• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

จำปูน

จำปูน

ชื่อสามัญ Jum-poon
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anaxagorea siamensis
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Anaxagorea javanica , Anaxagorea scortechnii
ชื่อวงศ์ ANNONACEAE
ชื่ออื่นๆ บุหงาปมปุนดอกจำปูน

จำปูน เป็นไม้พุ่มยืนต้นในวงศ์กระดังงา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มักเจริญเติบโตอยู่ตามป่าดิบชื้น ส่วนในประเทศไทยพบได้มากในบริเวณริมแม่น้ำทางภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้แถบจังหวัดจันทบุรี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาในระดับต่ำเป็นทรงพุ่มโปร่ง มีความสูงของลำต้นตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป บางต้นอาจสูงได้ถึง 10-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นเรียบมีสีเทาอมน้ำตาล

ใบ
มีลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกเป็นใบเรียงสลับกันที่ปลายกิ่ง โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ขนาดความกว้างของใบมีประมาณ 4.5-7.5 ซม. ยาวประมาณ 10-19 ซม.

ดอก
ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ บริเวณซอกใบ มีกลีบดอกรูปไข่ที่หนาและแข็งซ้อนกันอยู่ 2 ชั้นๆ ละ 3 กลีบ กลีบด้านนอกมีสีเขียว ส่วนกลีบด้านในมีสีขาว มีเกสรตัวเมียอยู่บริเวณกลางดอกและถูกล้อมรอบไปด้วยเกสรตัวผู้จำนวนมาก ดอกที่บานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. ดอกมีกลิ่นหอมแรงในเวลาตอนเช้าและตอนเย็นๆ ให้ดอกได้ตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูฝนจะติดดอกได้มากที่สุด

ผล
มีลักษณะเป็นผลกลุ่ม ที่ประกอบไปด้วยผลย่อยประมาณ 4-10 ผล โคนผลเรียว ปลายผลเป็นปุ่มกลมกว้างกว่าโคนผล มีความยาวของผลประมาณ 2-5 ซม. ภายในผลมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กคล้ายรูปหยดน้ำอยู่หลายเมล็ด เมื่อผลแก่สามารถแตกออกได้

การขยายพันธุ์
ทำได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง แต่การเพาะด้วยเมล็ดจะได้ผลดีกว่า การงอกของเมล็ดจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เมล็ดจำปูนจะสูญเสียการงอกได้รวดเร็วมาก ดังนั้น ควรทำการเพาะทันทีหลังจากที่เก็บมาจากต้น

จำปูนเป็นพันธุ์ไม้หอมที่มีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้าในปีแรกของการปลูก และจะเร็วขึ้นในปีถัดไป เป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูง ชอบแสงแดดแบบรำไร ต้องการน้ำในปริมาณที่มากพอสมควร สามารถปลูกเลี้ยงได้ทั้งในกระถางและปลูกลงดินกลางแจ้ง ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดที่มีความอุดมสมบูรณ์ และระบายน้ำได้ดี

ประโยชน์
นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในกระถาง หรือในพื้นที่บริเวณอาคารบ้านเรือน เนื่องจากมีดอกอวบหนาสีเขียวสลับขาวดูสวยงามแปลกตา และยังส่งกลิ่นหอมชื่นใจในยามเช้าและเย็นด้วย ส่วนยอดอ่อนสามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ ดอกจำปูนยังสามารถนำไปทำเป็นเครื่องหอมชนิดต่างๆ ได้เช่นเดียวกับไม้ดอกหอมชนิดอื่นๆ

จำปา

จำปา สรรพคุณและประโยชน์ของจำปา

ดอกจำปา

จำปา ชื่อสามัญ Champaca, Champak, Orange chempaka, Golden champa, Sonchampa

จำปา ชื่อวิทยาศาสตร์ Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Michelia champaca L.) จัดอยู่ในวงศ์จำปา (MAGNOLIACEAE)

สมุนไพรจำปา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จำปาเขา จำปาทอง (นครศรีธรรมราช), จำปาป่า (สุราษฎร์ธานี), จุมปา จุ๋มป๋า (ภาคเหนือ), จำปากอ (มลายู-ภาคใต้), มณฑาดอย เป็นต้น

ลักษณะของจำปา

  • ต้นจำปา มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง มีความสูงประมาณ 15-30 เมตร ลักษณะเป็นทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวยคว่ำ ค่อนข้างโปร่ง แตกกิ่งจำนวนมากที่ยอด ที่เปลือกมีสีเทาอมขาวและมีกลิ่นฉุน โดยต้นจำปาจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง และการตอนกิ่ง

