• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

ยี่โถ

ยี่โถ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นยี่โถ

ยี่โถ ชื่อสามัญ Oleander, Sweet Oleander, Rose Bay

ยี่โถ ชื่อวิทยาศาสตร์ Nerium oleander L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Nerium indicum Mill., Nerium odorum Aiton) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยส้มลม (APOCYNOIDEAE)

สมุนไพรยี่โถ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยี่โถไทย ยี่โถจีน ยี่โถดอกขาว ยี่โถดอกแดง (ภาคกลาง) อินโถ (ภาคเหนือ) เป็นต้น

ลักษณะของยี่โถ

  • ต้นยี่โถ มีถิ่นกำเนิดในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น โปรตุเกส ไปถึงอินเดียและอิหร่าน (เปอร์เซีย) โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามีการแพร่เข้ามาในไทยโดยชาวจีน ในปลายรัชกาลที่ 2 หรือต้นรัชกาลที่ 3 ช่วงปี พ.ศ.2352 - 2364 โดยมีลักษณะเป็นไม้พุ่มที่มีความสูงประมาณ 2 เมตร เปลือกของลำต้นมีสีเทาเรียบ มียางสีขาวคล้ายน้ำนม
  • ใบยี่โถ เป็นใบเดี่ยว มีรูปร่างรี ปลายและโคนใบแหลมคล้ายหอก ขอบใบเรียบหนาแข็ง มีสีเขียวเข้ม ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.7 เซนติเมตร
  • ดอกยี่โถ ดอกมีสีชมพู ขาว มีทั้งดอกซ้อนและดอกชั้นเดียว โดยดอกที่มีชั้นเดียวจะมีกลีบดอก 5 กลีบ เวลาดอกบานจะมีกลิ่นหอม เมื่อดอกผสมกับเกสรและร่วงหลุดไปจะติดผลดอกละ 2 ฝัก
  • ผลยี่โถ ผลเป็นรูปฝักยาว เมื่อแก่เปลือกแข็งจะแตกออก และมีเมล็ดอยู่ภายในจำนวนมาก จะมีขนคล้าย ๆ เส้นไหมติดอยู่ทำให้ลอยลมไปได้ไกล โดยต้นยี่โถนั้นสามารถออกดอกได้ทั้งปี และสามารถปลูกได้ทุกที่ ขึ้นได้ทุกสภาพดิน จะด้วยการเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง หรือตอนกิ่ง

ต้นยี่โถในปัจจุบันนี้บ้านเราจะรู้จักและใช้ต้นยี่โถในฐานะไม้ดอกไม้ประดับซะมากกว่า เพราะมีดอกที่งดงามคล้ายดอกกุหลาบ มีกลิ่นหอม ออกดอกได้ตลอดปี และที่สำคัญยังปลูกง่ายและทนทานตายยากอีกด้วย ส่วนในด้านของสมุนไพรนั้นก็มีสรรพคุณทางยาอยู่เหมือนกัน ซึ่งก็มีทั้งคุณและโทษ ซึ่งส่วนที่นำมาใช้เป็นยาก็ได้แก่ ผล ใบยี่โถ และดอกยี่โถ

แต่เนื่องจากน้ำยางตามส่วนต่าง ๆ ของต้นยี่โถนั้นเป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์อย่างมาก จึงนำมาใช้เป็นสรรพคุณทางยาได้ค่อนข้างจำกัด โดยมีรายงานว่าแพทย์แผนไทยนั้นมีการใช้ใบยี่โถมาปรุงเป็นยาบำรุงหัวใจ แต่ต้องมีความระมัดระวังสูงมาก เพราะมีรายงานว่าผู้ที่กินใบยี่โถเข้าไปนั้นจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เพ้อคลั่ง หัวใจเต้นอ่อน ท้องเสีย ความดันเลือดลดลง ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด และถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ซึ่งในอินเดียนั้นเคยพบว่าสัตว์ที่กินใบยี่โถ เช่น วัว ควาย ม้า แพะ แกะ แล้วเป็นพิษถึงตาย หรือแม้แต่คนที่กินเนื้อย่างเสียบด้วยไม้ยี่โถก็เป็นพิษจนหมดสติ รวมไปถึงน้ำผึ้งจากดอกยี่โถก็ยังเป็นพิษที่มีอันตรายร้ายแรงมากเช่นกันและไม่ควรรับประทาน โดยการแก้พิษในเบื้องต้นนั้นให้รับประทานกาแฟก่อนนำส่งโรงพยาบาล ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการนำใบยี่โถมาใช้ทำเป็นยาเบื่อหนูและยาฆ่าแมลง !

