• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

ประคำดีควาย

ประคำดีควาย (Soapberry) สรรพคุณ และพิษประคำดีควาย

ประคำดีควาย (Soapberry) เป็นไม้ขนาดกลางที่คนโบราณนิยมนำผลมาใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพร อาทิ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ยาสระผม บำรุงผมให้ดกดำ ยาฆ่าเหา ฆ่าเชื้อราบนหนังศรีษะ เป็นต้น

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sapindus rarak DC.
• ชื่อวงศ์ : Sapindaceae
• ชื่ออังกฤษ : Soapberry
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มะคำดีควาย
ภาคเหนือ
– มะชัก
– ส้มป่อยเทศ
– ชะแช, ชะเหล่เด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้น ความสูงประมาณ 5-10 เมตร มีลักษณะเปลือกเป็นสีน้ำตาลอมเทา ค่อนข้างเรียบ มีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มหนาทึบ

ใบ
ใบอ่อนออกเป็นช่อ เรียงสลับกัน ช่อใบมีใบย่อยประมาณ 5-9 คู่ ใบย่อยมีลักษณะรูปหอก โคนใบสอบเข้าหากัน ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 0.6 -1.2 นิ้ว ยาวประมาณ 2.5- 4 นิ้ว ใบมีสีเขียวเข้มเหมือนใบทองหลาง

ดอก
ดอกออกเป็นช่อ ตามปลายกิ่ง มีลักษณะดอกขนาดเล็ก สีขาวนวล หรือสีเหลืองอ่อน ดอกมีกลีบรองกลีบดอกขนาดเล็ก ประมาณ 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน มีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ กลีบด้านนอกมีขนสั้น สีน้ำตาลปนแดง ขึ้นประปราย มีเกสรตัวผู้ตรงกลางดอก ประมาณ 10 อัน

ผล
ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม สีเขียวเมื่ออ่อน สีเหลืองฉ่ำเมื่อสุก และผลมีสีน้ำตาล และดำตามลำดับเมื่อแก่แห้ง เปลือกหุ้มมีลักษณะแข็ง ข้างในประกอบด้วยเมล็ด ผลหนึ่งมี 1 เมล็ดเท่านั้น ออกผลหลาบผลเป็นพวง ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 0.6 นิ้ว

ประคำดีควายดิบ

ประคำดีควายแก่

สารเคมีที่พบในผลประคำดีควาย คือ saponin, Emarginatonede, o- Methyl-Saponin, Quercetin, Quercetin-3-a-L-arabofuranoside และ beta– sitosterol เป็นต้น

สารที่สำคัญ คือ saponin เป็นสารประเภท glycoside ที่เป็นสารพวก Steroid หรืออาจเป็น triterpene มีรสเฝื่อน มีคุณสมบัติทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เมื่อละลายน้ำ และเขย่า จะทำให้เกิดฟองรูปรวงผึ้ง ทำให้ชาวบ้านมักใช้ผลมาแทนสบู่สำหรับซักล้างทั่วไป สารนี้มีความคงตัวได้นาน และเป็นพิษต่อสัตว์เลือดเย็น เช่น ปลา หอย และแมลงต่างๆ สารนี้เป็นสารสำคัญที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมาย มีสรรพคุณฆ่าเชื้อรา แก้โรคชันนะตุ รักษาโรคผิวหนัง บาดแผลได้ และใช้เป็นสารสกัดสำหรับกำจัดแมลงศัตรูพืชชนิดต่างๆ

สรรพคุณประคำดีควาย
• ราก : ใช้ขับเสมหะ แก้ริดสีดวง แก้หืด

• เปลือกลำต้น : นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยา แก้พิษไข้ แก้พิษร้อน แก้ฝีอักเสบ แก้ฝีหัวคว่ำ และเป็นยาแก้กษัยเป็นต้น

• ใบ : นำมาปรุงใช้เป็นยาแก้พิษกาฬ แก้ทุราวาส ใบตากแห้งชงน้ำดื่มบำรุงร่างกาย ลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด

• เมล็ด และเมล็ด : ใช้เมล็ดสดหรือแห้งนำมาตำให้ ละเอียด ใช้พอกหรือเอามาละลายน้ำล้างแผล แก้โรคผิวหนัง ใช้เป็นยาถ่านพยาธิ ผสมยาสระผม ใช้บำรุงผมให้ดกดำ ยากำจัดเหา ฆ่าเชื้อรา รังแคบนหนังศรีษะ ใช้ผลที่แห้งนำมาคั่วให้เกรียม จาก นั้นใช้ปรุงเป็นยาดับพิษได้ทุกชนิด แก้กาฬภายใน แก้ไข้ แก้หืด หอบ แก้โรคผิวหนัง และแก้เสลดสุมฝีที่เปื่อยพัง

พิษประคำดีควาย
สารเคมีในผลประคำดีควายที่เป็นพิษ คือ saponin, emerginatonede และ o-methyl-saponin มีรสเฝื่อน ขม และกลิ่นฉุน เป็นสารที่ออกฤทธิ์เป็นพิษต่อสัตว์เลือดเย็น ออกฤทธิ์ทำลายเม็ดเลือดแดงได้ ถ้าเป็นผงแห้ง หากสัมผัสจะเกิดการระคายเคืองเยื่อบุจมูก ขนาดที่เจือจางที่เป็นพิษ เช่น 1:200,000 สามารถฆ่าปลาได้

พิษต่อสัตว์เลือดอุ่นหรือมนุษย์ หากกินสารนี้จะเกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร น้ำลายออกมาก มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง หากดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจะมีอาการปวดศีรษะ กระหายน้ำ มีไข้ จนถึงทำให้เม็ดโลหิตแดงแตก หากได้รับพิษมากจะทำให้กล้ามเนื้อเปลี้ย อ่อนแรง หน้าซีด และม่านตาขยาย การไหลเวียนโลหิตผิดปกติ และมีอาการชักได้

มีการทดสอบความเป็นพิษจากสารสกัดของผลประคำดีควายโดยใช้แอลกอฮอล์ 50% เป็นตัวทำละลายนขนาด 10 g/ kg ในหนูทดลอง ผ่านทางสายยางเข้าช่องท้อง พบว่า ความเป็นพิษที่ทำให้หนูตายในปริมาณครึ่งหนึ่ง คือ 2.0 g/ kg

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ทวีเทพ ได้ศึกษาประสิทธิภาพของใบยาสูบร่วมกับลูกประคำดีควาย พบว่า หากใช้ใบยาสูบ 60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร สามารถกำจัดหอยเชอรี่ได้ 74.03 เปอร์เซ็นต์ และหากใช้ผสมกับลูกประคำดีควาย 60 กรัม ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดหอยเชอรี่เป็น 100 เปอร์เซ็นต์

ปราสาททอง และคณะ ได้ศึกษาใช้สารสกัดลูกประคำดีควาย ความเข้มข้นเพียง 0.05 และ 0.1% สามารถกำจัดหอยเชอรี่ได้มากถึง 100%

แม้นสรวง และคณะ ได้ทดสอบใช้สารสกัดจากประคำดีควายทดสอบการต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง พบว่ามีผลการการต้านเชื้อราสายพันธุ์ต่างๆ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตัวยา ketoconazole ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่า

การขยายพันธุ์
ประคำดีควายพบขึ้นกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งตามในภาคต่าง ๆ ออกดอก และติดผลในช่วงเดือน มีนาคม-มิถุนายน

ธรณีสาร

สรรพคุณและประโยชน์ของต้นธรณีสาร

ว่านธรณีสาร

ว่านธรณีสาร

ว่านธรณีสาร ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus pulcher Wall. ex Müll.Arg.[1] จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

สมุนไพรว่านธรณีสาร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะขามป้อมดิน (เชียงใหม่), เสนียด (กรุงเทพมหานคร), กระทืบยอด (ชุมพร), ก้างปลาดิน ดอกใต้ใบ (นครศรีธรรมราช), ตรึงบาดาล (ประจวบคีรีขันธ์), ก้างปลาแดง ครีบยอด (สุราษฎร์ธานี), คดทราย (สงขลา), รุรี (สตูล), ก้างปลา (นราธิวาส) เป็นต้น

