• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

หนาด

หนาด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนาดใหญ่

หนาด

หนาดใหญ่ ชื่อสามัญ Ngai Camphor Tree, Camphor Tree

หนาดใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Blumea balsamifera (L.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baccharis salvia Lour., Blumea grandis DC.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

สมุนไพรหนาดใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนาด (จันทบุรี), คำพอง หนาดหลวง (ภาคเหนือ), ใบหลม ผักชีช้าง พิมเสน หนาดใหญ่ (ภาคกลาง), แน พ็อบกวา (กะเหรี่ยง-แม่ฮองสอน), จะบอ (มลายู-ปัตตานี), เพาะจี่แบ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ส้างหยิ้ง (ม้ง), อิ่มบั้วะ (เมี่ยน), เก๊าล้อม (ลั้วะ), ด่อละอู้ (ปะหล่อง), ตั้งโฮงเซ้า ไต่ฮวงไหง่ ไหง่หนับเฮียง (จีน), ต้าเฟิงไอ๋ ไอ๋น่าเซียง (จีนกลาง) เป็นต้น

หมายเหตุ : ต้นหนาดชนิดนี้เป็นคนละชนิดกับต้นหนาดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pluchea polygonata (DC.) Gagnep.

ลักษณะของหนาดใหญ่

  • ต้นหนาดใหญ่ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ล้มลุกที่มีอายุได้หลายปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 0.5-4 เมตร ลำต้นตั้งตรง เนื้อไม้เป็นแก่นแข็ง เปลือกต้นเรียบเป็นสีเขียวอมขาว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมเทา แตกกิ่งก้านมาก มีขนปุกปุยสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนขึ้นปกคลุมและมีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือผล เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่มักพบขึ้นตามที่รกร้าง ทุ่งนา หรือตามหุบเขาทั่วไป

ต้นหนาดใหญ่

หนาดใหญ่

  • ใบหนาดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมีติ่งหนาม โคนใบสอบหรือเรียวแหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบหยักเป็นซี่ใหญ่ ไม่เท่ากัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-17 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบมีขนทั้งสองด้าน ก้านใบสั้นหรือไม่มี

ใบหนาดใหญ่

ใบหนาด

  • ดอกหนาดใหญ่ ดอกเป็นช่อกระจุกแน่น ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงขนาดใหญ่ที่บริเวณปลายกิ่งหรือซอกใบ ช่อดอกมีขนาดโตไม่เท่ากัน โดยมีขนาดกว้างประมาณ 6-30 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-50 เซนติเมตร ชั้นใบประดับยาวกว่าดอกย่อย ลักษณะของดอกย่อยมีขนาดเล็กสีเหลือง ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีกลีบดอกติดกันเป็นหลอดยาวได้ถึง 6 มิลลิเมตร ปลายกลีบเมื่อบานจะแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ กลีบดอกอ่อนเป็นสีเหลือง เมื่อแก่แล้วกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีขาว โคนดอกมีกลีบเลี้ยงลักษณะเป็นเส้นฝอยปลายแหลมหุ้มอยู่ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ยื่นออกมาจากใจกลางดอก และดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร

ดอกหนาดใหญ่

  • ผลหนาดใหญ่ ผลเป็นผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร สีน้ำตาล โค้งงอเล็กน้อย มีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ 5-10 เส้น ส่วนบนเป็นขนสีขาว ๆ ปกคลุม
  • พิมเสน (พิมเสนหนาด) คือส่วนที่สกัดได้จากใบและยอดอ่อนด้วยไอน้ำ ซึ่งจะได้น้ำมันหอม ทำให้เย็น พิมเสนก็จะตกผลึก แล้วกรองแยกเอาผลึกพิมเสนมาใช้ประมาณ 0.15-0.3 กรัม นำมาป่นให้เป็นผงละเอียด หรือนำไปทำเป็นยาเม็ดกิน

