• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

มะค่าแต้

มะค่าแต้ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะค่าแต้

มะค่าแต้

มะค่าแต้ ชื่อสามัญ Ma kha num

มะค่าแต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Sindora siamensis Miq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Galedupa cochinchinensis (Baill.) Prain, Galedupa siamensis (Teijsm.) Prain, Sindora cochinchinensis Baill., Sindora siamensis var. siamensis, Sindora wallichii var. siamensis (Teijsm.) Baker) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

สมุนไพรมะค่าแต้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะค่าหยุม มะค่าหนาม (ภาคเหนือ), แต้ (ภาคอีสาน), มะค่าหนาม มะค่าแต้ มะค่าลิง (ภาคกลาง), กอกก้อ (ชาวบน-นครราชสีมา), กอเก๊าะ ก้าเกาะ (เขมร-สุรินทร์), กรอก๊อส (เขมร-พระตะบอง), แต้หนาม เป็นต้น

Note : ต้นมะค่าแต้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์

ลักษณะของมะค่าแต้

  • ต้นมะค่าแต้ มีเขตการกระจายพันธุ์จากภูมิภาคอินโดจีนจนถึงมาเลเซีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าโคกข่าว ป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้ง และป่าชายหาดที่ระดับใกล้กับน้ำทะเลไปจนถึงที่ระดับความสูง 400 เมตร โดยจัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง มีเรือนยอดเป็นรูปร่มหรือเป็นทรงเจดีย์ต่ำ กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาล เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทาคล้ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง

ต้นมะค่าแต้

  • ใบมะค่าแต้ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 3-4 ใบ แกนช่อใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบเว้าตื้น โคนใบเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร แผ่นใบหนา แผ่นใบด้านบนมีขนหยาบ ส่วนด้านท้องใบมีขนนุ่ม
ใบมะค่าแต้ใบแต้หนาม
  • ดอกมะค่าแต้ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองแกมเขียว มีกลีบเลี้ยงหนา 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ปลายกลีบมีหนามขนาดเล็ก ส่วนกลีบดอกยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน และมี 2 ก้านใหญ่กว่าก้านอื่น ๆ ด้านนอกดอกมีขนสีน้ำตาล ก้านดอกยาวประมาณ 0.2-0.4 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

ดอกมะค่าแต้

  • ผลมะค่าแต้ ออกผลเป็นฝักเดี่ยวแบนค่อนข้างกลม ที่ผิวเปลือกมีหนามแหลมอยู่ทั่วไป ผลเป็นรูปไข่กว้างหรือเป็นรูปโล่ โคนเบี้ยวและมักมีติ่งแหลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4.5-10 เซนติเมตร พอแห้งจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดสีดำประมาณ 1-3 เมล็ด โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน

ผลมะค่าแต้

ฝักมะค่าแต้

เมล็ดมะค่าแต้

สรรพคุณของมะค่าแต้

  1. เปลือกใช้ต้มแก้ซาง แก้ลิ้นเป็นฝ้า (เปลือก)
  2. ปุ่มที่เปลือกมีรสเมาเบื่อ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้พยาธิ ส่วนเมล็ดมีรสเมาเบื่อสุขุมเป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ปุ่มเปลือก, เมล็ด)
  3. ปุ่มที่เปลือกนำมาต้มรมให้หัวริดสีดวงทวารหนักฝ่อได้ (ปุ่มเปลือก, ผล) ส่วนเมล็ดมีรสเบื่อขม ทำให้ริดสีดวงทวารแห้ง (เมล็ด)
  4. เปลือกต้นมะค่าแต้ใช้ผสมกับเปลือกต้นมะกอกเหลี่ยม เปลือกต้นหนามทัน เปลือกต้นยางยา และรากถั่วแปบช้าง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อีสุกอีใส (เปลือกต้น)
  5. ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง (ผล, ปุ่มเปลือก, เมล็ด)

