• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

หนอนตายหยาก

หนอนตายหยาก สรรพคุณประโยชน์ของต้นหนอนตายหยาก

หนอนตายหยาก เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์หนอนตายหยาก (STEMONACEAE) เป็นพืชที่พบได้ามป่าทั่วไปในประเทศจีน ญีปุ่น อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย และไทย

โดยสามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ หนอนตายหยากเล็ก และหนอนตายหยากใหญ่

  • หนอนตายหยากเล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Stemona tuberosa Lour. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Roxburghia gloriosa Pers., Roxburghia gloriosoides Roxb., Roxburghia viridiflora Sm.) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเพียด (ชลบุรี, ประจวบคีรีขันธ์), ป้งสามสิบ (คนเมือง), โปร่งมดง่าม ปงมดง่าม (เชียงใหม่), หนอนตายยาก (ลำปาง), หนอนตายหยาก (แม่ฮ่องสอน), กะเพียดหนู, สลอดเชียงคำ (อีสานโบราณ) เป็นต้น ส่วนข้อมูลจากหนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ระบุว่ายังมีหนอนตายหยากเล็กอีกชนิด ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stemona japonica Blume Miq. และมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนอนตายหยากเล็ก, โป่งมดง่าม, ป่ายปู้, ตุ้ยเย่ป่ายปู้ (จีนกลาง) ซึ่งตามตำราระบุไว้ว่าสามารถนำมาใช้แทนกันได้
  • หนอนตายหยากใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Stemona collinsiae Craib และมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนอนตายหยาก, กะเพียดช้าง, ปงช้าง เป็นต้น,

ลักษณะของหนอนตายหยากเล็ก

  • ต้นหนอนตายหยาก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก กึ่งเถาเลื้อยพัน มักเลื้อยพันกับต้นไม้อื่น ยาวได้ถึง 10 เมตร และมีความสูงได้ประมาณ 40-60 เซนติเมตร เถามีลักษณะกลม สีเขียว กิ่งที่กำลังจะออกดอกมักจะเลื้อยพัน มีรากเป็นเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดินลักษณะคล้ายกระชาย เป็นรูปกระสวย ออกเป็นกระจุก เนื้ออ่อนนิ่มมีสีเหลืองขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้เหง้าปักชำ

ต้นหนอนตายหยาก

ใบหนอนตายหยาก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับบริเวณใกล้กับโคนต้น และเรียงเป็นคู่ตรงกันข้ามบริเวณกลางต้นหรือยอด ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้า ส่วนขอบใบเรียบหรือบิดเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-20 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นคลื่น เส้นใบแตกออกจาโคนใบขนานกันไปด้านด้านปลายใบประมาณ 9-13 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1.5-7 เซนติเมตร ไม่มีหูใบและกาบใบ

ใบหนอนตายหยาก

ดอกหนอนตายหยาก ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อกระจะประมาณ 2-6 ดอก โดยจะออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร ใบประดับยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร กลีบรวมมี 4 กลีบ เรียงตัวเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 2 กลีบ กลีบเป็นรูปแถบยาวปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร กลีบชั้นนอกเป็นสีเขียวหรือสีเขียวอ่อนอมเหลือง มีลายเส้นสีเขียวแก่หรือม่วงเป็นลายประ ส่วนกลีบชั้นในเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง มีลายเส้นประสีแดง ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ก้านเกสรสั้น อับเรณูเป็นสีม่วงยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ปลายมีจะงอยยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือฐานวงกลีบรวม ไม่มีก้านเกสร

ใบหนอนตายหยาก

ผลหนอนตายหยาก ออกผลเป็นฝักห้อยลงเป็นพวง ปลายฝักแหลม ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร เมื่อแห้งแล้วจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด ประมาณ 10-20 เมล็ด เมล็ดยาวประมาณ 1-1.7 เซนติเมตร มีปลายเรียวแหลมยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีก้านเมล็ดยาวประมาณ 8 มิลิลเมตร มีเยื่อหุ้มที่โคนของเมล็ด

ใบหนอนตายหยาก

ลักษณะของหนอนตายหยากใหญ่

  • ต้นหนอนตายหยากใหญ่ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มีลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 20-40 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านจำนวนมาก มีรากอยู่ใต้ดินจำนวนมาก รากเป็นแบบรากกลุ่มอยู่กันพวง ลักษณะคล้ายนิ้วมือ รากเป็นสีเหลืองอ่อนอวบน้ำ ยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เมื่อถึงฤดูแล้งต้นเหนือดินจะโทรมหมดเหลือแต่รากใต้ดิน เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนใบจึงจะงอกออกมาพร้อมกับออกดอก พบได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา และป่าเบญจพรรณทั่วไป

ใบหนอนตายหยากใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีเส้นใบประมาณ 10-15 เส้น ขนานกัน ระหว่างเส้นแขนงใบมีเส้นใบย่อยมาตัดขวาง ก้านใบนั้นยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร ส่วนโคนพองเป็นกระเปาะ

ดอกหนอนตายหยากใหญ่ ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามซอกใบ ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานปลายมน กว้างประมาณ 0.25-0.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.1-1.2 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีเหลืองแกมชมพู มีขนาดไม่เท่ากันเรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกมี 2 อัน ลักษณะเป็นรูปขอบขนานปลายแหลม กว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.9-2 เซนติเมตร มีเส้นแขนงประมาณ 9-11 เส้น ส่วนชั้นนอกมี 2 อัน ลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม กว้างประมาณ 0.6-0.7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.8-1.9 เซนติเมตร มีเส้นแขนงประมาณ 13-15 เส้น ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ขนาดเท่ากัน ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนเป็นรูปหัวใจขอบเรียบ กว้างประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-1.6 เซนติเมตร ส่วนเกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ รูปไข่ยาวประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร และปลายเกสรเพศเมียมีขนาดเล็ก