สรรพคุณของหนาดใหญ่

  1. ใบและยอดอ่อนใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาบำรุงกำลัง (ใบ)
  2. ใบใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)
  3. ชาวไทล้อจะใช้ใบนำมาสับแล้วตากให้แห้ง ใช้เข้ายาห่มตำรับไทลื้อ บำรุงร่างกายและผิวพรรณ (ใบ)
  4. ใบใช้เป็นยาบำรุงหลังคลอดบุตรของสตรี (ใบ) ใช้เป็นส่วนผสมในยาต้มให้สตรีหลังคลอดอาบเพื่อช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว (ยาต้มประกอบไปด้วย ใบหนาด ไพล ราชาวดีป่า เปล้าหลวง และอูนป่า)
  5. รากสดใช้ต้มเอาน้ำกิน จะช่วยทำให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น (ราก)
  6. ใบและรากมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาฟอกเลือดทำให้ร่างกายอบอุ่น ปะสะเลือด ช่วยขับลมชื้นในร่างกาย (ใบและราก)
  7. ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต (ใบ, ทั้งต้น)
  8. ช่วยระงับประสาท (ใบ, ทั้งต้น)
  9. ใช้เป็นยาแก้อหิวาตกโรค (ทั้งต้น)
  10. ในกัมพูชา จะใช้ใบนำมาตำร่วมกับใบขัดมอญ (Sida rhombifolia L.) พอกศีรษะแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)
  11. ช่วยแก้ตาเป็นต้อ (พิมเสน)
  12. ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงจมูก (โรคติดเชื้อที่เกิดในจมูก ทำให้หายใจติดขัด มีฝีหนองในจมูก โพรงจมูกอักเสบ) ด้วยการใช้ใบสดนำมาหั่นให้เป็นฝอยเหมือนยาเส้น ตากแดดให้พอหมาด มวนกับยาฉุนแล้วใช้สูบ (ใบ)
  13. ใบนำมาขยี้แล้วใช้ยัดจมูกเวลาเลือดกำเดาไหล จะช่วยทำให้เลือดหยุดไหลได้ (ใบ)
  14. หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้ลำต้นและใบหนาดใหญ่ เข้ายากับใบมะขามและใบเป้าใหญ่ นำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย (ต้นและใบ)
  15. ใบและยอดอ่อนใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบ) ส่วนทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ลมแดด (ทั้งต้น) ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการไข้ (ต้น) ในซาราวัค จะใช้ใบนำมาต้มรวมกับเทียนดำ หัวหอมเล็ก หรือบดกับเกลือกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)
  16. ชาวม้งจะใช้ยอดอ่อนนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปตุ๋นใส่ไข่ ใช้กินเป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรีย (ยอดอ่อน)
  17. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้หวัด (ราก, ใบและราก)
  18. ช่วยขับเหงื่อ (ใบ) ในอินโดจีนจะใช้ใบร่วมกับต้นตะไคร้ นำมาต้มให้เดือดใช้อบตัวช่วยขับเหงื่อ (ใบ)
  19. ช่วยขับเสมหะ (ต้น, ใบ)
  20. ใบใช้เป็นยารักษาโรคหืด ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้ใบนำมาบดผสมกับแก่นก้ามปู การบูร ต้นข่อย และพิมเสน แล้วมวนด้วยใบตองแห้งสูบรักษาโรคหืด เนื่องจากใบมีสาร cryptomeridion ที่มีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อหลอดลม (ใบ)
  21. ใช้แก้อาการเจ็บหน้าอก ชาวลั้วะจะนำใบมานวดที่หน้าอกแก้อาการเจ็บหน้าอก ถ้าไม่หายจะนำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม (ต้น, ใบ, ทั้งต้น)
  22. ช่วยแก้ลมขึ้นจุกเสียดแน่นเฟ้อ (ใบ, รากและใบ)
  23. ช่วยในการขับลมในลำไส้ (ราก, ใบ, พิมเสน)
  24. รากใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องร่วง (ราก) ส่วนใบใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องร่วง แก้บิด (ใบ) พิมเสนใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง ท้องร่วง (พิมเสน)
  25. ใบและยอดอ่อนนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาขับพยาธิ (ใบ) ส่วนทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ทั้งต้น)
  26. ช่วยขับประจำเดือน (ใบ)[4] ใช้เป็นยาแก้มุตกิด ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ (ใบ,รากและใบ ในชวาจะใช้น้ำคั้นหรือน้ำต้มจากใบหรือจากราก นำมากินเป็นยาแก้ประจำเดือนออกมากผิดปกติ (ใบ, ราก)