ต้นจำปา

  • ใบจำปา ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว ใบใหญ่สีเขียวเป็นมัน ลักษณะคล้ายรูปรีแกมขอบขนาน กว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม เนื้อใบบาง ใบอ่อนจะมีขน ส่วนใบแก่จะเกลี้ยง ใบมีเส้นใบประมาณ 16-20 คู่ และก้านใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร โคนก้านใบป่อง

ใบจำปา

  • ดอกจำปา ลักษณะเป็นดอกเดี่ยวสีเหลืองอมแสด ดอกมีกลิ่นหอมแรง ออกดอกตามซอกใบใกล้ ๆ ปลายกิ่ง ดอกตั้งขึ้น ดอกตูมเป็นรูปกระสวย มีแผ่นสีเขียวคลุมอยู่และจะหลุดไปเมื่อดอกบาน ที่กลีบดอกและกลีบเลี้ยงจะมีลักษณะเหมือนกัน มีจำนวน 12-15 กลีบ แต่ละกลีบรูปยาวรีแกมรูปหอก กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 4-4.5 เซนติเมตร ดอกจะเริ่มแย้มและส่งกลิ่นหอมในช่วงพลบค่ำ และในเช้าวันถัดมากลีบดอกก็จะกางออกจากกัน และร่วงหล่นในช่วงเย็น ดอกจำปาสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีมากหน่อยในช่วงต้นฤดูฝน แต่ต้องใช้เวลาปลูกนานกว่า 3 ปีจึงจะออกดอก

จำปา

  • ผลจำปา จะออกเป็นกลุ่ม มีความยาวประมาณ 6-9 เซนติเมตร ผลย่อยค่อนข้างกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร สามารถติดผลได้ดี มีเมล็ดหลายเมล็ด มีสีดำ เมล็ดค่อนข้างกลม เปลือกหุ้มเมล็ดสีแดงแสด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร

ผลจำปา

สรรพคุณของจำปา

  1. ช่วยบำรุงธาตุ (ดอก, ผล, เมล็ด)
  2. จำปามีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
  3. ช่วยบำรุงประสาท (ดอก)
  4. ช่วยกระจายโลหิต (ดอก)
  5. ดอกจำปามีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต (ดอก, เนื้อไม้)
  6. ช่วยทำให้เลือดเย็น (ดอก)
  7. ช่วยแก้โรคเส้นประสาทพิการ (ใบ)
  8. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (น้ำมันกลั่นจากดอก)
  9. ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย (ดอก)
  10. ช่วยแก้คลื่นเหียน อาเจียน (ดอก, ผล, เมล็ด)
  11. ช่วยแก้อาการไข้ (เปลือกต้น, ผล)
  12. ช่วยแก้ไข้อภิญญาณ (ใบ)
  13. ช่วยแก้พิษสำแลง (ไข้ซ้ำ) (กระพี้)
  14. ช่วยระงับอาการไอ (ใบ)
  15. ช่วยแก้อาการคอแห้ง (เปลือก)
  16. ช่วยแก้อาการตาบวม (น้ำมันกลั่นจากดอก)
  17. ช่วยขับเสมหะ (ใบ)
  18. ช่วยทำให้เสมหะในลำคอเกิด (เปลือกต้น)
  19. ช่วยแก้ป่วงของทารก (ใบ)
  20. เปลือกรากใช้เป็นยาถ่าย (เปลือกราก, เปลือกต้น)
  21. ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำ ใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบได้ (ใบ)
  22. ช่วยขับลม (ดอก)
  23. ช่วยขับพยาธิ (เปลือกราก)
  24. ช่วยขับปัสสาวะ (ดอก, ผล, เมล็ด)
  25. ยางช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ยาง)
  26. ช่วยบำรุงน้ำดี (ดอก)
  27. ช่วยแก้โรคไต (ดอก)
  28. ช่วยฝาดสมาน (เปลือกต้น)
  29. ช่วยถอนพิษสำแดง (กระพี้)
  30. ช่วยรักษาแผลที่เท้าและอาการเท้าแตก (ผล, เมล็ด)
  31. เปลือกหุ้มรากและรากแห้ง ใช้ผสมกับนมสำหรับบ่มฝี (ราก, เปลือกราก)
  32. ช่วยรักษาโรคเรื้อน (ดอก, แก่น)
  33. ช่วยรักษาโรคปวดตามข้อ (เปลือกราก, น้ำมันจากดอก)
  34. ช่วยระงับอาการเกร็ง (ดอก)
  35. รากช่วยขับเลือดเน่าเสีย (ราก)
  36. ช่วยบำรุงประจำเดือนของสตรี (เนื้อไม้)
  37. ช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ (เปลือกราก)
  38. ช่วยขับโลหิตในสตรีที่อยู่ในเรือนไฟให้ตก (ราก)

