใช้ใบต้มกับน้ำแล้วนำมาอาบ
  8. ใบนำมาใช้ต้มน้ำอาบแก้พิษคัน
  9. นำมาใช้ปรุงเป็นส่วนประกอบของยาเขียว
  10. ใช้เป็นอาหารได้
  11. ช่วยทำให้ผู้ที่มีอาการติดเหล้า สามารถเลิกเหล้าได้โดยเด็ดขาด ด้วยการใช้รากมะยมตัวผู้ นำมาสับเป็นชิ้นบาง ๆ จำนวน 10 ชิ้น ชิ้นละ 2 ข้อมือแล้วนำไปย่างไฟก่อน แล้วนำมาตากแดด 3 แดด แล้วจึงนำไปดองในเหล้าขาวพอท่วมยาประมาณ 5 วัน แล้วนำมาดื่ม ยิ่งช่วงกำลังเมาจะยิ่งดี เมื่อดื่มไปได้ไม่ถึงครึ่งแก้ว จะคลุ้มคลั่งและอาเจียนออกมา ซึ่งช่วงนี้ให้ระวังไว้ให้มาก เพราะอาจจะดิ้นคลุ้มคลั่งประสาทหลอนกันพักใหญ่ ต้องหาคนมาช่วยกันจับ ถ้าหมดช่วงนี้ไปได้ก็จะเป็นปกติ และไม่อยากดื่มเหล้าอีกเลย (อ้างอิง : คุณจำรัส เซ็นนิล, คุณสมจิต คำน้อย )

มะตูมแขก

มะตูมแขก

มะตูมแขกหรือมะตูมซาอุ มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Brazilian Pepper-tree ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Schinus terebinthifolius มีถิ่นกำเนิด อยู่ในพื้นที่อเมริกาใต้แถบประเทศ บราซิล อาร์เจนตินาและปารากวัย แต่ปลูกแพร่หลายในตะงันออกกลาง เชื่อกันว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย นำเข้ามาปลูกแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ปลูกง่าย  ปลูกลงดิน หรือใส่กระถาง ก็ได้กินยอด  ด้วยรสชาติจัดจ้าน ฝาด มัน ทำให้แกล้มกับลาบ น้ำพริก อาหารอีสานได้อรรถรสและความลงตัวพอดี

1

มะตูมแขก  เป็นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็ก ถ้าปล่อยให้โตแบบไม่ตัดยอด อาจจะสูงได้ถึง 10 เมตร แตกกิ่งก้านได้ดี ยิ่งตัดยอดยิ่งแตก ทำให้มียอดอ่อนไว้ทานเป็นผักสดได้ตลอดปี ยอดอ่อนมีส้มอมสีแดง ขอบใบมีลักษณะเป็นหยักหนาม ดอกออกเป็นช่อเล็ก ๆสีขาว ถ้าปล่อยยอกไว้ไม่ตัดออกจะทำให้ออกดอกได้ทั้งปี แต่พบมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ผลเมื่ออ่อนมีสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีแดงสดเมื่อแก่ เนื่องผลมีสีสวยสดและออกได้ทั้งปี จึงนิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับ ผลเมื่อแก่จัดเปลือกจะแห้งติดเมล็ดคล้ายพริกไทย แต่เล็กกว่า

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ปักชำและตอนกิ่ง

2

          ประโยชน์ของมะตูมแขก ใช้เป็นพืชอาหาร และใช้เป็นพืชสมุนไพรได้ดี นิยมนำมาทานเป็นผักสด เป็นเครื่องเคียงกับลาบ น้ำพริก ผัดไทย ขนมจีน ด้านการนำไปใช้ในเชิงสมุนไพร มะตูมแขกมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ดี ซึ่งมีรายงานทางด้านวิทยาศาสตร์ พบว่าสารสกัดของมะตูมซาแขกช่วยลดการอักเสบ ควบคุมการเต้นของหัวใจ ช่วยรักษาโรคความดันต่ำ แก้ท้องผูก กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อและรักษาบาดแผล
          นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ทำลายเซลล์มะเร็ง ลดอาการซึมเศร้า ลดอาการชักกระตุก ทำลายเชื้อไวรัส กระตุ้นการย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ ขับเสมหะและกระตุ้นการขับประจำเดือน