  27. ใบใช้เป็นส่วนผสมในยาสมุนไพรอาบเพื่อรักษาอาการผิดเดือนสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร โดยใช้ใบหนาดร่วมกับใบเปล้าหลวง และใบหมากป่า ส่วนชาวลั้วะจะใช้รากนำมาต้มในน้ำผสมกับรากเปล้าหลวง ใช้เป็นยาห่มรักษาอาการผิดเดือน (ราก, ใบ)
  28. ชาวเมี่ยนจะใช้ใบหนาดอ่อนนำมาต้มกับน้ำร่วมกับ ใบช่าน ใบเดื่อฮาก ใบก้านเหลือง ใบฝ่าแป้ง ว่านน้ำเล็ก เครือไฮ่มวย ต้นถ้าทางเมีย ต้นสามร้อยยอด ลำต้นป้วงเดียตม ให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟอาบเพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (ถ้าหาไม่ครบก็ให้ใช้เท่าที่หาได้) (ใบ)
  29. ตำรับยาแก้ปวดประจำเดือน ให้ใช้รากหนาด 30 กรัม และเอี๊ยะบ๊อเช่า 18 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน (ราก)
  30. ในประเทศจีนจะใช้ใบหนาดใหญ่ เป็นยาทำให้แท้ง (ใบ)
  31. ตำรับยาแก้เริมบริเวณผิวหนัง ด้วยการใช้ใบหนาด 20 กรัม, ขู่เซินจื่อ 20 กรัม, โด่ไม่รู้ล้ม 20 กรัม, จิงเจี้ย 20 กรัม, เมล็ดพุดตาน 15 กรัม, ไป๋เสี้ยนผี 30 กรัม, และใบสายน้ำผึ้ง 30 กรัม นำมารวมกันต้มเอาน้ำชะล้างแผล (ใบ)
  32. ใบใช้ตำร่วมกับใบกระท่อม ใบเพกา และใบยอ ใช้เป็นยาพอกแก้ม้ามโต (ใบ)
  33. พิมเสนใช้ภายนอกด้วยการนำผงมาโรยใส่แผล จะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น ช่วยรักษาแผลอักเสบ แก้กลากเกลื้อน และแผลฟกช้ำ (พิมเสน)
  34. ใบใช้ภายนอก นำมาตำพอกแผลจะช่วยห้ามเลือดได้ หรือจะนำใบมาบดให้เป็นผงละเอียดผสมกับเหล้า ใช้พอกหรือทารักษาแผลสด แผลฟกช้ำจากการหกล้มหรือถูกกระทบกระแทก แผลฝีหนอง ฝีบวมอักเสบ แก้กลากเกลื้อน (ใบ) น้ำคั้นจากใบหรือผงใบแห้งใช้ทาแผลจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ใบ)
  35. ยาพื้นบ้านนครราชสีมา จะใช้ใบหนาดใหญ่เป็นยารักษาโรคเรื้อน โดยนำใบมาตำให้ละเอียด ใส่ด่างทับทิมและน้ำพอประมาณ แล้วนำมาปิดบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)
  36. ชาวกัมพูชาจะใช้ใบเป็นยาพอกแก้หิด (ใบ)
  37. ใบใช้ผสมในน้ำอาบสมุนไพรหลังคลอด ช่วยบำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื้น และช่วยแก้หิด (ใบ)
  38. รากใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้บวม แก้อาการปวดข้อ รวมถึงแผลฟกช้ำ (ราก) ส่วนใบให้นำมาบดเป็นผงละเอียดผสมกับเหล้า ใช้พอกหรือทาเป็นยาแก้ปวดข้อ แก้บวม แก้ปวดหลัง ปวดเอว (ใบ) ตำรับยาแก้บวมเจ็บ ปวดข้อ อีกวิธีหนึ่งระบุให้ใช้ใบหรือยอดอ่อนสด ใบละหุ่งสด รากว่านน้ำเล็กสด (Acorus gramineus Soland.) อย่างละเท่ากัน พอประมาณ นำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น (ใบ)
  39. ตำรับยาแก้ปวดข้อ ไขข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้น ให้ใช้รากหนาด 30 กรัม, เถาหีบลมเทศ 30 กรัม, เหลี่ยงเมี่ยนเจิน 6 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน หรือใช้ดองกับเหล้ากินก็ได้ (ราก) ส่วนใบก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคไขข้ออักเสบเช่นกัน (ใบ)
  40. รากและใบใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้น แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายหลังจากคลอดบุตรของสตรี (รากและใบ) รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดเมื่อยหลังการคลอดบุตร (ราก)
  41. ช่วยแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ (ใบ)
  42. แก้ปวดเอ็นและกระดูก (ใบ)
  43. การแพทย์แผนไทยจะใช้ใบหนาดในสูตรยาอบสมุนไพร ซึ่งมีสรรพคุณแก้โรคผิวหนังพุพอง น้ำเหลืองเสีย โดยตัวอย่างสมุนไพรแห้งที่นำมาใช้ในการอบ ได้แก่ ใบหนาด ใบมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย ใบพลับพลึง ยอดผักบุ้ง การบูร ขมิ้นชั้น ต้นตะไคร้ และหัวไพล โดยเป็นสูตรช่วยบำรุงผิวพรรณ บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย วิงเวียนศีรษะ และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต (ใบ)