ดอกยี่โถยี่โถ

ประโยชน์ของยี่โถ

  1. ใช้เป็นยาบำรุงและรักษาโรคหัวใจ ปรับชีพจรให้เป็นปกติ แต่มีความเป็นพิษสูง ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง (ใบ)
  2. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ผล)
  3. ดอกยี่โถ สรรพคุณช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ดอก)
  4. ช่วยแก้อาการอักเสบ (ดอก)
  5. รากและเปลือกยี่โถใช้เป็นยาทาภายนอก ช่วยรักษากลากเกลื้อน แผลพุพองได้ (เปลือก, ราก)
  6. ใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงและยาเบื่อหนูได้
  7. กิ่งยี่โถสามารถนำมาใช้ทำเป็นไม้ไล่หนูได้ ด้วยการนำไปวางไว้บริเวณที่หนูชอบเดินป้วนเปี้ยน แต่จะต้องไม่เป็นไม้แก่หรือไม่มีน้ำยางนะครับ ไม่งั้นจะใช้ไม่ได้ผล
  8. ในโบราณมีความเชื่อว่า บ้านไหนที่มีบุตรเป็นคนหัวดื้อ หัวซน ไม่ค่อยเชื่อฟัง พ่อแม่จะใช้กิ่งของยี่โถที่มีความเหนียวมาตีลูก เพราะเชื่อว่าจะทำให้บุตรเชื่อฟัง เลิกดื้อเลิกซน กลายเป็นเด็กดี เรียนหนังสือเก่ง (เป็นเพียงความเชื่อนะครับ)
  9. นิยมปลูกต้นยี่โถไว้เพื่อเป็นไม้ประดับสวน เพราะมีดอกงดงามคล้ายกุหลาย มีกลิ่นหอม และออกดอกตลอดปี

 

มะเม่า

มะเม่า สรรพคุณและประโยชน์ของมะเม่า

หมากเม่าหลวง

มะเม่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma puncticulatum Miq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Antidesma bunius var. thwaitesianum (Müll.Arg.) Trimen, Antidesma thwaitesianum Müll.Arg.) จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

สมุนไพรมะเม่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมากเม้า บ่าเหม้า (ภาคเหนือ), หมากเม่า (ภาคอีสาน),  มะเม่า ต้นเม่า (ภาคกลาง), เม่า, เม่าเสี้ยน, หมากเม่าหลวง, มะเม่าหลวง, มัดเซ เป็นต้น

พืชในตระกูลมะเม่ามีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 170 ชนิด และกระจายอยู่ในเขตร้อนของเอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย หมู่เกาะอินโดนีเซีย และเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่จะมีอยู่เพียง 5 สายพันธุ์เท่านั้นที่พบได้มากในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ มะเม่าหลวง มะเม่าสร้อย มะเม่าไข่ปลา มะเม่าควาย และมะเม่าดง แต่ถ้าหากเราพูดถึง "มะเม่า" เฉย ๆ ก็จะหมายถึง เม่าหลวง นั่นเองครับ

ลักษณะของมะเม่า

  • ต้นมะเม่า เป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาว แตกกิ่งก้านมาก กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทรงกลม สูงประมาณ 5-10 เมตร เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดถึง 4 คนโอบ และมีเนื้อไม้แข็ง มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือตามหัวไร่ปลายนาทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจังหวัดกาญจนบุรีจะมีต้นมะเม่าในป่าเป็นจำนวนมาก และมะเม่ายังเป็นผลไม้ท้องถิ่นของภาคอีสาน ในเทือกเขาภูพานของจังหวัดสกลนครอีกด้วย
  • ใบมะเม่า เป็นใบเดี่ยว สีเขียวสด ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน ใบออกหนาแน่นเป็นร่มเงาได้เป็นอย่างดี
  • ดอกมะเม่า ดอกมีขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง ออกดอกเป็นช่อยาวตามปลายกิ่งและซอกใบ ช่อดอกคล้ายพริกไทย ลักษณะของดอกเป็นดอกแยกเพศกันอยู่คนละต้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และสุกในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน
  • ผลมะเม่า ลักษณะของผลเป็นทรงกลม ผลมีขนาดเล็กและเป็นพวง ผลดิบมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวเข้ม มีรสเปรี้ยว แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและม่วงดำในที่สุด โดยผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยวและฝาด เมล็ดกรุบกรับ ในหนึ่งผลจะมีหนึ่งเมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง
ต้นมะเม่าหมากเม่า