ประโยชน์ของจำปา

  1. ดอกใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร
  2. นิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ให้ความหอมและความสวยงาม และยังเป็นต้นไม้ให้ร่มเงาในสนามได้ดีมากชนิดหนึ่งอีกด้วย
  3. น้ำมันจากดอกจำปา สามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอางได้
  4. ไม้จากต้นจำปามีสีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน มีความเหนียว เป็นมัน ทนปลวกได้ดี เลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย จึงนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ทำเครื่องมือ เครื่องกลึง หีบใส่ของ เครื่องแกะสลักต่าง ๆ รวมไปถึงของเล่นเด็ก ฯลฯ

จำปี

จำปี สรรพคุณและประโยชน์ของจำปี

จำปี

จำปี ชื่อสามัญ White champaka, White sandalwood, White jade orchid tree

จำปี ชื่อวิทยาศาสตร์ Michelia alba DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Michelia longifolia var. racemosa Blume) จัดอยู่ในวงศ์จำปา (MAGNOLIACEAE)

สมุนไพรจำปี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จุมปี จุ๋มปี๋ (ภาคเหนือ) เป็นต้น

ลักษณะของจำปี

  • ต้นจำปี มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (แต่ก็มีข้อสันนิษฐานว่ามันมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ หรือประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย) สามารถแบ่งสปีชีส์ได้ประมาณ 50 ชนิด โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูงใหญ่กว่าจำปาเล็กน้อย ความสูงประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นมีสีน้ำตาลแตกเป็นร่องถี่ ๆ กิ่งมีขนสีเทา เปราะและหักง่าย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งและการเพาะเมล็ด

ต้นจำปี

  • ใบจำปี มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ใบสีเขียว โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ใบหนาและมีขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20 เซนติเมตร
  • ดอกจำปี ลักษณะเป็นดอกเดี่ยว มีกลิ่นหอม มีสีขาวคล้ายกับสีงาช้าง ดอกมีกลีบซ้อนกันอยู่ 8-10 กลีบ กลีบดอกจะเรียวกว่าดอกจำปา และมีความยาวประมาณ 2 นิ้ว ส่วนตรงกลางดอกจะมีเกสรเป็นแท่งกลมเล็ก ๆ ยอดแหลมคล้ายฝักข้าวโพดเล็ก ๆ โดยดอกจำปีจะออกดอกได้ตลอดทั้งปี

ดอกจำปี

  • ผลจำปี ลักษณะของผลเป็นกลุ่ม เมื่อแก่จะแห้งแตก ลักษณะคล้ายทรงไข่หรือทรงกลม บิดเบี้ยวเล็กน้อย ผลแก่มีสีแดง ด้านในมีเมล็ดเล็ก ๆ สีดำประมาณ 1-4 เมล็ด
ใบจำปีผลจำปี

สรรพคุณของจำปี

  1. ใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก, ผล)
  2. ช่วยแก้คลื่นเหียน อาเจียน (ดอก, ผล)
  3. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
  4. ช่วยบำรุงประสาท (ดอก)
  5. กลีบดอกมีน้ำมันหอมระเหย สามารถใช้ทาแก้อาการปวดศีรษะได้ (กลีบดอก)
  6. น้ำมันดอกจำปีมีสารที่ออกฤทธิ์ในการสงบประสาทและช่วยต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ (ดอก)
  7. ช่วยแก้อาการตาบวม (น้ำมันจากดอกจำปี)
  8. ช่วยบำรุงโลหิต (ดอก)
  9. ช่วยแก้ไข้ (เปลือกต้น, ดอก, ผล)
  10. น้ำที่สกัดจากใบมีฤทธิ์ช่วยระงับอาการไอ หอบได้ แต่ได้แค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น (ใบ)
  11. ใบใช้ต้มแก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (ใบ)
  12. ดอกช่วยบำรุงน้ำดี (ดอก)
  13. ช่วยขับปัสสาวะ (ดอก, ผล)
  14. ใช้ต้มแก้ต่อมลูกหมากอักเสบ (ใบ)
  15. ช่วยบำรุงประจำเดือน (แก่น)
  16. ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ใบ)
  17. ดอกตูมใช้สำหรับการรักษาอาการหลังการแท้งบุตร (ดอกตูม)