เสลา

 

เสลา

http://www.maipradabonline.com/weekly/salouw/p2.jpg

ชื่อพื้นเมือง เกรียบ ตะเกรีบ ตะแบกขน เสลา

ลักษณะทั้วไป เป็นพรรณไม้ขนาดกลาง สูงได้ถึง 20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอด ทรงกลม หรือ ทรงกระบอก หนาทึบ ใบเดี่ยวรูปไข่แกนขอบขนาน เป็นไม้ประจำ จ.นครสวรรค์

ดอก ออกดอกเป็นช่อตามกิ่ง มี� กลีบ โคนดอกเป็นก้านสั้น มีหลายสี เช่น ขาว ม่วง ม่วงอมแดง กลีบดอกบางยับย่น ดอก ธันวา - มีนาคม

ผล กลมรี เปลือกแข็ง

ด้านภูมิทัศน์ ดอกสวยงาม ควรปลูกให้ร่มเงาในบ้านหรือ ในสวนเพราะเป็นไม้พุ่มใบห้อยย้อยลงสวยงาม

ประโยชน์ ใบบดกับกำยานใช้ทาผดผื่นคัน ผลใช้ทำไม้ประดับแห้ง

 


http://community.akanek.com/sites/default/files/25/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A5%E0%B8%B2002.jpg

 

เป็นต้นไม้ขนาดกลางโตช้า ผลัดใบ สูง 10-20เมตร เรือนยอดทรงกลมทึบ ใบดก กิ่งโน้มลงรอบทรงพุ่ม เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีรอยแตกเป็นทางยาวตลอดลำต้น ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปขอบขนาน กว้าง 6-10ซม. ยาว 16-24ซม. ปลายเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนมน เนื้อใบหนาปานกลาง เส้นใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน
ดอกสีม่วง ม่วงอมชมพู หรือม่วงกับขาว ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5-8แฉก กลีบดอกส่วนใหญ่เป็น 6 กลีบ รูปกลมบางยับย่น ขอบย้วย โคนคอดเป็นก้านสั้นๆ เมื่อบาน เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4ซม. เกสรตัวผู้จำนวนมาก 

หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง ชื่อสามัญ Alacransillo, Eye bright, Indian Heliotrope, Indian Turnsole, Turnsole

