• product
  • service2
  • กองทุน
  • coffee-banner
  • scb banner11

ข่าวประชาสัมพันธ์

สินค้าและโปรโมชั่น

สวาด

สวาด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสวาด

สวาด

สวาด ชื่อสามัญ Nuckernut, Grey nickers, Bonduc nut, Gray nicker, Gray nicker bean, Grey nicker bean, Guilandina seed, Fever nut, Molucca nut, Nicker nut, Physic nut, Physic nut, Sea pearl, Wait-a-while, Yellow nicker (ENGLISH)

สวาด ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia bonduc (L.) Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Caesalpinia bonducella (L.) Fleming, Caesalpinia crista sensu auct., Guilandina bonduc Griseb., Guilandina bonducella L., Guillandina bonduc L., Guillandina bonducella (L.) Fleming) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAEหรือ CAESALPINIACEAE)

สมุนไพรสวาด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หวาด บ่าขี้แฮด (เชียงใหม่), หวาด ตามั้ด มะกาเลิง (ภาคใต้), สวาด (ภาคกลาง), มะกาเล็ง (เงี้ยว-เชียงใหม่), ดามั้ด (มลายู-สตูล) เป็นต้น

ลักษณะของต้นสวาด

  • ต้นสวาด จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพันกับต้นไม้อื่นโดยใช้หนามช่วยในการประคอง ตามลำต้น กิ่งก้าน และเส้นใบมีหนามโค้งแหลม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด สามารถพบได้ทั่วไปในเขตร้อน มักขึ้นตามริมแม่น้ำลาธารในป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะใกล้ทะเล และป่าโปร่งทั่วไป แต่ในปัจจุบันจะพบได้น้อยมาก

ต้นสวาด

  • ใบสวาด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลมเล็กน้อย โคนใบไม่เท่ากัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม มีหูใบประกอบแบบขนนก

ใบสวาด

  • ดอกสวาด ออกดอกเป็นช่อ เป็นช่อยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร โดยจะออกที่กิ่งเหนือซอกใบเล็กน้อย เป็นช่อเดี่ยวหรือบางครั้งอาจจะแตกแขนงได้ ก้านช่อยาวและมีหนาม ดอกย่อยมีขนาดเล็ก คล้ายดอกกล้วยไม้สีเหลือง โดยมีกลีบดอกเป็นสีเหลือง มีใบประดับเป็นเส้นงอ ยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร

ดอกสวาด

รูปดอกสวาด

  • ผลสวาด ออกผลเป็นฝัก ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี มีหนามยาวแหลม หรือขนยาวแหลมแข็งคล้ายหนามตามเปลือก ภายในฝักมีเมล็ด 2 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรีเท่าปลายนิ้วชี้ เปลือกเมล็ดแข็งเป็นสีม่วงเทา (สีสวาด) เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร

ผลสวาด

เมล็ดสวาด

สรรพคุณของสวาด

  1. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย (ผล) บ้างว่าใบก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัยได้เช่นกัน (ใบ)
  2. ยอดนำมาบดกรองเอาแต่น้ำใช้เป็นยาแก้ไข้ (ยอด) ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน (เมล็ด)
  3. ใบและเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ใบ,เมล็ด)
  4. บางข้อมูลระบุว่าใช้ใบนำมาต้มกับน้ำอมกลั้วคอ จะช่วยรักษาแผลในลำคอ (ใบ)
  5. ตำรายาไทยจะใช้ใบสวาดเป็นยาขับลม ขับผายลม แก้อาการจุกเสียดแน่น (ใบ)
  6. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ปวดท้อง (เมล็ด)
  7. รากนำมาดองกับเหล้าขาวใช้เป็นยาแก้พยาธิ (ราก) ยอดมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (ยอด), เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)
  8. ใบและผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ (ใบ,ผล)
  9. ใบสวาดจัดเป็นส่วนผสมในตำรับยาอม "ยาอมมะแว้ง" ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านและยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีสรรพคุณเป็นยาช่วยบรรเทาอาการไอ ละลายและขับเสมหะ (ใบ)

ประโยชน์ของสวาด

  • ในสมัยก่อนเด็ก ๆ จะนำเมล็ดสวาดมาใช้เล่นหมากเก็บ เพราะมีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสม
  • ในวรรณคดีหลายเรื่องจะมีการกล่างถึงต้นสวาดในเชิงเปรียบเทียบกับความรัก ความพิศวาส ระหว่างหญิงชาย เพราะมีความพร้องเสียงกันนั่นเอง นอกจากนี้ตามธรรมเนียมไทยในการจัดขันหมากงานแต่งงานบางท้องที่ จะใช้ใบรักและใบสวาดรองก้นขันหมากโท ซึ่งใส่หมากพลู ส่วนขันหมากเงินทุนและสินสอด จะใส่ใบรักและใบสวาดลงไปรวมกับดอกไม้และสิ่งมลคลอื่น ๆ เช่น ดอกบานไม่รู้โรย ถั่วงา ใบเงิน ใบทอง เป็นต้น

