• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

มะเดื่อชุมพร

ต้นมะเดื่อชุมพร - พันธุ์ไม้

จังหวัดชุมพร

 

มะเดื่อชุมพร

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus racemosa L.

จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)

มะเดื่อชุมพร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เดื่อเกลี้ยง (ภาคเหนือ), มะเดื่อน้ำ มะเดื่อหอม หมากเดื่อ เดื่อเลี้ยง (ภาคอีสาน), มะเดื่อ มะเดื่อเกลี้ยง มะเดื่อชุมพร เดื่อน้ำ กูแซ (ภาคใต้), มะเดื่อดง, มะเดื่อไทย, มะเดื่ออุทุมพร เป็นต้น

ต้นมะเดื่อชุมพร มีถิ่นกำเนิดครอบคลุมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ไล่ตั้งแต่ประเทศอินเดียไปจนถึงประเทศจีน โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ทรงพุ่มกว้าง ใบหนาทึบ ลำต้นสูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นเกลี้ยง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทา กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนกิ่งแก่เป็นสีน้ำตาลเกลี้ยง ส่วนใบจะเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตามกิ่ง ใบเป็นรูปทรงรี หรือรูปหอก โคนใบมนหรือกลม ปลายใบแหลม ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนไม่หลุดร่วงง่าย ขอบใบเรียบ มีเส้นแขนงในใบประมาณ 6-8 คู่ และก้านยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ส่วนดอกมะเดื่อชุมพร จะออกดอกเป็นช่อยาวตามกิ่ง โดยแต่ละช่อก็จะมีดอกย่อยขนาดเล็กเป็นกลุ่ม ดอกช่อจะเกิดภายในฐานรองดอกที่มีรูปร่างคล้ายผล และดอกมีสีขาวอมชมพู ลักษณะของลูกมะเดื่อชุมพร มีลักษณะทรงกลมแป้นหรือรูปไข่ ผลจะเกาะกลุ่มอยู่ตามต้นและตามกิ่ง ห้อยเป็นระย้าสวยงาม โดยผลอ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีแดงม่วง มีรสฝาดอมหวาน สามารถรับประทานได้ ซึ่งดอกและผลนี้จะออกตลอดปี

มะเดื่อชุมพร ปัจจุบันยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก สาเหตุคงมาจากผลสุกมักจะมีแมลงหวี่อยู่ในผลด้วยเสมอ ทำให้หลาย ๆคนรู้สึกไม่ค่อยดีนัก หรืออาจมองว่ามันสกปรกจนไม่น่ารับประทาน แต่ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับมะเดื่ออย่างมากเพราะเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกและน่าสนใจอยู่มากเลยทีเดียว โดยต้นมะเดื่อกับแมลงหวี่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน โดยมะเดื่ออาศัยให้แมลงหวี่ช่วยผสมเกสรให้ติดเมล็ด ส่วนแมลงหวี่ก็อาศัยมะเดื่อเป็นอาหารและฟักไข่จนเป็นตัว จะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องอาศัยกันและกันในการสืบพันธุ์ต่อไป

ประโยชน์ของมะเดื่อชุมพรช่วยแก้อาการร้อนใน (ในคาบสมุทรมลายู) (ราก)

  1. ผลดิบช่วยแก้โรคเบาหวาน (ผลดิบ)
  2. ผลสุกมีฤทธิ์เป็นยาระบาย (ผลสุก)
  3. ใช้เป็นยาสมานแผล ช่วยห้ามเลือดและชะล้างบาดแผล ช่วยแก้ประดงเม็ดผื่นคัน (เปลือก)
  4. ไม้มะเดื่อจัดเป็นไม้มงคลที่สามารถปลูกไว้ในบ้านและยังเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะในสมัยอดีตจะใช้ไม้มะเดื่อทำพระที่นั่งในพระราชพิธีราชาภิเษก ใช้ทำเป็นกระบวยตักน้ำเจิมถวาย และใช้ทำหม้อน้ำสำหรับกษัตริย์ทรงใช้ในพระราชพิธี
  5. ผลสุกสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้หลายชนิด เช่น กระรอก นก หนู ฯลฯ แถมยังเป็นการขยายพันธุ์มะเดื่อชุมพรไปด้วยในตัว เพราะเมล็ดของมะเดื่อจะงอกดีมากขึ้นเพราะมีน้ำย่อยในกระเพาะของสัตว์
  6. ใบอ่อนใช้นึ่งกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก
  7. ยอดอ่อนใช้ลวกกินกับน้ำพริก
  8. ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหารได้
  9. ช่อดอกหรือที่คนไทยเรียกว่าผลหรือลูกมะเดื่อ สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้โดยใช้จิ้มกับผัก หรือใช้ทำแกงอย่างแกงส้มก็ได้เช่นกัน

 

 

จันทร์กะพ้อ

 

จันทน์กะพ้อ

ขายจันกระพ้อ ราคาถูก แหล่งรวมจันกระพ้อ มีหลายร้านให้เลือกซื้อ

จันทน์กะพ้อ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Vatica diospyroides Symington

ชื่อวงศ์ DIPTEROCARPACEAE 

ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ  เขี้ยวงูเขา (พังงา), จันทน์พอ จันทน์พ้อ (ภาคใต้) เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมโปร่งไม่ค่อยสวย มีใบน้อย แตกกิ่งก้านจำนวนมากที่ยอด กิ่งเปลา เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมเทา หรือสีเทาคล้ำ และมักมียางใสซึมออกมาตามรอยแตก ส่วนเปลือกชั้นเป็นสีเหลือง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี มีร่มเงาจากไม้อื่น มีความชื้นในอากาศดี และลมไม่แรงมากนัก มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน ในประเทศไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นที่ลุ่มต่ำ และตามชายขอบของป่าพรุทางภาคใต้ บ้างว่าเกิดตามป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 20-100 เมตร ส่วนในต่างประเทศจะพบได้ที่ประเทศเวียดนามและมาเลเซีย