หญ้างวงช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Heliotropium indicum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Heliophytum indicum (L.) DC., Tiaridium indicum (L.) Lehm.) จัดอยู่ในวงศ์หญ้างวงช้าง (BORAGINACEAE)

สมุนไพรหญ้างวงช้าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักแพวขาว (กาญจนบุรี), หวายงวงช้าง (ศรีราชา), หญ้างวงช้างน้อย (ภาคเหนือ), หญ้างวงช้าง (ไทย), กุนอกาโม (มลายู-ปัตตานี), ชื้อเจาะ(ม้ง), ไต่บ๋วยเอี้ยว เฉี่ยผี่เช่า (จีนแต้จิ๋ว), เงียวบ๋วยเช่า ต้าเหว่ยเอี๋ยว เซี่ยงปี๊่เฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของหญ้างวงช้าง

  • ต้นหญ้างวงช้าง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุเพียงฤดูกาลเดียว เกิดในช่วงฤดูฝน ถึงหน้าแล้งก็ตาย มีความสูงของต้นประมาณ 15-60 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก มีขนหยาบปกคลุมตลอดทั้งต้น ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มักได้ทั่วไปในที่ที่มีความชื้น เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท มักพบได้ตามพื้นที่ชื้นแฉะ เช่น ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง ทางน้ำ ท้องนา แหล่งน้ำต่าง ๆ หรือตามที่รกร้างตามวัดวาอารามทั่วไป และมีบ้างที่ปลูกไว้เก็บมาขายเป็นยาสดตามสวนยาจีนต่าง ๆ

ต้นหญ้างวงช้าง

  • ใบหญ้างวงช้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหรือออกเกือบตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปกลมรี หรือป้อม ปลายใบแหลมสั้น กลางใบกว้างออก โคนใบมนรีหรือเรียวต่อลงมาถึงก้านใบ ส่วนขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบหยาบ มีรอยย่น และขรุขระ หลังใบและท้องใบมีขนเล็กน้อย มีก้านใบยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร

ใบหญ้างวงช้าง

  • ดอกหญ้างวงช้าง ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่บริเวณปลายยอด ปลายช่อมักม้วนลงดูเหมือนงวงช้างหรือหางแมงป่อง ช่อดอกยาวประมาณ 3-20 เซนติเมตร ดอกจะออกดอกทางด้านบนด้านเดียวและเรียงกันเป็นแถว ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีฟ้าอ่อนหรือสีขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแยกออกจากกัน ด้านนอกมีขนนุ่ม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน มีขนสีขาว ภายในหลอดดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน ติดอยู่กับฐานดอก รังไข่เป็นรูปจานแบน ๆ

รูปดอกหญ้างวงช้าง

ดอกหญ้างวงช้าง

รูปหญ้างวงช้าง

  • ผลหญ้างวงช้าง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผลเป็นคู่ มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ผลเกิดจากการที่รังไข่ 2 อันรวมตัวติดกัน เปลือกผลแข็ง ข้างในแบ่งออกเป็นช่อง 2 ช่อง มีเมล็ดอยู่ตามช่อง ช่องละ 1 เมล็ด

