• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

พญาว่าน

พญาว่าน

 

ชื่อ : พญาว่าน 
พญาว่านถือเป็นสุดยอดของว่านทั้งปวง ทางพฤษกศาสตร์ จัดให้พญาว่านอยู่ในวงศ์ขิง ซึ่งเมืองไทยเรานี้มีอยู่ 11 สกุล และ 46 พันธุ์ด้วยกัน หัวของพญาว่านนั้นมีลักษณะเหมือนขิง การแตกแขนงแทงหน่อขยายพันธุ์ของพญาว่านก็เหมือนกับขิง
ลักษณะ :ลำต้นสีแดง ลักษณะลำต้นและใบเหมือนขมิ้นมาก แต่ขนาดลำต้นของพญาว่านจะสูงใหญ่กว่าขิง กระดูกใบ ตลอดไปถึงส่วนยอดของใบสีแดง ส่วนพื้นหน้า-หลังของใบนั้นสีเขียว สีเนื้อในหัวมีสีเหลืองขมิ้น และมีรสขม ดอกสีขาว คล้ายกับดอกกระเจียว พญาว่านจะแทงช่อดอกออกมากลางลำต้น
ประโยชน์ : สรรพคุณของพญาว่าน เป็นว่านที่สูงด้วยคุณค่า สามารถใช้ได้ทั้งกันและแก้ พญาว่านนี้สามารถป้องกันควบคุมอิทธิฤทธิ์ของบรรดาว่านทั้งปวงทุกชนิดมิให้เสื่อมสรรพคุณ และสามารถใช้แก้เมื่อกินว่านที่เบื่อเมาเข้าไป หรือถูกพิษภัยของบรรดาไม้มีพิษต่างๆ พญาว่านจะใช้รักษาได้ชงัด หากกินว่านมีพิษเข้าไปหรือถูกภัยของไม้มีพิษ ให้นำหัวพญาว่านมาฝนกับน้ำซาวข้าวทา หรือโขลกละเอียดคั้นน้ำผสมสุราโรงกินอาการจะหายทันที และพญาว่านนี้เมื่อนำไปปลูกรวมกับว่านอื่นๆในกระถางเดียวกันบรรดาว่านอื่นๆ นั้นจะกลายเป็นพญาว่านไปด้วย แต่ถ้าหากว่าปลูกพญาว่านไว้เดี่ยวในกระถางเดียว แล้วนำไปตั้งในท่ามกลางหมู่ว่านอื่นทุกชนิด อิทธิฤทธิ์ของพญาว่านนี้จะคุ้มครองสรรพคุณของว่านทั้งหลายนั้นให้คงสภาพเดิม มีคุณค่าในสรรพคุณไม่เสื่อมคลาย
สำหรับรายที่ปลูกว่านเป็นแปลงใหญ่เพื่อการค้า พญาว่านนี้นิยมกันนำไปปลูกเป็นประธานในแปลงหัวแถวอยู่เสมอ และยังจะสามารถคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้เป็นเจ้าของว่านนั้นอีกด้วย
วิธีปลูก : ดินร่วนปนทรายเหมาะสำหรับที่จะปลูกพญาว่านนี้ แต่ควรเป็นดินที่สำอาดจากกลางแจ้งนำมาเผาไฟแล้วทุบให้ละเอียดผึ่งตากน้ำค้างไว้สักคืนจะดียิ่ง ปุ๋ยต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น ดินที่ใช้ปลูกควรคลุกเคล้ากับมูลวัวมูลควายตากแห้งสนิท หรือใบพืชตระกูลถั่วทุกชนิดที่ผุพังจะทำให้ว่านเจริญงอกงามดี
ในการปลูกว่านหัวใจสำคัญคือต้องปลูกให้ “หัวว่านโผล่” อย่ากลบดินจนมิดหัวว่านและอย่ากดดินจนแน่นเกินไป จะทำให้การระบายน้ำไม่ดี
การรดน้ำ : ก็รดแต่เพียงชุ่มๆ อย่าให้โชกจนน้ำขัง รดน้ำว่านนั้นวันละ 2 เวลา เช้าเย็น และในตอนเย็นควรให้สิ้นแสงอาทิตย์เสียก่อน ประการสุดท้ายบรมครูแนะนำให้รดน้ำเสกด้วยคาถา “อิติปิโสภควา จนถึง ภควาติ” หนึ่งจบทุกครั้งไป ท่านให้ปลูกในเดือน 6 และวันพฤหัส เฉพาะข้างขึ้นเท่านั้น