ประโยชน์ของจำปี

  1. ใช้ปลูกไว้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ โดยสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
  2. ดอกใช้ทำอุบะ ห้อยชายพวงมาลัย
  3. ดอกใช้บูชาพระได้
  4. ดอกสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอางได้
  5. ดอกสามารถนำมาใช้อบเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอมได้
  6. เนื้อไม้ของต้นจำปี สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือนได้

จามจุรี

จามจุรี

ชื่อวิทยาศาสตร์ - Samanea saman (Jacq.) Merr.

ชื่ออื่นๆ - ก้ามกราม (กลาง) ก้ามกุ้ง (กทม.,อุตรดิตถ์) ก้ามปู (กทม.,พิษณุโลก) ฉำฉา (กลาง,เหนือ) ตุ๊ดตู่ (ตราด) ลัง (เหนือ) สารสา (เหนือ) สำสา (เหนือ) เส่คุ่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) และ เส่ดู่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)

ชื่ออื่นๆ (อังกฤษ) - Rain Tree, East Indian Walnut, Monkey Pod


ลักษณะทั่วไป

เป็นพืชในวงศ์ถั่ว ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 เมตร มีกิ่งก้านสาขามาก มีใบขนาดเล็ก ดอกสีชมพู มีผลเป็นฝัก เมล็ดแข็ง ผลมีเนื้อสีชมพู รสหวานสัตว์เคี้ยวเอื้องชอบกินเป็นอาหาร

ใบ - เป็นใบผสมแบบขนนกสองชั้นทั้งใบยาวประมาณ 25-40 เซนติเมตร ใบประกอบด้วยช่อใบ 4 คู่ ใบย่อย 2-10 คู่ ต่อหนึ่งใบ ใบย่อยเกิดบนก้านใบซึ่งแยกจากก้านใหญ่ ใบย่อยรูปขนานเปียกปูนแต่เบี้ยว ใบย่อยด้านปลายใบใหญ่ที่สุดใบย่อยหนาปานกลาง ด้านหน้าใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านหลังใบสีเขียวนวล และมีขนเล็กน้อย

ดอก - เป็นช่อดอกทรงกลม แต่ละช่อรวมกันเป็นช่อใหญ่ ช่อดอกเกิดที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเล็กมาก แต่ละช่อดอกมีดอกตัวเมียดอกเดียว และล้อมรอบด้วยดอกตัวผู้เป็นจำนวนมาก ดอกบานมีสีชมพูซึ่งเป็นสีของเกสรตัวผู้ จามจุรีออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม

ผล - เป็นฝักแบนเมื่อแก่ก็จะไม่แตก ฝักแก่จะมีสีน้ำตาลดำขนาดกว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร ภายในฝักมีเนื้อนิ่มรสหวาน ฝักหนึ่งๆ มีเมล็ด 15-25 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลดำยาว 0.5-0.8 เซนติเมตร ฝักแก่ระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคม


ประโยชน์

ทางด้านเนื้อไม้

ในปัจจุบันเนื้อไม้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแกะสลักไม้ภาคเหนือ ซึ่งมีการดำเนินงานในรูปสหกรณ์หัตถกรรมไม้ วัตถุดิบ นอกจากไม้จามจุรีคือไม้สักมีราคาแพงและหายากทำให้ไม้จามจุรีจึงมีบทบาทในการทดแทนไม้สักได้มากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากไม้จามจุรี ราคาถูกสามารถหาได้ง่ายกว่าไม้สัก เนื้อไม้มีแก่นสีดำคล้ำสวยงาม เมื่อขัดตกแต่งจะขึ้นเงาแวววาว เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทุกระดับทั่วไป เนื่องจากความชื้นในไม้จามจุรีมีมาก ทำให้เกิดปัญหาไม้แตกในระหว่างการแกะสลักหรือหลังจากเป็นผลิตภัณฑ์ วิธีแก้ไข คือ การอบไม้โดยค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิจนกระทั่งไม่มีความชื้นหรือใกล้เคียงกับบรรยากาศทั่วไป