ผลหนอนตายหยากใหญ่ ผลเค่อนข้างแข็งเป็นสีน้ำตาลและมีขนาดเล็ก

ผลหนอนตายยาก

ข้อสังเกต : ความแตกต่างระหว่างหนอนตายหยากเล็กและใหญ่คือ ลักษณะของใบหนอนตายหยากเล็กจะเป็นรูปหัวใจทรงกลม ส่วนใบของหนอนตายหยากจะเป็นรูปหัวใจทรงยาว และหนอนตายหยากใหญ่จะมีกลีบดอกใหญ่กว่า รากอวบใหญ่กว่าหนอนตายหยากเล็ก

สรรพคุณของหนอนตายหยาก

  1. เหง้าหรือรากมีรสขมชุ่ม เป็นยาร้อนเล็กน้อย มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและม้าม ใช้เป็นยาแก้ไอเย็น ไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ อาการไออันเนื่องมาจากเป็นวัณโรค (ราก)
  2. ตำรับยาแก้อาการไอเนื่องมาจากวัณโรค ให้ใช้รากหรือเหง้าหนอนตายหยาก, เปลือกหอยแครงสะตุ, เกล็ดนิ่ม, จี๊ฮวง อย่างละเท่ากัน แล้วนำมาบดให้เป็นผง ใช้ชงกับน้ำรับประทานครั้งละ 5 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง (ราก)
  3. ช่วยขับเสมหะ รักษาวัณโรค (ราก)
  4. บางข้อมูลระบุว่ามีการหนอนตายหยากเป็นยาแก้ภูมิแพ้ โดยใช้รากหนอนตายหยากและใบหนุมานประสานกาย (สดหรือแห้งก็ได้) อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำดื่มขณะยังอุ่นต่างน้ำทุกวัน จะช่วยแก้อาการของโรคภูมิแพ้ รวมถึงช่วยละลายเสมหะ และลดอาการไอได้ด้วย (ราก) (ข้อมูลจาก : tripod.com)
  5. ชาวเขาเผ่าม้งและเย้าจะใช้รากหรือทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มและอาบแก้โรคโปลิโอ (ราก,ทั้งต้น)
  6. ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ให้ใช้รากสด 1 ราก ที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาหั่นตำให้ละเอียด เติมเกลือ 1/2 ช้อนชา ใช้อมประมาณ 10-15 นาที แล้วบ้วนทิ้ง ทำแบบนี้ติดต่อกันประมาณ 2-4 ครั้งจะหายปวดฟัน (ให้เว้นระยะห่างกัน 4-5 ชั่วโมง) (ราก)
  7.  ส่วนอีกวิธีใช้ใบนำมาตำและอมแก้อาการปวดฟัน (ใบ)
  8. ในประเทศอินโดจีนจะใช้รากเป็นยารักษาโรคเจ็บหน้าอก (ราก)
  9. ในประเทศจีนจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาขับผายลม (ราก)]
  10. ใช้เป็นยาแก้บิดอะมีบา ด้วยการใช้รากหรือเหง้าหนอนตายหยาก 5-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
  11. รากมีสรรพคุณเป็นยาฆ่าเชื้อพยาธิภายในลำไส้ พยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน พยาธิเส้นด้าย พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด ด้วยการใช้รากแห้ง 2 ราก นำมาต้มกับน้ำกินติดต่อกันประมาณ 15-20 วัน (ราก)
  12.  ส่วนวิธีใช้ถ่ายพยาธิปากขอ ให้ใช้รากหรือเหง้า 100 กรัม แบ่งต้ม 4 ครั้ง จากนั้นนำมาสกัดจนเหลือ 30 ซีซี ใช้รับประทานครั้งละ 15 ซีซี โดยให้รับประทานติดกัน 2 วัน จึงจะสามารถถ่ายพยาธิปากขอออกมาได้ (ราก)
  13. ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิตัวจี๊ด โดยนำรากมาผสมกับหญ้าหวายนาและชะอม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิตัวจี๊ด (ราก)
  14. ชาวเขาเผ่าม้งและเย้าจะใช้รากหรือทั้งต้นหนอนตายหยากต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้ปัสสาวะติดขัด (ราก,ทั้งต้น)
  15. รากและหัวมีสรรพคุณเป็นยารักษาริดสีดวงทวารหนัก ด้วยการใช้รากนำมาปรุงต้มรับประทาน พร้อมกับต้มกับยาฉุนใช้รมหัวริดสีดวง จะทำให้ริดสีดวงฝ่อและแห้งไป (หัว,ราก)
  16. รากใช้ปรุงเป็นยารักษามะเร็งตับ (ราก)
  17. รากหรือหัวใช้ปรุงเป็นยารับประทานแก้น้ำเหลืองเสีย (ราก)
  18. ใช้รักษาจี๊ด ให้ใช้รากสดประมาณ 3-4 ราก ที่ล้างน้ำสะอาดแล้ว นำมาหั่นตำให้ละเอียด ใช้พอกตรงที่มีตัวจี๊ด ซึ่งจะสังเกตได้โดยบริเวณนั้นจะบวมขึ้นมา โดยให้พอกหลาย ๆ ครั้งจนกว่าจะหาย (ราก)
  19. รากใช้ปรุงเป็นยาแก้โรคผิวหนัง ผื่นคันตามร่างกาย และผิวหนังอักเสบ ด้วยการใช้รากประมาณ 50-100 กรัม นำมาต้มแล้วเอาน้ำใช้ล้างหรืออาบ (ราก)
  20. ตำรายาไทยจะใช้รากนำมาทุบหรือตำผสมกับน้ำหรือหมักกับน้ำแล้วเอาน้ำมาพอกทาฆ่าหิด เหา แมลง หนอน หรือศัตรูพืช (ราก)
  21. รากนำมาทุบให้ละเอียดแช่กับน้ำ ใช้พอกแผลต่าง ๆ ฆ่าหนอน และทำลายหิดได้ (ราก)
  22. รากหนอนตายหยากใหญ่ มีรสเย็น เป็นยาแก้อาการวัยทองทั้งชายและหญิง (รากหนอนตายหยากใหญ่)
  23. สมุนไพรหนอนตายหยากยังใช้เป็นส่วนผสมของตำรับยาไทยอีกหลายรายการ เช่น ยาตัดรากอุปะทม (แก้อุปะทมโรคสำหรับบุรุษ), ยาแก้นิ่วเนื้อด้วยอุปทุม, ยาต้มสมานลำไส้, ยาแก้ลมกำเริบ, ยาแก้ดีลมแลกำเดา, ยาแก้ดีกำเดาแผลงฤทธิ์ร้าย เป็นต้น
  24. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่กล่าวมาไว้อีกหลายอย่าง เช่น ช่วยลดระดับน้ำตาลสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (นันทวัน และอรนุช 2543) แก้มะเร็งในกระดูก แก้มะเร็งในมดลูก แก้โรคผิวหนังเป็นตุ่มหนอง (th.apoc12.com - ฐานข้อมูลพันธุกรรมพืช กรมวิชาการเกษตร), มะเร็งผิวหนัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูกและรังไข่ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เองผมก็ยังหาเอกสารอ้างอิงไม่เจอครับ จึงไม่แน่ใจว่าจะมีสรรพคุณดังที่กล่าวมาหรือไม่