ประโยชน์ของมะค่าแต้

  • เมล็ดแก่เมื่อนำมาเผาไฟแล้วกะเทาะเปลือกออก เอาแต่เนื้อข้างในมารับประทานเป็นอาหารว่างได้ โดยเนื้อจะมีลักษณะแข็ง ๆ คล้ายกับเมล็ดมะขามและมีรสมัน
  • ฝักและเปลือกให้น้ำฝาดชนิด Catechol และ Pyrogallol ใช้สำหรับฟอกหนัง ส่วนเปลือกต้นจะนิยมนำมาใช้ย้อมสีเส้นไหม ย้อมแห โดยจะให้สีแดง
  • ในด้านเชื้อเพลิง สามารถนำมาใช้ทำเป็นถ่านได้ดี โดยจะให้ความร้อนได้สูงถึง 7,347 แคลอรีต่อกรัม
  • เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล่อนหรือเป็นสีน้ำตาลแก่ เมื่อทิ้งไว้นาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น มีเส้นสีเข้มกว่าสลับกับเนื้อไม้ที่ค่อนข้างหยาบ เสี้ยนสนแต่สม่ำเสมอ มีความแข็งแรงทนทาน ทนต่อปลวกได้ดี เลื่อย ผ่า ไสกบตบแต่งได้ยาก สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ดี แต่จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ใช้ทำเสา รอด ตง พื้น พื้นรอง เครื่องเรือน เครื่องบน เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องเกวียน เครื่องไถนา หมอนรองรางรถไฟ ลูกกลิ้งนาเกลือ กระดูกเรือ หรือใช้ทำโครงเรือใบเดินทะเล ฯลฯ

มะกรูด

มะกรูด

ชื่อสมุนไพร  มะกรูด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  มะขูด , มะขุน (ภาคเหนือ) , ส้มมั่วผี , ส้มกรูด (ภาคใต้) , โกร้ยเชีด (เขมร) , มะขู (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ    Kaffir lime , Mauritius papeda , Leech lime
ชื่อวิทยาศาสตร์  Citrus hystrix DC.
วงศ์  RUTACEAE

มะกรูด เป็นผลไม้ที่มากไปด้วยคุณประโยชน์ นอกจากจะมีรสชาติอร่อย สามารถทานสดๆ หรือนำมาทำอาหารได้แล้ว มะกรูดก็สามารถนำมาใช้ในการบำรุงความงาม รักษาโรคและปลูกเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านได้อีกด้วย ซึ่งก็ได้รับความนิยมมาตั้งแต่โบราณกันเลยทีเดียว โดยต้นมะกรูดจะมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบสีเขียวแก่เป็นมัน ค่อนข้างหนาและมีกลิ่นหอม ส่วนผลจะมีสีเขียวคล้ายมะนาวแต่ผิวเปลือกนอกขรุขระ ซึ่งก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน สำหรับสรรพคุณและการนำมาใช้ประโยชน์ก็มีดังนี้

การนำส่วนต่างๆ ของมะกรูดมาใช้ประโยชน์

ส่วนต่างๆ ของต้นมะกรูดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่รากจนถึงผล โดยมีวิธีการนำมาใช้ คือ

ราก รากมะกรูดนิยมนำมาใช้ต้มน้ำดื่มเพื่อบรรเทาอาการไข้ ลดอาการเสมหะเป็นพิษและบรรเทาอาการแน่นท้องจุกเสียด แก้พิษฝีภายใน

ใบมะกรูด ใบมะกรูดอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนและสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย จึงนิยมนำมาทานเพื่อแก้อาการช้ำใน บรรเทาอาการไอและป้องกันการเกิดมะเร็ง รวมถึงช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยมะเร็งอีกด้วย

ผิวมะกรูด ผิวของผลมะกรูดที่ขรุขระสามารถนำมาใช้เป็นยาแก้อาการนอนไม่หลับ บำรุงหัวใจให้แข็งแรง ขับพิษ ขับลมและแก้อาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะได้

ผลมะกรูด ผลของมะกรูด นิยมนำมาทานเพื่อแก้ไอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการปวดท้อง ฟอกโลหิต ขับระดูและช่วยขับลมในลำไส้ได้ดี

ประโยชน์และสรรพคุณของมะกรูด

มะกรูดมีประโยชน์และสรรพคุณมากมาย โดยเฉพาะการนำมาทำอาหาร และด้วยรสชาติเปรี้ยวกลมกล่อมจึงสามารถใช้แทนมะนาวได้ดี แถมมีกลิ่นหอมสดชื่นที่จะทำให้เกิดอาการผ่อนคลายอีกด้วย โดยประโยชน์ขอมะกรูดก็มีดังนี้