ลักษณะของว่านธรณีสาร

  • ต้นว่านธรณีสาร จัดเป็นไม้พุ่งกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นแผ่กิ่งก้านบริเวณใกล้กับปลายยอด เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ลำต้นมีลักษณะกลมและมีรอยแผลใบตามลำต้น มีขนนุ่มตามกิ่งอ่อนและใบประดับ ส่วนอื่น ๆ ของต้นเกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นกระจายอยู่ตามป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 400 เมตร

ต้นว่านธรณีสาร

ใบว่านธรณีสาร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับแน่นในระนาบเดียวกันบริเวณปลายยอด มีใบย่อยประมาณ 15-30 คู่ ในแต่ละกิ่งย่อย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานเบี้ยว หรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ปลายสุดมีติ่งแหลมขนาดเล็ก ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.52.5 เซนติเมตร แผ่นใบแผ่และบาง แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน หลังใบสีเขียว ส่วนท้องใบเป็นสีเทาแกมเขียว มีเส้นใบข้างประมาณ 6-8 คู่ ก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 0.8-1.5 มิลลิเมตร ก้านมีสีแดงเล็กน้อย ส่วนหูใบมีสีน้ำตาลแดง ลักษณะเป็นรูปหอกแกมรูปสามเหลี่ยม มีขนาดประมาณ 3-4 x 1.5-2 มิลลิเมตร

ต้นธรณีสาร

ดอกว่านธรณีสาร ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีแดงเข้ม และเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ใบประดับมีขนนุ่มที่ฐาน โดยดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นกระจุกตามซอกใบ มีกลีบดอก 4 กลีบ โคนสีแดง ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ก้านชูสั้น เชื่อมติดกัน อับเรณูแตกตามยาว ก้านดอกบาง ยาวได้ประมาณ 5-10 มิลลิเมตร และกลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ กลีบเลี้ยงมีสีแดงเข้ม ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ขอบแหว่ง มีขนาดประมาณ 2-3 x 1-2 มิลลิเมตร มีต่อม ขานฐานดอกเป็นต่อม 4 อัน เป็นรูปเหลี่ยมหรือรูปไตแบนบาง มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-0.7 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะออกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ดอกจะห้อยลง เรียงกันอยู่หนาแน่นตามใต้ท้องใบ กลีบดอกเพศเมียมี 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ขอบแหว่ง มีขนาดประมาณ 3.5-4 x 1.5 มิลลิเมตร มีรังไข่เป็นรูปกึ่งกลม เกลี้ยง ส่วนปลายมีพู 6 พู ภายในรังไข่มีห้อง 3 ห้อง และมีก้านชู 3 อัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน

ธรณีสาร

ผลว่านธรณีสาร ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร ผิวผลเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาลอ่อน ก้านผลยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยงติดอยู่คงทน ผลจะออกเรียงเป็นแนว ดูเป็นระเบียบอยู่ใต้ใบ โดยจะติดผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน

ผลว่านธรณีสาร

สรรพคุณของว่านธรณีสาร

  1. รากมีรสจืดเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ราก) หรือจะใบนำมาตำให้แหลกผสมกับน้ำซาวข้าวหรือเหล้า ใช้พอกดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (ใบ) ส่วนมาเลเซียจะใช้ใบเป็นยาแก้ไข้สูง (ใบ)
  2. ใบแห้งนำมาบดให้เป็นผง ใช้แทรกพิมเสนกวาดคอเด็ก เพื่อลดไข้ รักษาอาการตัวร้อน รักษาพิษตานทรางของเด็ก รักษาแผลในปาก และยังเป็นยาขับลมในลำไส้อีกด้วย (ใบ) หรือจะใช้ใบนำมาขยำเอาน้ำใช้ชโลมทาเป็นยาลดไข้สำหรับเด็ก (ใบ)
  3. ช่วยแก้พิษตานซางเด็ก (ราก)
  4. ต้นใช้ภายนอกเป็นยาล้างตา (ต้น)
  5. ใบว่านธรณีสารนำมาตำ ใช้พอกเหงือกแก้อาการปวดฟัน และแก้โรคเหงือก (ใบ)
  1. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ราก)
  2. ต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง (ต้น)
  3. ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร (ใบ)
  4. ต้นใช้ฝนทาท้องเด็ก ช่วยแก้ขัดเขา (ต้น)
  5. ช่วยแก้นิ่วในไต (ใบ)
  6. ต้นใช้เป็นยาทาท้องเด็ก ช่วยทำให้ไตทำงานตามปกติ และเป็นยาแก้ไข้ (ต้น)
  7. ที่ประเทศมาเลเซียจะใช้ใบเป็นยาแก้แผล แก้ปวดแผลจากอาการไหม้ แก้บวมคัน (ใบ)
  8. ต้นใช้เป็นยาทาผิวหนัง แก้ผิวหนังอักเสบ และแก้อาการคัน (ต้น)
  9. ใบใช้ตำพอกแก้ผื่นคันตามร่างกาย (ใบ)
  10. ใบใช้ภายนอกเป็นยาพอกฝี ดูดหนองรักษาแผลได้ดี (ใบ)] ส่วนต้นใช้ฝนทาแก้ฝีอักเสบ พิษฝีอักเสบ (ต้น)
  11. ใบใช้ตำพอกแก้อาการบวม แก้ปวดบวม (ใบ)
  12. ใบใช้ตำผสมกับข้าวเหนียวดำ ใช้เป็นยาพอกแก้กระดูกหัก (ใบ)