 

  1. หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม  ให้ใช้รากแห้งครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าใช้ภายนอกให้ใช้ประมาณ 50-100 กรัม นำมาต้มแล้วใช้น้ำล้างหรืออาบแก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน

    ข้อควรระวังในการใช้หนอนตายหยาก

    • รากหนอนตายหยากมีพิษ หากรับประทานเข้าไปจะทำให้มึนเมา และอาจถึงตายได้[5] มีข้อมูลระบุว่าการนำมาใช้เป็นยาจะต้องผ่านกรรมวิธีการทำลายพิษเสียก่อนจึงจะนำมาใช้ได้ เช่น การนำรากมาล้างให้สะอาดแล้วลวกหรือนึ่งจนกระทั่งไม่เห็นแกนสีขาวในราก และต้องตากแดดก่อนนำไปใช้ปรุงยา หรือในบางตำราก็จะนำไปเชื่อมกับน้ำผึ้งก่อนนำไปใช้ (นันทวัน และอรนุช 2543)

ประโยชน์ของหนอนตายหยาก

  1. ใช้รักษาเหา ด้วยการใช้รากสดประมาณ 3-4 ราก ที่ล้างน้ำสะอาดแล้ว นำมาตำผสมกับน้ำใช้ชโลมเส้นผมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยสระออกให้สะอาด โดยให้ทำติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน จนกว่าเหาจะตายหมด
  2. รากใช้ฝนคลุกข้าวหรือมะพร้าวแล้วโดยให้มดกินเป็นยาฆ่ามด (คนเมือง)
  3. ใบใช้ยักปากไหปลาร้าเพื่อป้องกันหนอน
  4. ใช้รากของต้นหนอนตายหยากสดประมาณ 500 กรัม นำมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปใส่ในท่อน้ำทิ้ง จะสามารถฆ่ายุงและลูกน้ำได้ หรือจะใช้รากนำมาตำผสมกับน้ำเป็นยาฆ่าแมลงและหนอนศัตรูพืชที่มารบกวนพืชผักได้ดี
  5. รากนำมาโขลกบีบเอาแต่น้ำใช้หยอดแผลวัวควายที่มีหนอนไช หรือจะใช้กากของรากสดนำมาโปะปิดแผลของสัตว์พาหะที่เลียไม่ถึง จะเป็นยาฆ่าหนอนที่เกิดในแผล หนอนจะตายหมด
  6. การใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นยาฆ่าแมลง ให้ใช้รากหรือเหง้าหนอนตายหยาก 10 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม ตะไคร้ทั้งต้น 5 กิโลกรัม ใบสาบเสือ ใบหูเสือ แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดมาบดให้ละเอียดโดยไม่ต้องใส่น้ำ หมักไว้ในภาชนะ ตอนจะใช้ก็ให้นำมาผสมกับน้ำฉีดพ่นสวนส้ม นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมอื่น ๆ อีก เช่น ใช้รากหนอนตายหยาก 15 กิโลกรัม กากน้ำตาล 15 กิโลกรัม น้ำ 20 ลิตร ตะไคร้หอม เปลือกเงาะ และเปลือกมังคุดประมาณ 5 กิโลกรัม โดยนำส่วนผสมทั้งหมดมาผสมหมักในภาชนะทิ้งไว้ประมาณ 15-20 วัน แล้วค่อยนำมาใช้
  7. สามารถนำผลิตใช้ในเชิงอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงได้

หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว ชื่อสามัญ Java tea, Kidney tea plant, Cat's whiskers

หญ้าหนวดแมว ชื่อวิทยาศาสตร์ Orthosiphon aristatus (Blume) Miq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendranthus spicatus (Thunb.) C.Y.Wu, Orthosiphon grandiflorus Bold., Orthosiphon stamineus Benth.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)

สมุนไพรหญ้าหนวดแมว ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น อีตู่ดง (เพชรบูรณ์), บางรักป่า (ประจวบคีรีขันธ์), พยับเมฆ (กรุงเทพฯ) เป็นต้น

ลักษณะของหญ้าหนวดแมว

  • ต้นหญ้าหนวดแมว จัดเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีลำต้นและกิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีสีน้ำตาลหรือสีม่วงแดง ต้นมีความสูงประมาณ 0.3-0.8 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและการเพาะเมล็ด

รูปต้นหญ้าหนวดแมว

  • ใบหญ้าหนวดแมว มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปข้าวหลามตัด มีขอบใบหยักเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย แผ่นใบบางเป็นสีเขียวเข้ม ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 2-4.5 เซนิเมตร ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร และก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร
  • ดอกหญ้าหนวดแมว ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุก ปลายยอดดอกลักษณะคล้ายฉัตร มีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีริ้วประดับรูปไข่ ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ไม่มีก้าน ส่วนกลีบของดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังงอเล็กน้อย มีความยาวประมาณ 2.5-4.5 มิลลิเมตร ออกดอกบริเวณปลายยอดและปลายกิ่ง มีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์ที่มีดอกสีขาวอมม่วงอ่อนและพันธุ์ที่มีดอกสีฟ้า ดอกหญ้าหนวดแมวจะบานจากล่างขึ้นบน ดอกมีเกสรตัวผู้ประมาณ 3-4 เส้น เป็นเส้นยาวยื่นออกมานอกกลีบดอก มีลักษณะคล้ายหนวดแมว และที่ปลายเกสรจะมีติ่งสีน้ำเงินอมม่วงอยู่ โดยหญ้าหนวดแมวนี้สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
  • ผลหญ้าหนวดแมว ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน กว้าง และแบน มีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ตามผิวมีรอยย่น เป็นผลแห้งไม่แตก