1.ผ่อนคลายความเครียด

มะกรูดมีกลิ่นหอมซึ่งจะช่วยสร้างความผ่อนคลายได้ดี โดยเฉพาะน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูด แต่ควรเลือกที่มีความเข้มข้นไม่เกิน 1% เพราะนั่นอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ หรือจะสูดดมจากผิวมะกรูดเลยก็ได้เหมือนกัน สำหรับใครที่มักจะมีเรื่องให้ต้องกังวลหรือเคร่งเครียดบ่อยๆ ลองสูดดมกลิ่นหอมของมะกรูดแล้วจะพบว่ามันช่วยได้มากจริงๆ

2.ไล่ยุง ไล่แมลง

กลิ่นของมะกรูด เป็นกลิ่นที่ยุงและแมลงส่วนใหญ่ไม่ชอบ จึงสามารถนำมาใช้เพื่อไล่ยุงและแมลงได้ โดยมีตัวอย่างการนำมาใช้ดังนี้

  • ไล่ยุง ให้นำเปลือกของมะกรูดมาตากจนแห้ง จากนั้นนำไปเผาไฟ กลิ่นของมะกรูดจะทำให้ยุงหนีไปและสามารถกำจัดลูกน้ำได้ดี
  • ไล่มอดและมดในข้าวสาร นำใบมะกรูดสดมาฉีกเป็น 2-3 ส่วนเพื่อให้มีกลิ่นออกมา จากนั้นนำไปใส่ไว้ในถังข้าวสาร
  • เมื่อปลิงกัด ให้นำมะกรูดมาถูบริเวณรอบๆ ที่ปลิงเกาะอยู่ กลิ่นของมะกรูดจะทำให้ปลิงหลุดออกไปในที่สุด

3.แก้อาการช้ำใน

ไม่ได้มีแต่ใบบัวบกเท่านั้นที่สามารถแก้อาการช้ำในได้ มะกรูดก็สามารถรักษาอาการช้ำในและฟื้นฟูสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงขึ้นได้เหมือนกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการอาเจียนเป็นเลือด มะกรูดจะสามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นภายในเวลาสั้นๆ

4.กำจัดกลิ่นเท้า

เมื่อต้องทำงานโดยใส่รองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าหนังที่มีความอับตลอดวัน มักจะทำให้เท้ามีกลิ่นเหม็นจนน่าปวดหัวได้ แต่ก็แก้ปัญหานี้ได้ไม่ยาก เพียงแค่นำมะกรูดมาฝานเป็นซีกๆ จากนั้นนำมาขัดถูให้ทั่วบริเวณเท้าและซอกเท้า เน้นบริเวณที่กลิ่นแรงมากเป็นพิเศษ สังเกตได้ว่ากลิ่นเหม็นจะค่อยๆ จางลงและหายไปในที่สุด แถมยังทำให้เท้ามีความขาวสะอาดมากขึ้นอีกด้วย

5.บำรุงเส้นผม

มะกรูดสามารถนำมาใช้ในการบำรุงเส้นผมให้นุ่มสลวยและเงางามมากขึ้น รวมถึงแก้ปัญหาผมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการนำมะกรูดมาใช้เพื่อบำรุงผมก็มีหลายสูตรด้วยกัน โดยเราจะขอแนะนำ 3 สูตรดังนี้

สูตรผมนุ่มลื่นสลวย

สูตรนี้จะช่วยให้เส้นผมมีความนุ่มลื่น และสามารถจัดทรงได้ง่ายกว่าเดิม แถมลดปัญหาเส้นผมพันกันได้ดีอีกด้วย โดยให้นำมะกรูดมาผ่าครึ่ง ต้มกับน้ำเล็กน้อย จากนั้นคั้นกรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อให้ได้น้ำมะกรูดที่เข้มข้น นำน้ำมะกรูดที่คั้นได้มาชโลมให้ทั่วเส้นผมและหนังศีรษะ นวดเบาๆ จากนั้นล้างออกให้สะอาด ทำบ่อยๆ จะเห็นผลลัพธ์ที่โดนใจ