3

          วิธีนำไปใช้  เปลือกมะตูมแขกใช้ต้มน้ำต้มดื่ม ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง หรือใช้ใบแก่ต้มน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ วันละ 2 ครั้ง ใช้ลำต้นแก่นรวมทั้งเปลือกทุบพอแตก ดองเหล้า ทำยาดองใช้ดื่มครั้งละ แก้วเป๊ก เช้าและเย็น วันละ 2 ครั้ง มะตูมแขกมีน้ำมันและน้ำมันหอมระเหยที่เป็นประโยชน์หลายชนิด น้ำมันเหล่านี้ก่อให้เกิดรสเผ็ดและมีกลิ่นหอม

          ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ใช้เป็นยาสมานแผล ต้านแบคทีเรียและไวรัส หรือใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ในประเทศเปรูใช้น้ำยางจากต้นเป็นยาระบายอ่อน ๆ และใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนทั้งหมดของต้นใช้เป็นยาปฏิชีวนะ ส่วนของน้ำยางที่แห้งแล้วเมื่อนำมารวมกับน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบใช้เป็น ยารักษาแผล ช่วยในการหยุดเลือด รักษาอาการปวดฟัน

4

หว้ายักษ์

หว้ายักษ์

คนส่วนใหญ่ จะคุ้นเคยและรู้จักเฉพาะ หว้าพื้นบ้าน ที่มีต้นขึ้นตามธรรมชาติในป่าทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า SYZYGIUM CUMINI (LINN.) SKEETS อยู่ในวงศ์ MYR-TACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร มีผลรูปกลมรี ผลโตเต็มที่ประมาณปลายนิ้วก้อยมือผู้ใหญ่ ผลสุกเป็นสีม่วงคล้ำเกือบดำ รสชาติหวานปนฝาด ติดผลสุกในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคมปีถัดไป ในช่วงดังกล่าวชาวบ้านที่มีภูมิลำเนาตามชนบทที่ชอบขึ้นเขาเข้าป่าหาของป่าจะเก็บเอาผลสุกของ หว้าพื้นบ้าน เข้าไปวางขายในตลาดตัวเมือง ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อไปรับประทานอย่างแพร่หลาย

หว้าพื้นบ้าน นอกจากจะมีผลรับประทานอร่อยแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย โดยในตำรายาแผนไทยโบราณระบุว่า เปลือกต้น นำไปต้มน้ำจนเดือดแล้วดื่มขณะอุ่นเป็นยาแก้บิดได้ดีมาก เปลือกสด ทุบอมแก้ปากเปื่อย ผลดิบ กินแก้ท้องเสีย ผลสุก นำไปแปรรูปทำเป็นเครื่องดื่มหลายชนิด รวมทั้งหมักทำไวน์ขายดิบขายดี มีผู้ซื้อดื่มประจำเยอะ เมล็ดเคี้ยวกินสดๆ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด (เบาหวาน) และแก้ท้องเสียได้ด้วย

ส่วน "หว้ายักษ์" มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินโดนีเซีย ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานมากแล้ว ส่วนใหญ่จะปลูกเฉพาะกลุ่มไม่แพร่หลายทั่วไป เพื่อเก็บผลที่มีขนาดใหญ่วางขายตามตลาดผลไม้ เช่น ตลาด อ.ต.ก. หรือตามห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ราคากิโลกรัมละหลายบาท ได้รับความนิยมจากผู้ซื้ออย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีผลขนาดใหญ่ มีเนื้อเยอะ รสชาติหวานปนฝาดเล็กน้อย สามารถรับประทานสด หรือปั่นทำเป็นน้ำผลไม้รสชาติอร่อยมาก ปัจจุบันมีผู้นำกิ่งตอนของ "หว้ายักษ์" วางขาย พร้อมมีภาพของผลติดโชว์ให้ชมด้วย จึงแนะนำในคอลัมน์อีกตามระเบียบ