มะเม่าหลวง เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย โดยผลมะเม่าสุกจะมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด เช่น มีกรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการมากถึง 18 ชนิดจากทั้งหมด 20 ชนิด นอกจากนี้ยังมีแคลเซียม เหล็ก สังกะสี และวิตามินต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี และยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการต่าง ๆ อีกด้วย

สรรพคุณของมะเม่า

  1. ผลมะเม่าสุกจะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และยังช่วยชะลอความแก่ชราได้อีกด้วย
  2. รสฝาดของผลมะเม่าสุก จะมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งไม่ให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมหรือเปราะง่าย
  3. รสขมของมะเม่าจะมีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้เกล็ดเลือดจับตัวกันน้อยลง จึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจล้มเหลวได้
  4. ทั้งห้าส่วนของมะเม่าใช้ต้มดื่มเป็นประจำเป็นยาอายุวัฒนะได้ (ผล, ราก, ต้น, ใบ, ดอก)
  5. น้ำมะเม่าสกัดเข้มข้นใช้เป็นอาหารบำรุงสุขภาพได้ดีเหมือนน้ำลูกพรุนสกัดเข้มข้น มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ
  6. มะเม่ามีศักยภาพในการช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV อีกด้วย (กัมมาลและคณะ, 2546)
  7. ช่วยบำรุงสายตา (ผลสุก)
  8. ช่วยแก้กษัย (ต้น, ราก)มะเม่าหลวง
  9. ช่วยขับโลหิต (ต้น, ราก)
  10. มะเม่ามีสรรพคุณช่วยฟอกโลหิต (ผลสุก)
  11. มีสรรพคุณทางยาช่วยขับเสมหะ (ผลสุก)
  12. ผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ผลสุก)
  13. ช่วยขับปัสสาวะ (ต้น, ราก)
  14. ช่วยแก้มดลูกพิการ (ต้น, ราก)
  15. ช่วยแก้มดลูกอักเสบช้ำบวม (ต้น, ราก)
  16. ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี (ต้น, ราก)
  17. ช่วยขับน้ำคาวปลา (ต้น, ราก)
  18. ช่วยบำรุงไต (ต้น, ราก)
  19. ช่วยแก้เส้นเอ็นพิการ (ต้น, ราก)
  20. ช่วยแก้และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ต้น, ราก)
  21. ใบมะเม่านำไปอังไฟแล้วนำมาประคบใช้รักษาอาการฟกช้ำดำเขียวได้ (ใบ)
  22. ใบสดนำมาตำใช้พอกรักษาแผลฝีหนองได้ (ใบ)

ประโยชน์ของมะเม่า

  1. ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ หรือจะนำมาทำเป็นส้มตำมะเม่าก็ได้เช่นกัน
  2. ยอดอ่อนของมะเม่าใช้รับประทานเป็นผักสดได้ (ยอดอ่อน)
  3. สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น แยม น้ำผลไม้ หรือนำไปทำเป็นไวน์เกรดคุณภาพสูง เป็นต้น
  4. น้ำหมากเม่าหรือน้ำคั้นที่มาจากผลมะเม่าสุกสามารถนำไปทำสีผสมอาหารได้ โดยจะให้สีม่วงเข้ม แถมยังปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วยครับ
  5. เนื้อไม้ของต้นมะเม่าสามารถนำมาใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัยหรือทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้
  6. พระสงฆ์ในแถบเทือกเขาภูพานใช้เป็นน้ำปาณะมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
  7. ประโยชน์ของมะเม่าอย่างอื่นก็เช่น การปลูกเป็นไม้ประดับหรือใช้ปลูกเพื่อเป็นร่มไม้ เป็นต้น

