• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

ว่านทิพยเนตร

ชื่อวงศ์ Zingiberaceae
ชื่ออื่นๆ ว่านเจ้าน้อยมหาพรหม, ว่านดอกดิน, ว่านตูบหมู, ว่านนอนหลับ, ว่านมหาประสาน, เอื้องดินว่านทิพยเนตร

ว่านทิพยเนตร เป็นไม้ล้มลุกที่อายุได้หลายปี จัดเป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับขิง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และมีความเชื่อว่าหากปลูกเลี้ยงไว้ในบ้านก็จะช่วยให้ค้าขายดี มีอำนาจบารมี เป็นที่รักและเมตตาแก่คนทั่วไป

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มีลักษณะเป็นเหง้าหรือหัวรูปทรงกลมอยู่ใต้ดิน เปลือกหัวเป็นสีน้ำตาล เนื้อภายในหัวมีสีเหลืองอ่อน มีตุ้มเล็กๆ ที่หัวไว้คอยสะสมอาหาร ส่วนของลำต้นที่โผล่เหนือดินมีความสูงประมาณ 25-40 ซม.

ใบ
มีลักษณะเป็นรูปทรงรีแกมรูปใบหอก ออกเป็นใบเดี่ยวมาจากหัวใต้ดิน ก้านใบยาว โคนใบสีแดงเรื่อมีลักษณะคล้ายกาบ แผ่นใบเรียบ หนา ด้านบนใบมีสีเขียวแต้มด้วยสีเขียวอมเทา ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีกลิ่นหอมเมื่อขยี้ ว่านชนิดนี้หากมีใบรูปรีแกมรูปไข่กว้างและไม่มีลาย จะเรียกว่า ว่านไก่ดำ หากใบมีลักษณะเรียวแคบ ไม่มีลาย ด้านล่างใบเป็นสีม่วงแดง จะเรียกว่า ว่านไม้ดีด และหากใบเป็นกำมะหยี่ มีสีเขียวแต้มสีม่วงคล้ำสลับกับสีเขียวอมเทา จะเรียกว่า ว่านไม้ลัด

ดอก
ออกเป็นช่อจากเหง้าใต้ดินก่อนการผลิใบ ลักษณะของดอกมีสีขาวแกมม่วง มีใบประดับสีเขียวอ่อน รูปไข่ เรียวแหลม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ในช่วงเช้า มักผลิดอกในช่วงปลายฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูฝน

การขยายพันธุ์
ทำได้ด้วยการแยกเหง้าหรือหัวไปปลูก ว่านทิพยเนตร เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วยที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชอบแสงแดดแบบรำไร ต้องการน้ำในปริมาณปานกลาง ไม่ควรให้มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากอาจทำให้หัวเน่าได้ ปลูกได้ทั้งในดินและปลูกลงกระถาง การปลูกในกระถางควรใช้อิฐดินเผาแตกๆ รองก้น ประมาณ ¼ ของกระถาง กลบด้วยทรายหยาบพอมิดก้อนอิฐ แล้วใส่ดินที่เผาแล้วหรือดินกลางแจ้งที่สะอาดลงไปให้พอเต็มกระถาง นำหัวว่านลงปลูก รดน้ำตามพอชุ่ม และให้อย่างสม่ำเสมอในทุกๆ วัน

สรรพคุณทางยา
ส่วนของหัวใช้เป็นยาสมุนไพรแก้ตาแดง ตามัว ตาฝ้าฟาง ตาช้ำ หรือริดสีดวงตาได้

ลำโพง

ลําโพง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลำโพงขาว

ลำโพง

ลำโพง ชื่อสามัญ Thorn Apple, Apple of Peru, Green Thorn Apple, Hindu Datura, Metel,

ลำโพง ชื่อวิทยาศาสตร์ Datura metel L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Datura alba Rumph. ex Nees) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)