ผลหญ้างวงช้าง

สรรพคุณของหญ้างวงช้าง

  1. น้ำจากใบหญ้างวงช้างมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (น้ำจากใบ)
  2. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้โรคชักในเด็ก (ทั้งต้น)
  3. ช่วยแก้เด็กตกใจในเวลากลางคืนบ่อย ๆ (ทั้งต้น)
  4. ใบสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดหู (ใบ)
  5. น้ำจากใบใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาฟาง ส่วนทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ตาฟางเช่นกัน (น้ำจากใบ,ทั้งต้น)
  6. รากสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้หยอดตาแก้ตาอักเสบ ตาเจ็บ ตาฟาง ตามัว (ราก)
  7. ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยแก้โรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน (ทั้งต้น)
  8. ช่วยแก้อาการปากเปื่อย ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้บ้วนปากและกลั้วคอวันละ 4-6 ครั้ง (ทั้งต้น)
  9. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกินเป็นยา (ทั้งต้น)
  10. ทั้งต้นใช้เป็นยาเย็น ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ดับร้อนใน (น้ำจากใบ,ทั้งต้น)
  11. ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาแก้อาการไอ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกิน (ทั้งต้น)
  12. น้ำจากใบใช้ทำเป็นยาอมกลั้วคอจะช่วยแก้อาการเจ็บคอได้ (น้ำจากใบ)
  13. ช่วยแก้หอบหืด ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกิน (ทั้งต้น)
  14. ช่วยแก้ปอดอักเสบ แก้ฝีในปอด มีฝีมีหนองในช่องหุ้มปอด ด้วยการใช้ต้นสด 60 กรัม นำมาต้มผสมกับน้ำผึ้งรับกิน หรือจะใช้ทั้งต้นสดประมาณ 60-120 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งกินก็ได้ (ทั้งต้น)
  15. ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ต้น)
  16. ใช้แก้อาการปวดท้องอันเกิดจากอาหารเป็นพิษ ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับหญ้าปันยอด (ชั้วจ้างหม่อ) และต้นว่านน้ำ (แป๊ะอะ) (ต้น)
  17. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)
  18. ในประเทศอินจะใช้หญ้างวงช้างเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) และเฉพาะส่วนของเมล็ดจะใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บปวดของกระเพาะอาหาร (เมล็ด)
  19. ช่วยขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มเอาแต่น้ำกินเป็นยา (ทั้งต้น)
  20. ดอกและรากใช้น้อยมีสรรพคุณเป็นยาขับระดู แต่หากใช้มากอาจทำให้แท้งบุตรได้ ด้วยการใช้ดอกสดนำมาต้มกิน (ราก,ดอก)
  21. ใช้แก้หนองในช่องคลอด (ทั้งต้น)
  22. ใบใช้เป็นยาพอกรักษาแผล (ใบ)
  23. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาลดบวม ช่วยแก้แผลบวมมีหนอง ช่วยลดอาการปวดบวมฝีหนอง (ทั้งต้น)
  24. ใบใช้เป็นยาพอกฝี รักษาโรคผิวหนัง (ใบ) ส่วนในประเทศอินเดียนอกจากจะใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังแล้วยังใช้แก้กลากเกลื้อน ไฟลามทุ่ง และแมลงสัตว์กัดต่อยด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ช่วยแก้แผลฝีเม็ดเล็ก ๆ มีหนอง ด้วยการใช้รากสดประมาณ 60 กรัม ผสมกับเกลือเล็กน้อย นำมาต้มกับน้ำกิน และให้นำใบสดมาตำกับข้าวเย็น (ไม่ได้ระบุว่าข้าวเย็นเหนือหรือข้าวเย็นใต้) ใช้พอกแผลด้วย (ราก,ใบ)
  25. ใช้รักษาอาการฟกช้ำ (ประเทศอินเดีย-ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  26. ในบางตำราจะใช้ทั้งต้นหญ้างวงช้าง ผสมกับใบและดอกชุมเห็ดไทย และใบและดอกผักเสี้ยนผี ใช้เป็นยาพอกแก้ปวดตามข้อ เช่น ข้อเข่า หัวใหญ่ โดยในขณะที่พอกให้พันด้วยผ้าไว้จนรู้สึกร้อนบริเวณที่พอก จากนั้นให้เปิดผ้าออกและเปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง แล้วจึงทาด้วยน้ำมันมะพร้าวตาม (ทั้งต้น) ส่วนในประเทศอินเดียจะใช้เป็นยารักษาไขข้ออักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  27. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุถึงสรรพคุณของหญ้างวงช้างไว้อีกหลายอย่าง เพียงแต่ข้อมูลดังกล่าวนั้นไม่มีแหล่งที่ที่น่าเชื่อถือได้ จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าหญ้างวงช้างมีสรรพคุณตามที่นั้นหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลได้ระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วว่า ต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษตานซาง แก้หนองใน และที่ไม่ระบุส่วนที่ใช้ก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย รักษาเริม งูสวัด ขยุ้มตีนหมา เป็นต้น ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชระบุไว้ว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านเชื้อรา ไล่แมลง คุมกำเนิด เร่งการสมานแผล ฯลฯ เป็นต้น (docs.google.com)