ไม้แดง

ต้นแดง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแดง

แดง

แดง หรือ ต้นแดง ชื่อสามัญ Iron wood, Irul, Jamba, Pyinkado

ต้นแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acacia xylocarpa (Roxb.) Willd., Inga xylocarpa (Roxb.) DC., Mimosa xylocarpa Roxb., Xylia dolabriformis Benth.) และอีกชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Xylia xylocarpa var. kerrii (Craib & Hutch.) I.C.Nielsen (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Xylia kerrii Craib & Hutch.) ทั้งสองชนิดเป็นพรรณไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

สมุนไพรแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แดง (ทั่วไป), จะลาน จาลาน ตะกร้อมสะกรอม (จันทบุรี), เพ้ย (ตาก), ปราน (สุรินทร์), ไปร (ศรีษะเกษ), กร้อม(นครราชสีมา), ผ้าน (เชียงใหม่), คว้าย (เชียงใหม่, กาญจนบุรี), ไคว เพร่(แพร่, แม่ฮ่องสอน), เพ้ย (กะเหรี่ยง-ตาก) เป็นต้น

ชนิดของไม้แดง

ไม้แดงมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ซึ่งจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยชนิดแรกจะมีขนาดใหญ่ มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ส่วนอีกชนิดเป็นขนาดย่อมมักขึ้นตามป่าเต็งรัง โดยแบ่งออกเป็นดังนี้

  • ไม้แดงชนิด Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub ชนิดนี้มีขนาดใหญ่ มักขึ้นตามป่าชื้นและป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือและภาคใต้อย่างน้อยไปจนถึงสุราษฎร์ธานี โดยใบมีลักษณะเกลี้ยง ส่วนปลายเกสรตัวผู้จะมีต่อม
  • ไม้แดงชนิด Xylia kerrii Craib & Hutch. ชนิดนี้มีขนาดย่อม มักขึ้นตามป่าเต็งรัง หรือขึ้นอยู่ประปรายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และจะพบได้มากตามป่าสัก โดยลักษณะของท้องใบจะเป็นขน ส่วนปลายเกสรตัวผู้จะไม่มีต่อม

ลักษณะต้นแดง

แหล่งที่พบต้นแดง

ไม้แดงเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอีกชนิดหนึ่ง แต่ในปัจจุบันการปลูกไม้แดงนั้นมีน้อยมาก และยังไม่ได้รับความสนใจที่จะปลูกมากนัก เพราะให้ผลตอบแทนช้าเมื่อเปรียบเทียบกับไม้โตเร็วชนิดอื่น ๆ[4]

ตามธรรมชาติแล้วจะพบไม้แดงได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้นและป่าเต็งรัง ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และทางภาคใต้ ตอนเหนือของสุราษฎร์ธานี โดยมีรายงานว่าไม้แดงนี้มีขึ้นทั้งบนที่ราบและบนเขา แต่พื้นที่บนเขาต้นแดงจะเจริญเติบโตได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูเขาที่มีความลาดชันน้อยและในหุบเขาที่มีการระบายน้ำได้ดี และจะขึ้นได้ดีที่สุดในดินร่วนปนทรายที่มีทั้งความชื้นและการระบายน้ำที่ดี ซึ่งโดยปกติจะขึ้นอยู่ในป่าผสมผลัดใบสูงและต่ำ ป่าดงดิบ ป่าแดง หรือป่าแพะ รวมไปถึงป่าละเมาะในเขตแห้งแล้งด้วย ทั้งนี้ถ้าหากพบขึ้นบนพื้นที่ดินลึกหรือดินมีความอุดมสมบูรณ์ ต้นแดงจะมีลำต้นเปลาตรง แต่ถ้าขึ้นบนพื้นที่ดินตื้นหรือมีหินก้อน ต้นจะแตกกิ่งก้านต่ำและมีพุ่มใบมาก[1]