สมุนไพรลำโพง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเขือบ้า (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), ลำโพงขาว ลำโพงดอกขาว (ภาคกลาง), ละอังกะ (ส่วย-สุรินทร์), เลี้ยก (เขมร-สุรินทร์), มั่วโต๊ะโละ เล่าเอี้ยงฮวย (จีน), หยางจินฮัว ม่านทัวหลัว (จีนกลาง) เป็นต้น

ต้นลำโพงหลัก ๆ ที่นำมาใช้เป็นยาในบ้านเราจะมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน (จริง ๆ แล้วมีมากกว่านั้น) คือ ลำโพงขาว (ต้นเขียว ดอกสีขาว), และลำโพงกาสลัก(ต้นสีแดงเกือบดำ ดอกสีม่วงเป็นชั้น ๆ)

ลักษณะของลำโพง

  • ต้นลำโพง จัดเป็นไม้ล้มลุก ที่มีอายุประมาณ 1-2 ปี ลำต้นมีขนาดเล็กเท่าต้นมะเขือพวง มีความสูงของลำต้นประมาณ 2 เมตร ลำต้นกลมตั้งตรง แตกกิ่งก้านออกไปรอบ ๆ ต้น ลำโพงขาวต้นจะเป็นสีเขียว ลำต้นเปราะแต่เปลือกต้นเหนียว ทั้งต้นไม่มีขนปกคลุม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่อุดมสมบูรณ์หรือดินที่มีปุ๋ยมาก ๆ ชอบความชื้นแฉะ เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบภูเขาทางภาคตะวันตกของประเทศปากีสถานและประเทศอัฟกานิสถาน ต่อมาได้แพร่กระจายออกไปในเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งจะพบขึ้นได้ตามธรรมชาติทั่วทุกภาค

ต้นลำโพงขาว

ใบลำโพง ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกเรียงสลับ แต่ใบบริเวณปลายกิ่งเกือบจะเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบคล้ายกับใบมะเขือพวงเชนกัน แผ่นใบเป็นรูปไข่หรือค่อนข้างกลมเล็กน้อย ปลายใบแหลม โคนใบเฉียงและเว้าเข้าหากันแต่มีขนาดไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเป็นคลื่นและหยักเป็นซี่ฟันหยาบ ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวอ่อน ก้านใบยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร

ใบลำโพงขาว

ดอกลำโพง ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบหรือส่วนยอดของต้น ลักษณะของดอกเป็นรูปแตรหรือลำโพงขนาดใหญ่ ดอกจะมีความยาวประมาณ 3.5-5.5 นิ้ว โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายบานออกเป็นรูปแตรชั้นเดียว ดอกเป็นสีขาวและมีขนปกคลุม (แต่ถ้าเป็นลำโพงกาสลัก ดอกจะเป็นสีม่วงและปลายกลีบซ้อนกันประมาณ 2-3 ชั้น) โคนดอกมีกลีบเลี้ยงสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวหุ้มอยู่ และยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวดอก กลีบดอกยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร แตกออกเป็น 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน

ลำโพงดอกขาว

ดอกลำโพงขาว

  • ผลลำโพง เมื่อดอกร่วงโรยไปจะติดผล ลักษณะของผลเป็นลูกกลมขนาดเท่ากับผลมะเขือเปราะ แต่ปกคลุมไปด้วยหนามแหลมยาวทั้งผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาลอ่อน ผลมีขนาดโตประมาณ 1-1.5 นิ้ว เมื่อแก่จัดผลจะแตกภายในแบ่งเป็น 4 ซีก ภายในมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำและมีลักษณะแบน เป็นรูปสามเหลี่ยม