ส้มป่อย

ส้มป่อย สรรพคุณและประโยชน์ของส้มป่อย

ส้มป่อย

ส้มป่อย ชื่อสามัญ Soap Pod

ส้มป่อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia concinna (Willd.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acacia rugata (Lam.) Merr., Mimosa concinna Willd.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

สมุนไพรส้มป่อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มพอดี (ภาคอีสาน), ส้มคอน (ไทใหญ่), ส้มขอน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), พิจือสะ พิฉี่สะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ผ่อชิละ ผ่อชิบูทู (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แผละป่อย เมี่ยงโกร๊ะ ไม้ส้มป่อย (ลั้วะ), เบล่หม่าฮั้น (ปะหล่อง) เป็นต้น

ลักษณะของส้มป่อย

  • ต้นส้มป่อย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่มรอเลื้อยทอดลำต้นเกาะเกี่ยวขึ้นไป สูงได้ประมาณ 3-6 เมตร แต่ไม่มีมือสำหรับเกาะเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น เถามีเนื้อแข็ง ขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล เถาอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง มีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้นอยู่ทั่วไปและมีขนหูใบรูปหัวใจ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภทที่ระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นปานกลางถึงน้อย และชอบแสงแดดมาก ขึ้นทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี มักพบขึ้นตามป่าคืนสภาพ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ที่ราบเชิงเขา และที่รกร้างทั่วไป

ต้นส้มป่อย

  • ใบส้มป่อย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ช่อใบย่อยมีประมาณ 5-10 คู่ ส่วนช่อย่อยมีประมาณ 10-35 คู่ ต่อช่อ ใบย่อยเรียงตรงข้าม ไม่มีก้านใบย่อย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานขนาดเล็ก ปลายใบมนหรือแหลม ที่ปลายเป็นติ่งหนามแหลมอ่อนโค้ง โคนใบมนหรือตัด ส่วนขอบใบหนาเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-11.5 มิลลิเมตร แผ่นใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 3.6-5 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มและหนาแน่น พบก้อนนูนสีน้ำตาลคล้ายต่อม 1 อัน อยู่ที่โคนของก้านใบ แกนกลางยาวประมาณ 6.6-8.5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยสั้นมาก ยาวได้ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่านั้น เกลี้ยงและมีขนนุ่มหนาแน่น

ใบส้มป่อย

  • ดอกส้มป่อย ออกดอกเป็นช่อกระจุกรูปทรงกลม โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรืออกตามซอกใบข้างลำต้นประมาณ 1-3 ช่อดอกต่อข้อ มีขนาดประมาณ 0.7-1.3 เซนติเมตร มีดอกประมาณ 35-45 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2.5-3.2 มิลลิเมตร มีขนนุ่มหนาแน่น มีใบประดับดอก 1 อัน ลักษณะเป็นรูปแถบ ความยาวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร โคนสอบเรียว สีแดง มีขนกระจายอยู่ทั่วไป ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่นอยู่เป็นแกนดอก กลีบดอกเป็นหลอดสีขาวนวล กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ หลอดกลีบกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ปลายแหลมเป็นสีแดง หรืออาจมีสีขาวปนบ้างเล็กน้อย ส่วนกลีบดอก หลอดกลีบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร มีขนบ้างเล็กน้อยที่ปลายกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 200-250 อัน โดยยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมีย รังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีออวุลประมาณ 10-12 ออวุล ก้านรังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านและยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร เป็นสีขาวอมเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม

ดอกส้มป่อย

  • ผลส้มป่อย ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน แบนยาว ผิวฝักเป็นลอนคลื่นเป็นข้อ ๆ ตามเมล็ด ปลายฝักมีหางแหลม สันฝักหนา ผิวฝักขรุขระหรือย่นมากเมื่อแห้ง ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.3-1.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-9.3 เซนติเมตร ฝักอ่อนเปลือกเป็นสีเขียวอมแดง เมื่อแก่แล้วฝักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ ก้านฝักยาวประมาณ 2.8-3 เซนติเมตร ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 5-12 เมล็ด เมล็ดส้มป่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงแบนรี สีดำผิวมัน มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฝักมีสารในกลุ่มซาโปนินสูงถึง 20% เมื่อนำมาตีกับน้ำจะเกิดฟอง