ประโยชน์ของว่านธรณีสาร

  • ว่านธรณีสารจัดเป็นไม้มงคลโบราณที่นิยมนำมาใช้ประกอบทำน้ำมนต์ โดยใช้ใบว่านธรณีสารชุบกับน้ำมนต์ ใช้ประพรมเพื่อเป็นการปัดรังควานและเสนียดจัญไร จึงนิยมปลูกกันไว้ตามวัด ส่วนการปลูกตามบ้านมีบ้างประปราย[3]
  • คนไทยโบราณเชื่อว่าถ้าปลูกต้นธรณีสารไว้กับบ้านจะเป็นสิริมงคล ทำให้มีความสุขร่มเย็น หากว่านธรณีสารงอกงามดี จะเป็นสัญญาณที่แสดงว่าเจ้าของจะได้เกียรติยศ ได้ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม หรือมีโชคลาภ และยังเชื่อด้วยว่าว่านธรณีสารสามารถแผ่อิทธิคุณ ช่วยคุ้มครองอาณาบริเวณให้รอดพ้นจากมนต์ดำต่าง ๆ ช่วยปัดเสนียดจัญไรไม่ให้เข้ามาทำอันตรายได้ สำหรับการปลูก ว่านชนิดนี้มักขึ้นในที่ร่ม ให้ใช้กระถางใบใหญ่ ส่วนดินที่ใช้ปลูก ให้ใช้ดินร่วน หากใส่ปุ๋ยคอกด้วยก็จะช่วยให้เจริญเติบโตได้เร็วขึ้น และเมื่อเอาดินกลบหัวว่านอย่ากดดินให้แน่น และให้รดน้ำพอชุ่ม ๆ ซึ่งก่อนรดให้สวดด้วยคาถา "นโม พุทธยะ" จำนวน 3 จบก่อนทุกครั้ง เมื่อว่านตั้งตัวได้ควรให้ได้รับแสงแดดรำไร เพื่อหัวว่านจะได้มีขนาดใหญ่ และควรปลูกว่านธรณีสารในวันพฤหัสบดีข้างขึ้นจะดีที่สุด

บอระเพ็ด

บอระเพ็ด สรรพคุณและประโยชน์ของบอระเพ็ด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ บอระเพ็ด

 

บอระเพ็ด ชื่อวิทยาศาสตร์ Tinospora crispa (L.) Hook. f. & Thomson จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)

สมุนไพรบอระเพ็ด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เจตมูลหนาม (หนองคาย), ตัวเจตมูลยานหรือเถาหัวดำ (สระบุรี), หางหนู (อุบลราชธานี), จุ่งจิงหรือเครือเขาฮอ (ภาคเหนือ) เป็นต้น

บอระเพ็ด เป็นไม้เลื้อยที่พบได้ตามป่าดิบแล้ง จัดเป็นสมุนไพรไทยบ้าน ๆ ที่มีสรรพคุณทางยาสารพัด

โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นยาจะคือส่วนของ "เถาเพสลาก" เพราะมีลักษณะไม่แก่หรืออ่อนเกินไปนัก และมีรสชาติขมจัด แต่ถ้าเป็นเถาแก่จะแตกแห้ง รสเฝื่อน ไม่ขม หรือถ้าอ่อนเกินไปก็จะมีรสไม่ขมมาก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ บอระเพ็ด