สูตรแชมพูมะกรูด

เป็นสูตรที่ทำขึ้นมาเพื่อใช้แทนยาสระผม ซึ่งจะช่วยทำความสะอาดเส้นผมได้อย่างหมดจดและบำรุงผมอย่างล้ำลึก ให้ผมสวยได้ตลอดวัน สำหรับสูตรนี้จะใช้มะกรูดประมาณ 3-5 ผลและหญ้ามะกรูด 1 ถ้วย โดยเริ่มจากนำมะกรูดมาผ่าตามขวางเป็นสองซีก ล้างหญ้าปักกิ่งให้สะอาด จากนั้นนำมาใส่หม้อ ผสมกับน้ำซาวข้าวตั้งไฟประมาณ 20 นาที รอจนเย็นแล้วคั้นเอาแต่น้ำ กรองด้วยผ้าขาวบาง ส่วนผสมที่ได้สามารถนำมาใช้สระผมแทนแชมพูได้ทันที

สูตรขจัดรังแค

สูตรหมักผมนี้สำหรับคนที่เป็นรังแคโดยเฉพาะ โดยสูตรนี้จะนำมะกรูดมาเผาไฟจนมีน้ำซึมออกมาจากผิว จากนั้นนำมาผ่าครึ่งและบีบเอาน้ำมะกรูดออกมา นำน้ำมะกรูดที่ได้มาชโลมให้ทั่วศีรษะและเส้นผม หมักทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาทีแล้วล้างออกให้สะอาด ทำบ่อยๆ จะช่วยให้รังแคลดลงได้ดีและสามารถขจัดอาการคันบนหนังศีรษะได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย เพราะมะกรูดมีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนหนังศีรษะและทำความสะอาดหนังศีรษะได้เป็นอย่างดี นอกจากรังแคลดลงแล้ว อาการคันก็ยังลดลงตามและช่วยลดปัญหาความมันบนหนังศีรษะรวมถึงเส้นผมลงได้อีกด้วย

6.สูตรขัดผิวขาวด้วยมะกรูด

มะกรูดเป็นสมุนไพรที่สามารถนำมาปรนนิบัติผิวพรรณ ทำให้ผิวขาวกระจ่างใสได้อย่างเป็นธรรมชาติเช่นกัน วิธีทำ ให้นำมะกรูด 1 ลูกมาผ่าครึ่ง จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำ มาผสมกับนมสด 1 ถ้วย ข้าวโอ๊ต 1 ถ้วย และน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันดี แล้วนำมาขัดลงบนผิวจนทั่ว เน้นจุดที่หยาบกร้านอย่างเช่น ข้อศอก หัวเข่าและข้อพับ เสร็จแล้วปล่อยไว้ประมาณ 15-20 นาที แล้วนำใยบวบชุบน้ำมาขัดผิวอีกครั้งจนทั่วอย่างเบามือ เพื่อกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเก่าที่เสื่อมสภาพแล้วให้หลุดออกไปมากขึ้น จากนั้นล้างออกให้สะอาด ทำเป็นประจำ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งควบคู่กับการทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน ก็จะเผยให้เห็นถึงผิวพรรณที่ขาวกระจ่างใส ไร้ความหมองคล้ำอีกต่อไป แถมผิวสาวยังเนียนนุ่มชุ่มชื้นจนคุณสัมผัสได้อีกด้วย

7.แก้อาการปวดท้องในเด็ก

มะกรูดสามารถนำมาใช้แก้อาการปวดท้องในเด็กได้ โดยให้นำมะกรูดมาคว้านไส้กลางออกให้หมด จากนั้นใส่มหาหิงค์ลงไป ปิดจุดแล้วนำไปเผาจนไหม้เกรียม นำมะกรูดที่เผาแล้วมาบดให้เป็นผงละลายกับน้ำผึ้งให้เด็กดื่ม จะทำให้อาการปวดท้องทุเลาลงและหายไปในที่สุด

จะเห็นได้ว่ามะกรูดเต็มไปด้วยสรรพคุณที่มากไปด้วยประโยชน์จริงๆ และสามารถนำมาใช้ได้หลากหลายส่วนอีกด้วย นอกจากนี้การนำมะกรูดหรือใบมะกรูดมาประกอบอาหารก็ได้รับประโยชน์และสรรพคุณจากมะกรูดไม่น้อยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามมะกรูดเลยเชียว

มะขามป้อม

มะขามป้อม สรรพคุณและประโยชน์ของมะขามป้อม

มะขามป้อม

มะขามป้อม ชื่อสามัญ Indian gooseberry

มะขามป้อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus emblica L. จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