มูลค่าของไม้แกะสลักที่จำหน่ายจะสูงกว่ามูลค่าไม้แปรรูปเพียงใด ขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของไม้แกะสลัก ในเรื่องนี้ไม้จามจุรีจะด้อยกว่าไม้สัก และมูลค่าของไม้แกะสลักจะสูงกว่าไม้แปรรูปถึง 3 เท่า ในปี พ.ศ. 2521 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักสูงถึง 300 ล้านบาท

ทางด้านอื่นๆ

  • จามจุรีเป็นแม่ไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่งได้ผลดีมากชนิดหนึ่งโดยเฉพาะชนิดที่มีดอกสีชมพูเปลือกสีเทาดำ ใบเขียวเข้ม ครั่งจะจับได้ดี ไม้ชนิดนี้สามารถเลี้ยงครั่งทั้งรอบฤดูร้อนและฤดูฝน แต่ผลผลิตครั่งที่ได้ปริมาณมาก คือ ครั่งที่ตัดเก็บในเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม คุณภาพของครั่งไม้ก้ามปูมีทั้งชั้นคุณภาพ A และ B ผลผลิตครั่งที่ตัดเก็บได้ประมาณ 5 – 10 กิโลกรัม ต่อต้นเมื่ออายุ 6 ปี ในเนื้อที่ 1 ไร่ หากต้นจามจุรีมีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะได้ผลผลิตครั่งประมาณ 10 – 50 กิโลกรัม ต่อต้นหรือมากกว่านั้น (น้ำหนักครั่งดิบ)
  • เป็นอาหารสัตว์ ใบและฝักมีคุณประโยชน์มาก สำหรับ วัว ควาย ซึ่งมักจะชอบกินใบเขียวและใบอ่อน ฝักจะมีเนื้อที่มีสีน้ำตาลกล่าวว่าถ้าเลี้ยงแม่วัวที่รีดนม อาจทำให้นมมีคุณภาพดีขึ้น ฝักแก่ราวเดือนมีนาคม สามารถเก็บรักษาไว้เลี้ยงวัวควายได้ในกรณีหาหญ้าฟางได้ยากหรือมีราคาแพง ส่วนผสมของฝักมีคูณค่าดีเท่ากับหญ้าแห้งในการใช้เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้เนื้อในของฝักแก่ที่มีสีน้ำตาลยังสามารถใช้หมักเพื่อผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ปรากฏว่าฝัก 100 กิโลกรัม จะได้แอลกอฮอล์ราว 11.5 ลิตร และฝักนั้นมีผู้นำไปใส่น้ำต้มรับประทานแบบน้ำชา มีรสหวาน ประแล่มๆ
  • ปรับปรุงสภาพดินเลวให้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่วจึงมีคุณสมบัติในการปรับปรุงคุณภาพของดินให้ดีขึ้น ใบใช้ทำปุ๋ยหมักได้ โดนเฉลี่ยมีไนโตรเจนถึงร้อยละ 3.25
  • เป็นไม้ประดับยืนต้น ที่สวยงามเนื่องจากเรือนยอดแผ่กว้างทั้งยังให้ร่มเงาที่ร่มเย็น เนื่องจากใบเป็นใบประกอบแบบผสมแบบขนนก ค่อนข้างใหญ่และอยู่ชิดกัน เมื่อพระอาทิตย์ตกดินใบจะหุบเข้าหากันครั้นรุ่งเช้าก็จะคลี่ขยายใบออก เพื่อเป็นการช่วยให้น้ำค้างที่ดินอยู่ตามกิ่งก้านหยดลงถึงพื้นดิน บรรดากล้วยไม้ที่เกาะติดอยู่ตามลำต้นและเฟิร์นที่อยู่ตามพื้นดินภายใต้ร่มเงาของจามจุรีจึงเจริญเติบโตได้ดี
  • คุณสมบัติทางด้านเคมี ต้นจามจุรีมีสารจำพวกแอลคาลอยด์ ซึ่งมีชื่อว่า พิธทิโคโลไบพบตามเปลือก ใบ เมล็ดและเนื้อไม้ แต่ที่ใบมีสารที่เป็นพิษอยู่มากเพราะประกอบด้วยแอลคาลอยด์ที่เป็นพิษอยู่มาก เพราะประกอบด้วยแอลคาลอยด์ที่เป็นน้ำมัน อนุพันธ์ที่สังเคราะห์ได้จะไปตกผลึกพิธทิโคโลไบ เป็นแอลคาลอยด์ที่มีพิษเป็นยาสลบซึ่งมีคุณสมบัติไปทำลายปลายประสาท