ผลส้มป่อย

สรรพคุณของส้มป่อย

  1. ใบมีรสเปรี้ยว ฝาดเล็กน้อย ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาฟอกโลหิต (ใบ)
  2. ดอกมีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)
  3. เปลือกฝักมีรสเปรี้ยวเผ็ดปร่า มีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกฝัก)
  4. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย (เปลือกต้น)
  5. ช่วยแก้ซางเด็ก (เปลือกฝัก)
  6. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาลดไขมัน ช่วยลดความอ้วนหรือลดน้ำหนัก โดยใช้ดอกประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่ม เช้าและเย็น (ดอก)
  7. ใบใช้เป็นยาแก้โรคตา (ใบ) ส่วนต้นใช้เป็นยาแก้โรคตาแดง (ต้น)
  8. ต้นมีรสเปรี้ยวฝาด มีสรรพคุณเป็นยาแก้น้ำตาพิการ (ต้น)
  9. รากมีรสขม ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ราก)หรือจะใช้ยอดส้มป่อยนำมาต้มกินข้าวต้มก็เป็นยาแก้ไข้ได้เช่นกัน (ยอดอ่อน)
  10. ฝักนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย (ฝัก)
  11. ต้นและรากส้มป่อยนำมาต้มกับแก่นขนุน คนทา ชิงช้าชาลี น้ำนอง เปลือกมะเดื่อ เท้ายายม่อม หัวย่านนาง และหญ้าเข็ดมอน เป็นยาแก้ไข้ เจ็บยอกในอก หรือที่โบราณเรียกว่าไข้ยมบน (ต้น,ราก)
  12. ฝักและเปลือกฝักมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้ฝักนำมาปิ้งให้เหลืองแล้วชงกับน้ำจิบกินเป็นยา หรือจะใช้เปลือกนำมาแช่กับน้ำดื่มทำให้ชุ่มคอแก้ไอได้เช่นกัน (ฝัก,เปลือกฝัก)
  13. ใบมีรสเปรี้ยวฝาดเล็กน้อย ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับเสมหะ ส่วนฝักก็มีสรรพคุณช่วยขับเสมหะเช่นกัน (ใบ,ฝัก)
  14. ฝักมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ ด้วยการนำฝักมาปิ้งให้เหลือง ใช้ชงกับน้ำจิบกินเป็นยา (ฝัก)เปลือกฝักมีสรรพคุณกัดเสมหะ (เปลือกฝัก) เปลือกต้นและใบมีสรรพคุณช่วยถ่ายเสมหะ โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือกต้น,ใบ)
  15. เมล็ดนำมาคั่วให้เกรียมแล้วบดให้ละเอียด ใช้เป่าจมูก ทำให้คันจมูกและทำให้จามได้ดี (เมล็ดคั่ว)
  16. ฝักมีสรรพคุณช่วยแก้ริดสีดวงจมูก (ฝัก) (ไม่ระบุวิธีใช้)
  17. ช่วยทำให้อาเจียน (ฝัก)
  18. ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ใบ,ฝัก)
  19. รากมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ (ราก)
  20. ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด (ใบ)
  21. รากส้มป่อยนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องร่วง (ราก
  22. ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มจะช่วยชำระเมือกมันในลำไส้ (ใบ)
  23. ช่วยแก้อาการท้องอืด ด้วยการใช้ยอดอ่อนส้มป่อยนำมาต้มกินกับข้าวต้ม (ยอดอ่อน)
  24. ต้นและเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ต้น,เปลือกต้น)
  25. ฝักมีรสเปรี้ยว ใช้ต้มหรือหรือบดกินเป็นยาถ่าย (ฝัก)
  26. ช่วยขับพยาธิในลำไส้ (ใบ)
  27. ยอดอ่อนหรือใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำ และผสมกับน้ำผึ้งใช้ดื่มกินเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ยอดอ่อน)
  28. ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับระดูขาวของสตรี ช่วยฟอกล้างโลหิตระดู (ใบ)
  29. เปลือกนำมาต้มกินเป็นยาแก้โรคตับ (เปลือก)
  30. ฝักใช้ตำพอกหรือชุบสำลีปิดแผล แก้โรคผิวหนัง ใช้ทำขี้ผึ้งปิดแผลแก้โรคผิวหนัง (ฝัก)
  31. ยอดอ่อนนำมาตำผสมกับขมิ้นอ้อย แล้วใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย หมกไฟพออุ่น แล้วนำไปพอกจะช่วยแก้ฝี แก้พิษฝี ทำให้ฝีแตกเร็วหรือยุบไป ส่วนอีกวิธีใช้รากส้มป่อยนำมาฝนใส่น้ำปูนใสทาบริเวณที่เป็นฝี (ราก,ยอดอ่อน)
  32. ใบใช้ตำประคบหรือตำห่อผ้าประคบเส้นช่วยทำให้เส้นเอ็นอ่อน แก้เส้นเอ็นพิการ ขัดยอก ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณทำให้เส้นเอ็นหย่อนเช่นกัน (เปลือกต้น,ใบ)
  33. ดอกมีรสเปรี้ยวฝาดมัน มีสรรพคุณเป็นยาแก้เส้นเอ็นที่พิการให้สมบูรณ์ (ดอก)
  34. ช่วยทำให้สตรีมีครรภ์คลอดได้ง่าย ด้วยการใช้ฝักส้มป่อยประมาณ 3-7 ข้อ นำมาต้มกับน้ำอาบตอนเย็น โดยให้อาบก่อนกำหนดคลอด 2-3 วัน แต่ห้ามอาบมากเพราะจะทำให้รู้สึกร้อน (ฝัก)
  35. นอกจากนี้ใบและฝักส้มป่อยยังปรากฏอยู่ในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งได้แก่ ตำรับ "ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง" โดยเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรชนิดหลายชนิด ได้แก่ ใบส้มป่อย ฝักส้มป่อย ใบมะกา ใบมะขาม ใบไผ่ป่า ฝักคูน ขี้เหล็ก เถาวัลย์เปรียง รากขี้กาขาว รากขี้กาแดง รากตองแตก สมอไทย สมอดีงู หัวหอม และหญ้าไทร ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้อาการท้องผูก มักนำมาใช้ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล

ประโยชน์ของส้มป่อย

  1. ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ แจ่ว หรือนำมาปรุงรส เช่น ต้มปลา เนื้อเปื่อย หรือนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ทำแกงส้ม ต้มส้มไก่ ต้มข่าไก่ ต้มส้มป่อย ข้าวผัดดอกส้มป่อยหรือข้าวผัดปลาส้มแม่ม่าย แกงเขียดน้อยใส่ยอดส้มป่อย ยอดส้มป่อยอ่อง ใช้ใส่แกงปลาหรือเนื้อ ใส่แกงอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว เป็นต้น ส่วนชาวปะหล่องจะใช้ยอดอ่อนนำไปผสมกับน้ำพริกห่อใบตองแล้วนำไปหมกรับประทานหรือนำไปทำแกง ส่วนชาวกะเหรี่ยงจะใช้ทั้งยอดอ่อนและดอก เพื่อนำมาประกอบอาหาร เช่น ทำแกง
  2. ใบของส้มป่อยถือเป็นผักที่มีวิตามินเอและเบต้าแคโรทีนสูงมากเป็นอันดับต้น ๆ ผลจากการทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของยอดส้มป่อยพบว่ามีสูงมาก และยังมีสารซาโปนินในฝักส้มป่อยที่ทำให้ทีเซลล์ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้นด้วย
  3. ยอดอ่อนและใบอ่อนสามารถใช้เพื่อดับกลิ่นคาวปลาได้
  4. ฝักแก่แห้งนำมาต้มเอาน้ำใช้สระผมแก้รังแค แก้อาการคันศีรษะ บำรุงเส้นผม ทำให้ผมชุ่มชื้นเป็นเงางาม เป็นยาปลูกผม และป้องกันผมหงอกก่อนวัย หรือใช้ต้มกับน้ำอาบหลังคลอด ส่วนตำรับยาแก้รังแค อาการคันหนังศีรษะ และรักษาผมหงอกก่อนวัยนั้น ระบุว่าให้ใช้ฝักส้มป่อยที่ปิ้งไฟประมาณ 10 นาที นำมาต้มรวมกับลูกมะกรูดที่หมกไฟดีแล้ว 2 ลูก ในน้ำ 5 ลิตร แล้วต้มจนเดือดจนแตกฟองดี แล้วนำมาใช้หมักและสระผม หากสระผมด้วยส้มป่อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะช่วยทำให้อาการคันบนหนังศีรษะและรังแคหายไปได้
  5. ชาวลั้วะจะใช้เปลือกต้นนำมาทุบใช้ขัดตัวเวลาอาบน้ำหรือนำไปใช้สระผม ส่วนชาวไทใหญ่จะใช้ฝักแห้งนำมาต้มกับน้ำอาบและใช้ขัดตัว หรือนำมาแช่น้ำใช้สระผม
  6. ใบส้มป่อยถูกนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพร โดยจะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ที่ช่วยชำละล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ ช่วยบำรุงผิวพรรณ เพิ่มความต้านทานโรคให้กับผิวหนัง แก้ปวดเมื่อย และช่วยแก้หวัดได้ และยังถูกนำมาใช้ในสูตรยาลูกประคบสมุนไพรเพื่อเป็นยาแก้โรคผิวหนัง บำรุงผิว ลดความดัน
  7. ใบและฝักนำมาต้มกับน้ำอาบ ใช้ทำความสะอาด และบำรุงผิว
  8. ใบส้มป่อยสามารถนำมาสกัดทำเป็นสีย้อมเส้นไหมได้ โดยสีที่ได้คือสีเขียวอ่อน สีเหลืองอ่อน สีน้ำตาลอ่อน หรือสีครีมนอกจากนี้เปลือกต้นส้มป่อยยังให้สีน้ำตาลและสีเขียว ที่สามารถนำมาใช้ในการย้อมผ้า ย้อมแห และย้อมอวนได้
  9. น้ำของฝักส้มป่อยสามารถนำมาใช้ขัดเครื่องเงิน เครื่องทอง และเครื่องโลหะอื่น ๆ ได้
  10. ในด้านของความเชื่อส้มป่อยถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวล้านนา โดยชาวบ้านจะใช้ฝักในพิธีกรรมทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ ใช้ในงานมงคล ทำน้ำมนต์รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (เชื่อว่าเป็นการแสดงออกถึงความเคารพบูชาและเป็นการขอขมาลาโทษต่อผู้ใหญ่) หรือใช้สรงน้ำพระพุทธรูป ใช้อาบน้ำผู้ป่วยเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ไล่ผี ใช้ล้างหน้าลูกหลังและล้างมือหลังไปงานศพ (เชื่อว่าจะช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์โศกและไม่ให้สิ่งเลวร้ายมารบกวน) หรือจะใช้ใบส้มป่อยใส่ลงไปในน้ำเพื่อใช้สระผมก่อนพิธีโกนผมนาคเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนชาวเหนือจะใช้ฝักส้มป่อยเป็นของขลัง ที่ช่วยป้องกันตนจากสิ่งเลวร้ายในยามจะออกนอกบ้าน โดยจะใช้ฝักส้มป่อย 3 ข้อ และข้าวสุก 3 ก้อนขว้างไปข้างหน้า ข้างหลัง และข้างบน พร้อมกับกล่าวคำว่า “เคราะห์ตังหลัง อย่าไปอยู่ท่า เคราะห์ตังหน้า อย่าไปมาจน เคราะห์ตังบน อย่าไปมาต้อง” หรือในยามที่ไปงานศพ ชาวเหนือจะเอาฝักส้มป่อยใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือเหน็บไว้ที่ผม ด้วยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันผีสางมิให้มารบกวนได้ หรือในยามที่มีลมพายุชาวเหนือก็จะนำฝักส้มป่อยไปเผาไฟ เชื่อว่าจะทำให้ลมพายุอ่อนแรงลงได้ ฯลฯ (แต่ในช่วงฤดูกาลที่ไม่มีฝักจะใช้ใบแทนก็ได้ในบางกรณี) และชาวบ้านยังเชื่อว่าต้องเก็บฝักในช่วงก่อนฝนตกฟ้าร้อง เชื่อว่าจะมีความขลังมากยิ่งขึ้น ส่วนคนเมืองจะใช้ฝักนำไปทำน้ำส้มป่อย ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ หรือนำฝักแห้งมาใช้ใส่น้ำมนต์ในงานมงคลต่าง ๆ ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ฝักแก่แห้ง นำมาทำน้ำส้มป่อยหรือนำมาผูกกับตาแหลว (เครื่องรางอย่างหนึ่ง) เป็นต้นส้มป่อยจัดเป็นไม้มงคลของชาวไทย โดยเชื่อว่าการปลูกส้มป่อยจะช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งเลวร้ายไม่ให้มารบกวน ช่วยเสริมหรือคืนอำนาจให้ผู้มีถาคาอาคม โดยกำหนดให้ปลูกไว้ทางทิศเหนือ