สมุนไพรหญ้าหนวดแมว เป็นสมุนไพรที่ขึ้นชื่อและมีการนำมาใช้รักษานิ่วและโรคทางเดินปัสสาวะมานานแล้ว โดยมีผลงานวิจัยต่าง ๆ มากมายที่ต่างก็ยืนยันสรรพคุณของหญ้าหนวดแมวว่ามันสามารถช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้จริง แถมยังไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรงเหมือนยาจากต่างประเทศ ที่ทำให้ร่างกายมีอาการอ่อนเพลียและมีอาการเบื่ออาหาร แต่อาจจะมีประสิทธิภาพในการรักษาไม่ดีเท่ากับยาจากต่างประเทศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ใบ ผล เปลือกฝัก ราก และทั้งต้น

รรพคุณของหญ้าหนวดแมว

  1. ทั้งต้นมีรสจืด สรรพคุณช่วยรักษาโรคกระษัย (ทั้งต้น)
  2. ช่วยลดความดันโลหิต (ใบ)
  3. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน (ใบ)
  4. ช่วยรักษาโรคเยื่อจมูกอักเสบ (ทั้งต้น)
  5. ผลมีรสฝาด ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ผล)
  6. เปลือกฝักช่วยแก้ลำไส้พิการ (เปลือกฝัก)
  7. ช่วยแก้บิด แก้อาการท้องร่วง (ผล)
  8. ช่วยรักษาโรคในทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับปัสสาวะ รักษาโรคนิ่ว สลายนิ่ว หรือช่วยลดขนาดก้อนนิ่ว ด้วยการใช้ต้นกับใบประมาณ 1 กอบมือ (หากใช้ใบสดให้ใช้ประมาณ 90-120 กรัม แต่ถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ประมาณ 40-50 กรัม) นำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา หรือประมาณ 75 cc. วันละ 3 ครั้ง หรืออีกสูตรให้ใช้กิ่งกับใบขนาดกลาง (ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป) นำมาล้างให้สะอาดแล้วผึ่งในที่ร่มให้แห้ง ให้ใช้ประมาณ 4 หยิบมือ (ประมาณ 4 กรัม) นำมาชงกับน้ำเดือดประมาณ 750 cc. เหมือนชงชา แล้วนำมาดื่มต่างน้ำตลอดทั้งวัน นานประมาณ 1-6 เดือน จะช่วยทำให้ปัสสาวะใสและคล่องขึ้น ช่วยทำให้อาการปวดของนิ่วลดลงและทำให้นิ่วมีขนาดเล็กลงและหลุดออกมาเอง (ใบ, ราก, ทั้งต้น)
  9. ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศออสเตรเลีย มีการใช้หญ้าหนวดแมวเพื่อรักษาอาการอักเสบของไตและนิ่วในไต (ใบ, ทั้งต้น)
  10. ในอินโดนีเซียมีการใช้ใบนำมาชงเป็นชาดื่ม ช่วยแก้โรคไตและกระเพาะปัสสาวะ (ใบ, ทั้งต้น)
  11. ช่วยแก้โรคไตพิการ (ผล, เปลือกฝัก)
  12. ช่วยลดน้ำขับกรดยูริกจากไต ช่วยป้องกันไม่ให้แคลเซียมตกค้างในไต ช่วยขยายท่อไตให้กว้างขึ้น และช่วยบรรเทาอาการปวด (ใบ)
  13. ช่วยขับล้างสารพิษในระบบทางเดินปัสสาวะ ไต และตับ (ทั้งต้น)
  14. ช่วยแก้หนองใน (ทั้งต้น)
  15. ช่วยรักษาโรคปวดตามสันหลังและบั้นเอว (ใบ, ทั้งต้น)
  16. ช่วยรักษาโรคปวดข้อ อาการปวดเมื่อย และไข้ข้ออักเสบ (ใบ)

คำแนะนำในการใช้สมุนไพรหญ้าหนวดแมว

  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตหรือโรคหัวใจ ไม่ควรใช้สมุนไพรหญ้าหนวดแมวเพราะสมุนไพรชนิดนี้มีสารโพแทสเซียมสูงมาก ถ้าหากไตไม่ปกติก็จะไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกมาได้ ทำให้เกิดโทษต่อร่างกายอย่างร้ายแรง และยังมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะให้ออกมามากกว่าปกติ และเกรงว่าขนาดของโพแทสเซียมที่สูงมากนั้น อาจจะไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วผิดปกติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อโรคหัวใจได้
  • ผลข้างเคียงของหญ้าหนวดแมว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับคนปกติที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน โดยอาการที่อาจพบได้คือ ใจสั่น หายใจลำบาก ดังนั้นการใช้สมุนไพรชนิดนี้ครั้งแรก หากใช้วิธีการชงดื่มให้ใช้วิธีจิบ ๆ ดูก่อน หากมีอาการผิดปกติก็ควรหยุด แล้วดื่มน้ำตามให้มาก ๆ สักพักอาการก็จะหายไปเอง
  • การใช้สมุนไพรหญ้าหนวดแมวเพื่อรักษานิ่วจะได้ผลดีก็เมื่อใช้กับนิ่วก้อนเล็ก ๆ แต่จะไม่ได้ผลกับก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่
  • การเลือกต้นนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ควรเลือกต้นที่ดูแข็งแรง แข็งและหนา ไม่อ่อนห้อยลงมา ลำต้นดูอวบเป็นเหลี่ยม ต้นมีสีม่วงแดงเข้ม และดูได้จากใบที่มีสีเขียวเข้มเป็นมันและใหญ่
  • วิธีการเก็บต้น เมื่อเลือกต้นได้ตามที่ต้องการแล้ว ให้เด็ดในส่วนของยอดลำต้น ยาวประมาณ 1 คืบ คือส่วนที่มีใบอ่อนจนถึงใบแก่ หรือดอกด้วย
  • ควรเลือกใช้ใบอ่อนในการปรุงเป็นยา เนื่องจากใบแก่จะมีความเข้มข้นมาก อาจทำให้มีฤทธิ์ไปกดหัวใจได้
  • การนำสมุนไพรหญ้าหนวดแมวมาปรุงเป็นยา ไม่ควรใช้วิธีการต้ม แต่ให้ใช้วิธีการชง
  • ควรใช้ใบตากแห้งในการปรุงเป็นยา เพราะใบสดอาจจะทำให้มีอาการคลื่นไส้และมีอาการหัวใจสั่นได้
  • สมุนไพรหญ้าหนวดแมว ไม่ควรใช้ร่วมกับยาแอสไพริน เนื่องจากหญ้าหนวดแมวจะทำให้ยาแอสไพรินไปจับกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น