สรรพคุณของบอระเพ็ด

  1. บอระเพ็ดช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส หน้าตาสดชื่น (ใบ)
  2. มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยในการชะลอวัย
  3. ประโยชน์ของบอระเพ็ด ช่วยให้ผมดกหนาขึ้นและอาการผมหงอก ผมร่วงก็จะลดน้อยลง ซึ่งจะได้ผลดีอย่างมากกับผู้ที่มีอาการผมหงอกก่อนวัย หากรับประทานผงบอระเพ็ดวันละ 600 mg. เป็นเวลา 1 เดือน
  4. แก้อาการคันหนังศีรษะ รังแค ชันนะตุ
  5. ใช้แก้อาการกระหายน้ำ (เถา, ต้น)
  6. ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย (ต้น, ใบ)
  7. บอระเพ็ดสรรพคุณใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ราก, ต้น, ใบ) ด้วยการใช้บอระเพ็ด / เมล็ดข่อย / หัวแห้วหมู / เมล็ดพริกไทย / เปลือกต้นทิ้งถ่อน / เปลือกต้นตะโกนา ในสัดส่วนเท่ากันนำมาบดเป็นผง ปั้นเป็นยาลูกกลอนเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานก่อนนอนครั้งละ 2-3 เม็ด หรือจะนำเถาบอระเพ็ดมาหั่นตากแห้งแล้วนำมาบดให้เป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนก็ได้
  8. ช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เสริมสร้างภูมิต้านทาน (ราก)
  9. บอระเพ็ดลดความอ้วน (ใบ)
  10. ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด (ราก)
  11. สรรพคุณของบอระเพ็ดช่วยรักษาโรคเบาหวาน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้เถาสดที่โตเต็มที่ตากแห้งแล้วบดเป็นผง นำมาชงน้ำร้อนดื่มครั้งละ 1 ช้อน เช้าและเย็น (เถาสด, ทุกส่วน)
  12. มีสารลดความดันโลหิต ได้แก่ อะดีโนซีน(adenosine), ซาลโซลีนอล(salsolinol), ไฮเจนนามีน (higenamine) (ต้น)
  13. แก้โรคดีซ่าน (ทุกส่วน)
  14. ช่วยรักษาอาการโลหิตคั่งในสมอง (ใบ)
  15. ช่วยให้เจริญอาหาร (ราก, ต้น)
  16. แก้อาการร้อนใน (เถา, ต้น)
  17. สรรพคุณบอระเพ็ดช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย (ราก)
  18. ช่วยขับเหงื่อ (เถา)
  19. ช่วยฆ่าแมลงในหู (เถา)
  20. แก้รำมะนาด (เถา)
  21. แก้ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต ไข้พิษ ไข้จับสั่น (ราก, ต้น, ใบ)
  22. ใช้ถอนพิษไข้ (ราก)
  23. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (เถา, ผล) ด้วยการใช้เถาสดประมาณ 30 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือใช้วิธีต้มเคี่ยว (ใส่น้ำ 3 ส่วน ต้มให้เหลือ 1 ส่วน) แบ่งครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ก่อนอาหารวันละ 2-3 ครั้งเมื่อตอนมีไข้ หรือจะนำเถาบอระเพ็ดมาตากแห้ง บดให้เป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอนก็ได้
  24. แก้ไข้มาลาเรียด้วยการกินบอระเพ็ดวันละ 2 องคุลีทุกวัน (เถา)
  25. แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้เลือดพิการ (ต้น)
  26. แก้อาการแทรกซ้อนขณะเป็นไข้ทรพิษ (ต้น)
  27. ช่วยให้เสียงไพเราะ (ใบ)
  28. แก้อาการเสมหะเป็นพิษ (ผล)
  29. ช่วยรักษาฟัน (ทุกส่วน)
  30. แก้อาการปวดฟัน (เถา)
  31. แก้สะอึก (ต้น, ผล)
  32. แก้โรคกระเพาะอาหารด้วยการใช้บอระเพ็ด 5 ส่วน / มะขามเปียก 7 ส่วน / เกลือ 3 ส่วน / น้ำผึ้งพอควร นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วรับประทานก่อนอาหาร 3 เวลา
  33. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ราก)
  34. รักษาโรคริดสีดวงทวาร (ทุกส่วน)
  35. รักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ (ทุกส่วน)
  36. แก้อาการมดลูกเสีย (ราก)
  37. ช่วยบำรุงน้ำดี (เถา)
  38. ช่วยขับพยาธิ (ใบ)
  39. ช่วยฆ่าพยาธิไส้เดือน (เถา)
  40. ช่วยฆ่าพยาธิในท้อง ในฟัน และในหู (ดอก)
  41. แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ทุกส่วน)
  42. แก้อาการเกร็ง (ทุกส่วน)
  43. ดับพิษปวดแสบปวดร้อน (เถา)
  44. ใช้ล้างแผลที่เกิดจากโรคซิฟิลิส (เถา)
  45. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เถา,ใบ)
  46. รักษาผดผื่นตามร่างกาย (ใบ)
  47. รักษาบาดทะยัก (ทุกส่วน)
  48. แก้อาการปวดฝี (ใบ)
  49. แก้พิษฝีดาษ (ต้น)
  50. แก้ฝีมดลูด ฝีมุตกิด (ทุกส่วน)
  51. นำมาแปรรูปเป็นบอระเพ็ดแคปซูล