 

 

 

ส้มโอทับทิมสยาม

ส้มโอทับทิมสยาม

ประวัติส้มโอทับทิมสยาม

           ส้มโอเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่ทุกคนรู้จักกันดี เนื่องจากสามารถปลูกได้ทุกๆภาคของประเทศไทย และเป็นไม้ผลที่มีรสชาติที่ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ให้ผลผลิตและตอบแทนสูง ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตของส้มโอจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนมกราคาของทุกๆปี สามารถเก็บไว้ได้นานเพราะมีเปลือกหนากษตรกรสามารถปลูกเพื่อการบริโภคหรือเพื่อการค้าได้ แต่ส่วนมากนิยมปลูกเพื่อการค้าเพราะได้ราคาดี และสามารถซื้อไปเป็นของฝากได้เช่นกัน ประโยชน์ของส้มโอนอกจากจะบริโภคเนื้อแล้ว เปลือกของส้มโอยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นเปลือกส้มโอเชื่อม และเปลือกส้มโอแช่อิ่มได้อีกด้วย หมู่บ้านแสงวิมาน หมู่ที่ 13 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหมู่บ้านแรกของอำเภอปากพนังที่มีการปลูกส้มโอเต็มพื้นที่ โดยนำพันธุ์มาจากอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยสภาพพื้นที่ของบ้านแสงวิมาน เป็นที่ราบลุ่มป่าชายเลน มีน้ำขัง ส่วนใหญ่ของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช หากใครต้องการทำสวนผลไม้ จะต้องไปหาที่แถวอำเภอลานสกา หรืออำเภอพรหมคีรี ซึ่งเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง แต่ด้วยภูมิปัญญาและความมานะพยายาม จนทำให้พื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกอะไรได้ นอกจากการทำนา กลายมาเป็นแหล่งผลิตส้มโอที่มีคุณภาพและชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราช

37393

สรรพคุณดีๆ ของส้มโอทับทิมสยาม ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ

1. เนื้อส้มโอมีวิตามินซีช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน

2. ส้มโอช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

3. ส้มโอมีสรรพคุณช่วยแก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ

4. ส้มโอช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก

5. ส้มโอมีวิตามินบี 1 ช่วยในการย่อยอาหาร

6. ส้มโอช่วยเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อและหัวใจ

7. ส้มโอมีวิตามินบี 2 ที่ช่วยป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด

8. ส้มโอมีโพแทสเซียมที่ดีต่อการทำงานของหัวใจและกล้ามเนื้อ

9. ส้มโอมีโฟเลตที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

10. ส้มโอช่วยป้องกันความผิดปกติของทารกในครรภ์

11. ประโยชน์ของส้มโอใช้เป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติ

12. ส้มโอมีเส้นใยอาหารสูง ดีต่อลำไส้

13. ส้มโอมีสรรพคุณช่วยบำรุงลำไส้

14. ประโยชน์ของส้มโอช่วยแก้อาการจุกเสียด

15. ส้มโอช่วยขับสารพิษในร่างกาย

16. สรรพคุณของส้มโอช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย

17. ส้มโอมีสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอล

18. ส้มโอช่วยกำจัดโลหะหนักที่เป็นพิษต่อร่างกาย

19. ส้มโอมีสารลิโมนอยด์ที่ช่วยล้างพิษ

20. ส้มโอมีสารลิโมนอยด์ที่สามารถยับยั้งการเจริญของเนื้องอกและเซลล์มะเร็งได้

21. ส้มโออุดมไปด้วยแคลเซียมช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง

22. ส้มโอมีสารเบตาแคโรทีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสายตา

23. ส้มโอช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร

24. ส้มโอช่วยเพิ่มความสดชื่น และแก้เมาสุรา

25. เปลือกส้มโอใช้ประโยชน์ช่วยขับเสมหะ

26. เปลือกส้มโอใช้เป็นส่วนผสมหนึ่งในยาหอมบำรุงโลหิต (ประกอบด้วยเปลือกส้มชนิดต่างๆ และเปลือกมะนาว เปลือกมะกรูด)

27. เปลือกส้มโอผสมในยาหอมกินแล้วทำให้สดชื่น

28. ประโยชน์ของเปลือกส้มโอช่วยขับลมแก้แน่นหน้าอก

29. สรรพคุณเปลือกส้มโอช่วยแก้ปวดท้องน้อย

30. เปลือกส้มโอใช้รักษาอาการคัน แก้ฝี

31. เปลือกส้มโอมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคลมพิษที่ผิวหนัง

32. เปลือกส้มโอมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย

33. เปลือกสีเขียวด้านนอกของส้มโอมีต่อมน้ำมันหอมระเหยจำนวนมากสามารถนำไปปรุงเป็นยาหอมได้

34. เปลือกส้มโอนำไปปรุงเป็นสูตรยาหอม “ส้มโอมือ”

35. ส้มโอมีสรรพคุณดี ช่วยให้เจริญอาหาร

36. ใบส้มโอใช้เป็นยาแผนโบราณช่วยแก้ปวดหัว เวียนหัว หน้ามืด ตาพร่ามัว

37. ประโยชน์ของใบส้มโอช่วยแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก

38. ใบส้มโอมีสรรพคุณช่วยขับลมท้องอืด แน่นท้อง

39. ดอกของส้มโอเป็นสมุนไพรใช้ขับลม ขับเสมหะ

40. ดอกของส้มโอเป็นสมุนไพรใช้บรรเทาอาการปวดกระเพาะ

41. ดอกของส้มโอเป็นสมุนไพรใช้บรรเทาอาการปวดกะบังลม

42. ดอกส้มโอใช้ประโยชน์แก้ไส้เลื่อน เป็นยาแผนโบราณ

43. เมล็ดส้มโอช่วยแก้ปวดท้อง ท้องร้อน

44. รากของต้นส้มโอเป็นสมุนไพรแก้หวัด แก้ไอ และแก้ปวด

ส้มแขก

ส้มแขก สรรพคุณและประโยชน์ของส้มแขก

ส้มแขก ชื่อสามัญ Garcinia (การ์ซิเนีย), Malabar tamarind, Garcinia cambogia, Gambooge, Brindle berry, Assam fruit

ส้มแขก ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia atroviridis Griff. ex T.Anderson จัดอยู่ในวงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)

สมุนไพรส้มแขก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ อีก เช่น ชะมวงช้าง, ส้มควาย (ตรัง), อาแซกะลูโก (ยะลา), ส้มพะงุน (ปัตตานี), ส้มมะอ้น ส้มมะวน มะขามแขก (ภาคใต้) เป็นต้น โดยมีถิ่นกำเนิดในอินเดียและศรีลังกา ซึ่งในบ้านเรานิยมปลูกมากในทางภาคใต้