ผลลำโพง

ผลลำโพงขาว

เมล็ดลำโพง

สรรพคุณของลำโพง

  1. เมล็ดนำมาคั่วพอหมดน้ำมัน ใช้ปรุงเป็นยากินบำรุงประสาท (เมล็ด)
  2. บางตำราระบุว่าใช้รากเป็นยาแก้วิกลจริต บ้างว่าน้ำต้มจากใบ ราก และเมล็ด ใช้กินเป็นยาแก้อาการคุ้มคลั่งและเป็นยาลดไข้ (ราก)
  3. เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้กษัย (เปลือกผล)
  4. ใช้ต้นรากลำโพงผสมกับยามหานิลเทียนทอง เป็นยาแก้โรคซางเด็ก (ต้นและราก)
  5. ใบมีสรรพคุณช่วยทำให้ผู้ที่เป็นหืดหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น (ใบ)
  6. น้ำคั้นจากต้นเมื่อนำมาใช้หยอดตาจะทำให้ม่านตาขยาย เช่นเดียวกับการหยอดตา (ต้น)
  7. ดอกนำมาหั่นตากแห้งผสมกับยาฉุนสูบแก้อาการหอบหืด แก้การตีบตัวของหลอดลม โดยให้ใช้สูบตอนที่มีอาการหอบหืดกำเริบ ให้สูบจนกว่าอาการจะหายไป วิธีนี้เด็กไม่ควรใช้ และไม่ควรสูบมากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ได้รับพิษได้ (ดอก)ส่วนใบก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้หอบหืดเช่นกัน เพราะช่วยขยายหลอดลม (ใบ) บ้างก็ว่าใช้ต้นลำโพงทั้งต้นนำมาตากแห้งหั่นสูบแก้โรคหืด (ทั้งต้น)
  8. ดอกนำมาหั่นตากแดดให้แห้ง ใช้มวนสูบแก้ริดสีดวงจมูก (ดอก)
  9. เมล็ดไปคั่วให้น้ำมันในเมล็ดออก ใช้เป็นยาถอนพิษไข้ แก้ไข้พิษ แก้ไข้กระสับกระส่าย (เมล็ด) ส่วนผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษไข้ แก้ไข้ที่ทำให้กระสับกระส่าย (ผล)
  10. ถ่านจากรากมีรสเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พิษ เซื่องซึม และแก้ไข้กาฬ (ถ่านจากราก)
  11. ช่วยแก้อาการสะอึกในไข้กาฬ (ใบ)
  12. รากใช้ฝนทาแก้พิษร้อน ดับพิษร้อน (ราก)
  13. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดฟัน (เมล็ด)
  14. น้ำจากใบสดใช้หยอดหู แก้อาการปวดหู (ใบ)
  15. เมล็ดลำโพงนำมาตำให้เป็นผงผสมกับน้ำมันงา ใช้หยอดหูน้ำหนวก (เมล็ด)
  16. ใบมีฤทธิ์กดสมอง มีสรรพคุณแก้อาเจียนจากการเมารถเมาเรือ (ใบ)
  17. ใบใช้เป็นยาทาเต้านมของสตรีลูกอ่อนที่ให้นมบุตร เพื่อช่วยแก้อาการอักเสบของเต้านม (ใบ)
  18. ช่วยขับลมชื้น ให้ใช้ดอกลำโพงมาดองกับเหล้า 500 ซีซี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ถ้วยชาจีน วันละ 2 ครั้ง (ดอก)
  19. ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ (เมล็ด)
  20. ช่วยแก้อาการปวดเกร็งท้อง (ใบ)
  21. ช่วยแก้ริดสีดวง (เปลือกผล)
  22. ใบใช้เป็นยาพอกแก้แผลเรื้อรัง แผลฝี แผลไหม้ (ใบ)
  23. เปลือกผลมีรสเมาเบื่อ สรรพคุณช่วยแก้มะเร็ง คุดทะราด (เปลือกผล)
  24. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)
  25. เมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคผิวหนัง (เมล็ด)
  26. น้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคที่ตัว แก้กลากเกลื้อน หิด เหา (น้ำมันจากเมล็ด) ส่วนเมล็ดนำมาหุงทำน้ำมันใส่แผล แก้กลากเกลื้อนผื่นคันได้ (เมล็ด)
  27. ใบมีรสเบื่อเมา ใช้เป็นยาตำพอกรักษากลากเกลื้อน และฝี ทำให้ฝียุบ (ใบ)
  28. รากมีรสเมาหวานเล็กน้อย มีสรรพคุณแก้ฝีกาฬทั้งปวง (ราก)
  29. ใบใช้ตำพอกแก้ปวดบวมอักเสบ แก้ปวดบวมที่แผล (ใบ) ส่วนรากก็มีสรรพคุณแก้ปวดบวมอักเสบเช่นกัน (ราก)ช่วยรักษาไขข้ออักเสบ และมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ (ใบ)
  30. ใช้เมล็ดประมาณ 30 กรัม นำมาทุบให้พอกแหลก แล้วแช่กับน้ำมันพืชไว้ประมาณ 7 วัน (เช่น น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันงา ฯลฯ หรือนำมาดองกับเหล้าก็ได้) ใช้ทาบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยหรือขัดยอก จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ แต่ถ้านำมาใช้ใส่ฟันที่เป็นรูจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ (เมล็ด)ส่วนอีกวิธีให้ใช้ดอกลำโพงมาดองกับเหล้า 500 ซีซี เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ถ้วยชาจีน วันละ 2 ครั้ง จะช่วยแก้อาการปวดเมื่อยได้ (ดอก)
  31. เมล็ดใช้เป็นยาชา (เมล็ด)
  32. บางตำรายังระบุว่า รากลำโพงใช้แก้หมาบ้ากัดได้ (ราก)
  33. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวด แก้ชัก แก้เหน็บชาเนื่องจากลมชื้น และช่วยขับลม ส่วนเมล็ดที่นำไปคั่วให้น้ำมันในเมล็ดออก ใช้เป็นยาแก้ปวดข้อ ขาบวม ปวดบวม แก้พิษฝี ส่วนมากใช้เป็นยาภายนอก (เมล็ด)
  34. ทั้งต้นหรือทุกส่วนของลำต้นมีฤทธิ์เป็นยาเสพติด ช่วยระงับความเจ็บปวด และแก้อาการเกร็ง ใช้มากจะทำให้เกิดการเสพติด (ทั้งต้น)