มะขามป้อมเป็นสมุนไพรที่ชาวอินเดียใช้มาหลายพันปีแล้ว เพราะเป็นยาอายุวัฒนะซึ่งชาวอินเดียเรียกสมุนไพรหรือผลไม้ชนิดนี้ว่า Amalaka แปลว่า "พยาบาล" สะท้อนให้เห็นว่าสรรพคุณของมะขามป้อมนั้นมีมากมายเหลือเกิน และเป็นผลไม้ประจำจังหวัดสระแก้วอีกด้วย

มะขามป้อม จัดเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพและเป็นสมุนไพรพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่ง เพราะมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินซีสูงมาก โดยประโยชน์มะขามป้อมหรือสรรพคุณมะขามป้อมนั้นมีมากมาย และยังใช้เป็นยารักษาโรคบางชนิดได้อีกด้วย เพราะมะข้ามป้อมนั้นอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่ประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 3 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และยังประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร เป็นต้น และคุณรู้หรือไม่ว่าวิตามินซีในน้ำคั้นจากผลของมะข้ามป้อมนั้นมีมากกว่าน้ำส้มคั้นประมาณ 20 เท่า ซึ่งมะขามป้อมลูกเล็ก ๆ 1 ผล จะมีปริมาณวิตามินซี เท่ากับส้ม 1-2 ผลเลยทีเดียว

เนื่องจากมะขามป้อมมีรสเปรี้ยว รสฝาด อาจจะรับประทานยากสักหน่อยสำหรับบางคน การรับประทานมะขามป้อมนั้นควรปรุงรสให้อร่อยด้วยการนำมะขามป้อมมาผ่าเอาเมล็ดออกให้เหลือแต่เนื้อ แล้วนำมาใส่ พริก เกลือ น้ำตาล นำมาตำพอแหลกก็ใช้ได้ แต่ทั้งนี้ควรรับประทานก่อนนอนหรือช่วงตื่นนอนใหม่ ๆ หรือขณะที่ท้องว่าง สำหรับวิธีลดความฝาดของมะขามป้อมนั้นทำได้โดยการนำไปแช่น้ำเกลือ ด้วยการนำมะขามป้อมมาล้างให้สะอาดและลวกด้วยน้ำร้อน แล้วนำไปแช่ในน้ำเกลือที่เค็มจัด ทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน รสฝาดก็จะหายไป

ต้นมะขามป้อม

ใบมะขามป้อม

 