ลักษณะของต้นแดง

  • ต้นแดง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร และบางครั้งอาจสูงได้ถึง 30-37 เมตร ลำต้นแดงค่อนข้างเปลาตรงหรือเป็นปุ่มปม ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดรูปทรงกลมหรือเก้งก้างไม่ค่อยแน่นอน มีสีเขียวอมแดง เปลือกต้นเรียบสีเทาอมแดง มีตกสะเก็ดออกเป็นแผ่นกลมบาง ๆ รอบลำต้น และเมื่อสับเปลือกทิ้งไว้จะได้ชันที่มีสีแดง ส่วนยอดอ่อนมีขนสีเหลืองปกคลุมอยู่ การเพาะต้นแดง วิธีที่นิยมกันก็คือการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เพราะสามารถจะผลิตกล้าได้เป็นจำนวนมาก ส่วนวิธีอื่น ๆ นั้นยังไม่ได้มีการนำมาใช้กัน[1]
ต้นแดงเปลือกต้นแดง
  • ไม้แดง เนื้อไม้มีสีแดงเรื่อ ๆ หรือเป็นสีน้ำตาลอมแดง มีเสี้ยนเป็นลูกคลื่นหรือมักสน เนื้อไม้ละเอียดพอประมาณ มีความแข็งแรง เหนียว และทนทานมาก สามารถเลื่อยไสกบ ตบแต่งได้เรียบร้อย ขัดชักเงาได้ดี โดยมีความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.18 และเนื้อไม้มีความแข็งประมาณ 1,030 กิโลกรัม มีความทนทานตามธรรมชาติตั้งแต่ 10-18 ปี ส่วนการอาบน้ำยาไม้ทำได้ยาก (ชั้นสี่)[1]
  • ใบต้นแดง ออกเป็นช่อแบบขนนกสองชั้น ช่อใบยาวประมาณ 10-22 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ในแต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 4-5 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน แผ่นใบมักเบี้ยวและมีขนาดไม่เท่ากัน มีความกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลมมน ส่วนฐานใบมักเบี้ยว ใบแก่จะไม่มีขนปกคลุม หรืออาจมีบ้างประปรายด้านท้องใบเล็กน้อย ส่วนก้านใบย่อยจะยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร[1]

ใบต้นแดง

  • ดอกต้นแดง ดอกมีสีเหลืองขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ขึ้นอัดกันแน่นเป็นช่อกลมเดี่ยว ๆ หรือแตกกิ่งก้าน หรือขึ้นเป็นกลุ่ม ในแต่ละช่อดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.4 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีขนขึ้นปกคลุมประปราย ส่วนกลีบรองกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ตรงปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ มีขนสีเหลืองขึ้นปกคลุม กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันเล็กน้อยที่บริเวณฐาน และมีเกสรตัวผู้ 10 ก้าน แยกออกจากกันอย่างอิสระยื่นยาวออกมานอกดอก โดยดอกต้นแดงนี้จะออกดอกพร้อมกับใบอ่อนในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์และอาจถึงเดือนมีนาคม

รูปต้นแดง

ดอกต้นแดง

  • ผลต้นแดง หรือ ฝักต้นแดง ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนแข็ง ลักษณะเป็นรูปขอบขนานเรียวและโค้งงอที่ส่วนปลาย ฝักมีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ผิวฝักเรียบมีสีน้ำตาลอมเทา ไม่มีขนขึ้นปกคลุมและไม่มีก้าน เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก และเปลือกของฝักที่แตกมักจะม้วนบิดงอ ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดจำนวนหลายเมล็ด ประมาณ 6-10 เมล็ด โดยฝักจะแก่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม

ฝักต้นแดง

ฝักแดงผลต้นแดง
  • เมล็ดต้นแดง เมล็ดมีลักษณะแบนเรียวแหลม ยาวรีหรือเกือบกลม เมล็ดมีสีน้ำตาลเป็นมัน มีความกว้างประมาณ 0.35-0.5 นิ้วและยาวประมาณ 0.4-0.7 นิ้ว เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งพอประมาณ หากเมล็ดมีความสมบูรณ์ดีจะงอกได้ทันที แม้จะเก็บไว้ในระยะ 1 ปี ก็ยังคงงอกได้ดีเช่นเดิม

เมล็ดต้นแดง

สรรพคุณของต้นแดง

  1. เปลือกมีรสฝาด ช่วยสมานธาตุ (เปลือก)
  2. ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
  3. แก่นบำรุงโลหิต (แก่น)
  4. แก่นนำมาใช้ผสมยาแก้ซางโลหิต (แก่น)
  5. ช่วยแก้โรคกษัย (แก่น)
  6. ช่วยแก้พิษโลหิต ช่วยดับพิษ แก้ไข้กาฬ (แก่น)
  7. ดอกนำมาใช้ผสมเป็นยาแก้ไข้ (ดอก)
  8. แก่นช่วยแก้ไข้ท้องเสีย (แก่น)
  9. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือก)
  10. ช่วยแก้อาการปวดอักเสบของฝีชนิดต่าง ๆ (แก่น)