ประโยชน์ของลำโพง

  • ใบใช้มวนสูบเป็นบุหรี่ได้ แต่ต้องระมัดระวังในการใช้ อย่าใช้จนเกินขนาด โดยไม่ควรใช้เกินกว่า 1 กรัม มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะในขณะที่สูบ หากมีอาการดังกล่าวควรเลิกใช้ทันที หรือมักจะมีอารมณ์เคลิ้ม เกิดความคิดสับสน และต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะกลับคืนมาได้

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรลำโพง

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้
  • ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เป็นโรคตาบอดตาใส เป็นหวัดไอร้อน และเป็นโรคเกี่ยวกับตับและไต ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้เช่นกัน
  • แม้แพทย์แผนโบราณของไทยจะใช้ลำโพงเพื่อรักษาโรคได้มากมาย แต่ก็มีคำเตือนว่าควรระวังเป็นอย่างยิ่งถึงการใช้เมล็ด เพราะเชื่อว่ามีพิษทางเมาเบื่ออย่างรุนแรง อาจทำให้เป็นบ้าหรือถึงตายได้ ด้วยเหตุนี้ต้นลำโพงจึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า "มะเขือบ้า" (ส่วนคำว่ามะเขือคงมาจากลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นลำโพงที่คล้ายกับต้นมะเขือพวง) ซึ่งสอดคล้องกับคนไทยในอดีตจะเรียกคนบ้าบางจำพวกว่า "บ้าลำโพง" เพราะเชื่อว่าเกิดจากการสูบหรือกินลำโพงเข้าไปนั่นเอง
  • หากได้รับสารพิษเข้าไปจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและหลับไป 4-8 ชั่วโมง ถ้ามีจำนวนมากจะทำให้เกิดอาการเพ้อฝัน ตื่นเต้น ตาแข็ง หายใจไม่สวก พูดไม่ออก เมื่อแก้พิษจนแล้ว อาจมีอาการวิกลจริตตลอดไป รักษาไม่หาย บางท่านบอกว่าเมล็ดดิบ 1-3 เมล็ด กินแล้วจะทำให้ความจำดี แต่ปรากฏว่าเมื่อกินเข้าไปแล้วก็ทำให้เกิดพิษ มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก จึงกินยาแก้พิษ ทำให้อาการเป็นพิษหายไป แต่อาการทางประสาทยังอยู่ รักษาไม่หาย ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยง

พิษของลำโพง

  • สารออกฤทธิ์หรือสารพิษที่พบมากในเมล็ดและใบ (พบได้ทุกส่วน แต่มีมากในเมล็ด) คือ สารในกลุ่มโทรเพน อัลคาลอยด์ (Tropane alkaloids) ได้แก่ ไฮออสซีน (Hyoscine), ไฮออสไซอะมีน (Hyoscyamine), และสโคโพลามีน (Scopolamine) ซึ่งสารพิษในต้นลำโพงจะไม่สามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน
  • อาการเป็นพิษที่พบ ถ้ากินเมล็ดและใบลำโพงเข้าไปจะแสดงอาการภายในเวลา 5-10 นาที ซึ่งอาการที่พบก็คือ ปากและคอแห้ง กระหายน้ำอย่างรุนแรง น้ำลายแห้งทำให้กลืนน้ำลายลำบากและทำให้พูดไม่ชัด มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ผู้ป่วยจะรู้สึกสับสน มึนงง ตื่นเต้น มีอาการประสาทหลอนทั้งหูและตา และอาจมีพฤติกรรมคล้ายโรคจิต ทำให้เพ้อฝัน ตาแข็ง ตาพร่า ม่านตาขยาย สู้แสงไม่ได้ ตัวร้อน ผิวหนังร้อนแดงและแห้ง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน หายใจช้าและขัด ผิวหนังเป็นสีคล้ำเพราะขาดออกซิเจน ในเด็กบางคนอาจมีอาการชัก ชีพจรเต้นเร็วและอ่อน นอกจากนี้ยังมีอาการปัสสาวะคั่ง ท้องผูก รายที่รุนแรงจะหมดสติและโคม่า
  • แพะเป็นสัตว์ที่มีน้ำย่อยพิเศษ เมื่อกินต้นลำโพงเข้าไปแล้วจึงไม่มีอันตรายใด ๆ

