• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

สาลี่

สาลี่ สรรพคุณและประโยชน์ของสาลี่

สาลี่ ชื่อสามัญ Asian pear, Chinese pear, Nashi pear, Korean pear, Japanese pear, Taiwan pear, Sand pear

สาลี่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Pyrus pyrifolia (Burm.f.) Nakai (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ficus pyrifolia Burm.f., Pyrus pyrifolia var. pyrifolia, Pyrus serotina Rehder) จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ (ROSACEAE)

ลักษณะของสาลี่

  • ต้นสาลี่ เป็นไม้ยืนต้น รูปทรงของต้นคล้ายพีระมิด มีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันตกของจีน
  • ดอกสาลี่ ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นสีขาว
ดอกสาลี่ใบสาลี่
  • ผลสาลี่ หรือ ลูกสาลี่ มีลักษณะคล้ายผลแอปเปิล มีหลายสี ตั้งแต่สีเหลือง เขียว แดงอมส้ม และน้ำตาล โดยเนื้อสาลี่จะมีลักษณะกรอบและฉ่ำน้ำ (แต่บางสายพันธุ์จะเป็นเนื้อทราย) มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อมีกลิ่นหอม มีเมล็ดขนาดเล็กลักษณะแบนรี สีดำหรือสีน้ำตาลออกดำ

สาลี่

จากการสุ่มตรวจของหน่วยงานรัฐ สาลี่เป็นผลไม้ที่มักจะตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนหรือสารตกค้างอยู่บ่อย ๆ หากเราได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณมากก็อาจจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจติดขัด และถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยก่อนนำมารับประทานควรล้างให้สะอาดเสียก่อน

การรับประทานสาลี่จะมีประโยชน์สูงสุดเมื่อรับประทานในขณะอิ่มหรือรับประทานหลังอาหาร และการรับประทานควรเคี้ยวสาลี่ให้ละเอียด ค่อย ๆ รับประทาน และไม่ควรรับประทานเกินหนึ่งลูกต่อวัน และสาลี่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องเดิน ผู้ที่อาเจียนจากกระเพาะเย็น ไอจากความเย็น ผู้ที่มีอาการท้องร่วง และสตรีหลังคลอด

สรรพคุณของสาลี่

  1. ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
  2. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ภายในร่างกาย
  3. ช่วยระงับประสาท ผ่อนคลายความกังวล ไม่สบายใจ มีความทุกข์ในจิตใจ
  4. ช่วยฟอกเลือดให้สะอาด ทำให้ไตทำงานได้ดีขึ้น
  5. ช่วยปรับสมดุลของน้ำตาลในเลือด
  6. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล
  7. สาลี่เป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น จึงช่วยแก้กระหาย คลายร้อน ช่วยลดความร้อนในร่างกาย และดับพิษร้อนในร่างกายได้เป็นอย่างดี
  8. ช่วยบรรเทาอาการหวัด ด้วยการนำสาลี่มาสับให้ละเอียดแล้วนำไปต้มกับน้ำตาลทรายรับประทาน
  9. ช่วยแก้อาการไอ ไอแห้ง ช่วยละลายเสมหะ เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ปอด
  10. ช่วยแก้อาการคอแห้ง เจ็บคอระคายคอ เค็มคอรู้สึกกระหายน้ำ ซึ่งมีสาเหตุมาจากอาหารที่ใส่ผงชูรสเยอะ ๆ
  11. สาลี่มีสรรพคุณช่วยบำรุงปอดให้แข็งแรง
  12. ช่วยฟอกกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารแข็งแรง
  13. ช่วยกระตุ้นความเฉื่อยชาของลำไส้ และช่วยในการหลั่งน้ำย่อยต่าง ๆ ในระบบการย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด ทำให้กระเพาะอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  14. สาลี่มีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยระบาย ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดี
  15. ช่วยในการขับปัสสาวะ
  16. ช่วยกระตุ้นการทำงานของไต