ฝ้ายขาว

ฝ้ายขาว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นฝ้ายขาว

ฝ้ายขาว

ฝ้ายขาว ชื่อสามัญ Cotton plant, Cotton, Sea Iceland Cotton

ฝ้ายขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Gossypium herbaceum L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)

สมุนไพรฝ้ายขาว มีชื่ออื่น ๆ ว่า ฝ้าย ฝ้ายไทย ฝ้ายหีบ (ไทย), เหมียวฮวา เฉ่าเหมียนฮวา (จีนกลาง), ฝ้ายดอก (เชียงใหม่), ฝ้ายชัน (ลำปาง), ฝ้ายเทศ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ฝ้ายตุ่น เป็นต้น

ลักษณะของฝ้ายขาว

  • ต้นฝ้ายขาว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดย่อม มีอายุได้หลายปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย ลำต้นเป็นสีเขียวมีลักษณะตั้งตรง มีขนละเอียดขึ้นหนาแน่นขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย จัดเป็นพรรณไม้พื้นเมืองที่ปลูกกันมากทางภาคเหนือของประเทศไทย มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้

ต้นฝ้ายขาว

ใบฝ้ายขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ใบแยกออกเป็นแฉก ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบและเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร

ใบฝ้ายขาว

ดอกฝ้ายขาว ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง มีใบประดับหุ้ม ปลายใบประดับเป็นเส้นแหลมประมาณ 12 เส้น กลีบดอกบางมี 5 กลีบ กลีบดอกค่อนข้างกลมเป็นสีขาวอมเหลือง ออกเรียงซ้อนกัน แต่ละกลีบกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพู ใจกลางดอกเป็นสีม่วงอ่อน ๆ มีเกสรเพศผู้มากมายรวมอยู่ในดอก ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร และขอบเป็นฟันเลื่อย 6-8 หยัก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน

ดอกฝ้ายขาว

ผลฝ้ายขาว ผลมีลักษณะเป็นรูปกลม เป็นผลแห้ง แตกได้ตามพูเป็น 3-4 ซีก ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำหรือสีน้ำตาลจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมและแข็ง ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนปุยสีขาวหุ้มเมล็ดอยู่ จะออกผลเมื่อดอกแก่ร่วงไปแล้ว