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้รับพิษลำโพง

  • มีรายงานความเป็นพิษในผู้ใหญ่ที่รับประทานต้นและผลสดของลำโพงขาว
  • เด็กอายุประมาณ 10-12 ปี ได้รับประทานดอกลำโพงขาว ทำให้เด็กมีอาการปากแห้ง ม่านตาขยาย มีไข้ และผิวหน้าร้อนแดง
  • ชาย 4 คน ได้ดื่มชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของเมล็ดลำโพงขาว พร้อมกับได้สูบดอกแห้งของลำโพงขาว พบว่าทั้ง 4 ราย มีอาการเป็นพิษที่คล้ายกับอาการพิษที่ได้รับจากสารอะโทรปีน (Atropine) ผู้ป่วยมีอาการทางประสาทเป็นหลัก คือ มีอาการกระสับกระส่าย เพ้อ ประสาทหลอน เดินเซ ม่านตาขยาย มีอาการคั่งของปัสสาวะ และยังพบอาการอื่น ๆ อีกเช่น ปากแห้ง กระหายน้ำ มีไข้ และหัวใจเต้นแรง
  • ในประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานเกี่ยวกับการได้รับพิษจากลำโพงค่อนข้างบ่อย เพราะพืชชนิดนี้มีการแพร่กระจายอยู่ในหลาย ๆ แห่งของประเทศ เช่น ตามไร่นา พื้นที่ลุ่มทั่วไป เขตใกล้ภูเขา หรือตามที่รกร้าง ข้างกองขยะ ริมถนนหนทาง ซึ่งเด็ก ๆ มักจะได้รับพิษโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น นำดอกมาหยิบใส่ปากและเคี้ยวเล่น หรือดูดเล่นตรงเกสรดอก ส่วนวัยรุ่นจะได้รับจากเมล็ดที่มักนำไปผสมกับน้ำหรือเครื่องดื่ม หรือเพื่อนแนะนำให้ทดลองกิน หรือใช้ผสมในสารเสพติดอื่น ๆ เช่น กัญชาและโคเคน เป็นต้น
  • ส่วนในประเทศไทย เคยมีรายงานว่ามีคนชายและหญิงจำนวน 6 คน ได้กินขนมจีนน้ำยาปนด้วยส่วนประกอบของลำโพง และถูกนำส่งโรงพยาบาล ผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการมึนศีรษะ ตาพร่า ปากและคอแห้ง มีอาการกระหายน้ำ ใจสั่น ปวดปัสสาวะแต่ถ่ายไม่ออก หลังจากนำน้ำล้างกระเพาะไปตรวจพบว่ามีสารคล้ายอะโทรปีนจากน้ำแกง ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับสารพิษที่พบในลำโพง

การรักษาพิษลำโพง

  • ในกรณีที่รับประทานเข้าไปควรรีบขัดขวางการดูดซึมของสารพิษ ซึ่งอาจจะใช้วิธีกินผงถ่าน เพื่อช่วยลดการดูดซึมของสารพิษ แล้วให้ยาถ่าย และให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้อง[5],[6] บ้างว่าให้รับประทานชะเอมต้มรวมกับถั่วเขียว แล้วจึงรีบพาไปพบแพทย์
  • ถ้าจำเป็นให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ และให้ลดไข้โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว
  • ให้ยาไฟโซสติกมีน (Physostigmine) (เด็กให้ในขนาด 0.5-1 มิลลิกรัม ส่วนผู้ใหญ่ให้ในขนาด 1-4 มิลลิกรัม) เข้าทางหลอดเลือดอย่างช้า ๆ โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 นาที และขนาดยาอาจเพิ่มขึ้นได้โดยฉีดซ้ำทุก 5 นาที แต่ขนาดยาที่ใช้ทั้งหมดรวมกันแล้วจะต้องใช้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมสำหรับเด็ก และไม่เกิน 6 มิลลิกรัมสำหรับผู้ใหญ่
  • ควรมียาอะโทรปีน (Atropine) ขนาด 1 มิลลิกรัม เตรียมไว้ด้วย เพื่อใช้แก้ไขกรณีที่ให้ยาไฟโซสติกมีน (Physostimine) มากเกินไป จนทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นช้า ชัก ปรือ หลอดลมเกร็งตัวอย่างมาก
  • และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการตื่นเต้นมากและมีอาการชัก อาจให้ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ได้ แต่ต้องระวังอย่าให้ในขนาดสูง เพราะในระยะหลังพิษของสารในกลุ่มโทรเปนอัลคาลอยด์ (Tropane alkaloids) จะกดการทำงานของสมองส่วนกลางร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้เสริมฤทธิ์กับยาไดอะซีแพม (Diazepam) ได้ และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเพื่อช่วยรักษาสมดุลของน้ำและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย

 

ว่านตีนตะขาบ

พิษตะขาบ/ว่านตีนตะขาบ/Slipper Flower
ชื่อวิทยาศาสตร์: Euphorbia tithymaloides Lsubsp. smallii (Millsp.) V.W.Steinm.
วงศ์: EUPHORBIACEAE 
ประเภท:
 ไม้พุ่ม อายุหลายปี  

ลำต้น: ลำต้นตั้งตรง สูง 50-80 เซนติเมตร ทุกส่วนอวบน้ำและมีน้ำยางสีขาวอยู่ภายใน9 สรรพคุณและประโยชน์ของว่านตีนตะขาบ & ตะขาบหิน !