ประโยชน์ของต้นแดง

  1. สามารถนำมาปลูกเพื่อใช้ตกแต่งบริเวณอาคารสถานที่ได้ โดยนำมาปลูกเป็นกลุ่มในสวนสาธารณะหรือในที่โล่งแจ้ง
  2. การปลูกต้นแดงมีประโยชน์ทางด้านนิเวศน์ เนื่องจากจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ช่วยปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อม ช่วยชะลอการพังทลายของหน้าดินโดยเฉพาะดินร่วน ดินทราย เนื่องจากไม้แดงมีระบบรากลึกและแผ่กว้าง นอกจากนี้ยังเหมาะในการนำมาปลูกเพื่อปรับปรุงสภาพป่าเสื่อมโทรม วนเกษตร ในป่าชุมชนดั้งเดิมและป่าปลูกใหม่
  3. เมล็ดสามารถนำมารับประทานได้
  4. ไม้แดงเป็นไม้ที่ค่อนข้างแข็งแรง มีความทนทานต่อการกระแทกสูง เพรียงและปลวกไม่ค่อยทำลาย และเป็นไม้ที่ทนไฟในตัว การใช้ประโยชน์จากไม้แดงจึงนิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น ใช้ทำเสาบ้าน รอดตง ขื่อ ไม้ปาร์เก้ กระดานพื้น ฝา ฯลฯ หรือจะนำมาทำเรือข้างกระดาน เรือสำเภา เรือใบ ทำสะพาน ทำหมอนรางรถไฟ ใช้ทำด้ามเครื่องมือต่าง ๆ ทำหูกและกระสวย ด้ามหอก ไม้คาน ไม้สำหรับกลึง ทำคันไถ คราด ครก สาก กระเดื่อง ทำส่วนต่าง ๆ ของเกวียน ทำลูกหีบ ฟันสีขาว ฯลฯ หรือนำมาใช้ในงานแกะสลัก ทำเครื่องเรือนและไม้บุผนังให้มีความสวยงาม
  5. ไม้แดงมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการทำเป็นถ่านและไม้ฟืนได้ดี เพราะไม้แดงมีกิ่งก้านมากพอสมควร โดยถ่านจากไม้นั้นจะให้ค่าความร้อนสูงถึง 7,384 แคลอรีต่อกรัม

จันทน์แดง

จันทน์แดง

รูปจันทร์แดง

ชื่อสมุนไพร จันทน์แดง
ชื่ออื่น ๆ / ชื่อท้องถิ่น จันผา (ภาคเหนือ), ลักกะจันทน์ ,ลักกะจั่น (ภาคกลาง), จันทน์แดง (สุราษฎร์ธานี,ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Dracaena loureiroi Gagnep.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์  Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen., Draco saposchnikowii Regel.
วงศ์  Dracaenaceae

ถิ่นกำเนิดจันทร์แดง  

จันทน์แดงเป็นไม้ป่าชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ซึ่งในธรรมชาติ จันทน์แดงจะพบได้ตามภูเขาสูงหรือเกาะแก่งกลางทะเลที่ห่างไกลจากฝั่ง รวมไปถึงภูเขาหินปูนสูง ๆ ที่มีแสงแดดจัด ๆ และมักขึ้น ในสภาพของดินที่เป็นดินปนทราย หรือ หินที่มีการระบายน้ำได้ดี และมีความชื้นปานกลาง โดยมักพบมากในภูเขาหินปูนในแถบภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่,เชียงราย,แม่ฮ่องสอน,ลำพูน ฯลฯ และรวมไปถึงตามเกาะต่าง ๆ ทางภาคใต้ ในปัจจุบันจันทน์แดงจัดเป็นพืชหวงห้ามตามกฎหมายของไทยอีกด้วย