ประโยชน์ของสาลี่

  1. สาลี่เป็นผลไม้ที่มีรสหวาน มีน้ำตาลที่ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที ทำให้ไม่รู้สึกหิว สาลี่จึงเป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักเป็นอย่างมาก
  2. สาลี่เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับลำคอ ร่างกายอ่อนแอ เป็นโรคโลหิตจางและวัณโรค
  3. กลิ่นหอมของสาลี่สามารถช่วยกระตุ้นจิตใจ ทำให้รู้สึกสดชื่น เบิกบาน และกระชุ่มกระชวยได้
  4. นอกจากจะรับประทานสาลี่เป็นผลไม้แล้ว เรายังสามารถนำสาลี่ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลายชนิด เช่น ไอศกรีม ฟรุตสลัด น้ำสาลี่กระป๋อง สาลี่อบแห้ง สาลี่แช่อิ่ม สาลี่ในน้ำเชื่อม เป็นต้น

สายหยุด

สรรพคุณและประโยชน์ของดอกสายหยุด

สายหยุด

สายหยุด ชื่อสามัญ Chinese Desmos, Desmos

สายหยุด ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmos chinensis Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)

สมุนไพรสายหยุด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือเขาแกลบ (เลย), กล้วยเครือ (สระบุรี), เสลาเพชร (สุราษฎร์ธานี), สาวหยุด (ภาคกลาง, ภาคใต้) เป็นต้น

หมายเหตุ : ต้นสายหยุดและต้นการเวกจะมีลักษณะของดอกที่คล้ายคลึงกัน แต่ดอกของสายหยุดจะมีลักษณะเป็นกลีบยาวและบิดเป็นเกลียว ในขณะที่ดอกของการเวกจะมีเนื้อกลีบที่หนากว่าและไม่บิดเป็นเกลียวเหมือนดอกสายหยุด[4]

ลักษณะของสายหยุด

  • ต้นสายหยุด มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ ตลอดจนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ ต่อลงไปจนถึงแหลงมลายู ซึ่งประเทศไทยก็เป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของต้นสายหยุดด้วย[4],[5] โดยพบขึ้นกระจายอยู่ทั่วประเทศ จัดเป็นไม้เถาเลื้อยหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีความยาวหรือความสูงได้ประมาณ 1-5 เมตร เปลือกเถาเรียบเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่หนาแน่น มีรูระบายอากาศ พอกิ่งแก่จะเกลี้ยงเป็นสีดำและมีช่องอากาศจำนวนมาก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง ปลูกได้ในดินทั่วไป เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถเก็บความชื้นได้ดี น้ำท่วมไม่ถึง ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดแบบเต็มวัน มักพบขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และตามป่าเบญจพรรณตั้งแต่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 600 เมตร
  • ใบสายหยุด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลมหรืออาจพบติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร หลังใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีเขียวนวล เนื้อใบบางและเหนียว มีขนกระจายอยู่ทั้งสองด้าน พบมากที่ใบอ่อนและแผ่นใบด้านล่าง ใบอ่อนเป็นสีแดง มีเส้นแขนงใบประมาณ 8-10 คู่ มีก้านใบยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร
  • ดอกสายหยุด ออกดอกเดี่ยว โดยจะออกด้านล่างตรงข้ามกับใบ ตอนเริ่มออกเป็นสีเขียวและต่อมาดอกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงสีส้มอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร กลีบดอกมี 6 กลีบ แบ่งเป็น 2 ชั้น กลีบดอกชั้นนอกแยกกันมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 1.3-1.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร แต่ละกลีบมีลักษณะบิดงอ โคนกลีบดอกมีรอยคอดใกล้กับฐานดอก ปลายแหลม โคนตัด ส่วนขอบเรียบหรือเป็นคลื่น มีขนนุ่มกระจายอยู่ทั้งสองด้าน และกลีบดอกด้านในมี 3 กลีบ เรียงจรดและแยกกัน มีขนาดเล็กและสั้นกว่ากลีบดอกชั้นนอก ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอก มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนตัด โดยเหนือโคนกลีบเล็กน้อยมักคอดเว้า ส่วนขอบเรียบ และมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ดอกมีเกสรเพศผู้ 150-240 อัน ลักษณะเป็นรูปคล้ายทรงกระบอก ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร อับเรณูเกลี้ยงเป็นสีเหลือง อาจพบขนเล็กน้อยที่โคน ส่วนเกสรเพศเมียแยกกัน 30-50 อัน ในแต่ละอันมี 5-7 ออวุล ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล มีขนหนาแน่นตามก้านเกสรเพศเมีย ส่วนกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กสีเขียวเรียงห่างกันเล็กน้อย มี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปค่อนข้างสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายกลีบจะกระดกขึ้น ปลายแหลม โคนตัด ส่วนขอบเรียบ มีขนกระจายทั้งสองด้าน ดอกมีกลิ่นหอม และบานอยู่ได้นาน ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร มีขนกระจายทั่วไป โดยจะออกดอกมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]