ใบ: ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร ปลายใบแหลม แผ่นใบอวบหนา สีเขียวเข้ม ไม่มีก้านใบ
ดอก
: ออกดอกยาก
อัตราการเจริญเติบโต: ปานกลาง
ดิน: ชอบดินร่วนระบายน้ำดี
แสงแดด: แสงแดดปานกลางถึงตลอดวัน
น้ำ: ปานกลาง
การขยายพันธุ์: ปักชำ

ปลูกเป็นไม้ประดับ และมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร ตามตำราแพทย์โบราณของจีน ใช้ต้นและใบสดผสมกับเหล้าแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ใช้ทาบริเวณที่โดนแมลงสัตว์กัดต่อย หรือมีอาการฟกช้ำ บวม ยอก เคล็ด หรือนำกากที่เหลือพอกบริเวณที่เกิดอาการก็ได้ ในด้านสมุนไพรเป็นยาพื้นบ้าน แก้หูน้ำหนวก โดยนำต้นและใบสดตำให้ละเอียด ผสมเหล้า ใช้หยอดหู 1-2 หยด เพียง 2-3 ครั้งจะแห้งหายไป

ลำดวน

ลําดวน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลำดวน ดอกลำดวน

ดอกลำดวน

ลำดวน ชื่อสามัญ White cheesewood, Devil tree, Lamdman

ลำดวน ชื่อวิทยาศาสตร์ Melodorum fruticosum Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)

สมุนไพรลำดวน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หอมนวล (ภาคเหนือ) ส่วนภาคกลางเรียก "ลําดวน"

ต้นลำดวน เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเป็นมงคลประจำจังหวัดศรีษะเกษ และดอกลำดวนยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เพราะมีเรื่องเล่าว่า สมเด็จย่าได้เสด็จไปเยี่ยมชาวจังหวัดศรีษะเกษ ทรงทอดพระเนตรเห็นดงต้นลําดวนที่ออกดอกงดงามและมีกลิ่นหอม และทรงพอพระทัย หลังจากนั้นดอกลำดวนจึงกลายเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ ทำนองเดียวกับดอกมะลิที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่นั่นเอง นอกจากนี้ดอกลําดวนยังเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษอีกด้วย

ลักษณะของลำดวน

  • ต้นลำดวน หรือ ต้นหอมนวล มีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตรง แตกกิ่งใบจำนวนมาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือเป็นพุ่มเป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา เมื่อลำต้นแก่เปลือกต้นจะเป็นสีน้ำตาลอมดำ มีรอยแตกตามแนวยาวของลำต้น ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวสด ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบความชื้นสูง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงครึ่งวัน ชอบขึ้นในที่โล่งและมีแสงแดด พบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออก และภาคกลาง และพบได้มากในจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากต้นลำดวนเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดศรีษะเกษ
  • ใบลำดวน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลมหรือสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ผิวใบด้านบนเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีสีอ่อนกว่า เส้นกลางใบเป็นสีออกเหลืองนูนเด่นทั้งสองด้าน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร

ใบลำดวน

  • ดอกลำดวน หรือ ดอกหอมนวล ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อแบบกระจุกประมาณ 2-3 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ลักษณะเป็นรูปไข่ป้อมถึงรูปเกือบกลม ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง ดอกมีกลีบ 6 กลีบ กลีบดอกหนาแข็ง สีเขียวปนเปลือง และมีขน แยกเป็น 2 วง ชั้นนอกมี 3 กลีบ กลีบแผ่แบน ลักษณะของกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกวงใน ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง โดยมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในงุ้มเข้าหากันลักษณะเป็นรูปโดม มีขนาดเล็กกว่า แต่จะหนาและโค้งกว่ากลีบชั้นนอก โดยจะมีจะขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.9 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ขนาดเล็ก เกสรเพศผู้และรังไข่มีจำนวนมากอยู่บนฐานสั้น ๆ รังไข่ ไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก มีด้วยกัน 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปเกือบกลม ปลายกลีบมน เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ส่วนก้านดอกยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม และแต่ละต้นจะมีช่วงที่ดอกบานอยู่ประมาณ 15 วัน