ลักษณะทั่วไปจันทร์แดง   

จันทน์แดงจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1.5-4 เมตร (ต้นโตเต็มที่อาจมีความสูงถึง 17 เมตร) เรือนยอดเป็นรูปทรงไข่ อาจมีเรือนยอดได้ถึง 100 ยอด เมื่อต้นโตขึ้นจะแผ่กว้าง ลำต้นตั้งตรง กลม มีแผลใบเป็นร่องขวางคล้ายข้อถี่ ๆ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมสีเทา แตกเป็นร่องตามยาว ไม่มีกิ่งก้าน ใบจะออกตามลำต้น ส่วนแก่นไม้ด้านในเป็นสีแดง ต้นเมื่อมีอายุมากขึ้นแก่นจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดง เราจะเรียกแก่นสีแดงว่า “จันทน์แดง” เมื่อแก่นเป็นสีแดงเต็มต้น ต้นก็จะค่อย ๆ โทรมและตายลงใบเป็นเดี่ยว เรียงสลับถี่ที่ปลายยอด รูปใบแคบเรียวยาว ปลายแหลม กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 45-80 เซนติเมตร ฐานใบจะโอบคลุมลำต้น ไม่มีก้านใบ เนื้อใบหนา ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อห้อยเป็นพวงขนาดใหญ่ตามซอกใบ และปลายยอด โค้งห้อยลง ช่อยาวประมาณ 45-100 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมากมายหลายพันดอก ดอกขนาดเล็กสีขาวครีม หรือเขียวอมเหลือง กลางดอกมีจุดสีแดงสด กลีบดอก 6 กลีบ ขนาดดอก 0.7-1 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 6 อัน ก้านเกสรกว้างเท่ากับอับเรณู  ก้านเกสรตัวเมียปลายแยก 3 พลู ชั้นกลีบเลี้ยง เป็นหลอด ปลายกลีบแยกเป็นพลูแคบ ๆ 6 พลู ไม่ซ้อนกัน ผลเป็นช่อพวงโต ผลมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร รูปทรงกลม สีน้ำตาลอมเขียว ผิวผลเรียบ มักจะมี 1 เมล็ด เมื่อสุกมีสีแดงคล้ำ ออกดอกราวเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม

การขยายพันธุ์จันทร์แดง

จันทน์แดงสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธีคือ การปักชำ และ การเพาะเมล็ด ซึ่ง  การขยายพันธุ์จันทน์แดง ในสมัยก่อนนิยมใช้วิธีการปักชำโดยการตัดหน่อหรือกิ่งของจันทน์แดง จากต้นเดิมแล้วนำมาปักชำ ในกระบะเพาะชำ หรือจะใช้วิธีการหักต้นจันทน์แดง ไปเพาะชำ หรือปักลงในแปลงปลูกโดยตรง จันทน์แดง ก็สามารถจะเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ แต่ในปัจจุบันจันทน์แดงเป็นไม้หวงห้ามและมักจะขึ้นในป่าสงวนหรือเขตวนอุทยาน ซึ่งหากไปขุดเอามาก็จะผิดกฎหมาย จึงทำให้เกิดการทดลองนำเมล็ดที่สุกของจันทน์แดงมาเพาะขยายพันธุ์ขึ้น และก็ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ เป็นที่นิยมในการขยายพันธุ์จันทน์แดงในปัจจุบัน ส่วนวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกจันทน์แดงมีดังนี้  หลังจากเก็บเมล็ดพันธุ์จันทร์ผาสุกแล้วให้นำเมล็ด จันทน์แดงที่สุก มาล้างทำความสะอาด แล้วนำไปเพาะในวัสดุเพาะชำ ซึ่งจะจัดทำเป็นแปลงขนาดพอเหมาะกับจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่เรามีโดยใช้วัสดุเพาะสำคัญ ที่มีส่วนผสม คือ ทราย:แกลบดำ = 1:1 แล้วนำเมล็ดพันธุ์จันทน์แดงมาหว่าน จากนั้นกลบเมล็ดจันทน์แดง ด้วยวัสดุเพาะชำเล็กน้อยพอมิดเมล็ดแล้วรดน้ำ ให้หมั่นรดน้ำ นานประมาณเดือนเศษ เมล็ดจันทน์แดงก็จะแตกให้ต้นใหม่ พอต้นจันทน์แดงขึ้นสูงประมาณ 3-4 นิ้ว ก็แสดงว่าต้นจันทน์แดง พร้อมที่จะนำไปแยกปลูกในแปลงที่เตรียม ไว้ต่อไป    ส่วนในแปลงปลูกนั้น ก็จะเตรียมดินธรรมดา แล้ววางระยะปลูกให้ต้นห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วดูแลเหมือนการปลูกพืชทั่ว ๆ ไป (ข้อแนะนำ) โดยธรรมชาติจันทน์ผาเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชโดยทั่วไป เช่น ตามหน้าผาสูงชัน ระบบรากดีมาก ไม่ควรปลูกใกล้ต้นไม้ขนาดเล็ก จันทน์ผาเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตช้า ไม่ค่อยมีการแตกกิ่งก้านสาขา ไม่จำเป็นไม่ควรตัดแต่ง