ลูกมะขามป้อม

ประโยชน์ของมะข้ามป้อม

  1. นิยมนำมารับประทานเพื่อให้สดชื่น ชุ่มคอ แก้กระหาย
  2. วิตามินซีในมะขามป้อมสามารถดูดซึมได้เร็วกว่าวิตามินซีชนิดเม็ดเป็นอย่างมาก
  3. ใช้บำรุงผิวหน้าให้ขาวสดใส รักษาฝ้า ด้วยการนำมะขามป้อมมาฝนกับฝาละมีแล้วนำน้ำที่ได้มาทาบริเวณรอยฝ้า
  4. ช่วยบำรุงสุขภาพผิวพรรณ ชะลอการเกิดริ้วรอย
  5. ช่วยบำรุงและรักษาเส้นผมให้มีสุขภาพแข็งแรง ผมนุ่มลื่น ป้องกันผมหงอก ด้วยการทอดมะขามป้อมกับน้ำมันมะพร้าว แล้วเอาน้ำมันมาหมักผม
  6. ช่วยบำรุงและรักษาสายตา
  7. ช่วยในการบำรุงประสาทและสมอง
  8. มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  9. เป็นผลไม้ที่ช่วงบำรุงร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยช่วยบำรุงอวัยวะแทบจะทุกส่วนของร่างกาย
  10. ช่วยบำรุงโลหิตได้เป็นอย่างดี
  11. มะขามป้อมมีเป็นยาแก้หวัด แก้ไอ และละลายเสมหะได้อีกด้วย โดยใช้ผลสดประมาณ 30 ผล นำมาคั้นเอาน้ำหรือนำมาต้มทั้งผลแล้วดื่มแทนน้ำ ทั้งนี้ควรเลือกมะขามป้อมที่แก่จัด ผิวออกเหลืองจะได้ผลดีที่สุดในการรักษาอาการไอและหวัด
  12. ใบสดมะขามป้อมนำมาต้มน้ำอาบ ลดอาการไข้
  13. มะขามป้อมมีฤทธิ์ในการต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง
  14. มะขามป้อมเป็นตัวช่วยในการลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาล ลดไขมันในเลือดได้ด้วย
  15. ช่วยรักษาและป้องกันการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน
  16. ใช้แก้อาการปวดฟันได้ ด้วยการใช้ปมกิ่งก้านต้มกับน้ำแล้วนำมาอมบ้วนปากบ่อย ๆ
  17. รสเปรี้ยวของมะขามป้อมช่วยในการละลายเสมหะและบำรุงเสียงได้เป็นอย่างดี
  18. รากแห้งมะขามป้อม นำมาต้มดื่มแก้อาการท้องเสีย ร้อนใน ความดันโลหิต
  19. ช่วยในการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน
  20. ช่วยลดอาการแทรกซ้อนทางตาจากโรคเบาหวานได้อีกด้วย
  21. มะขามป้อมเป็นส่วนประกอบใช้สำหรับการรักษาและป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัณโรค รักษาภาวะของโรคเอดส์
  22. มะขามป้อมแห้งช่วยรักษาโรคบิด ใช้ล้างตา รักษาตาแดง ตาอักเสบได้
  23. มะขามป้อมแห้ง เมื่อนำมาผสมน้ำสนิมเหล็กจะช่วยแก้โรคดีซ่านได้
  24. มะขามป้อมช่วยป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูง
  25. ช่วยรักษาโรคคอตีบ
  26. ช่วยบำรุงปอด หลอดลม หัวใจ และกระเพาะ
  27. เมล็ดมะขามป้อมเมื่อนำมาตำเป็นผงชงกับน้ำร้อนดื่ม ช่วยรักษาโรคหอบ หืด หลอดลมอักเสบ อาการคลื่นไส้อาเจียนได้
  28. ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  29. ช่วยป้องกันและรักษาอาการท้องผูก
  30. ช่วยยับยั้งความเป็นพิษของตับและไตได้
  31. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย และยาถ่ายพยาธิ
  32. ยางจากผลใช้หยอดตาแก้ตาอักเสบ กินเพื่อช่วยในการย่อยอาหารและขับปัสสาวะ
  33. เปลือกมะขามป้อมสามารถนำมาต้มดื่มแก้โรคบิด
  34. ช่วยในการปรับประจำเดือนให้มาเป็นปกติ
  35. ช่วยรักษาอาการไข้ทับระดูได้
  36. ช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้า ด้วยการใช้เปลือกต้นมะขามป้อมมาตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำแล้วชะโลมให้ทั่ว
  37. ช่วยต่อต้านเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อราได้
  38. รากสดมะขามป้อมช่วยในการแก้พิษจากการถูกตะขาบกัด
  39. เปลือกของลำต้นมะขามป้อมใช้รักษาบาดแผล แก้ฟกช้ำได้ ด้วยการนำเปลือกแห้งมาบดเป็นผงแล้วนำมาโรยบริเวณบาดแผล
  40. ต้นและเปลือกของมะขามป้อมใช้เป็นยาฝาดสมาน
  41. เมล็ดของมะขามป้อม เมื่อนำมาเผาไฟจนเป็นเถ้าแล้วนำมาผสมกับน้ำพืช นำมาทาแก้ตุ่มคันได้
  42. มะขามป้อมมีฤทธิ์ช่วยป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน และช่วยลดไขมันในเลือด ต้านมะเร็งและไวรัส
  43. ลำต้นมะขามป้อมนั้นเป็นไม้เนื้อแข็ง ทนทาน จึงเหมาะแก่การใช้ทำเครื่องประดับ เสาเข็ม หรือนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง
  44. ใบแห้ง นำมาย้อมเส้นใย ไหม ขนสัตว์ จะให้สีน้ำตาลเหลือง
  45. ดอก ใช้เข้าเครื่องยา มีกลิ่นหอม ใช้เป็นยาเย็นและยาระบาย
  46. นำมาใช้ทำเป็นยาสระผม ช่วยให้ผมดกดำและป้องกันผมหงอกก่อนวัยอีกด้วย
  47. มะขามป้อมเป็ลผลไม้ที่นำมาแปรรูปได้หลากหลายมาก เช่น อาหารเสริม เครื่องสำอาง ยาแก้ไอ ยาสระผม น้ำมะขามป้อม มะขามป้อมแช่อิ่ม