ประโยชน์ของหญ้าหนวดแมว

  • ใช้ปลูกเป็นพืชประดับสวนหรือริมรั้วกำแพงบ้านเพื่อความสวย เนื่องจากมีช่อดอกที่สวยงามและดูแปลกตา และสามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี
  • สมุนไพรหญ้าหนวดแมวสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้ เช่น หญ้าหนวดแมวแคปซูล หญ้าหนวดแมวผง ชาหญ้าหนวดแมว เป็นต้น
  • เมนูอาหารสมุนไพรจากหญ้าหนวดแมว เช่น หญ้าหนวดแมวกรุบกรอบ อ่อมแซ่บปูนาใส่หญ้าหนวดแมว เป็นต้น
  • การนำสมุนไพรหญ้าหนวดแมวมาใช้ในการรักษาโรคนิ่วแทนยาแผนปัจจุบันหรือการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถช่วยลดค่ารักษาพยาบาลได้อย่างมาก

หน่อกะลา

หน่อกะลา

หน่อกะลา ถือเป็น ผักพื้นบ้าน ของ เกาะเกร็ด 
       
       "หน่อกะลา" ถือเป็นผักพื้นบ้านของเกาะเกร็ด และเป็นพืชตระกูลเดียวกับข่า มีลักษณะเหมือนต้นข่าทั้งใบและลำต้น แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ชาวมอญบนเกาะเกร็ดใช้ หน่อกะลา มาประกอบอาหารเป็นเวลานานแล้ว โดยจะนำ ต้นหน่อกะลา มาปอกเปลือกออกเหลือแต่เนื้อใน จะนำมากินสดๆ หรือจะต้มจิ้มน้ำพริกก็ได้ นำไปทำเป็นแกงส้มก็อร่อย รวมไปถึง ทอดมันหน่อกะลา ก็เป็นของกินขึ้นชื่อที่ใครกินแล้วก็บอกว่าอร่อยเป็นเสียงเดียวกัน

         ต้นหน่อกะลาว่าจัดอยู่ในพืชวงศ์ขิง Zingiberaceae  มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Alpinia nigra Burrt มีชื่ออื่น เช่น ข่าน้ำ กะลา เร่ว เร่วน้อย เป็นต้น  หน่อกะลามีลักษณะคล้ายๆ พืชวงศ์ขิงโดยทั่วไปที่มีเหง้าที่เป็นลำต้นอยู่ใต้ดิน และมีลำต้นบนดินเป็นต้นเทียม ต้นโตสูงประมาณ 3 เมตร ลักษณะเป็นกอแน่น ชอบอยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง มีแสงแดดส่อง เหง้าหน่อกะลาสามารถใช้พอกแผลแก้ผื่นคันตามผิวหนัง เพราะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยายืนยันได้ว่าเป็นภูมิปัญญาไทยที่ถูกต้องว่าสามารถ ยับยั้งเชื้อราบนผิวหนังได้หลายชนิด  ต้นหน่อกะลานั้นยังมีสรรพคุณทางยา โดยจะช่วยแก้อาการท้องอืด แน่นเฟ้อ จุกเสียด และช่วยไล่ลมในร่างกายได้อีกด้วย

 

หญ้ารีแพร์

หญ้ารีแพร์ เปิดสรรพคุณ

   วงศ์ : Poaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centotheca lappacea (L.) Desv.
• ชื่อสามัญ : Barbed grass

  หญ้ารีแพร์ สรรพคุณบำรุงสตรี หรือที่เรียกกันว่า หญ้าฮี๋ยุ่ม จัดเป็นสมุนไพรไทยช่วยกระชับช่องคลอด ใช้ดียังไง ใช้อย่างไรให้ถูกต้องและได้ผล สาว ๆ ต้องรู้ให้ชัด

          หญ้าฮี๋ยุ่ม หรือหญ้ารีแพร์ ยังคงเป็นสมุนไพรบำรุงสตรีที่ได้รับความนิยมอย่างมากมาย ด้วยสรรพคุณของหญ้ารีแพร์ที่ช่วยกระชับช่องคลอด คืนความสาวให้คุณผู้หญิงด้วยวิธีธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดาสาวน้อยสาวใหญ่จะเทใจมาทางสมุนไพรไทยอย่างหญ้ารีแพร์มากกว่าไปสนใจในเทคโนโลยีที่สามารถกระชับช่องคลอดได้เช่นกัน 

          แต่อย่างไรก็ดี ก่อนจะใช้สมุนไพรใด ๆ ก็ตาม เราควรศึกษาข้อมูลสมุนไพรชนิดนั้น ๆ ให้ดีก่อน อย่างหญ้าฮี๋ยุ่มหรือหญ้ารีแพร์นี้ก็ไม่ต่างกันค่ะ ลองมาดูกันว่า วิธีใช้หญ้ารีแพร์ให้เห็นผลและปลอดภัยควรต้องทำอย่างไร พร้อมกันนั้นเราก็จะพาทุกคนไปเจาะลึกสรรพคุณของหญ้าฮี๋ยุ่มให้รู้ซึ้งถึงประโยชน์ของสมุนไพรตัวนี้อย่างจริงจังด้วย