ส้มแขก สามารถหาซื้อได้มากแถวภาคใต้ตอนล่าง ถ้าคุณมีโอกาสก็ลองไปเดินแถวตลาดนัด เขาจะขายกันแบบฝานเป็นชิ้นบาง ๆ เป็น ส้มแขกตากแห้ง โดยนำไปตากแห้งจนมีสีหมองดำ ๆ หมองคล้ำ ซึ่งสามารถเก็บเอาไว้ใช้ได้นานหลายเดือน โดยวิธีการนำไปใช้ก็ง่ายมาก ๆ เพียงแค่นำไปล้างน้ำให้สะอาดก็ใส่ลงไปในหม้อได้เลย เพียงไม่กี่กลีบก็จะช่วยเพิ่มรสเปรี้ยวแบบนุ่ม ๆ พร้อมให้กลิ่นหอมชวนน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น หรือจะนำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน

ลักษณะของส้มแขก

  • ต้นส้มแขก ลักษณะของต้นส้มแขก เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มกว้างสูงประมาณ 5-14 เมตร เป็นไม้เนื้อแข็ง ลักษณะของเปลือกต้นหากเป็นต้นอ่อนจะมีสีเขียว หากแก่แล้วจะมีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อลำต้นเป็นแผลจะมียางสีเหลืองออกมา
  • ใบส้มแขก เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ ใบใหญ่ผิวเรียบเป็นมัน ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร โดยใบแห้งจะมีสีน้ำตาล

ส้มแขกตากแห้ง

  • ดอกส้มแขก ออกตามปลายยอด ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ด้านในสีแดง ด้านนอกมีสีเขียว มีเกสรเพศผู้เรียงอยู่บนฐานรองดอก ส่วนดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวแทงออกจากปลายกิ่ง มีขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ รังไข่มีรูปทรงกระบอก

สรรพคุณส้มแขก

  • ผลส้มแขก ลักษณะของผลส้มแขกเป็นผลเดี่ยว ผิวเรียบสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแก่ มีขนาดใกล้เคียงกับผลกระท้อน เปลือกผลเป็นร่องตามแนวขั้วไปยังปลายผล มีประมาณ 8-10 ร่อง ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ เนื้อแข็งมีรสเปรี้ยวจัด ในผลมีเมล็ดแข็ง 2-3 เมล็ด

ส้มแขกลดน้ําหนัก

ผลส้มแขกมีรสเปรี้ยว นิยมนำมาปรุงอาหาร เช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ ต้มปลา เพื่อให้มีรสเปรี้ยว หรือใช้ทำน้ำแกงขนมจีน ทำเป็นเครื่องดื่มลดความอ้วน โดยการรับประทานส้มแขกในระยะแรกอาจจะทำให้รู้สึกหิวบ่อยมากขึ้น เนื่องจากไปเร่งระบบการเผาผลาญอาหาร โดยร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวไปเอง ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 อาทิตย์ ระหว่างนี้ก็ให้ดื่มน้ำมาก ๆ หากรับประทานไปนาน ๆ ก็จะช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกไม่หิวได้ และเมื่อหยุดรับประทานส้มแขก ร่างกายจึงไม่กลับมาอ้วนอีกแน่นอน และที่สำคัญก็คือไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประเมินผลและพบว่า ไม่มีการเปลี่ยนของหน้าที่ของตับและไต รวมไปถึงระดับน้ำตาลในเลือดและความดันเลือดก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

ส้มแขก

ส้มแขก มีสารสำคัญที่มีชื่อว่า Hydroxycitric Acid หรือเรียกสั้น ๆว่า "HCA" ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างไขมันจากการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตสูง นอกจากนี้ยังมีกรดอินทรีย์อื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น กรดซิตริก (Citric Acid), กรดโดคีคาโนอิค (Dodecanoic Acid), กรดออกตาดีคาโนอิค (Octadecanoic acid) และกรดเพนตาดีคาโนอิค (Pentadecanoic acid)

ส้มแขกแคปซูลในปัจจุบันส้มแขกได้มีการนำไปสกัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน หลายรูปแบบ เช่น แบบผง แบบเม็ด ชาส้มแขก ส้มแขกแคปซูล โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 300-600 มิลลิกรัม และจะมีเนื้อส้มแขกประมาณ 250-500 มิลลิกรัม และมีปริมาณ HCA ประมาณ 60-70% โดยจะแตกต่างกับส้มแขกบดแห้งบรรจุแคปซูลธรรมดาที่ไม่ได้ผ่านการสกัด ซึ่งจะมีปริมาณของ HCA เพียง 30% เท่านั้น โดยวิธีการรับประทาน สารสกัดส้มแขก ให้รับประทานก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมงครั้งละ 1,000-1,200 มิลลิกรัม (ถ้าเม็ดละ 300 mg. ก็ใช้ 3-4 เม็ด) วันละ 3 ครั้งจะช่วยทำให้ยาดูดซึมได้ดีที่สุด