มหาหงส์

มหาหงส์ สรรพคุณและประโยชน์ของว่านมหาหงส์

มหาหงส์

มหาหงส์ ชื่อสามัญ Butterfly lily, Garland flower, Ginger lily, White ginger

มหาหงส์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Hedychium coronarium J.Koenig จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

สมุนไพรมหาหงส์ หรือ ว่านมหาหงส์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เลเป ลันเต (ระยอง จันทบุรี), ตาห่าน เหินแก้ว เหินคำ (ภาคเหนือ), ว่านกระชายเห็น สะเลเต (ภาคอีสาน), กระทายเหิน หางหงส์ (ภาคกลาง), ตาเหิน (คนเมือง,ไทลื้อ), เฮวคำ (ไทใหญ่) เป็นต้น

ลักษณะของมหาหงส์

  • ต้นมหาหงส์ จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีอายุหลายปี เหง้าเป็นสีนวลและมีกลิ่นเฉพาะ ส่วนที่อยู่เหนือดินมีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่มีกาบใบซ้อนกันแน่น ลักษณะกลมและเป็นสีเขียว ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยวิธีการแยกเหง้าไปปลูก ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดรำไร เพาะปลูกง่าย แข็งแรง โตเร็ว อายุยืน มีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ โรคและแมลง มีอายุยืน[3],[4] มักขึ้นตามพื้นที่ชื้นแฉะหรือตามชายป่าใกล้ลำธาร

ต้นมหาหงส์

รูปต้นมหาหงส์

เหง้ามหาหงส์

ว่านมหาหงส์

  • ใบมหาหงส์ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ มีใบประมาณ 7-12 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 16-25 เซนติเมตร เส้นกลางใบเห็นได้ชัดจากด้านหลังใบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มโดยเฉพาะเส้นกลางใบ แผ่นใบมักงอตัวลงไปด้านหลัง ส่วนก้านใบสั้นเป็นกาบห่อหุ้มลำต้น ลักษณะเกลี้ยงและเป็นมัน ลิ้นใบยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร เป็นเนื้อเยื่อบางสีขาว

ใบมหาหงส์

  • ดอกมหาหงส์ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอดของลำต้นเทียม ดอกมีขนาดกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับใหญ่เป็นจำนวนมาก เรียงซ้อนกันและมีขนาดลดหลั่นกันไปตามลำดับ ลักษณะของใบประดับเป็นรูปหอกหรือรูปไข่ ปลายแหลม ผิวเกลี้ยง เป็นสีขาว มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ส่วนใบประดับย่อยเป็นรูปหอก ปลายมน ผิวเกลี้ยง ขอบพับเข้าหากัน ตรงกลางเป็นสัน แต่ละอันจะซ้อนเหลื่อมกัน เมื่อกางออกจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-3.3 เซนติเมตร ดอกมีขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอม โดยจะออกตามซอกใบประดับประมาณ 1-5 ดอก มีกลีบดอกเป็นรูปแถบแคบ ๆ ปลายมน สีขาว กว้างประมาณ 0.2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร ส่วนกลีบปากเป็นรูปไข่เกือบกลม มีขนาดกว้างประมาณ 5-5.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-4.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบ 2 กลีบ ลึกเป็น 1/3 ของกลีบ สีขาว ตรงกลางกลีบค่อนไปทางโคนเป็นสีเหลือง สีขาว หรือสีนวล โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร สีขาว ปลายกลีบดอกหยักบาง ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ส่วนหลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉกตื้น 3 แฉกและแฉกลึก 1 แฉก กว้างประมาณ 6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ปลายกลีบเป็นสีขาวแกมสีเขียว ส่วนโคนเป็นสีขาว ดอกมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นกลีบขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับแกมรูปรี หรือเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายมนสีขาว กว้างประมาณ 2.2-2.4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4.2-4.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 0.3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.4-1.5 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.4-2 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 ก้าน มีรังไข่เป็นรูปขอบขนานกว้างประมาณ 0.2-0.4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ผิวเรียบ มี 3 ห้อง ส่วนยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะเกือบกลม มีขนาดประมาณ 0.1 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม

ช่อดอกมหาหงส์

รูปมหาหงส์

ดอกมหาหงส์

รูปดอกมหาหงส์

  • ผลมหาหงส์ ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม แตกออกได้เป็นพู 3 พู