ดอกสายหยุด

รูปดอกสายหยุด

  • ผลสายหยุด ออกผลเป็นกลุ่ม มีประมาณ 5-35 ผลย่อย ผลย่อยแต่ละผลจะมีลักษณะคล้ายลูกปัดคอด คือจะคอดเป็นข้อ ๆ ระหว่างช่วงเมล็ด ได้ถึง 7 ข้อ แต่ละผลจะมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสดหรือผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เป็นมัน และห้อยลง ก้านผลย่อยยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร ก้านช่อผลยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร มีขนขึ้นกระจายตามก้านผลและก้านผลย่อย ภายในผลย่อยหนึ่งผลจะมีเมล็ดประมาณ 2-5 เมล็ด มีรอยคอดระหว่างเมล็ดชัดเจน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมกลมหรือรูปรี ผิวเมล็ดเกลี้ยยงและเป็นสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม

ผลสายหยุด

ลูกสายหยุด

สรรพคุณของสายหยุด

  1. ดอกสดใช้เข้ายาหอม บำรุงหัวใจ (ดอก)
  2. ช่วยแก้ลมวิงเวียน (ดอก)
  3. รากและดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ราก,ดอก)
  4. ตำรายาไทยใช้รากเป็นยาแก้ท้องร่วง (ราก)
  5. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเดิน (ราก)
  6. ใช้เป็นยาแก้บิด (ราก)
  7. ตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย (ราก)
  8. ต้นและรากใช้เข้ายาหอม หรือเข้ายาอาบอบ รักษาอาการติดยาเสพติด (ต้นและราก)

ประโยชน์ของสายหยุด

  • ดอกสายหยุดสามารถนำมาใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยได้ โดยใช้ดอกสดนำมากลั่นเอาน้ำมันหอมระเหย ด้วยวิธีการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.005 ซึ่งน้ำมันหอมระเหยอาจนำไปใช้ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) หรือใช้ทำเป็นน้ำหอมสำหรับเครื่องสำอางต่าง ๆ ก็ได้
  • ในด้านการเป็นไม้ประดับ ต้นสายหยุดเหมาะแก่การนำมาปลูกไว้ในสวนดอกไม้ ปลูกริมทางเดิน ปลูกเป็นต้นเดี่ยวแล้วแต่งทรงพุ่ม ปลูกเป็นซุ้มในบริเวณบ้าน หรืออาจทำนั่งร้านให้ต้นสายหยุดได้เลื้อยขึ้นไปปกคลุมอยู่ด้านบนก็ได้ ปลูกและบำรุงง่าย เติบโตเร็ว เพาะกล้าจากเมล็ดหรือปักชำหรือตอนกิ่งเอาก็ได้ สายหยุดสามารถออกได้ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศและความสมบูรณ์ของต้น และมักออกดอกมากในช่วงฤดูฝนและต้นฤดูหนาว ดอกสายหยุดจะเริ่มส่งกลิ่นหอมแรงขึ้นเมื่อยามพลบค่ำ และจะมีกลิ่นหอมแรงที่สุดในช่วงเช้ามืด แล้วกลิ่นจะค่อย ๆ จางลงในเวลากลางวัน จึงเป็นที่มาของชื่อ "สายหยุด