หญ้ารีแพร์

หญ้ารีแพร์ กับข้อมูลน่ารู้
 

          หญ้ารีแพร์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Centotheca lappacea (L.) Desv. โดยหญ้ารีแพร์เป็นพืชในวงศ์ Poaceae ซึ่งจัดอยู่ในพืชตระกูลไผ่ ส่วนชื่อภาษาอังกฤษของหญ้ารีแพร์ก็คือ Barbed grass ซึ่งในบ้านเรานั้น หญ้ารีแพร์เป็นชื่อที่ถูกขัดเกลามาเพื่อให้ออกสื่อได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะจริง ๆ แล้ว หญ้า Barbed grass หรือหญ้ารีแพร์ มีชื่อตามท้องถิ่นว่าหญ้าฮี๋ยุ่ม ซึ่งชาวบ้านเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่าหญ้าฮี๋ยุ่มกันมายาวนาน โดยเรียกชื่อตามสรรพคุณของตัวสมุนไพรนั่นเอง

          ทั้งนี้หญ้ารีแพร์เป็นสมุนไพรที่ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย แต่จะพบหญ้ารีแพร์ได้มากในพื้นที่ป่าเบญจพรรณและป่าดิบชื้น หรือบริเวณที่ราบเชิงเขา หรือบนภูเขาสูง แถบภาคอีสานซะส่วนใหญ่
  
หญ้ารีแพร์ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นอย่างไร

          หญ้ารีแพร์เป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับพืชตระกูลไผ่ ลักษณะของหญ้ารีแพร์จึงมีลำต้นเป็นข้อปล้องทรงกลมขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร รอบ ๆ ลำต้นของหญ้ารีแพร์จะถูกหุ้มด้วยกาบใบ มีสีเขียวอมม่วง ลำต้นไม่มีแก่น ด้วยลักษณะนี้ลำต้นของหญ้าฮี๋ยุ่มจึงค่อนข้างอ่อนและหักง่าย แต่ถึงอย่างนั้นตัวลำต้นก็มีความเหนียว ชนิดที่ดึงให้ขาดด้วยมือก็ยาก และตรงโคนต้นสามารถแตกหน่อเป็นต้นใหม่หรือขยายเป็นกอใหญ่ได้

          ส่วนใบของหญ้ารีแพร์เป็นใบเลี้ยงเดี่ยว แทงใบออกเป็นใบเดี่ยวชัดเจน ลักษณะของใบจะเรียงเยื้องสลับกันตามความสูงของลำต้น ตัวใบมีกาบใบสีเขียวอมม่วง ก้านใบสั้นติดกับกาบใบ ส่วนลิ้นใบเป็นแผ่นบาง ๆ ออกสีน้ำตาล อยู่ติดกับโคนก้านใบ แผ่นใบมีรูปหอกกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ​ 5-20 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ขอบใบโค้งเป็นลูกคลื่นขวางเข้าหากลางใบ แผ่นใบมีเส้นใบเป็นริ้วเล็กจำนวนมากตามแนวยาวของใบ

          ทั้งนี้หญ้ารีแพร์ก็มีดอกเหมือนกันนะคะ โดยลักษณะของดอกหญ้ารีแพร์จะเป็นช่อแขนงคล้ายกับช่อของดอกหญ้าชนิดอื่น ๆ ความยาวของดอกประมาณ 15-45 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกช่อและดอกย่อยกว่า 10-30 ดอก โดยประมาณ ส่วนของดอกย่อยจะมีก้านดอกสั้น ๆ และมีเมล็ดหญ้ารีแพร์ลักษณะรียาว ความกว้างของเมล็ดค่อนข้างจิ๋วเพียง 2-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตรเท่านั้น เมล็ดในช่วงที่ยังไม่โตเต็มที่จะมีสีออกเขียว ถ้าเมล็ดแก่แล้วสีจะออกเหลือง ๆ 

หญ้ารีแพร์

หญ้ารีแพร์ สรรพคุณดีอย่างไร

          สรรพคุณของหญ้าฮี๋ยุ่มนั้นก็แปลกันตรง ๆ ตัวตามภาษาอีสานว่า สมุนไพรช่วยกระชับ รัด หรือทำให้แน่นขึ้น เจาะกันชัด ๆ ถึงสรรพคุณช่วยรีแพร์ความสาวคืนสู่ผู้หญิงทุกคนได้อย่างเห็นผลจริง ซึ่งเราจะมาไล่เรียงให้เห็นกันชัดขึ้นค่ะว่า สรรพคุณของหญ้ารีแพร์จริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร

          - หญ้ารีแพร์​ช่วยกระชับช่องคลอด

          สารสำคัญที่พบในหญ้ารีแพร์หรือหญ้าฮี๋ยุ่มคือสารซิลิกา (Silica) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของคอลลาเจนและน้ำไขข้อในร่างกาย มีคุณสมบัติเด่นตรงช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งเต่งตึง ในอดีตจึงนำหญ้าฮี๋ยุ่มมาบำรุงสตรีหลังคลอด เพื่อให้แผลที่ปากช่องคลอดกระชับตัวได้ดีขึ้น ฟื้นตัวได้ไวด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านมาอย่างยาวนาน

          - ช่วยให้มดลูกเข้าอู่

          สรรพคุณของหญ้ารีแพร์ที่เป็นตัวชูโรงอีกอย่างคือสรรพคุณด้านการช่วยให้มดลูกเข้าอู่ อีกทั้งยังช่วยให้ผิวพรรณสตรีเปล่งปลั่ง โดยมีการศึกษาที่ค้นพบว่า ในพืชตระกูลไผ่มีสารพิเศษที่มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissue) สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นในเซลล์ผิวหนังได้ เพิ่มน้ำเมือกให้สตรีมีการหล่อลื่นได้ดี ในระยะหลัง ๆ จึงมีการสกัดสารพิเศษตัวนี้ออกมาใช้เป็นส่วนผสมของเวชสำอางหลายชนิด โดยให้ชื่อสารสกัดตัวนี้ว่า แบมบู ซิลิกา (Bamboo Silica) 