ผลฝ้ายขาว

ฝ้ายหีบ

ปุยฝ้ายขาว

สรรพคุณของฝ้ายขาว

  1. รากมีรสชุ่ม เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)
  2. รากใช้เป็นยาแก้กระษัยลม (ราก)
  3. น้ำมันจากเมล็ดมีสรรพคุณช่วยลดระดับไขมันเลือด (น้ำมันจากเมล็ด)
  4. รากมีสรรพคุณแก้ไอ ช่วยขับเสมหะ (ราก)
  5. รากใช้เป็นยาแก้หอบ (ราก)
  6. รากนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ เมื่อนำน้ำที่ต้มได้จากรากมาให้ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบรับประทาน พบว่าสามารถรักษาผู้ป่วยให้หายเป็นปกติได้ คิดเป็น 70-80% (ราก)
  7. เมล็ดใช้เป็นยารักษาอาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่ (เมล็ด)
  8. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ริดสีดวง ถ่ายเป็นเลือด (เมล็ด)
  9. รากและเปลือกรากมีรสขื่นเอียน ใช้ปรุงเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ช่วยขับหรือแก้มุตกิดตกขาว ทำให้มดลูกบีบตัวอย่างแรง อาจทำให้แท้งบุตรได้ง่าย สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ (ราก, เปลือกราก, เปลือกลำต้น)
  10. เมล็ดใช้เป็นยาแก้สตรีตกเลือด รวมถึงตกขาว (เมล็ด)
  11. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม (เมล็ด)
  12. ช่วยแก้อาการตัวบวม (ราก)
  13. เมล็ดมีรสเผ็ดร้อน เป็นยาร้อน มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาบำรุงไต ทำให้ไตอบอุ่น (เมล็ด)
  14. ใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบเรื้อรัง เมื่อใช้รากเข้ากับตำรายารักษาแก้ตับอักเสบ โดยใช้รากเป็นยาหลัก ใช้วันละ 15 กรัม รับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน พบว่าร่างกายของผู้ป่วยมีการผลิตเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น ทำให้อาการอักเสบน้อยลงและผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น (ราก)
  15. รากใช้เป็นยาห้ามเลือด (ราก)
  16. น้ำมันจากเมล็ดมีรสเผ็ดร้อน เป็นยาร้อน มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อน แก้ฝีหนองภายนอก (น้ำมันจากเมล็ด)
  17. น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาแก้แผลมีหนองเรื้อรัง แก้โรคผิวหนัง รักษาผิวหนังให้ชุ่มชื้น รวมถึงช่วยบีบมดลูกเพื่อช่วยลมเบ่ง (น้ำมันจากเมล็ด)

ข้อห้ามใช้ : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ง่าย

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม  รากแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม ส่วนเมล็ดให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน การใช้ภายนอกให้ใช้น้ำต้มชะล้างบาดแผลหรือใช้น้ำที่ต้มมาอาบร่างกาย ส่วนการใช้น้ำมันจากเมล็ดตาม]ให้นำน้ำมันเมล็ดฝ้ายผสมปรุงในอาหาร เช้าและเย็น หรือใช้บรรจุแคปซูลกิน 1-2 แคปซูล เช้าและเย็น

หมายเหตุ : ในวงศ์เดียวกัน ยังมีฝ้ายอีกหลายชนิด เช่น Gossypium hirstum L., Gossypium barbadense L. ซึ่งแต่ละชนิดจะมีสรรพคุณที่ใกล้เคียงกัน และสามารถนำมาใช้แทนกันได้

ประโยชน์ของฝ้ายขาว

  • เมล็ดฝ้ายใช้สกัดเอาน้ำมันเพื่อเป็นอาหาร ใช้เป็นน้ำมันหุงต้ม และใช้ในอุตสาหกรรม
  • ใยฝ้ายสีขาวหรือปุยฝ้าย สามารถนำมาใช้กรอทำเป็นเส้นสำหรับใช้ทอเป็นผืนผ้า เรียกว่า "ผ้าฝ้าย"
  • โดยทั่วไปแล้วปุยฝ้ายมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่ผลิตได้จะนำมาใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้อื่น ๆ ส่วนที่เหลือจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ทำเชือก ทำถุง ทำสายพานต่าง ๆ และยางรถ ส่วนเส้นใยที่สั้นจะนำมาใช้ทำพรมและเครื่องใช้อื่น ๆ ส่วนเส้นใยที่ติดแน่นอยู่กับเมล็ดจะนำมาใช้ทำเส้นใยเทียม เช่น เรยอน และผลผลิตอื่น ๆ ที่ทำจากเซลลูโลส ปุยฝ้ายใช้ทำสำลีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และใช้เตรียมเป็นยาแผนปัจจุบันหลายชนิด

หญาไม้

พญาไม้

(Brown or Black pine, Phaya Mai, yellow wood)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Podocarpus neriifolius D.Don
ชื่อวงศ์ PODOCARPACEAE
ชื่ออื่น ไฟลำต้น ดอกโต พญาไม้ใบเล็ก สนใบพาย
ถิ่นกำเนิด เนปาลและจีนตอนใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 12-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 4-6 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปเจดีย์หรือรูปกรวยกว้าง แน่นทึบ โคนต้น เป็นพูหรือร่อง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกหลุดล่อนเป็นแผ่นบาง


ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับหรือเป็นกลุ่ม รูปแถบหรือรูปหอกเรียว กว้าง 1-2 ซม. ยาว 7-15 ซม. ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ โค้งเป็นรูปดาบ แผ่นใบหนาและแข็ง สีเขียวเข้ม เส้นกลางใบนูนเด่น ทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 0.2-0.5 ซม.
ดอก สีเหลืองอ่อน ดอกแยกเพศแยกต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแบบหางกระรอกแคบๆ กว้าง 0.5-1 ซม. ยาว 2-5 ซม. ช่อดอกห้อยลง มักจะออกช่อเดียวแต่บางครั้งออก 2-3 ช่ออยู่ด้วยกัน ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ บนฐานที่มีเนื้อหนารูปถ้วย กว้าง 0.5-1 ซม. ยาว 1-1.6 ซม.มีกาบหุ้มบริเวณโคนก้านออกดอกเดือนมี.ค.- เม.ย.


ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว รูปมนรีถึงรูปไข่ สีม่วงอมดำ มีนวลสีขาว ก้านผลสีเขียวมีเนื้อหนารูปถ้วย เมล็ดแข็งมีเนื้อบางๆ ห่อหุ้ม เมล็ดสีน้ำตาลอมดำ ติดผลเดือน ก.ย.-ต.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และตอนกิ่ง
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบที่มีการรบกวนน้อย ที่ความสูง 1 ,000-1,400 ม. จากระดับน้ำทะเล ยกเว้นทางภาคใต้
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ มีสีเหลืองอ่อน ใช้ทำอุปกรณ์ตกแต่ง ภายในอาคาร 

 

ไผ่หวาน

 

ไผ่หวาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Bambusa Sp.

ชื่อวงศ์ Gramineae

ชื่อพื้นเมือง ไผ่หวาน ไผ่บงหวาน

ลักษณะทั่วไป เป็นไผ่ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลักษณะกอเป็นหุ้มแน่น ลำอ่อนมีสีเขียวใบไม้ ลำแก่จะมีสีเขียวแก่ ลำต้นมักมักมีลักษณะคดงอ มีการแตกกิ่งจำนวน 2-5 กิ่งตลอดลำ ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 ซม. สูงประมาณ 5-8 เมตร บริเวณเหนือข้อเล็กน้อยจะเห็นเป็นแถบวงแหวนสีขาวรอบลำชัดเจน และมีรากอากาศอยู่รอบ ๆ ข้อ ลักษณะที่สังเกตง่ายที่สุด คือ ครีบกาบทั้งสองข้างของกาบหุ้มลำจะมีขนาดไม่เท่ากัน และมีรูปทรงต่างกัน ซึ่งปกติครีบกาบของไผ่ชนิดอื่นจะมีขนาดเท่ากันหรือเหมือนกัน

ใบ ใบขนาดกลาง

ผล หน่อมีสีเขียว หนักประมาณ 200-300 กรัม

การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ ขึ้นในป่าผสมผลัดใบ (เบญจพรรณ) ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบมากที่จังหวัดเลย