สารภี

สารภี สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสารภี

สารภี

สารภี ชื่อสามัญ Negkassar

สารภี ชื่อวิทยาศาสตร์ Mammea siamensis T.Anderson (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calysaccion siamense Miq.) จัดอยู่ในวงศ์ CALOPHYLLACEAE

สมุนไพรสารภี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สารภีแนน (เชียงใหม่), ทรพี สารพี (จันทบุรี), สร้อยพี (ภาคใต้) เป็นต้น โดยจัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในพม่า ไทย อินโดจีน และคาบสมุทรมาเลเซีย

ลักษณะของต้นสารภี

  • ต้นสารภี จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ลักษณะเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาลถึงดำ แตกล่อนเป็นสะเก็ดตลอดทั่วลำต้น เปลือกในเป็นสีน้ำตาลแดง มียางสีครีมหรือสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เนื้อละเอียด เสี้ยนตรง ถี่และสม่ำเสมอ แข็ง และค่อนข้างทนทาน สามารถเลื่อย ผ่า และไสกบตบแต่งได้ง่าย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง ปลูกได้ดีทั้งในที่ร่มรำไรและที่กลางแจ้ง ปลูกได้ในดินทุกสภาพ ชอบดินร่วนซุย ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและตามป่าดงดิบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 20-400 เมตร

สารพี

ใบสารภี มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนกว้าง ๆ บางทีอาจมีติ่งสั้น ๆ หรือหยักเว้าแบบตื้น ๆ โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7.5-25 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเกลี้ยงสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบจะสีอ่อนกว่า เนื้อใบหนาและค่อนข้างเรียบ เส้นแขนงของใบไม่มี แต่เห็นเส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นร่างแหชัดทั้งสองด้าน และมีก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร

ใบสารภี

ดอกสารภี ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก รังไข่มี 2 ช่อง ในแต่ละช่องมีไข่อ่อนจำนวน 2 ปลาย หลอดรังไข่แยกเป็นแฉก 3 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม

ดอกสารพี

ดอกสารภี

ผลสารภี ผลมีลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือกลมรี ขนาดประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองอมส้ม เนื้อผลนิ่ม ผลเมื่อแก่จะแตกออกได้ และมีเมล็ดเดียว โดยจะเป็นผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

ลูกสารภี

สรรพคุณของสารภี

  1. ดอกมีรสหอมเย็น ส่วนผลมีรสหวาน ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก, ผลสุก)
  2. ผลสุกใช้รับประทาน ช่วยขยายหลอดเลือด (ผลสุก)
  3. ช่วยทำให้ชื่นใจ (เกสร)
  4. ช่วยบำรุงเส้นประสาท (ดอก)
  5. ดอกใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงกำลัง (ดอก)
  6. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ดอก)
  7. ช่วยรักษาธาตุไม่ปกติ (ดอก)
  8. ดอกช่วยแก้โลหิตพิการ (ดอก)
  9. เกสรมีรสหอมเย็น ใช้เป็นยาแก้ไข้ (เกสร)
  10. ช่วยแก้ไข้มีพิษร้อน (ดอก)
  11. ช่วยแก้ลมวิงเวียน มีอาการหน้ามืดตาลาย (ดอก)
  12. ดอกมีฤทธิ์ขับลม (ดอก)
  13. ช่วยขับปัสสาวะ (ใบ)
  14. ยางไม้ของต้นสารภี นำมาใช้แก้อาการแพ้คันจากพิษของต้นหมามุ่ย หรือจากน้ำลายของหอยบางชนิด (ยาง)
  15. ใช้เป็นยาฝาดสมาน (ดอก)
  16. ช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ (ใบ)
  17. ช่วยบำรุงครรภ์รักษา (เกสร)
  18. ดอกใช้ผสมในยาหอม ช่วยแก้อาการร้อนใน แก้ลม วิงเวียน แก้โลหิตพิการ โลหิตเป็นพิษ ช่วยทำให้เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ บำรุงเส้นประสาท ชูกำลัง และช่วยแก้ไข้มีพิษร้อน (ดอก)
  19. ดอกสารภีจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งห้า" (ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค เกสรบัวหลวง), ตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งเจ็ด" (เพิ่มดอกกระดังงา ดอกจำปา), และในตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งเก้า" (เพิ่มดอกลำดวน ดอกลำเจียก) ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ แก้ลมกองละเอียด แก้อาการหน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ แก้โรคตา แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ และช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี

ประโยชน์ของสารภี

  1. ผลสารภีมีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ และยังเป็นอาหารของนกได้อีกด้วย
  2. นอกจากจะใช้ผลรับประทานเป็นผลไม้แล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ทำน้ำผลไม้ การทำไวน์ ทำแยม เป็นต้น
  3. ดอกตูมของสารภีใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีแดง
  4. ต้นสารภีมีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาและบังลมได้ อีกทั้งยังมีดอกและพุ่มใบที่สวยงาม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ด้วย
  5. คนไทยโบราณเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นสารภีไว้ประจำบ้านจะส่งผลให้มีอายุยืนยาวเหมือนเช่นต้นสารภี เพื่อความเป็นสิริมงคลผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ (โบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาคุณให้ปลูกในวันเสาร์) และควรปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจะช่วยป้องกันเสนียดจัญไร ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรี เนื่องจากสารภีเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสตรี
  6. ดอกแห้งใช้ทำเป็นน้ำหอม โดยเพิ่มดอกคำฝอย ส้มป่อยเผา นำมาแช่ในน้ำจะได้น้ำหอมสำหรับไว้ใช้เป็นน้ำสรงพระในเทศกาลสงกรานต์[
  7. ดอกสดสามารถนำมาใช้สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งนำไปใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง
  8. เนื้อไม้สารภีมีความแข็งแรงและค่อนข้างทนทาน สามารถนำมาใช้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้ เช่น การทำเสา ฝา รอด ตง กระดานพื้น รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ฯลฯ

สาธร

สาธร

ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นสาธร (เดิมคือต้นราชพฤกษ์) ต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัดนครราชสีมา (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดพระราชทานกล้าไม้มงคล พระราชทานประจำจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และจังหวัดได้ทำพิธีปลูกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา)

ข้อมูลทั่วไปของต้นสาธร
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Millettia leucantha Kurz.
- ชื่อสามัญ Papilionaceae
- วงศ์ LEGUMINOSAE
- ชื่ออื่น กระเจ๊าะ ขะเจ๊าะ
ลักษณะทั่วไป
- ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 18-20 เมตร เปลือกสีเทา เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ
- ใบอ่อนและยอดอ่อนมีขนยาว ใบ ประกอบแบบขนนกปลายเดี่ยว เรียงสลับ ใบย่อยติดเป็นคู่ตรงกันข้าม 3-5 คู่ แผ่นใบย่อยรูปรีกว้าง 3.5 - 5 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตรปลายแหลม โคนมน
- ดอก สีขาว รูปดอกถั่วสีชมพูอ่อน ออกเป็นช่อตามง่ามใบและปลายกิ่ง เดือนมีนาคม พฤษภาคม และฝักแก่ เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม
- ผล เป็น ฝัก แบน กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร (แบนคล้ายฝักมีด)
- เมล็ด รูปโล่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.3 เซนติเมตร
นิเวศวิทยา : ชอบอยู่ตามสภาพดินร่วน แสงแดดจัด ต้องการน้ำและความชื้นมาก พบขึ้นในป่าเบญจพรรณใกล้แหล่งน้ำทั่ว ๆ ไป ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด
ประโยชน์ : เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างและเครื่องเรือน