ประโยชน์ของหญ้างวงช้าง

  • ใบใช้รักษาสิว (ข้อมูลไม่ได้ระบุวิธีใช้ แต่เข้าใจว่านำใบมาตำแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นสิว)
  • สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานย้อมสีได้ จากการสกัดน้ำสีจากใบหญ้างวงช้าง เมื่อนำมาย้อมเส้นไหมก็พบว่าได้เส้นไหมที่มีคุณภาพดี มีความคงทนต่อการซักในระดับดีและดีมาก และมีความคงทนต่อแสงในระดับดี โดยสีที่ได้คือสีน้ำตาลอ่อน
  • คนอีสานมีภูมิปัญญาการใช้หญ้างวงช้าง เพื่อเป็นประโยชน์ในด้านการเป็นเครื่องมือตรวจวัดอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เมื่อต้องการวัดคุณภาพของอากาศ ถ้าช่อดอกเหยียดตรงแสดงว่าปีนั้นฝนจะแล้งจัด แต่ถ้าช่อดอกม้วนงอแสดงว่าปีนั้นจะมีน้ำมาก และถ้าแปลงนามีต้นหญ้างวงช้างขึ้นเป็นจำนวนมากก็แสดงว่าแปลงนานั้นมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยก็ได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งจากการทดลองพบว่าแปลงที่มีหญ้างวงช้างเจริญงอกงามดี จะสามารถให้ผลผลิตมากกว่าแปลที่ไม่มีหญ้างวงเกิดประมาณ 60% (จากการทดลองไม่มีการใส่ปุ๋ยทั้งสองแปลงเพื่อทำการเปรียบเทียบ)

มะฮอกกานีใบใหญ่

มะฮอกกานีใบใหญ่

(Broad Lead Mahogany)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Swietenia macrophylla King
ชื่อวงศ์ MELIACEAE
ถิ่นกำเนิด ทางตอนใต้ของเม็กซิโก
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-25 ม. ขนาดทรงพุ่ม
6-10 ม. ผลัดใบ ทรงกระบอก ค่อนข้างแน่น ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้น สีน้ำตาลหรือเทาอมดำ แตกเป็นร่องตามแนวยาวและหลุดล่อนเป็นแผ่น


ใบ 
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แกนกลางใบ ประกอบยาว 20-50 ซม. ใบย่อย 3-8 คู่ เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-6 ซม. ยาว 6-15 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเบี้ยว ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่น เป็นลอน สีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอก สีเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 10-15 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอ่อนโคนเชื่อมติดกัน กลีบดอก 5 กลีบ รูปช้อน ปลายมน ติดอยู่กับ หลอดเกสรตัวผู้โดยโคนกลีบเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ 8-10 อัน เชื่อมติดกัน เป็นหลอด เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.7-1.2 ซม. ออกดอกเดือน พ.ค.-มิ.ย.

 
ผล ผลแห้งแตก รูปไข่ กว้าง 6-9 ซม. ยาว 14-18 ซม. เปลือกหนา สีน้ำตาลอมเหลือง เมื่อสุกมีสีน้ำตาลอมเทา แตกจากโคนเป็น 5 พู เมล็ดเป็นแผ่น มีปีกรูปรียาว ปลายปีกบาง สีน้ำตาล หลายเมล็ด ติดผล เดือน ก.ค.-ต.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือกต้น รสฝาดขม ฝนทาสมานแผล ต้มดื่มแก้ไข้เจริญอาหาร เมล็ด รสขมจัด นึ่งให้สุกบดปั้นเม็ดรับประทาน แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้จับสั่น ไข้ป้าง ตัดไข้จับ