          - บำรุงกำลังหลังคลอดบุตร

          สารสำคัญที่มีอยู่ในหญ้ารีแพร์ไม่ได้ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นได้เท่านั้น แต่ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยส่งเสริมการสร้างคอลลาเจนให้ร่างกาย หญ้ารีแพร์จึงถูกนำมาปรุงเป็นยาบำรุงกำลังสตรีหลังคลอดบุตร เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและเนื้อเยื่อ ช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย อีกทั้งหญ้าฮี๋ยุ่มยังมีสรรพคุณช่วยลดไข้ ต้านการติดเชื้อของแผล และช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อีกด้วย

          - หญ้ารีแพร์ สรรพคุณดีต่อหญิงวัยทอง

          ไม่เพียงแต่ช่วยกระชับช่องคลอดเท่านั้น แต่การศึกษาต่างประเทศยังพบว่า สารแบมบู ซิลิกา มีคุณสมบัติช่วยบำรุงความแข็งแรงของเส้นเอ็น ข้อ และกระดูกได้ ดังนั้นหญ้าฮี๋ยุ่มจึงเป็นสมุนไพรที่ดีสำหรับสตรีวัยหมดประจำเดือน ซึ่งร่างกายจะสร้างคอลลาเจนได้ลดลง ส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคกระดูกเสื่อมได้ 

          - หญ้าฮี๋ยุ่ม บำรุงผิวพรรณก็ดี

          เนื่องจากในหญ้ารีแพร์มีสารสำคัญที่ช่วยเพิ่มการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และช่วยเพิ่มน้ำไขข้อกระดูก สรรพคุณตัวนี้จึงมีดีต่อเซลล์ผิวหนังของเรามาก และไม่ว่าจะเป็นอวัยวะใดก็ตามที่ต้องการความยืดหยุ่นแข็งแรง สารแบมบู ซิลิกา ในหญ้ารีแพร์ก็ช่วยเสริมความแข็งแรงของเซลล์ในอวัยวะนั้น ๆ ได้ โดยเฉพาะในด้านความเปล่งปลั่งสดใสของผิวพรรณและสรรพคุณช่วยชะลอวัย บอกเลยว่าหญ้าฮี๋ยุ่มก็ไม่ธรรมดานะจ๊ะ

          - หญ้ารีแพร์ สรรพคุณดีต่อเพศชายไม่น้อย

    หลายคนอาจคิดว่าหญ้ารีแพร์เกิดมาเพื่อผู้หญิงเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วสรรพคุณของหญ้ารีแพร์ก็มีดีต่อสุขภาพท่านชายเช่นเดียวกันค่ะ โดยหญ้ารีแพร์มีคุณสมบัติช่วยสมานแผลให้หายเร็ว แผลแห้งเร็ว และยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้เซลล์ผิวไม่แห้งแตกง่าย ผิวพรรณดูมีสุขภาพดีในแบบแมน ๆ ด้วยหญ้ารีแพร์กันได้เลยค่ะหนุ่ม ๆ 

          - บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร

          อย่างที่บอกว่าหญ้ารีแพร์มีสรรพคุณช่วยสมานแผล ดังนั้นแผลที่เกิดจากริดสีดวงทวารก็สามารถบรรเทาความรุนแรงของบาดแผลได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงทุกช่วงวัย

หญ้ารีแพร์


หญ้ารีแพร์ ใช้อย่างไรให้ได้ผล

          วิธีใช้หญ้ารีแพร์ที่ปลอดภัยและเห็นผลนั้น ทาง ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการหญ้ารีแพร์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เปิดเผยว่า การใช้หญ้ารีแพร์โดยวิธีการรมควันเฉพาะจุดจะช่วยลดการอักเสบ บวม สมานแผล ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ และช่วยกระชับช่องคลอด ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ 

          1. การรมแห้งจากไอร้อนของควันร้อนของหญ้ารีแพร์

          วิธีใช้ก็คือ ให้นำหญ้ารีแพร์ (ถอนมาทั้งราก) อายุประมาณ 3-4 เดือน ไปตากแดดประมาณ 1 วัน (หญ้าแดดเดียว) เพื่อหญ้าจะยังไม่แห้งสนิทดี จากนั้นนำมาเผารวมกับไม้ผุจนเกิดควัน เมื่อเกิดควันขึ้นแล้วจึงนำมาวางใต้เก้าอี้ที่เจาะรูไว้ เพื่อให้ควันผ่านขึ้นมาบริเวณปากช่องคลอด ทั้งนี้ การอบควันลักษณะนี้ต้องระวังไม่ให้ควันร้อนเกินไป 
    
          2. การรมเปียกจากไอน้ำร้อนของการต้มหญ้ารีแพร์ 

          การใช้ไอน้ำร้อนรม สามารถทำได้โดยการต้มหญ้ารีแพร์แบบสดหรือแห้งก็ได้ในหม้อ แล้วใช้ผ้าขนหนูพันหม้อไว้เพื่อกักเก็บความร้อน จากนั้นยกมาวางใต้เก้าอี้ที่เจาะรูไว้ เพื่อให้ไอร้อนจากการรมควันผ่านขึ้นมาได้  หรือจะอบในกระโจมแบบซาวน่าก็ได้
 
          ทั้งนี้การรมหญ้ารีแพร์ ทั้งแบบควันและไอน้ำ ควรนั่งนานประมาณ 30-45 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 7-10 วัน โดยแนะนำให้สตรีหลังคลอดบุตรได้ 1-2 วัน และไม่อยู่ในสภาวะร่างกายอ่อนเพลียจนเกินไป สามารถใช้หญ้ารีแพร์เพื่อบำรุงร่างกายหลังคลอดได้ 