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของแผ่นใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบและเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 14-20 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน แผ่นใบเกลี้ยงหนา มีเส้นแขนงของใบประมาณ 15-18 คู่ ปลายเส้นโค้งจรดกับขอบใบ โคนใบเบี้ยว และจะหลุดร่วงไปตามอายุ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร

ดอก สีเหลืองนวลขนาดเล็กและมีกลิ่นหอมแรงมาก กลิ่นเป็นแบบหอมร้อน ๆ คล้ายกับแก้วกาหลงและน้ำมันจันทน์ ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามกิ่งและตามง่ามใบ ดอกมีกลีบดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน 5 กลีบ เรียงเวียนกันเป็นรูปกังหัน กลีบดอกมีขนนุ่มเป็นสีน้ำตาล ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีขนปกคลุม เมื่อเริ่มปลูกจะใช้เวลาประมาณ 6-7 ปีถึงจะออกดอก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมและดอกจะทยอยบานในเวลาใกล้เคียงกัน

ผล มีลักษณะกลมรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ผิวผลเป็นขุย สีน้ำตาล ผลเมื่อแก่จะแตกออกเป็น 3 กลีบ มีกลีบประดับ 5 กลีบสั้นกว่าตัวผล โดยกลีบผลมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมสั้นกว่าความยาวของผล ขอบกลีบพับจีบตามยาว มีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม โดยจะติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และผลจะแก่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม

ประโยชน์ต้นจันทน์กะพ้อ

  1. สมัยก่อนคนโบราณจะใช้ดอกกลั่นทำน้ำมันใส่ผมและมีการนำมาใช้ทำน้ำหอม
  1. ไม้จันทน์กะพ้อมีเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอมเหลือง สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างหรือใช้ทำด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ได้
  2. เนื่องจากดอกของต้นจันทน์กะพ้อมีกลิ่นหอมแรง ออกดอกดก จึงนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ โดยจะปลูกตามป่าอนุรักษ์ ตามสนามหน้าบ้าน หรือใช้จัดสวนหย่อมก็ได้ และควรปลูกทางด้านทิศตะวันออกที่มีไม้ใหญ่

     

พลองน้ำเงิน

พลองน้ำเงิน

พลอง สรรพคุณและประโยชน์ของพลองกินลูก 5 ข้อ !

พลองน้ำเงิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Memecylon ovatum Sm

ชื่อวงศ์ MELASTOMATACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเขตร้อนทั่วไป จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-7 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 6-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมแตกกิ่งก้านต่ำ เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นสะเก็ดบาง ๆ หรือเป็นร่องตื้น ๆ เปลือกบาง ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีเหลืองอ่อน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในที่ค่อนข้างชื้น ชอบแสงแดดแบบรำไร มักพบได้ในป่าดิบแล้ง ป่าคืนสภาพ และตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามที่บริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่มน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12.5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน เรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ส่วนท้องใบเป็นสีอ่อน

ดอก  ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกซ้อนกรอบ โดยจะออกตามข้อต้น ตามง่ามใบ หรือตามกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 0.3 เซนติเมตร โดยดอกตูมจะเป็นสีชมพู เมื่อบานแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงน้ำเงิน ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ และจะบานเกือบพร้อมกันทั้งต้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี (คล้ายผลหว้า) มีขนาดประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีชมพูอมม่วงเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงดำหรือเป็นสีน้ำเงินเกือบดำ มีเนื้อบาง ๆ หุ้ม โดยจะออกผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม

ประโยชน์ของพลองน้ำเงิน

  1. เนื้อหุ้มเมล็ดของผลสุกมีรสหวานใช้รับประทานได้
  2. เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเป็นด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้

 

ส้มซ่า

ต้นส้มซ่า | 125พันธุ์ไม้

ส้มซ่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus × aurantium

ชื่อวงศ์ Rutaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นไม้ยืนต้น สูง 3-10 เมตร กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีหนามแหลมสั้น ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มีกลิ่นหอมเมื่อขยี้ ดอกสีขาว เกสรสีเหลือง มีกลิ่นหอม “ผล” กลม เส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 5-8 ซม. เปลือกผลหนา ผิวขรุขระมีกลิ่นหอม ผลดิบสีเขียว สุกสีเหลือง เนื้อในรสเปรี้ยวปนหวาน ฉ่ำน้ำมีเมล็ดเยอะ ติดผลทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

สรรพคุณทางสมุนไพร

เปลือกผลรสปร่าหอมใช้ทำยาหอมแก้ลมวิงเวียนหน้ามืดตาลาย แก้ท้องอืดเฟ้อ น้ำจากเนื้อในกินแล้วกัดฟอกเสมหะแก้ไอ ฟอกโลหิต ใบ รักษาโรคผิวหนังได้อีกด้วย

เมนูอาหารไทยที่นิยมใช้ส้มซ่าเป็นวัตถุดิบ เช่น หมูแนม, ปลาแนม, หมี่กรอบ, ขนมจีนน้ำพริก ฯลฯ ส้มซ่าจะมีกลิ่นลูกผสมระหว่างส้มกับมะนาว เพียงแค่ใช้ส่วนผิวส้มซ่ามาหั่นหรือขูดฝอย โรยหน้าอาหารหรือนำไปทำยำก็จะได้กลิ่นหอมสดชื่นที่เป็นเอกลักษณ์ เพิ่มความน่ากินให้กับจานอาหาร