การขยายพันธุ์และการปลูก การขยายพันธุ์และการผลิตกล้า โดยการแยกเหง้าหรือเพาะเมล็ด

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก

ดิน ควรปลูกในดินร่วนปนทราย ดินลึกมีการระบายน้ำดี

ความชื้น ต้องการความชุ่มชื้นมาก

การปลูกดูแลบำรุงรักษา

การคัดเลือกพื้นที่และเตรียมพื้นที่ ควรเตรียมพื้นที่ไว้ตั้งแต่ฤดูแล้ง ซึ่งจะทำงานได้สะดวกสามารถลงมือปลูกได้ทันในต้นฤดูฝน โดยในพื้นที่ที่เป็นแอ่ง ที่ลุ่มน้ำขัง มีเนิน หรือมีตออยู่ในพื้นที่ต้องไถบุกเบิก กำจัดตอออกให้หมด ปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ราบอยู่แล้ว แค่ไถพรวนกำจัดวัชพืชอย่างเดียวก็พอ ในแหล่งที่สามารถให้น้ำได้ตลอดทั้งปี ก็สามารถปลูกไผ่ได้ตลอดปีเช่นกัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือควรปลูกตั้งแต่ฝนเริ่มตก จนถึงปลายเดือนมิถุนายน หากฝนทิ้งช่วง ควรให้น้ำช่วย หลุมที่ปลูกไผ่ตงควรมีขนาด กว้างxยาวxลึก ไม่น้อยกว่า 50x50x50 เซนติเมตร ให้ใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟต 1 กระป๋องนม (ประมาณ 300-500 กรัม) ต่อหลุม ผสมปุ๋ยคอกเก่าที่สลายตัวแล้ว 1 บุ้งกี๋ (ประมาณ 1 กิโลกรัม) และยาฆ่าแมลงฟูราดาน 1-1.5 ช้อนแกง (10-15 กรัม) คลุกเคล้ากับดินบนให้ทั่วแล้วกลบกลับคืนลงไปในหลุม ให้ระดับดินสูงกว่าเดิมเล็กน้อยเผื่อสำหรับดินยุบตัวภายหลัง

วิธีการปลูกและระยะปลูกที่เหมาะสม

ระยะเวลาที่เหมาะต่อการปลูกไผ่อยู่ในช่วงฤดูฝน คือ ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน เนื่องจากช่วงระยะที่เริ่มปลูกไผ่ต้องการน้ำมาก การปลูกในช่วง ฤดูฝนจึงลดค่าใช้จ่ายในการรดน้ำลงได้มาก และเป็นระยะที่ไผ่มีการเจริญเติบโตดีที่สุดด้วย สำหรับ ระยะปลูกและจำนวนกล้าไผ่ต่อพื้นที่ ควรมีระยะปลูกประมาณ 8 x 8 เมตร หรือประมาณ 25 กอต่อไร่ หลุมที่ปลูกมีขนาดประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร
โรคและแมลง มีโรคแมลงและศัตรูธรรมชาติ เหมือนกับโรคแมลงและศัตรูธรรมชาติของไผ่เลี้ยง

อัตราการเจริญเติบโต มีอัตราการเจริญเติบโต เหมือนกับอัตราการเจริญเติบโตของไผ่เฮียะ

ข้อจำกัดและข้อเสนอแนะ

การที่ไม้ไผ่มีอายุขัยในการออกดอกและผลิตเมล็ดยาวนาน ไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ มีอายุขัยในการออกดอกแตกต่างกัน บางชนิดใช้เวลานาน 30-50 ปี ในขณะที่บางชนิดใช้เวลานานกว่า ร้อยปี อายุขัยในการออกดอกที่ยาวนานและไม่สม่ำเสมอเช่นนี้ เป็นอุปสรรคในการเก็บหาและรวบรวม ตัวอย่างที่จำเป็นในการจำแนกพันธุ์อย่างยิ่ง และข้อเสนอแนะ การทำสวนไผ่นั้นใช้เวลานานถึง 3 ปี จึงจะตัดหน่อได้ ช่วงเวลาที่ยังไม่ได้ตัดหน่อ พื้น ที่ว่างอาจปลูกพืชแซมเพื่อเพิ่มรายได้ เช่น ฟัก แฟง มันเทศ พริก มะเขือ หรือพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ และ ยังเป็นการเพิ่มธาตุอาหารแก่ดินอีกด้วย หลังจากไผ่ให้หน่อแล้วภายในสวนอาจร่มครึ้มมากขึ้น จึง เหมาะสำหรับปลูกไม้ประเภทต้นเตี้ยที่ขึ้นได้ดีในที่ร่ม เช่น กระชาย หรืออาจปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ เช่น สมุนไพรจำพวกเร่วและกระวานลงในสวนได้ หรือปลูกควบกับไม้ผลอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น กระท้อน ขนุน ส้มโอ เป็นต้น