          ส่วนสาว ๆ ที่มีความประสงค์อยากกระชับผิวพรรณและจุดนั้นด้วยหญ้ารีแพร์ ก็สามารถเข้ารับการรมแห้งหรือรมเปียกได้เช่นกัน 

          นอกจากนี้ยังสามารถนำหญ้ารีแพร์ไปต้มอาบ อบผิว และดื่มเป็นชาบำรุงร่างกาย หรือจิ้มกินกับน้ำพริก ก็ช่วยในเรื่องการบำรุงร่างกายและข้อเอ็น บำรุงเลือดลมไหลเวียนดี ลดการอักเสบ และชุ่มชื่นคอได้ โดยหากจะดื่มเป็นชาก็ให้นำใบหญ้าไปขยี้กับน้ำร้อน หรือต้มแล้วคั้นแต่น้ำดื่ม แต่ควรเลือกใช้หญ้ารีแพร์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีสุขอนามัยที่ดี มีความสะอาดที่เพียงพอด้วยนะคะ

          อย่างไรก็ดีในผู้หญิงหลังคลอดที่ต้องการให้มดลูกเข้าอู่ไว อยากให้แผลหลังคลอดแห้งเร็ว ๆ และอยากกระชับพื้นที่สงวนให้ฟิต & เฟิร์ม วิธีรมควันเฉพาะจุดจะให้ผลดีกว่าการนำหญ้ารีแพร์มาต้มดื่มนะคะ

หญ้ารีแพร์

หญ้ารีแพร์ กับข้อควรระวัง

          เตือนกันอีกครั้งว่าการใช้หญ้ารีแพร์ให้ถูกต้องควรต้องผ่านการอบหรือใช้ความร้อนตามข้อมูลที่บอกข้างต้น และไม่ควรนำหญ้ารีแพร์สด ๆ หรือคั้นน้ำหญ้ารีแพร์สด ๆ มาใช้กับช่องคลอด เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องคลอดได้นะคะ 

          นอกจากนี้ข้อควรระวังในการใช้หญ้ารีแพร์อีกอย่างก็คือ การเลือกใช้ตัวก่อความร้อนที่ไม่ก่อให้เกิดเพลิงลุกไหม้ โดยควรเลือกใช้ไม้ผุจะดีกว่าไม้ใหม่ ที่สำคัญหญ้ารีแพร์ที่นำมาใช้จะต้องมีอายุมากกว่า 45 วัน มีลักษณะเป็นหญ้าแดดเดียว ซึ่งเวลาอบนั้นควรอบครั้งละประมาณ 15 นาที  

          อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ไม่ควรสูดดมไอควันจากหญ้ารีแพร์โดยตรง เพราะควันจากการเผาไหม้อาจจะมีส่วนทำให้เกิดฝุ่นหินเกาะปอดได้ ฉะนั้นควรต้องระวังถึงจุดนี้กันด้วย และที่สำคัญก็คือ ไม่ควรทำการอบควันหรืออบไอน้ำในพื้นที่ปิดที่ไม่มีช่องระบายอากาศ เพราะเสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ 

ประโยชน์หญ้ารีแพร์
1. หญ้ารีแพร์ถูกใช้ประโยชน์มากในแง่สมุนไพร โดยเฉพาะในสตรีหลังคลอดบุตรที่ช่วยให้ช่องคลอดกระชับ และมดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ด้วยการต้มดื่มหรือคั้นน้ำทาบริเวณช่องคลอด นอกจากนั้น ยังใช้เพื่อการดูแลผิวพรรณให้แลดูสดใส
2. สารสกัดจากหญ้ารีแพร์ใช้เป็นเครื่องสำอาง อาทิ ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด ทำหน้าที่ช่วยให้ผิวพรรณชุ่มชื้น ผิวพรรณแลดูเปล่งปลั่ง นอกจากนั้น สารสกัดจากหญ้ารีแพร์ยังใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเสริม ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และเสริมสร้างคอลลาเจน 
3. หญ้ารีแพร์ใช้ปลูกเป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาทิ โค กระบือ แพะ และแกะ เป็นต้น
4. หญ้ารีแพร์เป็นพืชเศรษฐกิจสมุนไพรตัวใหม่ ทั้งแบบเก็บจากแหล่งธรรมชาติ และการปลูกเพื่อจำหน่ายในรูปหญ้ารีแพร์สด และหญ้ารีแพร์แห้ง กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นสตรีหลังคลอดบุตร

สรรพคุณซิลิกาในหญ้ารีแพร์
1. รักษาสมดุล และซ่อมแซมโครงสร้างกระดูก และกล้ามเนื้อในร่างกาย รวมถึงช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุที่สำคัญต่อระบบกระดูก และกล้ามเนื้อ อาทิ ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และแคลเซียม
2. ช่วยฟื้นฟูรักษาแผลให้หายเร็ว
3. ช่วยฟื้นฟู และเสริมการสร้างคอลลาเจนในเซลล์ผิว ทำให้ผิวพรรณแลดูเต่งตึง สดใส ลดการเกิดริ้วรอย
4. ช่วยฟื้นฟู และเสริมการสร้างคอลลาเจนในเซลล์กล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อกระชับ และทำงานได้เป็นปกติอย่างรวดเร็ว อาทิ กล้ามเนื้อภายในช่องคลอด
5. ต้านการติดเชื้อของแผล
6. ลดภาวะการเกิดโรคจากวัยที่หมดประจำเดือน
7. เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รักษาความชุ่มชื้นของเซลล์ผิว เพิ่มความยืดหยุ่น และความกระชับของเซลล์ผิว
8. ช่วยป้องกันโรคในช่องปาก และฟัน
9. ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง และความเงางามของเล็บ
10. ช่วยกระตุ้นการงอกของเซลล์เส้นผม ช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความดกดำ และลดการหลุดของเส้นผม
11. เสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด ป้องกันหลอดเลือดในสมองแตก
12. เสริมความแข็งแรงของเนื้อเยื่อปอด ช่วยให้ปอดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการติดเชื้อในปอด
13. ป้องกันนิ่วในไตในระบบทางเดินปัสสาวะ
14. ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
15. กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
16. ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท และสมอง