ผลมหาหงส์

สรรพคุณของมหาหงส์

  1. ตำรายาไทยจะใช้เหง้ามหาหงส์เป็นยาบำรุงกำลังและยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้เหง้าแห้งบดละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนรับประทานก่อนอาหารเช้าและเย็น (เหง้า)
  2. เหง้านำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผงละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน ใช้รับประทานเป็นยาแก้กษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบซีด ปวดเมื่อย โลหิตจาง) (เหง้า)
  3. เหง้านำมาต้มเป็นยาแก้ต่อมทอนซิลอักเสบได้ (เหง้า)
  4. ช่วยขับลม (เหง้า) เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยแก้อาการท้องอืดได้ (เหง้า)
  5. ในต่างประเทศจะใช้เหง้ามหาหงส์ช่วยกระตุ้นน้ำย่อย และช่วยในการขับลม (เหง้า)
  6. ช่วยบำรุงไต ด้วยการใช้เหง้าแห้งบดละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานก่อนอาหารเช้าและเย็น (เหง้า)
  7. คนเมืองจะใช้เหง้าใต้ดินนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการลมชักหรือใช้ทาตุ่มผื่นลมพิษ (เหง้า)
  8. น้ำคั้นจากเหง้าใต้ดินใช้เป็นยารักษาแผลฟกช้ำ แผลบวมได้ (เหง้า)

ประโยชน์ของมหาหงส์

  1. คนเมืองทางภาคเหนือจะใช้หน่ออ่อนลวกรับประทานกับน้ำพริก
  2. ชาวไทใหญ่จะใช้ดอกมหาหงส์บูชาพระ
  3. น้ำมันจากเหง้าสดสามารถนำมาใช้ฆ่าแมลงได้ ด้วยการใช้เหง้าสดจำนวนพอสมควรนำมาทุบแล้วสกัดให้ได้น้ำมันหอมระเหย (เรียกว่า "น้ำมันมหาหงส์")
  4. น้ำมันหอมระเหยใช้เป็นส่วนผสมในการทำน้ำหอม
  5. ด้วยความหอมของดอกมหาหงส์ ในวงการสปาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจึงนิยมใช้มหาหงส์เป็นส่วนผสมในครีม โลชัน โคโลญจน์ สบู่ ครีมอาบน้ำ หรือโคลนหมักตัว
  6. มหาหงส์เป็นว่านที่ได้ชื่อว่าเข้ายาทำเสน่ห์ มีความเชื่อว่าจะช่วยเสริมเสน่ห์ให้กับผู้ปลูก ให้คนรักคนหลง โดยจะนิยมปลูกเพื่อเพิ่มเมตตามหานิยมและความเป็นสิริมงคลให้แก่สถานที่ปลูก และยังเชื่อว่า “ว่านมหาหงส์” เป็นว่านให้ลาภแก่ผู้ปลูก และหากนำเหง้าหรือหัวพกพาติดตัวไปด้วยก็จะยิ่งเพิ่มเสน่ห์มหานิยม
  7. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ สามารถออกได้ตลอดปี ดอกจะมีกลิ่นหอมมากโดยเฉพาะในช่วงเช้าและช่วงเย็นถึงมืด ทนทานต่อแมลงต่าง ๆ โดยดอกจะทยอยบานและอยู่ทนหลายวัน ถ้านำไปปลูกบริเวณโคนต้นไม้ใหญ่ก็จะเหมาะยิ่งนัก เพราะสามารถปลูกได้ในที่ร่ม แดดไม่จัดมากนัก ชอบที่ชื้นแฉะ แต่ถ้านำไปปลูกลงในกระถางก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง โดยปกติแล้วดอกมหาหงส์จะเป็นสีขาว สีดอกจะตัดกับสีเขียวเข้มของต้นและใบอย่างสวยงาม ในปัจจุบันพบว่ามีการนำพันธุ์มหาหงส์เข้ามาปลูกกันหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดดอกสีขาว ดอกสีขาวตรงกลางเหลือง ดอกสีขาวตรงกลางแดง ดอกสีแดงอมสีชมพูจนถึงสีแดงเข้ม หรือดอกสีเหลืองทองทั้งดอก โดยจะมีทั้งดอกเล็กและดอกใหญ่