หว้ายักษ์ อยู่ในวงศ์ MYRTACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือน กับ หว้าพื้นบ้าน ของไทยทุกอย่าง คือ ต้นสูง 10-20 เมตร ใบออกตรงกันข้าม รูปรี หรือรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนมน ยอดอ่อนเป็นสีแดง ใบดกให้ร่มเงาดีมาก ดอกสีขาว ออกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 4 แฉก เกสรตัวผู้จำนวนมาก เป็นฝอยๆสวยงามมาก "ผล" กลมรี ผลโตเต็มที่ประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ ผลสุกสีม่วงคล้ำเกือบดำ รสชาติหวานปนฝาดอร่อยมาก มีกิ่งตอนขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 19 แผง "นายดาบสมพร" ราคาสอบถามกันเอง

ลูกหว้า สรรพคุณ

ประโยชน์ของลูกหว้ายักษ์

  1. ลูกหว้าอุดมไปด้วยธาตุเหล็กซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและฟัน (ผลดิบ)
  2. ผลดิบช่วยแก้อาการท้องเสียได้ (ผลดิบ)
  3. ผลสุกรับประทานแก้อาการท้องร่วงและอาการบิด (ผลสุก)
  4. ใช้รักษาอาการบิด มูกเลือด ท้องเสีย (ใบและเมล็ดหว้า)
  5. นำมาใช้ทำเป็นยาอม ยากวาดคอ แก้ปากเปื่อย แก้คอเปื่อย เป็นเม็ดตามลิ้นและคอ (เปลือกและใบหว้า)
  6. แก้อาการน้ำลายเหนียวข้น (เปลือกและใบหว้า)
  7. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ใบและเมล็ดหว้านำมาต้มหรือบดให้ละเอียด แล้วนำมารับประทานเพื่อรักษาอาการของโรคเบาหวานได้ เนื่องจากมีสารชนิดหนึ่งที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (ใบและเมล็ดหว้า)
  8. ลูกหว้ามีสรรพคุณช่วยชะลอความแก่และความเสื่อมของเซลล์ได้ (ผล)
  9. ช่วยบรรเทาอาการของวัณโรคและโรคปอดได้ ด้วยการนำผลหว้าไปตากแห้งแล้วนำมาบดให้ละเอียด รับประทานเป็นประจำจะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น (ผล)
  10. ช่วยรักษาโรคหอบหืดที่เกิดจากการแพ้อากาศ ด้วยการนำผลหว้าสดมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเพื่อบรรเทาอาการ (ผลสด)
  11. ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมองได้(ผล)
  12. มีส่วนช่วยต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง (น้ำมันหอมระเหย)
  13. ช่วยในการย่อยอาหาร ด้วยการเพิ่มการหลั่งน้ำดีและน้ำย่อยต่าง ๆ (น้ำมันหอมระเหย)
  14. ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (น้ำมันหอมระเหย)
  15. ช่วยยับยั้งเชื้ออีโคไล (Escherichia coli) ในช่องทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องเสียบ่อย ๆ หรืออุจจาระเหลวเป็นน้ำ
  16. ช่วยลดการจับตัวของลิ่มเลือด (น้ำมันหอมระเหย)
  17. มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย (น้ำมันหอมระเหย)
  18. ใบและเมล็ดหว้านำมาตำให้แหลกแล้วใช้ทารักษาโรคผิวหนังได้ (ใบและเมล็ดหว้า)
  19. ใบและเมล็ดหว้าเมื่อนำมาต้มกับน้ำตาล แล้วนำน้ำที่ได้มาล้างแผลเน่าเปื่อยได้ (ใบและเมล็ดหว้า)
  20. น้ำจากลูกหว้าถือเป็น 1 ใน 8 ของน้ำปานะที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาติแก่พระภิกษุ
  21. ยอดอ่อนของหว้าสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดได้ (ยอดอ่อน)
  22. ประโยชน์ของลูกหว้า ผลสุกนิยมนำมารับประทานเป็นผลไม้และใช้ทำเป็นเครื่องดื่มหรือไวน์ได้ (ผลสุก)
  23. เนื้อไม้ของต้นหว้าสามารถนำมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนได้อีกด้วย (ต้นหว้า)