ลำดวน

ลําดวน

  • ผลลำดวน ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 15-27 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี รูปไข่ หรือรูปกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 นิ้ว และยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และผลสุกมีสีน้ำเงินดำ มีคราบขาว ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานอมเปรี้ยว ส่วนก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม

สรรพคุณของลำดวน

  1. ดอกแห้งมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (ดอกแห้ง)
  2. ดอกแห้งเป็นยาบำรุงโลหิต (ดอกแห้ง)
  3. ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอกแห้ง)
  1. ดอกใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียน (ดอกแห้ง)
  2. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ดอกแห้ง)
  3. ช่วยแก้อาการไอ (ดอกแห้ง)
  4. ดอกลำดวนแห้งจัดอยู่ใน "พิกัดเกสรทั้งเก้า" (ประกอบไปด้วย เกสรดอกบัวหลวง ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกสารภี ดอกลำเจียก และดอกลําดวน) ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเหลีบ ช่วยบำรุงหัว แก้พิษโลหิต แก้ลม (ดอก)

หมายเหตุ : ตามตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้เนื้อไม้และดอกแห้ง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้ลมวิงเวียน และเป็นยาแก้ไข้ (เนื้อไม้และดอกแห้ง)(แต่ตำรายาไทยจะใช้แต่ดอก) ส่วนข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ระบุให้ใช้เกสรลำดวนเป็นยา ซึ่งเกสรจะมีสรรพคุณเป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจ หากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นจะเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง และเป็นยาแก้ลม (เกสร)

ประโยชน์ของลำดวน

  1. ผลสุกของลำดวนมีสีดำ มีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานได้
  2. ดอกมีกลิ่นหอม รสเย็น นอกจากจะจัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งเก้าแล้ว ยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมอีกด้วย
  3. ดอกลําดวนมีขนาดใหญ่และงดงามกว่าดอกนมแมว จึงนิยมนำมาใช้บูชาพระและใช้แซมผม อีกทั้งหญิงไทยในสมัยก่อนก็ชื่อลำดวนกันทั่วไป
  4. ดอกสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08
  5. นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามสวน เพราะต้นลำดวนมีพุ่มใบสวย ดอกสวยมีกลิ่นหอม และต้นลำดวนยังเป็นพรรณไม้ที่ในวรรณคดีไทยหลาย ๆ เรื่องกล่าวถึง เช่น ลิลิตพระลอ รามเกียรติ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ อิเหนา เป็นต้น โดยจะนิยมนำมาปลูกสวนสาธารณะร่วมกับไม้ดอกหอมชนิดอื่น ๆ
  6. ในด้านของความเชื่อ คนไทยเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นลำดวนหรือเป็นเจ้าของต้นลำดวน จะช่วยดึงดูดความรัก ช่วยเสริมดวงทางเสน่ห์เมตตา ทำให้มีแต่คนคิดถึงในแง่ดี ทำให้เป็นคนที่น่าจดจำ ใคร ๆ ก็มิอาจลืม และยังเชื่อด้วยว่ากลิ่นหอมของลําดวน สามารถช่วยผ่อนคลายอารมณ์ทางจิตให้สงบและมีความใจเย็นมากขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้หญิงและควรปลูกในวันพุธ เพราะลำดวนเป็นไม้ของผู้หญิง โดยให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน
  7. บางข้อมูลระบุว่าเนื้อไม้ของต้นลำดวนมีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้ และนำมาใช้ทำฟืนได้ดี