สรรพคุณของจันทร์แดง

ต้นจันผาเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับในอาคาร ตามสนามหญ้า สวนหย่อม ตามสระว่ายน้ำ ในส่วนของลำต้นที่เกิดบาดแผลนานเข้าจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ก็สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงน้ำยาอุทัยได้ ส่วนสรรพคุณทางยานั้นตามตำรายาไทยระบุว่า ใช้ แก่น ที่มีเชื้อราลง ที่ทำให้แก่นมีสีแดง แก้พิษไข้ภายนอกและภายใน แก้ไข้ทุกชนิด แก้ไข้อันเกิดจากซางและดี แก้ซางเด็ก  แก้กระสับกระส่าย  แก้ร้อนดับพิษไข้ทุกชนิดแก้ร้อนในกระหายน้ำ  ลดความร้อน  ทำให้หัวใจชุ่มชื่น  แก้เหงื่อตก กระสับกระส่าย แก้ไออันเกิดจากซางและดี แก้ไข้เพื่อดีพิการ บำรุงหัวใจ แก้พิษฝีที่มีอาการอักเสบและปวดบวม แก้บาดแผล แก้เลือดออกตามไรฟัน ฝนทาแก้ฟกบวม แก้ฝี รักษาดีซ่าน ช่วยแก้อาจมไม่ปกติ แก้อาการปวดศีรษะ ช่วยแก้ซาง ช่วยแก้ดีพิการ แก้น้ำดีพิการ

นอกจากนี้ยัง มีการใช้จันทน์แดงใน “พิกัดเบญจโลธิกะ”คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีคุณทำให้ชื่นใจ 5 อย่าง มี แก่นจันทน์ชะมด ต้นเนระพูสี ต้นมหาสะดำ แก่นจันทน์ขาว และแก่นจันทน์แดง สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดี แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมวิงเวียน กล่อมพิษทั้งปวง และมีการใช้ใน “พิกัดจันทน์ทั้ง 5 “ คือการจำกัดจำนวนแก่นไม้จันทน์ 5 อย่าง มี แก่นจันทน์ชะมด แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์ทนา แก่นจันทน์ขาว และแก่นจันทน์แดง สรรพคุณ แก้ไข้เพื่อโลหิตและดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงตับปอดหัวใจ แก้พยาธิบาดแผล

          ส่วนตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์: ปรากฏตำรับ “มโหสถธิจันทน์” ประกอบด้วย จันทน์ทั้ง 2 (จันทน์แดงและจันทน์ขาว) ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 13 ชนิด สรรพคุณแก้ไข้ทั้งปวง ที่มีอาการตัวร้อน อาเจียนร่วมด้วยก็ได้

           และในปัจจุบันใน บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้จันทน์แดงในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของจันทน์แดง ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง และยาแก้ไข้ปรากฏตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” มีส่วนประกอบของจันทน์แดงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู “ตำรับยาเขียวหอม”  บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส)  ส่วนสรรพคุณในทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้มีผลการศึกษาวิจัยระบุว่า สารสกัดจากส่วนลำต้นของจันทน์ผามีฤทธิ์ลดอาการปวดและอาการไข้ในสัตว์ทดลอง และสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดที (Jurkat cell) ได้อีกด้วย สำหรับสารสกัดจากส่วนแก่นของลำต้นมีสารยับยั้ง ไชโคลออกซิเจนเนส-2 (cyclooxygenase-2) ซึ่งใช้บรรเทาอาการปวดและอักเสบ และยังพบฤทธิ์ Ani-HIV 1 integrase activity จากสารสกัดส่วนนี้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันรายงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของสารสกัดจากจันทน์ผายังมีไม่มากนัก รวมถึงขาดการศึกษาวิจัยทางคลินิก ดังนั้นจึงควรใช้จันทน์แดงอย่างระมัดระวัง