คำแนะนำ : สำหรับผลิตภัณฑ์สารสกัดส้มแขกมีปริมาณ HCA ที่สูง ไม่ควรใช้กับสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร เพราะสารชนิดนี้จะไปรบกวนการสร้าง Fatty Acid, Acetyl coenzyme A รวมไปถึง Cholesterol ซึ่งอาจส่งผลต่อการสร้าง Steroid Hormone ได้นั่นเอง และสำหรับบุคคลทั่วไปการรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจมีอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารได้

สรรพคุณของส้มแขก

  1. ช่วยแก้อาการไอ (ดอก)
  2. ใช้เป็นยาขับเสมหะ (ดอก)
  3. ผลแก่นำมาใช้ทำเป็นชาลดความดันได้ หรือจะใช้ดอกก็ได้ (ผลแก่, ดอก)
  4. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ดอกตัวผู้แห้งต้มกับน้ำ (อัตราส่วน 7 ดอก : น้ำ 1 ลิตร) เติมน้ำครั้งที่สองใส่ดอก 3 ดอกต่อน้ำ 1 ลิตร โดยไม่ต้องทิ้งดอกที่ต้มในครั้งแรก แล้วนำมาดื่ม (ดอกตัวผู้)
  5. ใช้เป็นยาสมุนไพรช่วยฟอกโลหิต
  1. ใช้ทำเป็นยาแก้กระษัย ด้วยการนำมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำผสมกับรากมังคุดและรากจูบู (ราก)
  2. ตำรายาพื้นบ้านใช้ส้มแขกทำเป็นยาบรรเทาอาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์
  3. ส้มแขกมีสรรพคุณใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ
  4. ใบสดน้ำมารับประทานช่วยแก้อาการท้องผูก (ใบ)
  5. มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ
  6. รากใช้ทำเป็นยารักษานิ่ว ด้วยการนำมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำผสมกับรากมังคุดและรากจูบู (ราก)
  7. ผลส้มแขกมีสรรพคุณช่วยลดความอยากอาหาร ความรู้สึกหิวอาหาร
  8. ช่วยเร่งระบบการเผาผลาญอาหาร
  9. ช่วยดักจับแป้งและไขมันจากอาหารที่รับประทานเข้าไป
  10. สารสกัดจากส้มแขกช่วยทำให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหวตัวได้เร็วขึ้นและขับไขมันออกมา
  11. ส้มแขกลดน้ําหนัก เนื่องจากผลส้มแขกมีกรดมีกรดไฮดรอกซีซิตริก (HCA) มีสรรพคุณในการช่วยลดน้ำหนักและช่วยลดไขมันส่วนเกินของร่างกายได้
  12. มีคุณสมบัติช่วยสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงของคาร์โบไฮเดรต (อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล) ไม่ให้เปลี่ยนเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้ แต่จะนำไปเป็นพลังงานให้ร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลีย
  13. ส้มแขกลดความอ้วน ช่วยกระตุ้นให้มีการดึงเอาไขมันที่สะสมในร่างกายออกมาใช้เป็นพลังงาน ทำให้ไขมันที่สะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลงอย่างช้า ๆ ประมาณ 1 กิโลกรัมภายใน 3-4 อาทิตย์

ประโยชน์ของส้มแขก

  1. ใบแก่นำมาทำเป็นชาได้ แต่จะมีกลิ่นเหม็นเขียว (ใบแก่)
  2. ใบอ่อนส้มแขกใช้รองนึ่งปลา (ใบอ่อน)
  3. ประโยชน์ส้มแขก ผลสดใช้ทำแกงส้ม
  4. ประโยชน์ของส้มแขก ผลใช้ปรุงรสอาหารด้วยการนำมาผ่าเป็นชิ้นเล็ก ๆ เอาเยื่อและเมล็ดออก นำมาตากแห้งแล้วนำมาใช้ปรุงรสอาหารให้มีรสเปรี้ยว เช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มปลา ต้มเนื้อ แกงส้ม หรือใช้ทำน้ำแกงขนมจีน เป็นต้น หรือจะใช้ใบแทนผลก็ให้รสเปรี้ยวได้เช่นกัน (ผล, ใบ)
  5. มีการใช้ใบแก่ของส้มแขกมาผสมกับยางพารา เพื่อใช้ทำปฏิกิริยาให้น้ำยางพาราแข็งตัวเร็วขึ้น ด้วยการใช้ใบแก่ประมาณ 2 กิโลกรัมผสมกับน้ำ 10 ลิตรแล้วทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์แล้วค่อยนำมาผสมกับยางพารา (ใบแก่)
  6. ลำต้นส้มแขกแก่ ๆ (อายุเกิน 30 ปีขึ้นไป) สามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือทำเป็นไม้แปรรูปใช้ในการก่อสร้างได้ (ลำต้น)
  7. มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย เช่น ชาส้มแขก น้ำส้มแขก ส้มแขกกวน แคปซูลส้มแขก ฯลฯ