แม้บอระเพ็ดจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคและอาการต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ยังมีงานศึกษาวิจัยที่สนับสนุนสรรพคุณดังกล่าวอยู่น้อย ซึ่งสรรพคุณทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากบทเรียนที่ใช้ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จึงเกิดเป็นความเชื่อถือและใช้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน จนองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตบอระเพ็ดแคปซูลออกมาจำหน่ายเพื่อใช้เป็นยาช่วยในการเจริญอาหาร

สมุนไพรบอระเพ็ดสำหรับการรับประทานในส่วนของรากอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจมีผลต่อหัวใจ เนื่องจากเป็นยารสขม สิ่งที่ต้องระวังก็คือไม่ควรใช้ติดกันต่อเนื่องเกิน 1 เดือน ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ในเดือนถัดไปก็ควรเว้นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อยเพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสภาพได้ก่อน ถ้าใช้ไปแล้วมีอาการมือเท้าเย็น แขนขาหมดเรี่ยวแรงก็ควรหยุดรับประทาน

ทุเรียนเทศ

ทุเรียนเทศ สรรพคุณและประโยชน์ของทุเรียนเทศ

ทุเรียนเทศ

ทุเรียนเทศ ชื่อสามัญ Soursop, Prickly custard apple)

ทุเรียนเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Annona muricata L. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)

 

สมุนไพรทุเรียนเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะทุเรียน (ภาคเหนือ), หมากเขียบหลด (ภาคอีสาน), ทุเรียนแขก (ภาคกลาง), ทุเรียนน้ำ เป็นต้น

ทุเรียนเทศ เป็นพืชชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับน้อยหน่า กระดังงา นมแมว และจำปี โดยลักษณะของผลนั้นจะมีรูปร่างคล้ายทุเรียน และมีหนาม เปลือกมีสีเขียว ในส่วนของเนื้อจะมีสีขาว ฉ่ำน้ำ รสหวานอมเปรี้ยว ซึ่งพืชชนิดนี้จะปลูกมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในแถบอเมริกากลาง โดยเป็นพืชที่ชอบอากาศที่มีความชื้นสูง

ทุเรียนเทศ เป็นผลไม้ที่ขาดการให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจในไทย โดยปกติแล้วจะพบว่ามีการเพาะปลูกมากในภาคใต้ของประเทศไทย รวมไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์พบว่าทุเรียนเทศนี้ได้หายไปจากตลาดท้องถิ่น แต่กลับได้ในรูปของการแปรรูป เช่น น้ำทุเรียนเทศเข้มข้น น้ำทุเรียนเทศบรรจุกล่องพร้อมดื่มในร้านแถวรัฐปีนังของมาเลเซีย

ประโยชน์ของทุเรียนน้ำการรับประทานทุเรียนเทศติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลานาน อาจจะทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) เนื่องจากในผลทุเรียนเทศจะมีสาร “แอนโนนาซิน” (Annonacin) ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์สมอง และในส่วนของเมล็ดและเปลือกก็จะมีสารอัลคาลอยด์อยู่หลายชนิดที่เป็นพิษต่อร่างกาย แต่ถ้ารับประทานอย่างมีสติ ไม่ได้รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็ไม่น่าจะเป็นโทษต่อร่างกาย

ประโยชน์ของทุเรียนเทศ

  1. ใช้รับประทานเป็นผลไม้สดหรือนำไปทำเป็นน้ำผลไม้ปั่น
  2. สารสกัดจากส่วนของใบ เมล็ด และลำต้นของทุเรียนเทศมีฤทธิ์ในการต่อต้านไวรัสและเซลล์มะเร็ง (งานวิจัยในอเมริกา)
  3. การรับประทานผลไม้ชนิดนี้จะช่วยเพิ่มน้ำนมกับหญิงให้นมบุตร
  4. ใบนำมาใช้ชงดื่มช่วยทำให้นอนหลับสบาย
  5. นำใบมาใส่ไว้ในหมอนหนุน จะช่วยทำให้หลับสบายยิ่งขึ้น (เนเธอร์แลนด์)
  6. ใบของทุเรียนเทศมีการนำมาใช้เป็นยาระงับประสาท
  7. รากและเปลือกนำมาทำเป็นชาชงดื่มแก้อาการเครียด ช่วยลดอาการเจ็บปวดและลดการเกร็ง
  8. ช่วยแก้อาการเมา ด้วยการใช้ใบขยี้ลงในน้ำผสมกับน้ำมะนาว 2 ลูก แล้วนำมาจิบเล็กน้อยและเอาน้ำที่่เหลือลูบหัว (ตำรา Materia medica)
  9. ผลสุกช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
  10. ผลดิบใช้รับประทานเพื่อรักษาโรคบิด
  1. เมล็ดนำมาใช้ในการช่วยสมานแผลและห้ามเลือด
  2. ผลดิบนำมาตำแล้วพอกเป็นยาฝาดสมาน
  3. เมล็ดของทุเรียนเทศนี้จะมีพิษ จึงนำมาใช้ทำยาเบื่อและทำเป็นยาฆ่าแมลงศัตรูพืช
  4. ใบทุเรียนเทศนำมาใช้ปูให้ผู้ป่วยที่เป็นไข้นอน ซึ่งจะช่วยลดอาการไข้ลงได้ทันทีเมื่อตื่นนอน (แถบคาริบเบียน)
  5. ใบของทุเรียนเทศมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องอืด ด้วยการนำมาขยี้ผสมกับปูนแล้วนำมาทาบริเวณท้อง
  6. ใบใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการไอ อาการปวดตามข้อ ด้วยการนำมาขยี้ผสมกับปูนแล้วนำมาทา
  7. เปลือก ราก และดอกมีการนำมาใช้เกี่ยวกับข้ออักเสบและผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ
  8. น้ำสกัดจากเนื้อยังช่วยในการขับพยาธิได้
  9. สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลไม้กวนต่าง ๆ ไอศกรีม เยลลี่ ซอส รวมไปถึงผลไม้กระป๋องด้วย
  10. ทุเรียนเทศนิยมนำมาใช้ประกอบอาหาร อย่างเช่น แกงส้มและเชื่อม (ภาคใต้)

ข้อมูลทางโภชนาการของผลทุเรียนเทศดิบต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 66 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 16.84 กรัม
  • น้ำตาล 13.54 กรัม
  • เส้นใย 3.3 กรัม
  • ไขมัน 0.30 กรัม
  • โปรตีน 1.00 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.070 มิลลิกรัม 6%
  • วิตามินบี 2 0.050 มิลลิกรัม 4%
  • วิตามินบี 3 0.900 มิลลิกรัม 6%
  • วิตามินบี 6 0.059 มิลลิกรัม 5%
  • วิตามินบี 9 14 ไมโครกรัม 4%
  • วิตามินซี 20.6 มิลลิกรัม 25%
  • ธาตุแคลเซียม 14 มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุเหล็ก 0.6 มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุแมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม 4%
  • ธาตุโพแทสเซียม 278 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%